ผ่านไปร่วม 10 ปี ประเทศพม่าเข้าร่วมประชาคมโลกด้วยการเมืองแบบเลือกตั้ง คนทั่วไป คงนึกว่าผู้นำทหารพม่ารุ่นปัจจุบันจะลดดีกรีกระหายอำนาจ ความโหดเหี้ยม เลือดเย็น ลดลงจากรุ่นก่อน ที่ไหนได้ นายพลรุ่นนี้ยังคงความอำมหิตเหมือนเดิม
และความพร้อมที่จะใช้กำลังทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจไว้ให้ได้!
หรืออาจจะเข้มข้นมากกว่าเดิม ต้องรอดูว่าจากนี้ไปชาวพม่าต้องสังเวยชีวิตให้กับความกระหายอำนาจทางการเมืองของผู้นำกองทัพพม่าซึ่งนำคณะรัฐประหาร อีกมากหรือน้อยเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับมิคสัญญีในปี 1988 และ ปี 2007
การใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่ชุมนุมต่อต้านโดยกองทัพพม่านั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเคยควบคุมการปิดประเทศยาวนานถึง 50 ปีภายใต้นโยบายสังคมนิยมแบบพม่า ทำให้เหมือนเกิดสภาวะนาฬิกาตาย ตัดขาดจากโลกภายนอก
ประชาชนอยู่ในสภาวะล้าหลังด้านการดำรงชีพเกือบทุกด้าน และช่วงนั้นก็มีการใช้กำลังในการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ทำให้พม่าเป็นประเทศในกลุ่มยากจนที่สุด แต่มีทรัพยากรธรรมชาติมาก เปิดโอกาสให้ผู้นำทหารและนักธุรกิจในเครือข่ายกอบโกย
การปราบปราม สังหารประชาชนในยุคนั้น คนพม่าตายเป็นเบือ เหยื่อกระสุนปืนและมาตรการโหดมีทั้งนักศึกษา นักการเมือง พระสงฆ์ และชาวบ้านทั่วไป โดยผู้นำทหารพม่าไม่ต้องรับผิดชอบในอาชญากรรมที่ทำไว้ต่อประชาชนแต่อย่างใด
ครั้งนี้ก็เช่นกัน นับตั้งแต่ทำรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นายพลเอกมิน อ่อง หล่าย เผชิญกับการต่อต้านโดยประชาชนทุกกลุ่ม นับวันจะขยายตัวไปทั่วประเทศ ทั้งชนเผ่าต่างๆ ที่มีกองกำลังติดอาวุธและชนกลุ่มน้อย ไม่มีใครเอาด้วย
มีเพียงชาวบ้านจัดตั้งซึ่งออกมาเดินขบวนสนับสนุน ถือว่าเป็นกลุ่มน้อยระดับพันกว่าคน ซึ่งอาจมีส่วนหนึ่งของนักโทษใน 3 หมื่นกว่าคนที่ได้รับการปล่อยตัวในวันสหภาพเมื่อเดือนที่ผ่านมา และเป็นกลุ่มที่ถูกใช้ต่อต้านประชาชนในครั้งก่อนๆ
ดังนั้น มีเพียงกองทัพพม่าและตำรวจซึ่งกุมอำนาจ โดยไม่มีฐานประชาชนรองรับ และการยกระดับปราบปรามประชาชน ยิงด้วยกระสุนจริง นอกเหนือจากการกระทำที่โหดร้ายอื่นๆ ทำให้เห็นว่าผู้นำคณะทหารยกระดับเป็นทรราชอย่างแท้จริง
การปราบปรามโดยตำรวจวันอาทิตย์ที่ผ่านมามีคนตายอย่างน้อย 18 ราย บาดเจ็บกว่า 30 คน และหลายร้อยคนถูกเจ้าหน้าที่จับตัวไปคุมขังไว้ โดยรวมแล้วเป็นจำนวนเกือบ 1 พันราย มีทั้งผู้สื่อข่าวและนักศึกษา โดยไม่ยอมฟังเสียงคัดค้าน
พฤติกรรมโหดของนายทหารคณะรัฐประหารถูกประณามโดยประชาคมโลก โดยมีสหประชาชาติ สหรัฐฯ กลุ่มประเทศยุโรป และอื่นๆ เรียกร้องให้ผู้นำพม่ารับฟังเสียงประชาชน คืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนและปล่อยผู้ถูกจับกุมคุมขังให้หมด
