xs
xsm
sm
md
lg

เผด็จการทหารพม่า…อยู่ยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์


อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
หลังจากประชาชนชาวพม่าได้ชุมนุมเดินขบวนประท้วงคณะทหารเผด็จการได้ 2 สัปดาห์ สังเวยชีวิตให้กระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ไป 3 ราย ก็นำไปสู่คำถามสำคัญว่าคณะผู้นำรัฐประหารจะอยู่ได้อย่างไร เมื่อประชาชนไม่ยอมก้มหัวให้กับอำนาจปืน

และผู้นำเผด็จการทหารพม่าจะต้องใช้ชีวิตประชาชนสังเวยอีกกี่ราย เพื่อให้ตัวเองอยู่ในอำนาจท่ามกลางเสียงประท้วงจากประชาคมโลกและสหประชาชาติ

ล่าสุดคณะรัฐบาลทหารได้ประกาศเตือนผู้จะเข้าร่วมการชุมนุมครั้งใหญ่ และการหยุดงานทั่วประเทศวันจันทร์ ให้ระวังการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิต “เพราะการระดมปลุกปั่นจากพวกเยาวชนและผู้นิยมอนาธิปไตย ไม่ยอมรับกฎหมาย”

ถือเป็นการประกาศเตือนอย่างเป็นทางการหลังจากได้ใช้กำลังปราบปรามประชาชนในหลายเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในวันเสาร์ที่ผ่านมา มีคนเสียชีวิต 2 รายและบาดเจ็บกว่า 30 ราย โดยการกราดยิงของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อู่ต่อเรือมัณฑะเลย์

ประชาชนได้เลือกวันสัญลักษณ์ “ห้า สอง” คือ วันที่ 22 เดือน 2 ปี 2021 หรือ 22:2:2021 เป็นการประกาศหยุดงานทั่วประเทศ จะทำให้ทั้งประเทศเป็นอัมพาต

จะเป็นการเผชิญหน้าซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดการสังหารหมู่เหมือนดังที่เคยเกิดขึ้นในปี 1988 และ 2007 ซึ่งไม่มีใครยืนยันได้ว่ามีผู้เสียชีวิตกี่ร้อยราย ซึ่งมีทั้งชาวบ้าน พระสงฆ์ นักศึกษา ผู้ไม่ยอมรับเผด็จการพม่า ซึ่งก็อยู่รอดมาได้โดยไม่ต้องรับโทษ

การฆ่าประชาชนเพื่อให้ตัวเองอยู่ในอำนาจเผด็จการ เป็นสิ่งที่ผู้นำกองทัพพม่ากล้ากระทำเพื่อรักษาผลประโยชน์และความมั่งคั่งจากทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นการใช้อำนาจปืนปล้นทรัพย์แผ่นดินจากประชาชนพม่า

ครั้งนี้อาจจะไม่ง่ายเหมือนเดิม เพราะคนพม่าได้รับรู้ความเป็นไปของโลกในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อผู้นำกองทัพพม่าได้ยอมให้มีการเลือกตั้งและรัฐบาลโดยพลเรือน นำโดยอองซาน ซูจี ซึ่งพยายามอยู่อย่างระวังกับอำนาจกองทัพ

การชุมนุมประท้วงกว่า 2 สัปดาห์ได้เกิดขึ้นกว้างขวางหลายเมืองหลักทั้งมัณฑะเลย์ เนปิดอว์ ย่างกุ้ง และเมืองชายแดน มีคนร่วมเป็นแสนๆ คน ไม่หวั่นต่อความพยายามในการใช้กำลังโดยตำรวจและทหารซึ่งมีทั้งกระสุนจริงอยู่ด้วย

การเสียชีวิตรายแรก เป็นหญิงสาวพนักงานซูเปอร์มาร์เกตวัย 20 ปี นางสาวมิยา ทเว ทเว ข่าย จากคมกระสุนจริง กลุ่มผู้ชุมนุมได้แห่โลงศพของเธอเดินกลางเมือง และทำให้เธอเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับเผด็จการทหาร

