สหรัฐฯเมื่อวันศุกร์(19ก.พ.) เรียกร้องกองทัพพม่าอดทนอดกลั้นจากการใช้ความรุนแรงใดๆ และยอมสละอำนาจ หลังมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 รายท่ามกลางการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร
"เราประณามการใช้ความรุนแรงใดๆกับประชาชนชาวพม่า และเน้นย้ำข้อเรียกร้องของเราต่อกองทัพพม่า ให้อดทนอดกลั้นจากการใช้ความรุนแรงใดๆกับบรรดาผู้ประท้วงที่ชุมนุมกันอย่างสันติ" เนด ไพรซ์ บอกกับพวกผู้สื่อข่าว
เขาระบุต่อว่า "สหรัฐฯจะยังคงเป็นแกนนำในความพยายามทางการทูต หล่อหลอมประชาคมนาชาติให้ร่วมกันดำเนินการกับพวกที่ต้องรับผิดชอบการรัฐประหารในครั้งนี้"
กองทัพพม่าโค่นอำนาจนางอองซานซูจี ผู้นำพลเรือน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นำมาซึ่งการชุมนุมใหญ่เรียกร้องคืนสู่ประชาธิปไตย แม้คณะรัฐประหารมีความพยายามตัดการสื่อสารต่างๆก็ตาม
การชุมนุมในกรุงเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เลี้ยวเข้าสู่ความรุนแรง หลังตำรวจยิงกระสุนยางเข้าใส่ผู้ประท้วง และมีผู้ชุมนุมรายหนึ่ง มยา ตะเว ตะเว ไคง์ อายุ 20 ปี ได้รับบาดเจ็บจากการโดนยิงด้วยกระสุนจริง ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในสภาพหมดสติ และในวันศุกร์(19ก.พ.) มีคำยืนยันแล้วว่าเธอเสียชีวิตแล้ว
แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯระบุว่าอเมริกา ซึ่งกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานพม่าของตนเองไปแล้ว หวังว่าประชาคมนานาชาติจะร่วมมือกันเพิ่มแรงกดดันถาโถมเข้าใส่คณะรัฐประหาร
"ต้องใช้เวลาออกแรงอีกสักระยะกว่าจะรับรู้ถึงแรงกดดัน" เขาให้สัมภาษณ์กับบีบีซี เวิลด์ นิวส์ "ผมหวังว่าจะมีประเทศต่างๆมากขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าไม่ยอมรับสิ่งนี้ เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงจากกองทัพ"
"ความจริงที่เจ็บปวดของเรื่องนี้คือกระบวนการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยต้องสะดุดลง" เขากล่าว "ประชาคมนานาชาติจำเป็นต้องพูดให้ชัดเจนเป็นเสียงเดียวกันว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้"