xs
xsm
sm
md
lg

ทองแท้ใยต้องกลัวไฟ นักวิชาการอะไรกลัวการสอบสวนทางวิชาการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ผมอ่านแถลงการณ์ของนักวิชาการ 279 คนแล้วด้วยความไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง รู้สึกว่าเป็นการแถดัดจริตประดิษฐ์วาทกรรมเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องตนเองในการกระทำผิดกฎหมายและผิดจริยธรรมทางวิชาการ ในกรณีที่ลงนามเป็นหางว่าวเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีการตั้งกรรมการสอบสวนนายณัฐพล ใจจริง #จุฬาฯต้องปกป้องเสรีภาพและมาตรฐานทางวิชาการ

เหตุผลข้อหนึ่ง แถลงการณ์อ้างว่าณัฐพล ใจจริงมีความบริสุทธิ์ใจและจรรยาบรรณทางวิชาการ โดยที่ “มิได้นิ่งนอนใจหรือบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยง แต่ได้ตรวจสอบเอกสาร ทำหนังสือชี้แจงต่อคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ และขอปรับแก้ข้อความที่ผิดพลาดดังกล่าวในทันที แต่ตามระเบียบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การแก้ไขวิทยานิพนธ์ที่ได้รับอนุมัติแล้วจะกระทำมิได้ กระนั้นเมื่อสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันตีพิมพ์หนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี ซึ่งนายณัฐพลเรียบเรียงปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ของตน นายณัฐพลก็ได้แก้ไขจุดผิดพลาดที่ศาสตราจารย์ไชยันต์ท้วงติงด้วย”

ผมวิเคราะห์แล้วกลับพบข้อน่ารังเกียจ เพราะแม้ว่าบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะได้ทักท้วงและห้ามเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วแต่ณัฐพลยังมีเจตนากระทำความผิดซ้ำดังนี้

ประการแรก เขียนหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ โดยโจมตีใส่ร้ายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ตลอดจนสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทรว่ามีส่วนร่วมในการต่อต้านคณะราษฎร 2475 เพราะต้องการกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การใช้ข้ออ้างเดิมว่ากรมพระยาชัยนาทนเรนทรเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นข้ออ้างและหลักฐานเท็จที่เคยใช้แล้วในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกรัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต แสดงให้เห็นว่าจงใจกระทำผิดซ้ำแม้ว่าทางบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะได้ทักท้วงแล้วก็ตาม แสดงว่าหาได้สำนึกใดๆ ไม่

ประการที่สอง การ rewrite จากวิทยานิพนธ์ที่ถูกห้ามเผยแพร่นั้น ใช้โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ โดยแสกนตัวอักษรทั้งหมดจากเล่มวิทยานิพนธ์ ไปเป็นหนังสือขุนศึก ศักดินา พญาอินทรีย์ พบว่ามีความต้องตรงกัน (Similarity) ถึง 19.8% หรือ 20 % สิ่งที่นักวิชาการที่ดีพึงทำเมื่อพบว่างานของตนมีข้อผิดพลาดไม่ใช่ตัดส่วนที่ผิดพลาดที่อ้างอิงมาออกไปเพียงเท่านั้น เพราะการทำเช่นนั้นไม่เพียงพอและเป็นการขาดความรับผิดชอบทางวิชาการอย่างร้ายแรงและรุนแรงมาก

เหตุผลสำคัญคือไม่ว่าจะตามหลักตรรกวิทยา ปรัชญาวิทยาศาสตร์ หรือญาณวิทยา ถ้าหากการให้เหตุผลผิดหรือข้ออ้างผิดแล้วข้อสรุปที่ตามมาก็ย่อมผิดพลาดดังรูปด้านล่างนี้


เมื่อณัฐพล ใจจริง มีข้ออ้างที่ผิดพลาดคืออ้างว่า กรมพระยาชัยนาทนเรนทรแทรกแซงการเมืองโดยการเข้าประชุม ครม. ที่มีจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นประธานการประชุมในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นการอ้างอิงเอกสารที่ไม่ตรงกับเอกสารต้นฉบับ คืออ้างหนังสือพิมพ์ Bangkok Post และเอกสารจากหอจดหมายเหตุ NARA ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นการอ้างเท็จทั้งคู่ ข้อสรุป คือ รัชกาลที่ 7 ต้องการต่อต้านคณะราษฎรและรัชกาลที่ 9 ต้องการรวบอำนาจแทรกแซงทางการเมืองในหนังสือสองเล่มย่อมเป็นข้อสรุปอันเป็นเท็จ

