เปิดฉากสัปดาห์นี้...คงหนีไม่พ้นต้องลองไป “อัพเดต”ตรวจสอบสถานการณ์ความคืบหน้าของ “แนวรบ”ด้านต่างๆ ที่อาจเป็นตัวจุดชนวนให้เกิด “ไฟนรกสุดขอบฟ้า” ลุกพึ่บๆ พั่บๆ ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ย่อมได้ ตามที่ได้สาธยายไปแล้วเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อมาถึง ณ ขณะนี้ ณ วินาทีนี้ ก็ต้องถือเป็น “โชคดี”ที่แต่ละสิ่ง แต่ละอย่าง ดูจะ “เบาๆ”ลงไปมั่ง แม้ว่าจะยังคงเป็นอะไรที่ “หนักอึ้ง”สำหรับการเมืองโลก หรือการเมืองระหว่างประเทศ ไปอีกตราบนานเท่านานก็ตาม...
คือด้าน “แนวรบยุโรปตะวันออก”นั้น...ถ้าว่ากันตามคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย “นายเซอร์เกย์ ชอยกู” (Sergey Shoigu) เมื่อช่วงวันศุกร์ (23 เม.ย.) ที่ผ่านมา บรรดา “ทหารรัสเซีย”ที่ทำให้ไม่ว่ารัฐบาลยูเครน ไปจนถึงบรรดาพวก “นาโต” แทบทั้งแผง ออกอาการ “หูแหก-ตาแหก” กันไปพอสมควร ต่อกองกำลังทหารรัสเซียที่ว่ากันว่า มีจำนวนปาเข้าไปถึง 150,000 นาย ซึ่งถูกส่งเข้าไปในแนวรบด้านนี้ ได้เริ่มทยอย “ถอนกำลัง”กลับมาบ้างแล้ว ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.เป็นต้นไป ไปจนกว่าจะสิ้นเดือนเมษายน หลังจากได้บรรลุภารกิจในการ “ซ้อมรบ”ในแนวรบดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว...
หรือพูดง่ายๆ ว่า...ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่ได้คิดจะ “ฮุบ”หรือคิดจะ “งาบ”ยูเครนให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แบบเดียวที่เคยงาบแหลมไครเมีย เมื่อช่วง 6-7 ปีที่แล้ว อย่างที่บรรดาพวก “นาโต” หรือรัฐบาลยูเครน ออกอาการขนหัวลุก ขนคอตั้ง แต่อย่างใด ส่วนบรรดาเรือรบอเมริกัน ที่ดันทะรูดทะราดเข้าไปในแถบ “ทะเลดำ”หรือในพื้นที่ที่รัสเซียเขากำลังทำการซ้อมรบ จนหาทางออก ทางกลับ แทบไม่ได้ เผลอๆ...อาจถึงขั้นต้องอดข้าว อดน้ำ เอาเลยก็ไม่แน่ ก็คงค่อยๆ ผ่อนคลายลงไปตามลำดับ โดยเฉพาะหลังจากที่กองทัพอเมริกันได้ยกเลิกคำสั่ง ให้เรือบรรทุกเครื่องบิน “USS Roosevelt”และ “USS Donald Cook”เลิกปฏิบัติการโดยกะทันหัน อีกทั้งนอกเหนือไปจากนั้น ผู้นำรัสเซียอย่างประธานาธิบดี “วลาดิมีร์ ปูติน” ยังได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันพฤหัสฯ (22 เม.ย.) ที่ผ่านมา ว่าพร้อมจะเชิญผู้นำยูเครน ประธานาธิบดี “โวโลดิมีร์ เซเลนสกี” (Volodymyr Zelensky) มาพูดจาเจ๊าะๆ แจ๊ะๆ ที่กรุงมอสโกในเรื่องปัญหาพิพาท “Donbass” ตามที่ผู้นำยูเครนเคยแสดงความประสงค์เอาไว้ก่อนหน้านี้...
