xs
xsm
sm
md
lg

UN เตือนกองทัพพม่าเจอ “ผลสนองหนักหน่วง” หากใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงต้านรัฐประหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทูตพิเศษสหประชาชาติเตือนกองทัพพม่า เจอ “ผลสนองรุนแรง” ต่อการใช้ความรุนแรงใดๆ ตอบโต้การประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ระหว่างพูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้นำทหารเมื่อวันจันทร์ (15 ก.พ.) จากการเปิดเผยของโฆษกยูเอ็นในวันอังคาร (16 ก.พ.)

แม้กองทัพประจำการยานยนต์หุ้มเกราะและทหารตามเมืองหลักบางแห่งเมื่ช่วงสุดสัปดาห์ แต่บรรดาผู้ประท้วงรวมตัวกันอีกครั้งในวันจันทร์ (15 ก.พ.) เพื่อประณามการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และเรียกร้องปล่อยตัว อองซานซูจี และคนอื่นๆ ที่ถูกคุมตัว

การประท้วงเมื่อวันจันทร์ (15 ก.พ.) มีผู้เข้าร่วมน้อยกว่าการชุมนุมที่ผ่านๆ มา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมหลายแสนคน แต่กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

คริสตีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติประจำพม่า ได้พูดคุยกับรองหัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อวันจันทร์ (15 ก.พ.) ในการสื่อสารที่พบเห็นได้ยากมากระหว่างกองทัพพม่ากับโลกภายนอก

ฟาร์ฮาน ฮัก โฆษกของสหประชาชาติ ประจำสำนักงานใหญ่ เปิดเผยว่า “ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ เน้นย้ำว่าต้องเคารพอย่างเต็มที่ต่อสิทธิการชุมนุมอย่างสันติ และพวกผู้ประท้วงต้องไม่ถูกแก้แค้น เธอถ่ายทอดสารถึงกองทัพพม่าว่าโลกกำลังจับตาอย่างใกล้ชิด และรูปแบบตอบโต้หนักหน่วงใดๆ จะต้องเจอกับผลสนองที่รุนแรง”


ในการพุุดคุยดังกล่าว กองทัพพม่าเผยว่าทาง พล.อ.โซวิน ผู้นำหมายเลข 2 ของคณะรัฐประหาร ได้พูดคุยเกี่ยวกับแผนการต่างๆ ของรัฐบาล และข้อมูลสถานการณ์จริงในสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่า

โฆษกของสหประชาชาติบอกต่อว่า นอกเหนือจากนี้แล้ว ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ยังเรียกร้องให้กองทัพเคารพสิทธิมนุษยชนและสถาบันประชาธิปไตย พร้อมส่งเสียงเตือนเกี่ยวกับการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต

กองทัพตัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นคืนที่ 2 ติดต่อกัน เพิ่มความกังวลในหมู่ฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากกองทัพได้ระงับใช้กฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งจำกัดอำนาจของพวกเขาในการตรวจค้นและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners (AAPP) ตรวจสอบพบว่ามีถูกจับกุมแล้วมากกว่า 426 คน นับตั้งแต่วันที่กองทัพก่อรัฐประหารจนถึงวันจันทร์ (15 ก.พ.) “เราสงสัยว่าการตัดอินเทอร์เน็ตในครั้งนี้มีขึ้นเพื่อก่อความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ไม่ชอบธรรม ในนั้นรวมถึงการจับกุมโดยพลการ”

การประท้วงใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 1 ทศวรรษในพม่า รื้อฟื้นความทรงจำครั้งที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหารโดยตรงนานเกือบครึ่งศตวรรษ ซึ่งสลับกับการปรามปรามนองเลือดเป็นระยะๆ จนกระทั่งกองทัพเริ่มคลายอำนาจบางส่วนในปี 2011


ทั้งนี้ กองทัพอ้างความชอบธรรมของการยึดอำนาจ โดยบอกว่าศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจี คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย มีการโกง แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิเสธคำกล่าวหาดังกล่าว

กองทัพระบุในช่วงค่ำวันจันทร์ (15 ก.พ.) ว่าการประท้วงกัดกร่อนเสถียรภาพของประเทศ และทำให้ผู้คนตกอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัว “ประชาชนดีใจที่มีการลาดตระเวนด้านความมั่นคง และกองกำลังด้านความมั่นคงจะลาดตระเวนตรวจตราทั้งกลางวันและกลางคืน” คณะทำงานด้านข้อมูลข่าวสารที่แท้จริงของกองทัพระบุ

มีความรุนแรงเกิดขึ้นระหว่างการประท้วงครั้งนี้น้อยกว่าที่ผ่านๆ มา หากเทียบกับสมัยอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารในอดีต แต่ก็มีหลายเหตุการณ์ที่ตำรวจเปิดฉากยิงใส่เพื่อสลายการชุมนุม ในนั้นรวมถึงเมื่อวันจันทร์ (15 ก.พ.)

ก่อนหน้านี้มีผู้หญิงรายหนึ่งถูกกระสุนปืนของตำรวจ ระหว่างการชุมนุมในกรุงเนปิดอว์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเธออาการสาหัสและคาดหมายว่าคงไม่รอดชีวิต

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น