นักวิชาการที่มีความรับผิดชอบทางวิชาการ มีจริยธรรมทางการวิจัย ต้องกลับไปวิเคราะห์ข้อมูลใหม่ทั้งหมด และสร้างข้อสรุปใหม่ให้ตรงกับข้ออ้าง เพราะข้ออ้างนั้นถูกหักล้างไปเสียแล้ว

แต่ณัฐพล ใจจริง หาได้มีความจริงใจทางวิชาการและความรับผิดชอบต่อสังคมใหม่ อาศัยวิธีการเรียบเรียงใหม่ (Rewrite) ที่ตรงกับวิทยานิพนธ์เกือบร้อยละ 20 ตัดข้ออ้างอันเป็นเท็จคือเอกสารที่ตนอ้างเท็จ ซึ่งหากมองในแง่ดีคงอ่อนด้อยความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษ แต่ถ้ามองในแง่ร้ายก็คือพยายามที่จะบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์เพื่อสร้างข้อมูลอันเป็นเท็จ

ดังนั้นการตัดเฉพาะข้ออ้างเท็จออกเพราะถูกจับได้และจำนนด้วยหลักฐาน แต่ยังคงเล่นแร่แปรธาตุด้วยการเอามาเรียบเรียงใหม่และยังคงมีเนื้อหาเก่ามากถึง 20% โดยไม่ยอมตัดข้อสรุปจากการวิเคราะห์ข้อมูล ที่หากมีความบริสุทธิ์ใจและเป็นทองแท้ไม่กลัวไฟลน ต้องวิเคราะห์และเขียนข้อสรุปใหม่ทั้งหมด มิใช่ตัดออกเฉพาะข้ออ้างที่มีคนจับได้ไล่ทัน เป็นผู้ร้ายปากแข็งก่อกระทำอาชญากรรมทางวิชาการอย่างไร้ยางอาย ตะแบงและแถต่อ โดยไม่มีความจริงใจๆ ใดๆ ทั้งสิ้น

การอ้างว่า “การตั้งกรรมการเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีวิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล จึงเป็นการกระทำที่ไม่ได้สัดส่วนกับความผิดพลาดที่นายณัฐพลได้แก้ไขตามข้อท้วงติงแล้ว” ในแถลงการณ์จึงเป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่พิจารณาให้รอบด้าน ขาดการวิเคราะห์เจตนา (Intentionality analysis) ของผู้กระทำความผิด และเป็นการเอาสีข้างเข้าถูอย่างไร้จริยธรรมทางวิชาการ

เหตุผลข้อสองที่แถลงการณ์ยกมาอ้าง อ่านแล้ววกวน หากไม่ใช่นักวิชาการจะอ่านแล้วสับสน แต่หากจะสรุปง่ายๆ คือ ผิดเพียงนิดเดียว อย่ามาจ้องจับผิดกันเลย ยังได้พยายามอ้างว่านักวิชาการระดับสากลก็ผิดพลาดเหมือนกัน

ข้อนี้เป็นตรรกะวิบัติอย่างรุนแรง เพราะ "สิ่งที่ถูกต้องคือถูกต้อง แม้ไม่มีใครทำสิ่งนั้น สิ่งที่ผิดคือผิด แม้ทุกคนทำสิ่งนั้น" ศาสตราจารย์ สังเวียน อินทรวิชัย การที่อ้างเช่นนี้ ไม่ได้เป็นการให้อภัยได้เลย โดยเฉพาะหากใครที่ได้เรียนปรัชญาวิทยาศาสตร์มาย่อมเข้าใจกระบวนการจับเท็จ (Falsification process) ของ Karl Popper มาเป็นอย่างดีย่อมเข้าใจว่าหากสามารถหักล้างข้ออ้างที่นำไปสู่ข้อสรุปหรือทฤษฎีได้เพียงเล็กน้อย เราก็สามารถหักล้างข้อสรุปหรือทฤษฎีได้