ส่วน “แนวรบในตะวันออกกลาง”นั้น...ขณะที่ชาวอิสราเอลทั้งประเทศ กำลังปวดหัว เวียนเฮด กับ “การเลือกตั้งครั้งที่ 4”ที่ทำท่าว่าจะนำไปสู่ “ทางตัน” ในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ต่างไปจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาครั้งแล้ว ครั้งเล่า คงต้องยอมรับอย่างมิอาจปฏิเสธได้ว่า บรรดาชาวอิหร่านทั้งหลาย น่าจะเกิดความ “แฮปปี้”อยู่พอประมาณ โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นตัวเลขการส่งออก “น้ำมันอิหร่าน”ที่เคยถูกบีบ ถูกแซงชั่น มาโดยตลอด แต่ระหว่างนี้...หรือตามตัวเลขในเดือนนี้ ที่สำนักข่าวรอยเตอร์เขาได้รายงานเอาไว้ ปรากฏว่าการส่งออกน้ำมันอิหร่านพุ่งขึ้นไปถึงวันละ 500,000 บาร์เรลต่อวัน หรือแทบกลับไปสู่ภาวะปกติเอาเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะเมื่อ “ลูกค้ารายใหญ่”อย่างคุณพี่จีน ท่านพร้อมที่จะเหมาหมด ดังนั้น...ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ คงไม่น่าจะเอื้ออำนวยต่อการ “ล้างแค้น-เอาคืน” มากมายสักเท่าไหร่...
อีกทั้งผู้ที่พร้อมจะ “เอาคืน”ก็คงไม่จำเป็นต้องพะยี่ห้อ “อิหร่าน” เสมอไป อย่างเมื่อวันพฤหัสฯ (22 เม.ย.) ที่ผ่านมา โดยอาศัยบริการจาก “ซีเรีย”ที่ถูกกองทัพอากาศอิสราเอลหย่อนระเบิดใส่หัวกบาลชนิดเที่ยวแล้ว เที่ยวเล่า การส่งบ้องข้าวหลามยักษ์ ระดับจรวด “SA-5 Gammon”หรือขีปนาวุธระดับพื้นผิว-สู่อากาศ เจาะทะลุเครือข่ายป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอลเข้าไป “บึ้มม์ม์ม์”แถวๆ ใกล้โรงงานปฏิกรณ์นิวเคลียร์ดิโมนา (Dimona nuclear reactor) ในทะเลทรายเนเกฟ หรือแถวๆ ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ชิมอน เปเรส (Shimon Peres Negev Research Center) ห่างจากเมืองดิโมนาทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 13 กิโลเมตรเท่านั้นเอง ก็เล่นเอาบรรดาชาวอิสราเอลทั้งหลาย “หายใจไม่ทั่วท้อง”ไปเป็นแถวๆ เกิดการตั้งคำถามต่อ“ระบบป้องกันภัยทางอากาศ”ของอิสราเอล หรือ “Iron Dome”ที่เคยเชื่อๆ ว่ามีประสิทธิภาพระดับ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างน้อย แต่เหตุใดถึงไม่สามารถสกัดกั้น สกัดจับขีปนาวุธของซีเรียลูกนี้ได้เลย แม้จะถือเป็นการ “พลาดเป้า” ตามคำพูด คำให้สัมภาษณ์ของนายทหารอิสราเอล อย่าง “พลเอกHidai Zilberman” ก็ตามที...
ส่วน “แนวรบในทะเลจีนใต้และตะวันออก” ช่วงนี้...อาจด้วยเหตุเพราะผู้นำ “ไต้หวัน” อย่างประธานาธิบดี “ไช่ อิงเหวิน” ท่านดันต้องหันไป “อมเชาวริน”ในกรณีญี่ปุ่นคิดจะใช้มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นที่ทิ้งขยะ หรือที่ระบายน้ำเจือปนสารเคมีจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะหรือไม่ อย่างไร ก็แล้วแต่ คือไม่ได้คิดออกมาดุด่า ว่ากล่าว แบบเดียวกับประเทศบ้านใกล้ เรือนเคียง อย่างจีนแผ่นดินใหญ่และเกาหลีใต้เอาเลยแม้แต่น้อย งานนี้...ก็เลยเสียสุนัข เสียรังวัดไปพอสมควร ถูกบรรดาพรรคฝ่ายค้านไต้หวัน ออกมาสับ ออกมาชำแหละเป็นชิ้นๆ ลากโยงไปถึงกรณีการอมสากกะเบือก่อนหน้านี้มาแล้วหลายต่อหลายแท่ง โดยเฉพาะการไม่คิดจะสั่งห้าม “นำเข้า”สุกรเร่งเนื้อแดงจากอเมริกา หรือทำให้คุณพี่จีนแทบไม่ต้องเสียเวลาบุกเกาะไต้หวัน ให้ต้องเมื่อยมือ เมื่อยตีน โดยใช่เหตุ อาศัยแค่ความไม่พอใจของพรรคฝ่ายค้าน หรือของชาวเกาะไต้หวัน ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายแบบ “สุดขั้ว” ของพรรค “DPP” น่าจะเบาแรงกว่ากันเยอะเลย...
