กองทัพพม่าไล่ออกเอกอัครราชทูตของประเทศประจำสหประชาชาติในวันเสาร์ (27 ก.พ.) หลังแตกแถว ชู 3 นิ้วปะณามการทำรัฐประหารโค่นอำนาจนางอองซานซูจี ผู้นำพลเรือน กลางเวทีประชุมยูเอ็น ที่นครนิวยอร์ก ขณะเดียวกันตำรวจยกระดับปราบปรามบรรดาผู้ประท้วงทั่วประเทศ
พม่าสั่นคลอนจากการประท้วงระลอกแล้วระลอกเล่า นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารโค่นอำนาจนางอองซานซูจี ผู้นำพลเรือน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พวกเจ้าหน้าที่ยกระดับใช้กำลังปราบปรามผู้เห็นต่าง ใช้แก๊สน้ำตาฉีดน้ำแรงกดดันสูงและกระสุนเข้าสลายการชุมนุมในบางครั้ง นอกจากนี้แล้วยังพบเห็นกองกำลังด้านความมั่นคงถึงขั้นใช้กระสุนยิงในบางกรณี
ทหารพม่าอ้างความชอบธรรมของการก่อรัฐประหารว่ามีการโกงในศึกเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งพรรคการเมืองของนางอองซานซูจี คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย พร้อมสัญญาจะจัดการเลือกตั้งใหม่ใน 1 ปี
อย่างไรก็ตาม จอ โม ตุน (Kyaw Moe Tun) เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรพม่าประจำสหประชาชาติ เมื่อวันศุกร์ (26 ก.พ.) แตกแถว และวิงวอนประชาคมนานาชาติ “ดำเนินการเข้มข้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย”
“นี่ไม่ใช่เวลาที่ประชาคมโลกจะอดทนอดกลั้นต่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติที่กระทำโดยกองทัพพม่า” ตุน ระบุ “นี่คือเวลาที่กองทัพจะต้องสละอำนาจในทันที และปลดปล่อยทุกคนที่ถูกคุมขัง เราจะเดินหน้าต่อสู้ต่อไป เพื่อรัฐบาลที่มาจากประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”
“การปฏิวัตินี้ต้องชนะ” เขากล่าว พร้อมกับชู 3 นิ้ว ซึ่งกลายมาเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านคณะรัฐประหาร
ทว่าในคืนวันเสาร์ (27 ก.พ.) สถานีโทรทัศน์แห่งรัฐออกประกาศว่า จอ โม ตุน ไม่ใช่เอกอัครราชทูตของพม่าประจำสหประชาชาติอีกต่อไป “เขาไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบและคำสั่งของรัฐ ทรยศประเทศ” สถานีโทรทัศน์เอ็มอาร์ทีวีกล่าว “นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเขาถึงปลดออกจากตำแหน่ง เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”
ข่าวคราวการปลด จอ โม ตุน มีขึ้นวันเดียวกับที่กองกำลังด้านความมั่นคงของพม่าเดินหน้าปราบปรามและจับกุมหมู่ฝ่ายต่อต้าน ในขณะที่เหตุประท้วงรายวันต่อต้านการเข้ายึดอำนาจของบรรดานายพลในประเทศแห่งนี้ ยืดเยื้อมานานเกือบ 4 สัปดาห์
ความยุ่งเหยิงปรากฏขึ้นในเมืองย่างกุ้ง ศูนย์กลางการค้าของประเทศ ด้วยตำรวจเข้าประชิดการชุมนุมอย่างสันติ แล้วใช้กระสุนยางขับไล่พวกเขาพ้นไปจากแยก Myaynigone ส่งผลให้ผู้ประท้วงกระจัดกระจายกันไปตามท้องถนนย่านที่พักอาศัยต่างๆ และเริ่มใช้โต๊ะเก้าอี้และถังขยะก่อเป็นแนวกั้นชั่วคราว เพื่อสกัดการรุกคืบของตำรวจ
สื่อมวลชนท้องถิ่นออกอากาศสดสถานการณ์ความยุ่งเหยิงนี้ผ่านทาเฟซบุ๊ก ในนั้นรวมถึงวินาทีที่เสียงปืนดังขึ้นเป็นชุด ซึ่งผู้สื่อข่าวภาคสนามของเอเอฟพีก็เห็นเหตุการณ์เช่นกัน
ผู้สื่อข่าวภาคสนามของเอเอฟพีรายงานด้วยว่า บริเวณแยก Hledan ที่อยู่ใกล้กัน มีการยิงระเบิดแสงหลายลูก
มีสื่อมวลชนอย่างน้อย 3 คนถูกควบคุมตัว ประกอบด้วยช่างภาพจากสำนักข่าวเอพี นักข่าวออนไลน์จากเมียนมาร์นาว และผู้สื่อข่าวจากเมียนมาร์ เพรสโฟโต
นอกจากการชุมนุมดังกล่าวแล้ว ยังมีการประท้วงอีกจุดใกล้ๆ กับศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง แถวๆเขตตัมเว ในย่างกุ้ง ซึ่งก็ถูกตำรวจเข้าสลายการชุมนุมเช่นกัน
ในย่านใจกลางเมืองโมนยวาซึ่งการชุมนุมเพิ่งเริ่มขึ้น ตำรวจและทหารเคลื่อนเข้าหาพวกผู้ชุมนุมในทันที จากการเปิดเผยของแพทย์รายหนึ่งประจำทีมช่วยเหลือฉุกเฉินท้องถิ่น พร้อมระบุว่าทีมของเขาส่งชายคนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงบริเวณขาจากการปราบปรามของตำรวจไปยังโรงพยาบาล และทำการปฐมพยาบาลคนอื่นๆ อีก 10 คนที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม แพทย์รายนี้ปฏิเสธให้ข้อมูลว่าชายคนดังกล่าวได้รับบาดเจ็บจากกระสุนชนิดใด
ส่วนแพทย์อีกคนซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ บอกกับเอเอฟพีว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส และถูกส่งตัวเข้าห้องไอซียู
ในบริเวณดังกล่าว สื่อมวลชนท้องถิ่น 2 แห่งพบเห็นผู้สื่อข่าวของพวกเขาถูกจับกุม ขณะกำลังพยายามถ่ายทอดสดการชุมนุมบนเฟซบุ๊ก โดย จอ จอวิน จากโมนยวา กาเซ็ตเต ถูกทำร้ายและรวบตัวโดยตำรวจนอกเครื่องแบบ ส่วน Pu Lalawmpuia ถูกจับขณะกำล้งถ่ายภาพเจ้าหน้าที่กำลังกระจายกำลังรอบๆ ตัวเขา
กลุ่มสังเกตการณ์ สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (AAPP) ระบุว่ามีผู้ถูกจับกุม ตั้งข้อหาและลงโทษแล้วมากกว่า 770 คน นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร โดยในนั้นราว 680 คนยังคงอยู่ภายใต้การคุมตัว อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ในวันเสาร์ (27 ก.พ.) คาดหมายว่าตัวเลขดังกล่าวน่าจะสูงขึ้นกว่านี้
(ที่มา : เอเอฟพี)