ชื่อของเธอจะเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มผู้ประท้วงฮึดสู้ โดยประกาศว่าเป็นการต่อสู้ที่จะยอมแพ้ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะต้องยอมอยู่ใต้อำนาจท็อปบูตของทหารอีก

ประชาชนยังใช้วิธีอารยะขัดขืน เคาะถ้วยถังกะละมังเป็นการประท้วง ในยามค่ำคืนแกนนำเป้าหมายก็พยายามหลบหนีการจับกุมโดยทหารพม่าไปเคาะประตูบ้านโดยไม่ต้องใช้หมายศาล ซึ่งมีทั้งนักร้อง นักแสดง ผู้นำนักศึกษา

ความพยายามของผู้นำกองทัพ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ที่จะทำให้ประชาชนหยุดประท้วงคือคำสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด โดยก่อนหน้านี้ได้ขอเวลา 1 ปีเพื่อปรับโครงสร้างองค์กรต่างๆ ใหม่ โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง

แต่คำประกาศไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน เพราะได้รับผลของมาตรการปราบปรามอย่างรุนแรง แม้จะมีเสียงปรามจากหลายประเทศ รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ ประชาคมยุโรป และนิวซีแลนด์

สหรัฐฯ ได้อายัดเงินฝาก 1 พันล้านดอลลาร์ของรัฐบาลพม่า และยังได้ออกมาตรการคว่ำบาตรนายพลเกือบ 20 นาย รวมทั้งอายัดทรัพย์สินของคนในเครือข่าย

มาตรการต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เกิดผลกระทบกับรัฐบาลทหารพม่ามากน้อยอย่างไรหรือไม่ ก็ยังต้องใช้เวลาประเมิน แต่เท่ากับเป็นสัญญาณให้รับรู้ว่าหลายประเทศทั่วโลกไม่ยอมรับเผด็จการทหาร แม้แต่จีนก็แสดงความเห็นใจอย่างจำกัด

ล่าสุดเลขาธิการสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส ได้ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงโดยกองทัพพม่าในการปราบปรามประชาชน พร้อมเตือนว่ารัฐบาลทหารจะได้รับผลพวงที่จะตามมาจากมาตรการอื่นๆ อีก

รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ นายโดมินิก ร้าบ ก็จะออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทหารคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือน และให้ยอมรับการตัดสินใจของประชาชนซึ่งได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งปลดปล่อยผู้ถูกจับกุมคุมขังให้หมด

แต่ยังไม่มีปฏิกิริยาตอบรับจากผู้นำกองทัพพม่าว่าจะทำอย่างไร!

สิ่งที่ทำให้ผู้นำคณะทหารต้องคิดหนักในครั้งนี้เพราะผู้นำ 10 ชนกลุ่มน้อยได้ร่วมประชุม ออกแถลงการณ์ สนับสนุนขบวนการประชาชนอย่างเต็มที่ เรียกร้องให้กองทัพพม่าคืนอำนาจให้พลเรือน และยังหยุดการเจรจาสันติภาพรวมทั้งวางอาวุธ

นี่เป็นแรงกดดันล่าสุด และอยู่นอกเหนือการควบคุมของกองทัพพม่า เพราะชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ล้วนมีกองกำลังติดอาวุธ และอยากแยกตัวเป็นรัฐอิสระมานานแล้ว ในยุครัฐบาลพลเรือนก็มีการเจรจาต่อเนื่องเพื่อให้วางอาวุธแต่ยังไม่เสร็จสิ้น

ก่อนหน้านี้มีการปะทะกันด้วยอาวุธระหว่างกลุ่มทหารไทยใหญ่และทหารพม่าในเมืองสีป้อ ดินแดนรัฐฉาน รวมทั้งการชุมนุมประท้วงในรัฐกะฉิ่นทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นรัฐมีพื้นที่ขนาดใหญ่อันดับ 2 ของชนกลุ่มน้อยรองจากรัฐฉาน

ถ้าจัดการไม่ดี หรือควบคุมไม่ได้ จะเห็นมิคสัญญีรอบใหม่ในพม่าแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น