ในการสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ มีข้อโจมตีโจ ไบเดน ในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เขาอายุมาก (ทั้งๆ ที่เขามีอายุแก่กว่าโดนัลด์ ทรัมป์แค่ 3 ปี) และเรื่องที่เขาเคยเป็นรองประธานาธิบดี ซึ่งฝ่ายทรัมป์ก็กล่าวหาว่า เป็นตำแหน่งที่ไม่เคยบริหารราชการแผ่นดิน เพราะประธานาธิบดีจะเป็นผู้บริหารและตัดสินใจในทุกๆ เรื่อง ซึ่งจะต่างกับตัวทรัมป์เองที่เป็นนักบริหารผู้ช่ำชอง เนื่องจากได้บริหารกิจการอสังหาริมทรัพย์ของตัวเองมาตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัยใหม่ๆ
อีกนัยหนึ่งก็คือ การที่ไบเดนเคยเป็นแค่สมาชิกวุฒิสภามาถึง 40 ปี ก็เป็นตำแหน่งด้านนิติบัญญัติ ซึ่งไม่เคยบริหารในลักษณะของการตัดสินใจต่อการบริหารปัญหาของชาติ
และท่ามกลางประเด็นขัดขวางการเสนอตัวของไบเดนเพื่อแข่งขันเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต ไบเดนก็ได้เปิดเผยถึงการมีประสบการณ์ด้านการบริหาร ที่ตัวเขาเองได้มีส่วนร่วมกับโอบามาในทุกๆ เรื่อง ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายใหม่สำหรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีที่เรียกร้องให้ประธานาธิบดีต้องปรึกษาเขาก่อนในทุกๆ เรื่อง
ให้รองประธานาธิบดีเป็นคนสุดท้ายที่ประธานาธิบดีจะหารือ ก่อนที่ประธานาธิบดีจะตัดสินใจ
ไบเดนได้เล่าว่า หลังจากโอบามาได้ทำ Short-List ของผู้ที่โอบามาต้องการสัมภาษณ์เพื่อเป็น Running Mate คู่กับเขา จนในที่สุดโอบามาก็ตัดสินใจเลือกไบเดน ซึ่งมีประสบการณ์ยาวนานในวุฒิสภา และมีแนวคิดก้าวหน้าเช่นเดียวกับเขา แม้ว่าจะมีอายุต่างกับเขาถึง 30 ปีก็ตาม
และในวันที่โอบามาตัดสินใจเลือกไบเดนเป็นคู่หูของเขา และขอพบกับไบเดน...ในวันนั้นเอง โอบามาก็เจอกับเงื่อนไขของไบเดนที่เขาไม่คาดคิดมาก่อน
นั่นคือ ไบเดนได้พูดถึงข้อตกลงที่ (ผู้สมัคร) ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ได้ลงนามในเอกสารที่ว่าที่รองประธานาธิบดีวอลเตอร์ มอนเดล ได้เขียนเป็นเงื่อนไขในการจะยอมรับเป็นรองประธานาธิบดีเมื่อ 30 ปีมาแล้ว
เงื่อนไขครั้งนั้น นับเป็นการเปลี่ยนประวัติศาสตร์เรื่องบทบาทของรองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ อย่างสำคัญยิ่ง
มีเงื่อนไขอยู่ 3 ข้อที่วอลเตอร์ มอนเดล วุฒิสมาชิกอาวุโสแห่งรัฐมินนิโซตา ได้เรียกร้องจากจิมมี คาร์เตอร์ (ขณะที่เป็นผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย) และกำลังลงแข่งขันเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตเพื่อลงสนามแข่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 1976
ข้อแรกคือ-มอนเดล ในตำแหน่งรองประธานาธิบดี จะต้องได้พบปะหารือกับ (ประธานาธิบดี) คาร์เตอร์ ได้ทุกเมื่อตลอดเวลา โดยไม่มีการขัดขวาง
ข้อสอง-รองประธานาธิบดีมอนเดล จะสามารถเข้าถึงข้อมูลเอกสารลับทุกฉบับที่ประธานาธิบดีคาร์เตอร์ได้รับ
ข้อสามคือ ความรับผิดชอบในหน้าที่การงานต่างๆ ของรองประธานาธิบดี จะต้องไม่มีการขีดขั้นจำกัดด้วยกรอบใดๆ
เอกสารข้อตกลงที่วอลเตอร์ มอนเดล ได้เขียนขึ้น และยื่นให้จิมมี คาร์เตอร์ ได้พิจารณานั้น ปรากฏว่า จิมมี คาร์เตอร์ ได้ยอมรับหมดทุกข้ออย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ และจิมมี คาร์เตอร์ ได้ลงนามเป็นหลักฐาน โดยไม่ได้มีการเขียนใจความเพิ่มเติมแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น
และไบเดนต่อมาได้เปิดเผยว่า เมื่อวุฒิสมาชิกโอบามา (แห่งรัฐอิลลินอยส์) ได้ตกลงเลือกไบเดนให้มาเป็นคู่หู โดยโอบามาได้เชิญไบเดนมาพบเพื่อบอกถึงการตัดสินใจของเขา
ปรากฏว่า ก่อนที่โอบามาจะได้พบกับไบเดนนั้น อดีตรองประธานาธิบดีวอลเตอร์ มอนเดล ได้ส่งสำเนาของเอกสารข้อตกลงระหว่างมอนเดลกับคาร์เตอร์ ไปให้กับไบเดน ซึ่งทำให้ไบเดนได้ศึกษารายละเอียดในข้อตกลงนั้น ก่อนหน้าที่ไบเดนจะไปพบโอบามา
