อังคารที่ 6 เมษายนที่เพิ่งผ่านมานี้ มีการนัดประชุมที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งโต้โผใหญ่ที่จัดประชุมคือ สหภาพยุโรป และจะมีคู่กรณีอีกสองฝ่ายที่ร่วมคือ ฝ่ายอิหร่านและฝ่ายสหรัฐฯ....เนื้อหาการประชุมว่าด้วยการเริ่มเจรจาเพื่อที่สหรัฐฯ กลับเข้าสู่ข้อตกลง JCPOA (Joint Comprehensive Plan of Action) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ เมื่อปี 2015 ปลายสมัยโอบามา-ไบเดน...แต่ถูกฉีกทิ้งโดยสิ้นเชิงโดยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2018
เป็นการประชุมที่ค่อนข้างแตกต่างกับการประชุมโดยทั่วไป เพราะอิหร่านไม่ยอมร่วมโต๊ะเจรจาเดียวกับสหรัฐฯ จนกว่าสหรัฐฯ ภายใต้ปธน.ไบเดนจะยอมยกเลิกการคว่ำบาตรที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำไว้อย่างสาหัสสากรรจ์กับอิหร่าน
อิหร่านพร้อมเจรจากับตัวแทนสหภาพยุโรป ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลาง (intermediary) ระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ
ทั้งอิหร่านและสหรัฐฯ ต่างไม่ได้ร่วมประชุมกันโดยตรง (Direct Talk) คือ ต่างอยู่กันคนละโรงแรมโดยมีสหภาพยุโรปเป็นตัวประสาน นำข้อเสนอของฝ่ายหนึ่งไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า...ยุ่งยากพอสมควร
ตั้งแต่ปธน.ไบเดนเข้ามารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกรานั้น เขาได้พยายามเปิดทางติดต่อกับประเทศอิหร่าน เพื่อให้มานั่งโต๊ะเจรจากับข้อตกลง JCPOA อีกครั้ง แต่ไบเดนก็มีเงื่อนไขว่า การเปิดโต๊ะเจรจาโดยตรงระหว่างสองประเทศนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทางอิหร่านจะต้องหยุดการพัฒนายูเรเนียม (Enriched uranium) โดยสิ้นเชิงเสียก่อน
เพราะอิหร่านได้เริ่มเดินหน้าพัฒนากากนิวเคลียร์ทันทีที่ทรัมป์ฉีกข้อตกลง 5+1 ทิ้ง...โดยอิหร่านอธิบายว่า อิหร่านทำการ Enrich uranium ก็เพื่อพัฒนากากนิวเคลียร์ให้เหมาะสม เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานนิวเคลียร์ต่อไป เพราะอิหร่านใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้า และใช้ในทางการแพทย์ ด้านการรักษาคุณภาพของอาหารต่างๆ...โดยอิหร่านปฏิเสธว่า ไม่ใช่กำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
เงื่อนไขของสหรัฐฯ และของอิหร่านนั้น ค่อนข้างเข้มข้น และขึงขังจนดูว่า ถ้าใครยอมก่อนก็จะเสียคะแนนต่อฐานเสียงภายในประเทศของตน ซึ่งเข้าขั้นเสียหน้าตา...และเหล่าชาวโลกที่ต้องการลุ้นเพื่อให้น้ำมันอิหร่านได้มีโอกาสกลับมาขายในตลาดโลกอีกครั้งหนึ่ง และแน่นอนว่า...ถ้าอิหร่านขายน้ำมันได้ดี ก็สามารถมีเงินทองไหลเข้าประเทศ เพื่อนำเงินรายได้จากการขายน้ำมัน นำไปซื้อสินค้ามากมายจากทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นสินค้ารายการใหญ่ๆ อย่างเครื่องบิน, รถยนต์, ยารักษาโรค ระบบสื่อสารโทรคมนาคม รวมทั้งสินค้าพื้นฐานในการก่อสร้างท่าอากาศยาน, ท่าเรือ, อาคารพาณิชย์, บ้านเรือน, ถนนหนทาง, ทางรถไฟ ฯลฯ
ทั้งสองฝ่าย-อิหร่านและสหรัฐฯ-ต่างจ้องตากันว่า ใครจะกะพริบตาก่อนกัน?
