ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงยืนยันอย่างเป็นทางการในวันพุธ (14 เม.ย.) จะเริ่มถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานในวันที่ 1 พฤษภาคม และมีเส้นตายสิ้นสุดวันที่ 11 กันยายน เพื่อจบสงครามยาวนานที่สุดของอเมริกา ปฏิเสธเสียงเรียกร้องขอให้คงกองกำลังสหรัฐฯ ต่อไป เพื่อรับประกันทางออกอย่างสันติในประเทศที่ทหารอเมริกาใช้เวลานานกว่า 2 ทศวรรษสู้รบนองเลือดที่เริ่มไร้ประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ กับพวกตอลิบาน
ไบเดน แถลงที่ทำเนียบขาว ยอมรับว่าวัตถุประสงค์ของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน “เริ่มไม่ชัดเจนมากขึ้น” ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เขากำหนดเส้นตายสำหรับถอนทหารอเมริกาทั้งหมด 2,500 นายที่ยังเหลืออยู่ในอัฟกานิสถาน ในวันที่ 11 กันยายน ครบ 20 ปีพอดีในเหตุการณ์พวกอัลกออิดะห์โจมตีสหรัฐฯ ซึ่งจุดชนวนการเปิดสงครามของอเมริกา
อย่างไรก็ตาม ด้วยที่การถอนทหารมีขึ้นโดยปราศจากชัยชนะที่ชัดเจน สหรัฐฯ จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าการถอนกำลังครั้งนี้เสมือนเป็นการยอมรับโดยพฤตินัยว่าอเมริกาประสบความล้มเหลวในยุทธศาสตร์ด้านการทหาร
“มันไม่เคยหมายความว่าเราจะดำเนินการลากยาวไปหลายชั่วอายุ เราถูกโจมตี เราเข้าสู่สงครามด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน และเราประสบความสำเร็จในเป้าหมายต่างๆ เหล่านั้น” ไบเดนกล่าวอ้าง โดยเน้นว่าอุซามะห์ บิน ลาดิน ผู้นำอัลกออิดะห์ ถูกสังหารโดยกองกำลังสหรัฐฯ ในปี 2011 และบอกว่าองค์กรแห่งนี้เสื่อมทรามลงแล้วในอัฟกานิสถาน “และมันถึงเวลาที่ต้องยุติสงครามไม่มีจุดจบ”
สงครามอัฟกานิสถานคร่าชีวิตกองกำลังสหรัฐฯ ไป 2,448 นาย และผลาญงบประมาณไปราวๆ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยช่วงพีกสุดเคยมีทหารอเมริกาประจำการในอัฟกานิสถานมากกว่า 100,000 นายในปี 2011
ประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตรายนี้ เผชิญกับเส้นตายถอนทหารทั้งหมดในวันที่ 1 พฤษภาคม ที่กำหนดไว้โดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งล้มเหลวในความพยายามถอนกำลังพลทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานก่อนอำลาตำแหน่งในเดือนมกราคม อย่างไรก็ตาม ไบเดน ตัดสินใจเลือกให้เริ่มดำเนินการถอนกำลังชุดสุดท้ายในวันที่ 1 พฤษภาคมแทน และกำหนดเส้นตายแล้วเสร็จในวันที่ 11 กันยายน
ณ ที่ประชุมเจ้าหน้าที่นาโต้ในบรัสเซลส์ แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เผยว่า กองกำลังต่างชาติภายใต้การบัญชาการของนาโต้ในอัฟกานิสถาน จะถอนกำลังออกมา สอดคล้องกับการถอนทหารของสหรัฐฯในวันที่ 11 กันยายน หลังจากเยอรมนีบอกว่าพวกเขาจะทำตามแผนของอเมริกา
ประธานาธิบดีอัชราฟ กานี แห่งอัฟกานิสถาน เขียนบนทวิตเตอร์ เผยว่าเขาได้พูดคุยกับ ไบเดน และเคารพการตัดสินใจของสหรัฐฯ พร้อมระบุว่า “เราจะทำงานร่วมกับพันธมิตรสหรัฐฯ ของเราเพื่อรับประกันการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น” และ “เราจะทำงานกับพันธมิตรสหรัฐฯ และนาโตของเรา ในความพยายามสร้างสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่”
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าความเคลื่อนไหวของไบเดนจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อแผนประชุมซัมมิตเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน ในอิสตันบูล เป็นเวลา 10 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน ซึ่งจะมีสหประชาชาติและกาตาร์เข้าร่วมด้วย หลังจากก่อนหน้านี้ตอลิบานเคยบอกว่าพวกเขาจะไม่เข้าร่วมประชุมซัมมิตไหนๆ ที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน จนกว่ากองกำลังต่างชาติทั้งหมดจะถอนกำลังออกนอกประเทศ
ไบเดนบอกด้วยว่า ภัยคุกคามจากก่อการร้ายไม่ได้จำกัดอยู่ในประเทศหนึ่งประเทศใด และการประจำการกองกำลังสหรัฐฯ ในดินแดนต่างชาติประเทศหนึ่งประเทศใดภายใต้ต้นทุนทางการเงินอันมหาศาลนั้น “เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล”
ลินซีย์ เกรแฮม วุฒิสมาชิกจากรีพับลิกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในพวกวิพากษ์วิจารณ์ไบเดนอย่างดุเดือดมาตลอด บอกว่าการถอนทหารจะถูกเปลวไฟแห่งความขัดแย้งที่ยาวนานย้อนกลับเล่นงาน และเป็นไปได้ที่มันจะมอบความมีชีวิตชีวาคืนสู่พวกอัลกออิดะห์ “สิ่งใดที่เราสูญเสียไปจากการถอนกำลังน่ะหรือ เราสูญเสียนโยบายที่รับประกันว่าจะไม่เกิดเหตุโศกนาฏกรรม 9/11 ซ้ำอีกรอบ”
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)