ที่ผ่านมา แม้จะเป็นยุคของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง คณะทหารพม่ายังคงรักษาอำนาจและการต่อรอง โดยเอากระทรวงกลาโหม มหาดไทย และกระทรวงว่าด้วยเรื่องพรมแดน ไว้อยู่ในความควบคุม โดยอ้างเหตุผลความมั่นคง
คณะทหารพม่าได้กอบโกยผลประโยชน์และความมั่งคั่งในภาคธุรกิจ และจากทรัพยากรของประเทศมาโดยตลอด การยอมเสียอำนาจบางส่วนให้นักการเมืองถือว่าเป็นการยอมอย่างไม่เต็มใจ แต่การหาเหตุรัฐประหารครั้งล่าสุดเป็นเรื่องพิลึก
อ้างว่ามีการโกงเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่มีคะแนนเสียงจากพรรคของนางอองซาน ซูจีมากอย่างถล่มทลายถึง 83 เปอร์เซ็นต์ และคณะทหารก็ไม่มีหลักฐานยืนยันข้อกล่าวหา จึงถูกมองว่าเป็นการหาเหตุรัฐประหารเพราะทนไม่ได้กับการเสียอำนาจ
ความกล้าปราบปราม ฆ่าประชาชนอย่างไม่หวั่นเกรงเสียงประณามจากประชาคมโลก แสดงให้เห็นสภาวะเลือดเข้าตา และจนตรอกของผู้นำพม่า ไม่มีทางเลือกอย่างอื่นนอกจากการรักษาอำนาจไว้ทุกวิธี ไม่คำนึงว่าต้องฆ่าคน
ดูสภาวะปัจจุบัน คณะรัฐประหารเป็นเหมือนหมาหัวเน่า ไม่มีใครคบ ใช้ตำรวจเป็นเครื่องมีปราบปรามประชาชนอย่างเหี้ยมโหด แม้จะด้อยสภาพในเรื่องอื่นๆ ฝ่ายทางการมีทั้งพาหนะ อุปกรณ์สำหรับควบคุมปราบปรามการจลาจลอย่างทันสมัย
จะเห็นได้ว่าปราบปรามมีรถฉีดน้ำในสภาพใหม่ เครื่องยิงระเบิดประเภททำให้ช็อก ปืนยิงแก๊สน้ำตา กระสุนยาง หน่วยปราบจลาจลมีอุปกรณ์พร้อม
ประชาคมโลก รวมทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ และกลุ่มอียูได้ออกมาตรการคว่ำบาตรผู้นำทหาร และเครือข่าย อายัดเงินฝากในสหรัฐฯ และยุโรป สหประชาชาติก็ประณามพฤติกรรมเหี้ยมโหด พร้อมเรียกร้องให้ผู้นำทหารคืนอำนาจให้ประชาชน
แต่ผู้นำทหารไม่ยอมรับฟัง คงรู้ตัวดีว่าถ้าอำนาจหลุดมือไปเมื่อไหร่โอกาสที่จะโดนเอาคืน ถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย ต้องติดคุกหัวโต มีความเป็นไปได้
สภาวะปัจจุบันถือว่าเปราะบาง เพราะมีความเสี่ยงว่าชนกลุ่มน้อยมีกองกำลังติดอาวุธอาจหาเหตุประกาศแยกตัวเป็นรัฐอิสระ ถ้าเกิดสงครามกลางเมือง จะทำให้รัฐพม่าแตกย่อยเป็นรัฐของกลุ่มต่างๆ มากกว่า 10 กลุ่ม ดังเช่นยูโกสลาเวียก่อนนี้
เมื่อไม่ฟังใคร กลุ่มผู้นำทหารพม่ามีทางเลือกเดียวคือการยอมเจรจากับกลุ่มอาเซียนที่ตัวเองเป็นสมาชิก ว่าจะหาทางลงอย่างไร รัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนจะประชุมกันเพื่อกำหนดท่าที และประสานงานติดต่อเพื่อให้มีช่องทางการเจรจา
แต่จะให้ถึงขั้นผู้นำเผด็จการทหารพม่ายอมปล่อยให้อำนาจหลุดมือไป ยังคงยาก มีแต่จะต้องรอดูว่าคนพม่าจะต้องตายอีกมากเท่าไหร่กว่าจะมีทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ และนั่นหมายถึงการสิ้นสุดของรัฐบาลเผด็จการทหารด้วย