และในการจากไปของอดีตรองประธานาธิบดีมอนเดล เมื่อจันทร์ที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ด้วยอายุ 93 ปีได้มีแถลงการณ์ไว้อาลัยจากอดีตประธานาธิบดีโอบามา ที่กล่าวชื่นชมมอนเดลที่เป็นแชมเปี้ยนแห่งความคิดที่ก้าวหน้าเพื่อสังคม และได้เปลี่ยนบทบาทของรองประธานาธิบดี จนทำให้รองประธานาธิบดีอย่างไบเดน ได้กลายเป็นบุคคลสุดท้ายที่ได้อยู่กับประธานาธิบดีเมื่อจะมีการตัดสินใจสำคัญๆ ในการบริหารบ้านเมือง
ไม่เพียงเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อที่มอนเดลมีต่อประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ (และต่อมาในสมัยของโอบามาก็ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขนี้ต่อไบเดน)...มอนเดลยังได้เสนอให้จัดห้องทำงานของรองประธานาธิบดีให้อยู่ใกล้กับห้องทำงานรูปไข่ของประธานาธิบดีคาร์เตอร์ เดินแค่ 17 ก้าวก็จะถึงห้องรูปไข่ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนที่ทำงานของรองประธานาธิบดีที่เดิมเคยอยู่คนละตึกกับทำเนียบขาว (อยู่ฝั่งตรงข้าม) ให้มาอยู่ในปีกตะวันตกของทำเนียบขาว เพื่อการประสานงานอย่างใกล้ชิดของคนทั้งสอง
และจิมมี คาร์เตอร์ ยังได้ออกคำสั่งพิเศษ รวมทั้งพูดย้ำหลายครั้งว่า คณะทำงานด้านการเมืองที่ปีกตะวันตกของทำเนียบขาว ซึ่งเป็น Staff ของท่านประธานาธิบดีจะต้องให้การสนับสนุนต่อรองประธานาธิบดีมอนเดลในทุกๆ เรื่อง ห้ามขัดขวางหรือใส่ร้ายรองประธานาธิบดีมอนเดลเด็ดขาด และถ้าใครมีวี่แววดังกล่าว (ที่มักเกิดขึ้นในการพยายามเอาหน้ากับประธานาธิบดี ด้วยการพูดทับถมรองประธานาธิบดี) ประธานาธิบดีคาร์เตอร์ได้คาดโทษว่า จะต้องถูกไล่ออกไปจากทำเนียบขาวทันที
ในอารัมภบทเบื้องต้นที่วอลเตอร์ มอนเดล เขียนขึ้นก่อนถึงเงื่อนไข 3 ข้อนั้น มอนเดลได้พูดถึงบทบาทสำคัญของรองประธานาธิบดีในการบริหารงานราชการแผ่นดินคือ การเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีในทุกๆ เรื่อง เพื่อมีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง; โดยการตัดสินใจจะเป็นของท่านประธานาธิบดี
และอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ได้กล่าวไว้อาลัยต่อมอนเดลในการจากไปของเขาว่า เป็นการจากไปของเพื่อนที่รักมาก ซึ่งเป็น “invaluable partner” (คู่คิดที่มีค่ายิ่ง)
นอกจากนี้ มอนเดลยังได้เสนอว่า ประธานาธิบดีและตัวเขาในตำแหน่งประธานาธิบดี ควรจะต้องรับประทานอาหารร่วมกันอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง ซึ่งก็ปรากฏว่า ทั้งจิมมี คาร์เตอร์ และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ได้มีการรับประทานอาหารร่วมกับมอนเดล และภรรยาบ่อยมาก ซึ่งเป็นความใกล้ชิดของสองครอบครัว ที่ช่วยในการทำงานของคนทั้งสอง โดยเฉพาะอาทิตย์ละครั้งจะมีการรับประทานอาหารระหว่างคาร์เตอร์และมอนเดลสองต่อสองเสมอ
นับเป็นการเปลี่ยนบทบาทของรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีส่วนในการบริหารร่วมกับประธานาธิบดี ซึ่งคาร์เตอร์เคยยกตัวอย่างในอดีต ที่ประธานาธิบดีส่วนใหญ่จะไม่ให้น้ำหนักในการขอความเห็นจากรองประธานาธิบดี และแม้แต่ FDR ก็ยังเก็บความลับด้านระเบิดนิวเคลียร์จากรองประธานาธิบดีของตน เป็นต้น
และสำหรับกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีของไบเดน ก็จะได้รับบทบาทการมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือ และบริหารราชการร่วมกับไบเดน ซึ่งจะเป็นการปูทางเสริมสร้างประสบการณ์ในการบริหารแผ่นดินให้แก่กมลา เพื่อเตรียมรับภารกิจการเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ได้เช่นกัน