xs
xsm
sm
md
lg

ขุมทรัพย์เผด็จการทหารพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์



ที่แท้พล.อ.มิน อ่อง หล่าย และพรรคพวกก็จัดอยู่ในกลุ่มมหาอำนาจและผลประโยชน์จึงต้องทำรัฐประหารภายใต้ข้ออ้างที่ไร้เหตุผล

แม้ประชาชนทั่วประเทศจะประท้วงด้วยการเดินขบวนและหยุดงานเพื่อต่อต้านการกุมอำนาจ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีท่าทีว่าคณะทหารจะยอมปล่อยวางอำนาจ แต่มุ่งปราบปรามฆ่าประชาชน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตมีถึงเกือบ 60 รายถูกจับไปเกือบ 2 พัน

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าผลประโยชน์ที่ว่านั้น มีจำนวนมหาศาลสำหรับแบ่งปันกันในกลุ่มผู้นำทหารและเครือข่ายเพื่อรักษาอำนาจไว้ให้ได้นานที่สุด

สัญญาที่ประกาศไว้ว่าจะคืนอำนาจให้การเมืองภาคพลเรือนจึงเป็นเรื่องเพ้อฝันเพราะไม่มีทางที่คณะทหารพม่าจะยอมทำเช่นนั้น เพราะเสี่ยงกับการถูกสอบสวนและการลงโทษในข้อหาฆ่าประชาชน การแสวงผลประโยชน์จากทรัพย์สินของประเทศต่อเนื่อง

คณะเผด็จการทหารพม่า และเพื่อนพ้องน้องพี่ในกลุ่มคุมอำนาจนั่งอยู่บนขุมทรัพย์มีผลประโยชน์มหาศาล สืบทอดมาหลายยุคนับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 1962 โดยนายพลเนวิน เป็นการวางรากฐานให้คณะทหารได้อยู่นาน ปิดประเทศนาน 50 ปี

ผลประโยชน์อยู่ในรูปแบบของการตั้งบริษัทขนาดใหญ่ควบคุมกิจการต่างๆ ทั้งในธนาคาร เหมืองแร่ ใบยาสูบ อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวสร้างกำไรจากการกึ่งผูกขาดธุรกิจอย่างมหาศาล

ปัจจุบันกองทัพพม่าได้จัดตั้งและคุม 2 บริษัทขนาดใหญ่นั่นคือ เมียนมา อีโคโนมิค คอร์ปอร์เรชั่น (Myanmar Economic Corporation) และ เมียนมา อีโคโนมิค โฮลดิ้งส์ ลิมิเตด (Myanmar Economic Holdings Limited) มีกำไรมหาศาล

ทั้ง 2 บริษัทขนาดใหญ่นี้ถูกตั้งขึ้นในยุคปี 1990 หลังจากที่กองทัพปราบปรามประชาชน สังหารผู้ประท้วงกว่า 3 พันรายในปี 1988 ซึ่งทั้ง 2 บริษัทได้ดำเนินการธุรกิจในกิจการต่างๆ หลังจากประกาศนโยบายแปรสภาพรัฐวิสาหกิจเป็นธุรกิจของภาคเอกชน

ความพยายามจะรักษาผลประโยชน์ของสองบริษัทและเครือข่ายบริษัทย่อยทั้งหมด นี่คือต้นเหตุของความจำเป็นที่กองทัพพม่าต้องทำรัฐประหารแม้กระทั่งการต้องฆ่าคนเพื่อที่จะได้กุมอำนาจรัฐต่อไป

จากการศึกษาโดยคณะทำงานของสหประชาชาติ ในปี 2019 มีข้อมูลว่าผู้ถือผลประโยชน์กลุ่มใหญ่คือคณะทหารที่กลุ่มอำนาจชุดปัจจุบันมากถึงหนึ่งในสามและที่เหลือเป็นเครือข่ายอดีตนายทหารหลายรุ่นรวมทั้งพวกพ้อง

ได้จัดสรรแบ่งปันผลกำไรอย่างงามจากธุรกิจกึ่งผูกขาด และผูกขาด เป็นธุรกิจที่ไม่ผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานใดทั้งสิ้น เพราะอำนาจผู้นำทหารย่อมอยู่เหนือรัฐ

