ผู้คนหลายแสนรวมตัวเดินขบวนในพม่าเมื่อวันพุธ (17 ก.พ.) เป็นการปฏิเสธคำกล่าวอ้างของกองทัพที่ว่าประชาชนสนับสนุนการโค่นล้มรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของนางอองซานซูจี ขณะที่เจ้าหน้าที่ยูเอ็นเตือนว่า หากมีการส่งกำลังทหารเป็นจำนวนมากตามที่เป็นข่าวก็อาจทำให้สถานการณ์ลุกลามจนไม่สามารถควบคุมได้
ชาวพม่าออกมาประท้วงอย่างเปิดเผยนับจากที่กองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของซูจี เมื่อวันที่ 1 เดือนนี้ พร้อมควบคุมตัวเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพวัย 75 ปีผู้นี้ และตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายควบคุมการนำเข้าและกฎหมายบริหารจัดการภัยพิบัติ
วันพุธ (17) ประชาชนหลายแสนคนชุมนุมในย่างกุ้ง ขณะผู้ประท้วงบางส่วนนำรถยนต์ไปจอดปิดถนนเพื่อไม่ให้กองกำลังความมั่นคงเคลื่อนกำลังภายในเมืองใหญ่ที่สุดในประเทศแห่งนี้ได้สะดวก
การชุมนุมในวันพุธเป็นการท้าทายรัฐบาลทหารที่พยายามใช้ความรุนแรงสยบการต่อต้าน หลังจากมีการประท้วงทั่วประเทศ รวมถึงการเรียกร้องให้ข้าราชการอารยะขัดขืนด้วยการผละงานต่อเนื่องมานับจากวันที่ 6
แม้การประท้วงในช่วงสองวันก่อนหน้านี้บางตาลงอย่างชัดเจน แต่เมื่อคืนวันอังคาร (16) ก่อนที่กองทัพจะปิดอินเทอร์เน็ตติดต่อกันเป็นคืนที่ 3 โซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยข้อความเรียกร้องให้ผู้ประท้วงออกไปแสดงพลัง
ช่วงเที่ยงวันพุธ ผู้ประท้วงต่อต้านการรัฐประหารชุมนุมกันในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศจากรัฐชินบนที่ราบสูงจนถึงเมืองเล็กๆ ลุ่มแม่น้ำอิระวดี และนอกกรุงเนปิดอว์ ที่มีประชาชนนับหมื่นจากภาคส่วนต่างๆ เช่น วิศวกร แพทย์ และครู เดินขบวนในเมืองปยินมะนา
ชาวมัณฑะเลย์นับหมื่นออกไปชุมนุมบนถนน บางคนพากันไปปิดเส้นทางรถไฟสำคัญ
ทอม แอนดรูส์ ผู้จัดทำรายงานพิเศษของสหประชาชาติ เตือนว่า หากกองทัพส่งทหารเข้าไปในย่างกุ้งตามที่เป็นข่าว อาจทำให้สถานการณ์ลุกลามจนไม่สามารถควบคุมได้ พร้อมเรียกร้องให้ประเทศที่มีอิทธิพลต่อนายพลพม่ากดดันไม่ให้มีการใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วง
อย่างไรก็ดี ในช่วงเช้าวันพุธยังไม่มีสัญญาณว่ามีการเคลื่อนกำลังพลไปยังเมืองหลวงเก่าแต่อย่างใด รวมทั้งไม่มีรายงานข่าวการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับกองกำลังความมั่นคง
ทั้งนี้ ช่วงหลายวันก่อนหน้านี้ ทหารได้ใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และแม้แต่หนังสติ๊กเพื่อสลายการชุมนุม โดยหญิงสาวที่ถูกยิงที่ศีรษะระหว่างการประท้วงในเนปิดอว์สัปดาห์ที่แล้วยังมีอาการวิกฤต ขณะที่กองทัพระบุว่า ตำรวจนายหนึ่งเสียชีวิตระหว่างเผชิญหน้ากับผู้ประท้วงในมัณฑะเลย์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (14)
กองทัพแถลงว่า ผู้ที่ดำเนินการโดยผิดกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจะถูกจัดการตามที่จำเป็น
ในวันอังคาร พลจัตวา ซอ มิน ตุน โฆษกของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ซึ่งคณะรัฐประหารจัดตั้งขึ้นมาภายหลังการยึดอำนาจ ได้แถลงข่าวโดยย้ำว่า มีการโกงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจีชนะถล่มทลาย และยืนยันว่า การยึดอำนาจเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกองทัพยังคงมุ่งมั่นในหลักการประชาธิปไตย
ซอ มิน ตุน สำทับว่า ประชาชน 40 ล้านคน จากทั้งหมด 53 ล้านคน สนับสนุนการดำเนินการของกองทัพ พร้อมให้สัญญาจะจัดการเลือกตั้งและคืนอำนาจให้พรรคการเมืองที่ได้ชัยชนะ และยืนยันว่าทหารไม่คิดรั้งอำนาจไว้นาน กระนั้น ยังไม่มีการกำหนดกรอบเวลาในการเลือกตั้งแต่อย่างใด และครั้งล่าสุดที่กองทัพพม่าปกครองประเทศกินเวลายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ ก่อนเริ่มปฏิรูปประชาธิปไตยในปี 2011
วันเดียวกันนั้น ขิ่น หม่อง จอ ทนายความของซูจี เผยว่า ซูจีถูกตั้งข้อหาเพิ่มอีกหนึ่งกระทง คือ ละเมิดกฎหมายบริหารจัดการภัยพิบัติ จากข้อหาเดิมละเมิดกฎหมายนำเข้าวิทยุสื่อสาร โดยนัดไต่สวนครั้งต่อไปคาดว่า น่าจะเป็นวันที่ 1 มีนาคม เช่นเดียวกับประธานาธิบดีวิน มิ้น ที่ถูกข้อหาเดียวกันคือละเมิดกฎหมายบริหารจัดการภัยพิบัติ
ทั้งอเมริกาและอังกฤษต่างออกแถลงแสดงความไม่พอใจการตั้งข้อหาเพิ่มต่อซูจี
ขณะที่จีนซึ่งยังไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหารในพม่า แต่เมื่อวันอังคาร เอกอัครราชทูตประจำพม่าได้ออกมายืนยันว่า สถานการณ์ปัจจุบันในพม่าไม่ใช่สิ่งที่ปักกิ่งอยากเห็น พร้อมปฏิเสธข้อกล่าวหาในการสนับสนุนให้ทหารพม่ายึดอำนาจ
เวลาเดียวกัน สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง เผยว่า นับจากการรัฐประหารมีผู้ถูกจับกุมแล้วกว่า 450 คน รวมถึงผู้นำอาวุโสของเอ็นแอลดี และหลายคนถูกบุกรวบตัวกลางดึก
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)