xs
xsm
sm
md
lg

“ณัฐพล-ฟ้าเดียวกัน” โต้ “ไชยันต์” หงายการ์ด “ตีความทางประวัติศาสตร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ณัฐพล ใจจริง” โต้ “ไชยันต์ ไชยพร” กรณีหนังสือฉาว วิทยานิพนธ์ฉาว พาดพิง “สมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร” หงายการ์ด “ตีความทางประวัติศาสตร์” และอ้างนักวิชาการภูมิหลังโลกทัศน์ไม่เหมือนกัน ส่วนความผิดปกติในวิทยานิพนธ์กว่า 30 จุด อ้างไม่ได้นำบริบทเข้ามาตีความ และเป็นความผิดพลาดของผู้กล่าวหา

วันนี้ (22 มี.ค.) เฟซบุ๊ก “ฟ้าเดียวกัน” ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โพสต์ข้อความในหัวข้อ “ตอบไชยันต์ ไชยพร เรื่องวิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์” เขียนโดย นายณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้แต่งหนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ที่กำลังอื้อฉาวอยู่ในขณะนี้ ระบุว่า จากการที่ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนข้อความพาดพิงถึงวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” และหนังสือขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี ผ่านทางโซเชียลมีเดีย อ้างว่า ไม่เคยถกเถียงในประเด็นหลักของผลงานดังกล่าว แต่กลับโจมตีซ้ำๆ ในเรื่องการอ้างอิงหลักฐาน โดยชี้แจงถึงวิธีวิทยาที่ใช้ในการเขียนวิทยานิพนธ์ให้สังคมทราบ

นายณัฐพล อ้างว่า ขอบเขตวิทยานิพนธ์ของตนเป็นการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ และหลักฐานที่ใช้เป็นเอกสารทั้งจดหมายเหตุและสิ่งพิมพ์ต่างๆ วิธีวิทยาที่ใช้ คือ การตีความทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นวิธีการที่นักประวัติศาสตร์ใช้กันทั่วไป เป็นกระบวนการวิเคราะห์ ประเมิน และพรรณนาข้อมูลจากหลักฐาน โดยคำนึงถึงบริบททั้งก่อนและหลัง โลกทัศน์ ภูมิหลัง ตลอดจนเอกสารแวดล้อม เพื่อสร้างคำอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ดังนั้น การตีความประวัติศาสตร์จะต้องไม่นำข้อความใดข้อความหนึ่งแยกโดดๆ ออกจากบริบท เวลา สถานที่ และมนุษย์ผู้กระทำ ซึ่งเลือกที่จะพูดหรือแสดงพฤติกรรมที่ทำให้ตนได้ประโยชน์

ด้วยเหตุนี้ ข้อความหนึ่ง ไม่ว่าของผู้กระทำเองหรือผู้อื่นพาดพิงถึง ไม่ว่าเพื่อยืนยันหรือปฏิเสธการกระทำหนึ่งๆ ย่อมไม่ใช้เป็นหลักฐานโดยตรงได้เสมอไป บางครั้งข้อความเชิงบ่ายเบี่ยงอำพราง อาจชี้ถึงความจริงที่ไม่ได้พูดออกมาได้ดีกว่า ซึ่งต้องผ่านการตีความโดยพิจารณาบริบทของข้อความนั้น ควบคู่กับหลักฐานประกอบอื่นๆ อย่างมีวิจารณญาณ (Critical) เสมอ

นอกจากนี้ นักวิชาการแต่ละคนล้วนมีภูมิหลังโลกทัศน์ที่ไม่เหมือนกัน จึงเป็นเรื่องปกติในทางวิชาการที่เอกสารชิ้นหนึ่งย่อมสามารถตีความได้มากกว่าหนึ่งความหมาย ซึ่งสามารถถกเถียงกันในทางวิชาการได้เป็นปกติ นักวิชาการย่อมทราบข้อนี้ดี จึงไม่ถือเอาการตีความที่ต่างกันเป็นความผิดทางกฎระเบียบหรือกฎหมายบ้านเมือง เพราะเป็นการปิดกั้นทำลายการแสวงหาความรู้ เป็นการกระทำที่โลกวิชาการไม่ยอมรับ

นายณัฐพล อ้างว่า การตีความบทบาทสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ในเหตุการณ์รัฐประหาร ปี 2490 นั้น จึงต้องคำนึงถึงบริบทและภูมิหลังของตัวแสดงในประวัติศาสตร์ด้วย โดยยกภูมิหลังที่ปรากฏใน คำพิพากษาศาลพิเศษ เรื่องกบฏ ปี 2482 ที่ศาลตัดสินลงโทษกรมพระยาชัยนาทฯ ฐานก่อกบฏ ทำให้ทรงถูกถอดพระอิสริยศ ถูกจองจำ ต่อมาได้รับการอภัยโทษ, ภูมิหลังความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสกุลมหิดลมาอย่างยาวนาน, เหตุการณ์ 9 มิถุนายน 2489 อันเป็นวันสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ตัวแทนจากราชสำนัก ได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในสองของคณะผู้สำเร็จราชการฯ เมื่อ 16 มิถุนายน 2489 คู่กับพระยามานวราชเสวี ตัวแทนของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง, รายงานสถานทูตสหรัฐฯ ระบุความคืบหน้าในการสอบสวนคดีสวรรคตภายใต้รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ว่า สามารถระบุตัวบุคคลได้ แต่ในที่นี้ไม่สามารถขยายความประเด็นนี้ได้มากกว่านี้ เพราะอาจมีผู้ให้ร้ายด้วยกฎหมายอื่นอีก จึงชี้ให้เห็นถึงบริบทก่อนการรัฐประหารได้เพียงเท่านี้, การรัฐประหารในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490

