อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ นายนันทิวัฒน์ สามารถ ออกมาโพสต์ข้อความเป็นห่วงวิทยานิพนธ์ ของ นายณัฐพล ใจจริง ที่ใช้หลักฐานอ้างอิงปลอม-แต่งเรื่องให้ร้ายผู้สำเร็จราชการแทน ร.๙ ชี้ ข้อมูลลวงโลกอาจกลายเป็นการมอมเมาเด็กรุ่นใหม่ ระบุ วิทยานิพนธ์ที่ดีต้องไม่ผิดพลาดข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพราะสามารถตรวจสอบได้
จากกรณี เฟซบุ๊กเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง-คนส. ได้มีการเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความห่วงใยต่อการดำเนินการกรณีวิทยานิพนธ์ ปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตของ นายณัฐพล ใจจริง โดยมีการล่ารายชื่อ 279 นักวิชาการ และวิชาชีพอื่นที่สนับสนุนจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว
อ่านข่าวประกอบ - “หลานกรมพระยาชัยนาทฯ” สุดทน ฟ้อง “ณัฐพล ใจจริง-ฟ้าเดียวกัน” 50 ล้าน ชี้เจตนาให้ร้ายสถาบันกษัตริย์
อ่านข่าวประกอบ-มาตรฐานจุฬาฯ? เปิด 30 รายชื่ออาจารย์จุฬาฯ ปกป้อง “วิทยานิพนธ์ลวงโลก-ให้ร้ายสถาบัน” ของ “ณัฐพล ใจจริง”
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (27 มี.ค.) นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Nantiwat Samart” ระบุ ถึงการที่มีนักวิชาการหลายรายออกมาปกป้อง นายณัฐพล ใจจริง เจ้าของวิทยานิพนธ์ลวงโลก ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการไม่มีการเอาเอาผิดทางวินัยและทางอาญาใดๆ ต่อนายณัฐพล อย่างไรก็ตาม ตนเองห่วงว่าวิทยานิพนธ์ดังกล่าว จะสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนคนรุ่นหลังและอาจส่งผลกระทบไปถึงสถาบัน ทั้งนี้ “นายนันทิวัฒน์” ได้ระบุข้อความว่า
“วิทยานิพนธ์ที่เป็นปัญหา บรรดาอาจารย์มีชื่อหลายคนเขียนจดหมายถึงผู้บริหารจุฬาฯ ปกป้อง ณัฐพล ใจจริง และวิทยานิพนธ์เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม: ภายใต้ระเบียบโลกสหรัฐฯ 2491-2500 ในทำนองไม่ให้ถอดถอนวิทยานิพนธ์ แม้ว่าจะมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ข้อผิดพลาดหลักของวิทยานิพนธ์ แต่ข้อเรียกร้องที่น่าสนใจ คือ ไม่ให้เอาผิดทางวินัยและทางอาญาใดๆ ต่อณัฐพล
การสอบสวนของคณะกรรมการที่ จุฬาฯ ตั้งยังสอบสวนไม่เสร็จ อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ แต่อาจารย์น่าจะสนใจประเด็นว่า เอกสารอ้างอิงถูกต้องหรือไม่ เอกสารอ้างอิงมีจริงหรือไม่ เอกสารวิจัยมั่วข้อมูลหรือไม่ ผมในฐานะนิสิตเก่าจุฬาฯคนหนึ่งที่ร่วมลงชื่อกว่า 400 คน เรียกร้องให้จุฬาฯตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงว่า วิทยานิพนธ์ดังกล่าวมีการจัดทำถูกต้องหรือไม่ตามระเบียบวิธีวิจัยและการอ้างอิงข้อมูลถูกต้องตามหลักวิชาการ หากไม่ใช่ต้องแก้ไข หรือแก้ไขแล้ว ทำให้วิทยานิพนธ์ผิดพลาด ขอให้ถอดถอนวิทยานิพนธ์ดังกล่าว
ความห่วงใยของคนไทย คือ วิทยานิพนธ์ดังกล่าวกระทบต่อสถาบันฯ การทำวิทยานิพนธ์ที่ดีต้องไม่ผิดพลาดข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพราะสามารถตรวจสอบได้ ประการสำคัญ หากวิทยานิพนธ์ผิดพลาดและไม่แก้ไขให้ถูกต้อง จะถูกใช้อ้างอิงในทางวิชาการ และกลายเป็นเอกสารที่ระบุว่า สถาบันฯมีความพยายามแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล เสมือนยังเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมันไม่เป็นความจริง การเขียนวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องหรือน่าจะเกี่ยวข้องถึงสถาบันฯ ผู้เขียนน่าจะต้องมีความรับผิดชอบ รู้สึกสำนึกได้ว่าต้องตรวจสอบอย่างดีและตรวจสอบซ้ำ หากไม่มั่นใจต้องตัดออก ไม่ปล่อยผ่าน
นี่ไม่ใช่หรือที่อาจารย์ควรต้องออกมาปกป้อง อย่าปล่อยให้มีเอกสารที่ผิดพลาดและถูกใช้ในการมอมเมาคนรุ่นใหม่ ที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ ให้หลงเชื่อผิดๆ ต่อสถาบันฯ”