ในอีกด้านหนึ่งแถลงการณ์นี้ไม่ได้กล่าวถึงความผิดร้ายแรงทางวิชาการ ในแง่การทำผิดจริยธรรมการวิจัยของนายณัฐพล ใจจริงเลย ทำไมจึงมองไม่เห็นความโทษผิดของพวกพ้องตนเองด้วยอคติทางการเมืองใดได้มากถึงเพียงนี้

สิ่งที่นายณัฐพล ใจจริงกระทำลงไปนั้น เป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมทางการวิจัยและวิชาการอย่างร้ายแรง

ขั้นต่ำสุดคือการทำผิดกฎหมาย ด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์ (Copyright infringement) เป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมแต่อาจจะไม่ผิดกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น นายณัฐพล ใจจริง อาจจะแอบอ้างว่าพระอภัยมณีทั้งเล่ม เขาเป็นคนแต่ง แต่กวีเอกสุนทรภู่ ตายไปเป็นร้อยปี เกินกว่า 50 ปีที่กฎหมายลิขสิทธิ์ได้คุ้มครองไว้ การอ้างว่าแต่งพระอภัยมณีจึงไม่ผิดกฎหมายใดๆ เลย แต่ผิดจริยธรรมในแง่การลอกเลียนอย่างไร้เกียรติ (Plagiarism)

ขั้นสองคือ การลอกเลียนอย่างไร้เกียรติ (Plagiarism) คือการคัดลอก ดัดแปลงงานของคนอื่น แอบอ้างว่าเป็นของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น การลอกเลียนอย่างไร้เกียรติ ของนายศุภชัย หล่อโลหะการ อดีตผู้อำนวยการศูนยนวัตกรรมแห่งชาติ โดยลอกเลียนงานวิจัยที่ NIA จ้างผู้อื่นทำมาเป็นวิทยานิพนธ์ ปริญญาเอกของนายศุภชัยเสียเอง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ถอดถอนปริญญาเอกของนายศุภชัย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขั้นสามคือ การสร้างข้อมูลเท็จ (Data falsification) เช่น การกลับข้อเท็จจริง กรมพระยาชัยนาทนเรนทรไม่ได้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีที่มีจอมพล ป พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นประธาน แต่อย่างใด แต่ในข้อเท็จจริง มีหลักฐานว่า จอมพล ป พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี มีความพยายามแทรกแซงเข้ามาในที่ประชุมองคมนตรี อันเป็นการกลับขาวเป็นดำ กลับดำเป็นขาว

ขั้นสุดท้ายเป็นการผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงคือการแต่งเติมข้อมูลเอาเอง โดยการแต่งปั้นข้อมูลเท็จ (Data fabrication) การที่สายรื้อสร้างของสังคมศาสตร์สาย post modern สามารถแต่งเติมข้อมูลโดยใช้จินตนาการได้ แต่การรื้อสร้าง ตีความใหม่ตามอคติสุดโต่ง ไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงเลย ไม่ได้คำนึงถึงข้อมูลเชิงประจักษ์เลย ก็จัดว่าเป็นการแต่งเติมข้อมูลเอาเอง โดยการแต่งปั้นข้อมูลเท็จ อย่างที่ณัฐพล ใจจริง บิดข้อมูล สร้างข้อมูลเท็จว่ากรมพระยาชัยนาทนเรนทร เข้าประชุมคณะรัฐมนตรี แล้วมีวัตถุประสงค์เพื่อจะกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต้องการรวบอำนาจกลับคือมาให้สถาบัน จึงเป็น Data fabrication อันเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมทางวิชาการและการวิจัยอย่างร้ายแรง


เหตุผลข้อสามที่แถลงการณ์ยกมาอ้างคือสิทธิและเสรีภาพทางวิชาการ โดยกล่าวว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรมีจุดยืนที่แน่วแน่และชัดเจนในการรักษาและส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการของสมาชิกประชาคมทางวิชาการในระดับอุดมศึกษาทั้งของอาจารย์และนิสิต อันได้แก่เสรีภาพในการเรียนการสอนและการอภิปรายถกเถียง เสรีภาพในการดำเนินการวิจัยและการเผยแพร่และการตีพิมพ์ผลการวิจัย เสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างอิสระเกี่ยวกับสถาบันหรือระบบที่ตนทำงานและศึกษาอยู่ และเสรีภาพจากการเซ็นเซอร์เชิงสถาบัน ไม่โอนอ่อนไปตามกระแสสังคมและแรงกดดันจากกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด”