บทบาทของสหภาพยุโรปจึงสำคัญมาก ที่จะต้องพยายามตะล่อมให้ทั้งสองฝ่ายค่อยๆ ยอมถอยกันคนละก้าว เพราะสหภาพยุโรปเห็นด้วยอย่างยิ่งต่อข้อตกลง JCPOA เมื่อ 2015 ซึ่งจะทำให้น้ำมันอิหร่านออกมาขายได้ในยุโรป และอิหร่านก็จะเป็นลูกค้าสินค้ามากมายมหาศาลจากสหภาพยุโรปเช่นเดียวกัน
สหรัฐฯ ก็ต้องการขายสินค้ามากมายเข้าอิหร่านเช่นเดียวกัน แต่ก็ต้องหาทางออกสำหรับชาวยิวในสหรัฐฯ ที่อาจเห็นคล้อยตาม ผู้นำอิสราเอลที่กล่าวหาอย่างใส่ความว่า อิหร่านยังคงแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์...ไม่ใช่พัฒนาแค่พลังงานนิวเคลียร์เท่านั้น
ทั้งรมต.ต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ของสหรัฐฯ และที่ปรึกษาความมั่นคง เจค ซัลลิแวน ต่างก็เป็นยิวทั้งคู่ แต่ก็เห็นพ้องที่ต้องการให้อิหร่านไม่ใช่เป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ โดยอิหร่านจะได้รับอานิสงส์ให้สามารถเอาน้ำมันออกมาขายได้ ถ้าจะยอมหยุดพัฒนานิวเคลียร์จนเป็นอาวุธร้าย
สำหรับอิหร่านนั้น ผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณและการปกครองออกมาพูดเสมอว่า ไม่มีเป้าหมายในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพราะผิดหลักของศาสนาที่จะเป็นเจ้าของอาวุธร้ายและที่ฆ่าประชาชนมหาศาล แต่ว่าทางผู้นำอิสราเอลคนปัจจุบัน (ที่ตัวเองมีอาวุธนิวเคลียร์อย่างลับๆ) กลับออกมากล่าวหาว่า อิหร่านโกหกและหลอกฝ่ายประเทศ 5+1 เพราะยังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ตลอดมา
หน้าต่างสำหรับการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน กำลังมีเวลาสั้นมาก และกำลังจะต้องปิดฉากลง เพราะจะมีการเลือกตั้งปธน.อิหร่านในเดือนมิถุนายนนี้
ซึ่งการเมืองภายในของอิหร่านก็กำลังเข้าสู่โหมดเดือดพล่าน เนื่องจากการระบาดของโควิด ได้ถล่มอิหร่านอย่างสาหัสในช่วงปีที่ผ่านมา...ในคลื่นลูกแรกที่ระบาดก็ทำเอาชาวโลกตกใจกับการตายสาหัสที่นั่น เพราะอิหร่านถูกคว่ำบาตรจากรัฐบาลทรัมป์ไม่ให้ชาวโลกไปทำการซื้อน้ำมันจากอิหร่าน และถ้าประเทศใดจะซื้อขายกับอิหร่าน ก็จะถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรไปด้วย (เรียกว่า Secondary Sanctions) ซึ่งทำให้อิหร่านขาดแคลนยารักษาโรค และอาหารอย่างหนักก่อนการระบาดของโควิดด้วยซ้ำ
ด้านฝ่ายค้านของรัฐบาลโรฮานี ก็ได้โอกาสหาทางโค่นปธน.โรฮานี (ซึ่งเป็นสายพิราบ และเป็นผู้ที่ประสบผลสำเร็จกับการทำสหรัฐฯ JCPOA เมื่อปี 2015) ถึงกับสามารถได้เสียงข้างมากในสภาด้วยซ้ำ และพร้อมได้ชัยชนะในการเลือกตั้งเดือนมิถุนายนนี้ โดยประณามรัฐบาลโรฮานีว่าไปเสียรู้กับทางการสหรัฐฯ ที่ไปเซ็นสัญญา JCPOA ได้หยุดพัฒนานิวเคลียร์ แต่ก็ยังถูกคว่ำบาตรโดยรัฐบาลทรัมป์ และทำให้ประเทศอิหร่านต้องตกที่นั่งลำบากยิ่งจากการถูกคว่ำบาตรนี้
ฝ่ายค้านคือสายเหยี่ยวที่ไม่ต้องการกลับเข้าสู่ข้อตกลง JCPOA อีกครั้ง แต่ต้องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้อิหร่านเป็นประเทศนิวเคลียร์ไปเลย จะได้ไม่ต้องเกรงกลัวตะวันตกที่ชอบหลอกลวง
ฝ่ายโรฮานีก็ตอบโต้พวกฝ่ายค้านว่า ฝ่ายค้านเป็นพวกพ่อค้าที่ชอบให้อเมริกาคว่ำบาตร ตัวเองจะได้โอกาสทองขายสินค้าราคาแพงแก่ชาวอิหร่าน สร้างความมั่งคั่งบนความยากลำบากของเพื่อนร่วมชาตินั่นเอง!
และยังมีชาวอิหร่านที่สนับสนุนอเมริกา...ปรารถนาให้อิหร่านเป็นประชาธิปไตยอย่างเสรี เป็นพวกที่ทรัมป์เสนอทางออกให้มี Regime Change หรือเปลี่ยนแปลงการปกครองจากรัฐศาสนาไปสู่รัฐเสรีประชาธิปไตย
ทั้งฝ่ายเหยี่ยวและฝ่าย (ที่อาจหนุนหลังโดยสหรัฐฯ-สมัยของทรัมป์) เสรีประชาธิปไตย อาจชนะการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายนนี้ ถ้าการเจรจาระหว่างทีมของไบเดน และทีมของปธน.โรฮานีไม่สามารถบรรลุได้ทันในเดือนพฤษภาคมนี้
หรืออาจเกิดความไม่แน่นอนอย่างยิ่งหลังการเลือกตั้งเดือนมิถุนายน ซึ่งจะทำลายโอกาสที่ข้อตกลง JCPOA จะเกิดได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตลาดน้ำมันโลกกำลังลุ้นให้การเพิ่งเริ่มเจรจาที่เวียนนาในอาทิตย์นี้ จะนำไปสู่ความสำเร็จในข้อตกลงใหม่ JCPOA อีกครั้ง เพราะรมต.ต่างประเทศหวัง อี้ ของจีนก็เพิ่งเดินทางไปพบปะพูดจากับผู้นำหลายประเทศในตะวันออกกลาง เพื่อปูทางและหาเสียงสนับสนุนให้ข้อตกลง JCPOA นี้เป็นจริงขึ้นมาได้อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้เกิด win-win กันหลายๆ ฝ่ายทั้งอิหร่านเองและทั้งโลกด้วย
ตลอดจนรัฐบาลพิราบของโรฮานี ก็น่าจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ถ้ามีการยกเลิกการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และอิหร่านก็สามารถขายน้ำมัน เพื่อรับเงินตราต่างประเทศมาซื้อข้าวของจากทั่วโลกเพื่อไปพัฒนาบ้านเมืองอิหร่านที่ถูกคว่ำบาตรมาเป็นเวลานาน