แต่ก็นั่นแหละ...ภายใต้สภาพบรรยากาศเช่นนี้ ก็ใช่ทุกสิ่ง ทุกอย่าง จะค่อยคลี่คลายลงไปตามลำดับ เพราะอย่างที่อดีตนายกรัฐมนตรีรัสเซีย “นายดมิตรี เมดเวเดฟ” (Dmitry Medvedev) ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นรองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย ได้ถ่ายทอดความในใจไว้กับสำนักข่าว “RIA Novosti” เมื่อช่วงวันศุกร์ (23 เม.ย.) ที่ผ่านมานั่นแหละว่า เมื่อมาถึงช่วงนี้ ถึง ณ ขณะนี้...สัมพันธภาพระหว่างอเมริกากับรัสเซีย ได้แปรสภาพจากความเป็น “คู่แข่ง” ไปสู่ “การเผชิญหน้า”อย่างเป็นกระบวนการและเป็นกิจการไปแล้วก็ว่าได้ หรือย้อนยุคกลับไปสู่ “ยุคสงครามเย็น” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และการเผชิญหน้าที่ว่า ไม่ว่าโดยการแซงชั่น การคุกคามในรูปแบบต่างๆ ไปจนการเผชิญหน้าในทางทหาร กำลังทำให้โลกทั้งโลกตกอยู่ในสภาพ “ไร้เสถียรภาพอย่างเป็นการถาวร”แนวโน้มที่จะนำมาซึ่งความตึงเครียดระดับเดียวกับกรณี “วิกฤตคิวบา”เมื่อปี ค.ศ. 1962 มีความเป็นไปได้สูงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนของนโยบายต่างประเทศอเมริกา ที่มีสาเหตุมาจากหลักสำคัญ 2 ประการใหญ่ๆ คือประการแรก เพราะปัญหาภายในสังคมอเมริกันเอง และประการสองเนื่องมาจาก “ความเสื่อม” ของอิทธิพลอเมริกันในฐานะผู้นำโลกตะวันตก...
และก็แน่นอนนั่นแหละว่า...ไม่ใช่เฉพาะรัสเซียเท่านั้น ที่เห็นไปในแนวนี้ ในเมืองจีน...การหยิบเอากรณีที่คณะกรรมาธิการกิจการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สภาคองเกรส ได้ประกาศให้การสนับสนุนต่อการออกกฎหมายที่เรียกขานกันในนาม “Strategic Competition Act of 2021”ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ ระดับ 21 ต่อ 1 หรือต่างเห็นพ้องต้องกันไม่ว่าจะเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครต หรือรีพับลิกันก็ตาม ที่จะต่อต้าน “คู่แข่ง”อย่างจีน อย่างชนิดเป็นระบบและเป็นกิจการ ไม่ว่าในด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทูต ก็แล้วแต่ เมื่อช่วงวันพุธ (22 เม.ย.) ที่ผ่านมา มาวิพากษ์ วิจารณ์ กันอย่างเป็นที่เอิกเกริก ดังเช่นที่ “Sun Chenghao”ศาสตราจารย์ผู้ช่วยวิจัย แห่ง “Institute of American Studies”ของเมืองจีน สรุปเอาไว้สั้นๆ ง่ายๆ ประมาณว่า...“นี่คือความพยายามของสภาคองเกรส ที่จะชี้นำแนวทางการบริหารของรัฐบาลโจ ไบเดน ให้มุ่งต่อต้านจีน อย่างมิมีทางผันแปรไปเป็นอื่น”นั่นเอง...
หรือสรุปง่ายๆ ว่า...แม้ “แนวรบ”ในแต่ละด้าน จะดูผ่อนคลายลงไปมั่ง ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา แต่สุดท้ายแล้ว...มันคงไม่ต่างอะไรไปจากการ “ยืดเวลา” ออกไป แบบเดียวกับบรรดา “สันติภาพประเภทชั่วคราว”ทั้งหลาย หรือที่อภิมหาพระบ้านเรา “ท่านพุทธทาสภิกขุ” ท่านเรียกว่า “สันติภาพเพื่อเตรียมไปสู่การรบใหญ่” นั่นแล ดังนั้น...ก็อย่าเผลอไป “ดีใจ” เอาไว้ก่อนล่วงหน้า เพราะภายใต้บรรยากาศแห่งความเป็น “คู่แข่ง” ที่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นการ “เผชิญหน้า”ชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นั้น โอกาสที่แต่ละฝ่ายจะเกิดอาการ “เส้นกระตุก”ย่อมมีความเป็นไปได้สูงยิ่งเข้าไปทุกที...