สิทธิและเสรีภาพใดๆ ก็ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๖๐ มีการกำหนดเรื่องสิทธิและเสรีภาพไว้หลายอย่าง เช่น สิทธิ์และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิ์และเสรีภาพในการชุมนุม ตลอดจนสิทธิ์และเสรีภาพทางวิชาการ ดังมาตรา 25 ได้บัญญัติไว้ว่า

มาตรา 25 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะ ในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจํากัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทําการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบ กระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น สิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ บุคคลหรือชุมชนย่อมสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพหรือจากการกระทําความผิดอาญา ของบุคคลอื่น ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

และยังได้กำหนดข้อจำกัดในเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของ ปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น”

เช่นเดียวกันกับสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม ตามมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ระบุไว้ว่า

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจํากัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”

หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ได้ว่า สิทธิและเสรีภาพทุกประการมีข้อจำกัด (limitations) คือ

ประการที่ ๑ การใช้สิทธิ์และเสรีภาพทั้งหมดดังกล่าวต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น
ประการที่ ๒ การใช้สิทธิ์และเสรีภาพทั้งหมด ดังกล่าวต้องไม่ผิดกฎหมายหรือขัดต่อกฎหมาย
ประการที่ ๓ การใช้สิทธิ์และเสรีภาพดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม และ ประการที่ ๔ การใช้สิทธิ์และเสรีภาพดังกล่าวต้องไม่เป็นภัยความมั่นคงแห่งรัฐ

ณัฐพล ใจจริง ได้ใช้เสรีภาพทางเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ ที่เกินกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด โดยการใช้สิทธิเสรีภาพของตนนั้นล่วงเกินคนอื่นคือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระมหาชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการในพระองค์ อันเป็นการใส่ร้าย ดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กระทำความผิดมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

การที่หนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อและขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี เป็นหนังสือเบิกเนตรทำให้เกิดการยุยงปลุกปั่นในบ้านเมือง ล้มล้างระบอบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข อันเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

การกระทำของนายณัฐพล ใจจริงจึงเป็นการด้อยค่าดูหมิ่นดูแคลนสถาบัน การก้าวล่วงใส่ร้ายป้ายสีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำที่ผิดกับศีลธรรมวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของประเทศไทย เพราะคนไทยมีความศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งยังเป็นการกระทำที่เป็นภัยความมั่นคงด้วยเพราะพระมหากษัตริย์คือองค์รัฎฐาธิปัตย์และทรงเป็นองค์พระประมุข

ผมไม่เข้าใจว่าคณาจารย์สองร้อยกว่าท่านได้พิจารณาประเด็นที่ผมทักท้วงหรือไม่ แต่หากท่านมั่นใจว่าไม่ได้ทำผิดจริยธรรมทางวิชาการและไม่ได้กระทำผิดกฎหมายก็ต้องสามารถยอมรับการตรวจสอบทางวิชาการได้

ขอฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยคำพูดของ ศาสตราจารย์ ดร. ไชยันต์ ไชยพร ผู้ที่เป็นตำรวจทางวิชาการในสายตาของนักวิชาการล้มเจ้าจำนวนมากได้ท้าทายไว้อย่างแหลมคมดังนี้

ภายใต้ “เสรีภาพทางวิชาการ”

ผู้ใช้เสรีภาพนั้น ได้รับเกียรติและได้รับการคุ้มครองอยู่มาก จึงย่อมต้องมีความรับผิดชอบมากตามมา อย่างปฏิเสธไม่ได้

เมื่อใช้เสรีภาพฯ นั้นแล้ว เกิดผิดพลาด เมื่อทราบและยอมรับข้อผิดพลาด ก็ควรรับผิดชอบ รีบแก้ไขเสีย

เพื่อปกป้องรักษา “เสรีภาพทางวิชาการ” ให้เป็นที่เคารพและยอมรับของวงการวิชาการและสาธารณะต่อไป

มิฉะนั้นแล้ว เสรีภาพทางวิชาการจะไม่เป็นที่เคารพและเป็นประโยชน์สำหรับนักวิชาการต่อ ๆ ไป


กำลังโหลดความคิดเห็น