รวมทั้งรัฐธรรมนูญ ปี 2490 ที่เกิดขึ้นจากรัฐประหาร ประกาศใช้ในวันที่ 9 พฤศจิกายน หรือวันรุ่งขึ้นหลังจากการรัฐประหาร มีบทบัญญัติเพิ่มพระราชอำนาจให้สถาบันพระมหากษัตริย์หลายประการ เช่น ถวายพระราชอำนาจในการตั้งวุฒิสภา (มาตรา 33) ถวายอำนาจให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจเพิกถอนรัฐมนตรีเฉพาะตัวได้ด้วยพระบรมราชโองการ (79) การรื้อฟื้นอภิรัฐมนตรี (หมวดที่ 2) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของเจ้านายเมื่อครั้งระบอบเก่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น และต่อมา กรมพระยาชัยนาทนเรนทรทรงเป็นประธานคณะอภิรัฐมนตรี ทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2490 เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ในวันที่ 9 พฤศจิกายน

นายณัฐพล อ้างว่า การตีความประวัติศาสตร์ต้องนำบริบทมาพิจารณาประกอบการตีความด้วย ไม่ใช่ตัดข้อความออกจากบริบทหรือดึงเพียงข้อความที่ถูกใจออกมาอ้าง จึงตีความข้อความที่กรมพระยาชัยนาทนเรนทรกล่าวอธิบายการกระทำของตนให้กับสแตนตัน ทูตสหรัฐฯ ในหนังสือ Brief Authority: Excursion of Common man in an Uncommon World ประกอบกับบริบทข้างต้นและหลักฐานแวดล้อมอื่นๆ โดยยกหนังสือแผนชิงชาติไทย ของ รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ทำให้ตีความว่า กรมพระยาชัยนาทฯ กล่าวโดยนัย โดยอ้างว่าไม่กล่าวตรงๆ ว่าสนับสนุนการใช้กำลังทางการทหารเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งเป็นการกระทำที่นอกกฎหมาย

นอกจากนี้ นายณัฐพล อ้างว่า ทูตสแตนตันยังได้บันทึกถึงความเห็นของทูตจากประเทศอารยะเมื่อเห็นการรัฐประหารในไทยครั้งนั้นว่า ทูตอังกฤษและตัวเขาประเมินว่า สิ่งที่เกิดในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ทั้งการรัฐประหารขับไล่รัฐบาลพลเรือนและกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2490 เป็นการหมุนเวลาถอยหลัง และยังอ้างข้อเขียนของ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ผู้สำเร็จราชการฯ ต่อจากกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงให้ความหมายถึงสภาพการณ์หลังรัฐประหาร 2490 ว่าเป็นประหนึ่ง “วันใหม่ของชาติ” รวมทั้งนำบทสัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน ในเว็บไซต์ 101 กรณีเกิดรัฐประหารรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระราชินีในรัชกาลที่ 7 ลาออกจากตำแหน่ง จึงนำมาตีความบทบาทกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ตามที่ปรากฏในวิทยานิพนธ์หน้า 63 และในหนังสือขุนศึก หน้า 60

“แม้ผมอ้างอิงเอกสารเพียงชิ้นเดียวหรือสองชิ้น แต่งานเขียนไม่กี่บรรทัดนั้นเกิดจากการประมวลความรู้จากเอกสารแวดล้อมต่างๆ มากมาย ผมคงไม่สามารถเขียนหนังสือให้คนอ่านเข้าใจได้ หากผมตัดแปะคำพูดจากหลักฐานชั้นต้นมาเรียงต่อๆ กันโดยไม่ผ่านการตีความหรือสังเคราะห์ประมวลข้อมูลก่อนที่จะถ่ายทอดออกมา ที่จริงแล้วไม่มีนักประวัติศาสตร์คนไหนในโลกเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ด้วยวิธีต่อข้อความเช่นนั้น" นายณัฐพล กล่าว

นายณัฐพล ยังเรียกร้องให้ ศ.ดร.ไชยันต์ แสดงหลักฐานสนับสนุนการตีความของตนที่ต่างกัน เกี่ยวกับบทบาทของกรมพระยาชัยนาทนเรนทรในการรัฐประหาร ปี 2490 โดยอ้างว่า ถ้าการตีความน่ารับฟัง ก็จะเกิดประโยชน์แก่วงวิชาการประวัติศาสตร์ไทยและสาธารณชน แต่หากผลิตซ้ำความเชื่อเดิมๆ จะไม่หาทางลงโทษหรือเอาเรื่องทางกฎหมาย เพราะไม่ใช่จริยธรรมของนักวิชาการพึงกระทำ ต่อความรู้ที่แตกต่างจากที่ตนเชื่อ และไม่ควรเป็นวิสัยที่วิญญูชนกระทำต่อความรู้ที่ไม่พึงใจตน

นอกจากนี้ นายณัฐพล ยังกล่าวว่า ความผิดปกติในวิทยานิพนธ์กว่า 30 จุดนั้น บางจุดเป็นการตีความที่แตกต่างกัน หรือเป็นเพราะอาจารย์ไม่ได้นำบริบทเข้ามาตีความด้วย แต่กลับโจมตีว่า อ้างผิดทำนองเดียวกับจุดนี้ ทั้งที่หลายจุดเป็นความผิดพลาดของผู้กล่าวหา เช่น ใช้เอกสารที่ไม่ตรงวัน เดือน ปี และแผ่น ใช้เอกสารผิดชิ้น ใช้เอกสารไม่ครบถ้วนตามที่ระบุในวิทยานิพนธ์ ดังที่ได้เคยชี้แจงต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแล้ว

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิก
กำลังโหลดความคิดเห็น