หนึ่งในสองบริษัทนั้นได้จัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญสำหรับทหารทุกระดับ และเงินจากรายได้ถูกจัดสรรให้กลุ่มนายทหารคุมกำลัง เพื่อความมั่นคงทางอำนาจ มี 35 รายซึ่งแตกแถวก็ถูกถอดถอนจากผลประโยชน์มหาศาล เป็นการลงโทษ

การจัดสรรผลกำไรและเงินปันผลในช่วงปี 1990 ถึง 2011 บริษัทโฮลดิ้งส์ ได้จ่ายเงินปันผลมากถึง 16.6 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยเกือบ 5 แสนล้านบาท ตกปีละ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี อย่างนี้จะไม่ให้คณะทหารพม่าหวงอำนาจได้อย่างไร

นายอ่อง แพ โซน บุตรชายผู้นำคณะรัฐประหาร พล.อ.มิน อ่อง หล่าย เป็นเจ้าของกิจการหลายบริษัทรวมทั้งสถานที่พักผ่อนชายหาด และถือหุ้นใหญ่ในกิจการเทเลคอมของพม่านั่นคือบริษัทมายเทล สร้างกำไรต่อเนื่องมากมาย

จะเห็นได้ชัดว่ากลุ่มผู้นำทหารและเพื่อนพ้องเครือข่ายญาติต่างมีผลประโยชน์มหาศาลในแต่ละปี สร้างความมั่งคั่งต่อเนื่องท่ามกลางความลำบากของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ที่ภาครัฐเจียดให้

ผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการกุมอำนาจรัฐผ่านการรัฐประหาร จึงเป็นแรงผลักดันที่สำคัญให้คณะทหารชิงอำนาจจากรัฐบาลของนางอองซาน ซูจี โดยข้ออ้างว่ามีการโกงเลือกตั้งซึ่งผู้นำทหารพม่าไม่สามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้

การปล่อยให้มีระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐบาลพลเรือนหมายความว่าอำนาจของคณะทหารพม่าจะเริ่มมีน้อยลง การตรวจสอบผลประโยชน์ต่างๆ จะมีมากขึ้น และนั่นหมายถึงโอกาสที่จะสูญเสียขุมทรัพย์มหาศาลนั้นมีความเป็นไปได้สูง

ประชาชนชาวพม่าย่อมต้องสงสัยว่าผลประโยชน์มหาศาลอย่างนี้ทำไมไม่ตกถึงมือประชาชน ปล่อยให้สภาพประเทศอยู่ในความยากจนทั้งที่มีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล ทั้งแร่หายากทองคำ และหยก ซึ่งแต่ละปีเปิดประมูลได้เงินก้อนใหญ่

และส่วนหนึ่งก็เข้ากระเป๋าของผู้คุมอำนาจทหารในประเทศ ทำให้คนในกองทัพได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีมีอาวุธใช้อย่างทันสมัยมีความเป็นอยู่อย่างดีเยี่ยม

นี่เป็นการสืบทอดนโยบายของยุคนายพลเนวินซึ่งต้องการให้กองทัพพม่าสามารถอยู่ในสภาพที่เลี้ยงตัวเองได้นอกเหนือจากการพึ่งพางบประมาณของรัฐบาลส่วนหนึ่งทำให้การทำธุรกิจเป็นส่วนสำคัญในการสร้างทุนเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวในการคุมอำนาจ

และความมั่งคั่งจากขุมทรัพย์ทางธุรกิจที่ถือครองอยู่ ทำให้ผู้นำกองทัพลำพองในอำนาจไม่แยแสต่อคำประณามของประชาคมโลกในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

การใช้อาวุธเข่นฆ่าประชาชนเพื่อรักษาอำนาจจึงได้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้นำกองทัพพม่าในแต่ละยุค เพราะไม่สามารถปล่อยให้ผลประโยชน์มหาศาลถูกคุกคามตรวจสอบหรือบีบบังคับให้ต้องเปลี่ยนมือให้เป็นผลประโยชน์ของรัฐได้

ผู้นำกองทัพพม่าจึงอยู่ในข่ายรักชาติจนน้ำลายไหล พุงกาง กินไม่ยอมอิ่มนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น