ผู้นำกองทัพพม่าเรียกร้องให้ทุ่มเทความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่อียูกำลังพิจารณาลงโทษธุรกิจของกองทัพพม่า ด้านอเมริกาประกาศแซงก์ชันนายพลหม่องเพิ่มอีก 2 คน และจี7 ออกคำแถลงประณามการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธ
พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า ได้ประชุมเมื่อวันจันทร์ (22 ก.พ.) กับสภาแห่งรัฐ (SAC) ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายหลังเขาทำรัฐประหารยึดอำนาจ ปกครอง โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายและการส่งออก ควบคู่กับลดการนำเข้าเพื่อฟื้นเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหา
กองทัพพม่าได้เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์โดยกล่าวหาว่า มีการโกงการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พร้อมเข้าควบคุมตัวอองซานซูจี และประธานาธิบดีวิน มิ้น และผู้นำอาวุโสอีกหลายคนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจีที่ชนะการเลือกตั้งนับจากนั้น
วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้มีแนวโน้มมากขึ้นที่นานาชาติจะโดดเดี่ยวพม่า พลอยทำให้นักลงทุนหนีหาย ขณะที่ไวรัสโคโรนากำลังบ่อนทำลายการบริโภคและการท่องเที่ยว
มิน อ่อง หล่ายไม่ได้เชื่อมโยงการประท้วงกับปัญหาเศรษฐกิจโดยตรง แต่บอกว่า ทางการจัดการกับการประท้วงตามแนวทางประชาธิปไตย และตำรวจพยายามใช้ความรุนแรงน้อยที่สุด เช่น กระสุนยาง
แม้กองกำลังความมั่นคงแสดงความอดกลั้นมากขึ้นเมื่อเทียบกับการปราบปรามประชาชนระหว่างที่ระบอบปกครองเผด็จการทหสนปกครองประเทศอยู่เกือบครึ่งศตวรรษ แต่จนถึงขณะนี้มีผู้ประท้วงเสียชีวิตรวม 4 คน ขณะที่กองทัพระบุว่า มีตำรวจเสียชีวิตหนึ่งนาย
กองทัพพม่ากล่าวหาผู้ประท้วงเป็นฝ่ายยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ทว่า ทอม แอนดรูส์ ผู้จัดทำรายงานพิเศษของสหประชาติ กล่าวว่า ชาวพม่าที่รวมตัวประท้วงทั่วประเทศเมื่อวันจันทร์ ซึ่งเขาระบุว่ามีจำนวนหลายล้านคน แสดงให้เห็นว่า พร้อมแล้วที่จะยืนหยัดเผชิญหน้ากับการข่มขู่ของกองทัพ
วันอังคาร (23) ฝูงชนรวมตัวกันอีกครั้งแม้มีจำนวนบางตาลง และไม่มีรายงานการเผชิญหน้ากับกองกำลังรักษาความปลอดภัย นอกจากนั้นยังมีประชาชนกลุ่มเล็กๆ ออกมาเดินขบวนสนับสนุนกองทัพ
ทั้งนี้ ประชาชนในเมืองย่างกุ้งได้รวมตัวกันที่ย่านเลดาน ซึ่งเป็นจุดนัดพบใหญ่ของผู้ชุมนุมประท้วง ขณะที่กลุ่มอื่นๆ รวมตัวกันตามสถานที่ต่างๆ ของเมือง
ส่วนที่เมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ มีการจัดงานศพให้แก่เต๊ต นาย วิน อายุ 37 ปี หนึ่งใน 2 ผู้ประท้วงที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ โดยที่เขาและเด็กชายวัยรุ่นอีกคนหนึ่งเสียชีวิตลงหลังจากตำรวจและทหารเปิดฉากยิงใส่ฝูงชนที่มารวมตัวกันเพื่อสนับสนุนคนงานท่าเรือที่เจ้าหน้าที่พยายามจะบังคับให้กลับไปทำงาน หลังจากพวกเขาผละงานประท้วง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการอารยะขัดขืนทั่วประเทศ
ในคืนวันจันทร์ สหภาพยุโรป แถลงว่า กำลังพิจารณาแซงก์ชันธุรกิจของกองทัพพม่า แต่จะไม่ตัดสิทธิพิเศษของประเทศนี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อแรงงานยากจน
ไฮโก มาสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี กล่าวว่า อียูจะไม่นั่งดูเฉยๆ และอาจมีการออกมาตรการแซงก์ชันตามมาถ้าแนวทางการทูตล้มเหลว
ทางด้านอเมริกา ได้ประกาศแซงก์ชันนายพลอาวุโสของพม่าอีก 2 คน ได้แก่ พล.อ.หม่อง หม่อง จ่อ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.ท.โม มิ่น ทูน กรรมการคนหนึ่งของสภาแห่งรัฐ พร้อมเตือนว่า อาจลงโทษกองทัพพม่าเพิ่มเติมอีก จากที่ก่อนหน้านี้ยังได้แซงก์ชันรักษาการประธานาธิบดีและนายทหารอีกหลายคนไปแล้ว รวมถึงบริษัทหยกและอัญมณี 3 แห่งของพม่า
ต่อมาในวันอังคาร รัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) ออกคำแถลงประณามการใช้กระสุนจริงกับผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธ และเรียกร้องให้กองกำลังความมั่นคงของพม่าใช้ความอดกลั้นสูงสุด และเคารพสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ
ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียกำลังผลักดันให้สมาคมอาเซียนตกลงแผนการที่จะทำให้รัฐบาลทหารพม่ารักษาสัญญาในการจัดการเลือกตั้งหลังครบ 1 ปี รวมทั้งอนุญาตให้นานาชาติเฝ้าสังเกตการณ์เพื่อให้แน่ใจว่า การเลือกตั้งยุติธรรม
ทว่า การที่แผนการนี้ไม่ระบุถึงหนึ่งในข้อเรียกร้องให้ทหารปล่อยตัวซูจีและยอมรับผลการเลือกตั้ง ทำให้มีฝูงชนหลายร้อยคนไปประท้วงหน้าสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียในเมืองย่างกุ้ง
ทั้งนี้ กลุ่มให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองเผยว่า นับจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ที่ผ่านมา มีผู้ถูกจับกุมแล้วกว่า 680 คน
นอกจากนั้น กองทัพพม่ายังคงปิดระบบอินเทอร์เน็ตทุกคืน เพิ่มความหวาดผวาว่า ทหารอาจบุกรวบตัวผู้ประท้วงต่อต้านการรัฐประหารในยามวิกาล
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์)