ชาวพม่านับแสนยังคงออกมาชุมนุมเดินขบวนกันต่อในวันจันทร์ (22 ก.พ.) ถึงแม้คณะปกครองทหารส่งสัญญาณชัดเจนที่สุดว่า เตรียมพร้อมปราบปรามคนที่พวกเขาประณามว่าเป็นผู้ประท้วงที่ยั่วยุให้เกิดจลาจล ขณะเดียวกัน ห้างร้านทั่วประเทศปิดให้บริการ สนองมาตรการอารยะขัดขืนเพื่อต่อต้านการยึดอำนาจ
คณะทหารที่เข้ายึดอำนาจตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ออกคำเตือนดุดันดังกล่าว หลังจากมีผู้ประท้วงถูกยิงเสียชีวิต 3 คน ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่รวมหญิงสาวที่ถูกยิงที่ศีรษะตั้งแต่ต้นเดือนและเพิ่งเสียชีวิตเมื่อวันศุกร์ (19) รวมแล้วมีผู้ประท้วงสังเวยชีวิตจากการต่อต้านรัฐประหารในพม่าไปแล้ว 4 คน
กว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีชาวพม่าจำนวนมากตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศออกไปชุมนุมประท้วงไม่เว้นแต่ละวันเพื่อเรียกร้องให้กองทัพยุติการยึดอำนาจ และปล่อยตัว นางอองซานซูจี ตลอดจนผู้นำรัฐบาลพลเรือนคนอื่นๆ ที่ถูกควบคุมตัวไปนับจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นอกจากนั้นยังมีการเคลื่อนไหวแบบอารยะขัดขืน ซึ่งส่งผลรุนแรงต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการหลายแห่ง รวมถึงภาคธุรกิจและธนาคาร และเมื่อคืนวันอาทิตย์ (21) คณะปกครองทหารก็ได้ส่งสัญญาณชัดเจนที่สุดว่าความอดทนใกล้สิ้นสุด
คำแถลงของคณะปกครองทหารที่สถานีเอ็มอาร์ทีวีของรัฐบาลเผยแพร่ กล่าวหาว่า ผู้ประท้วงกำลังยุยงประชาชน โดยเฉพาะวัยรุ่นและหนุ่มสาวให้ออกมาเผชิญหน้าซึ่งอาจทำให้คนเหล่านั้นเสียชีวิต พร้อมเตือนไม่ให้ผู้ประท้วงยั่วยุให้เกิดจลาจลและความสับสนวุ่นวาย
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าในวันจันทร์ยังคงมีประชาชนนับแสนยังคงออกไปชุมนุมประท้วงในย่างกุ้ง เมืองใหญ่ที่สุดและศูนย์กลางธุรกิจของพม่า ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยเข้มข้นขึ้น
ผู้ประกอบการวิชาชีพและข้าราชการหลายหมื่นคนชุมนุมในกรุงเนปิดอว์ นอกจากนี้ยังมีการประท้วงขนาดใหญ่ในหลายเมือง เช่น มัณฑะเลย์ ทวาย และมิตจีนา
ขณะเดียวกัน ร้านรวงต่างๆ ในย่างกุ้งและเมืองใหญ่อื่นๆ พากันปิดให้บริการ เพื่อตอบสนองการเรียกร้องหยุดงานครั้งใหญ่ รายงานระบุว่า บริษัทข้ามชาติ เช่น เคเอฟซี ของยัม แบรนด์, บริการส่งอาหารฟู้ดแพนด้า และบริการจัดส่งของแกร็บหยุดให้บริการเช่นเดียวกัน
กองทัพพม่ากำลังค่อยๆ ยกระดับความรุนแรงในการรับมือการประท้วง เริ่มจากการฉีดน้ำด้วยเครื่องฉีดน้ำความดันสูง ตามด้วยกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และในบางครั้งก็มีการใช้กระสุนจริง โดยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิต 2 คน ระหว่างที่กองกำลังความมั่นคงยิงใส่ผู้ประท้วงในเมืองมัณฑะเลย์ และมีชายอีกคนถูกยิงตายในย่างกุ้ง
ทางด้าน แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ทวีตว่า อเมริกาจะยังคงดำเนินมาตรการแข็งกร้าวกับเจ้าหน้าที่พม่าที่ปราบปรามผู้ต่อต้านการรัฐประหารอย่างรุนแรง
อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ต่างประณามการใช้ความรุนแรงในพม่าเช่นเดียวกัน
ขณะที่ บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) มีกำหนดประชุมกันในวันจันทร์ (26) โดยวาระสำคัญวาระหนึ่งได้แก่การอนุมัติมาตรการแซงก์ชันเหล่านายทหารพม่า
ในวันจันทร์ ยังมีการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยที่ อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น กล่าวในคำปราศรัยเปิดประชุมซึ่งมีการบันทึกวิดีโอเอาไว้ล่วงหน้า ประณามการใช้กำลังของกองทัพพม่า และเรียกร้องให้ยุติการกระทำดังกล่าวทันที รวมทั้งปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม ก่อนสำทับว่าผู้ก่อรัฐประหารไม่มีที่ให้ยืนอีกต่อไปในโลกยุคใหม่ และประกาศสนับสนุนชาวพม่าที่เรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมอย่างเต็มที่
ทางด้าน ทอม แอนดรูส์ ผู้จัดทำรายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นในพม่า ทวีตว่า การกระทำของกองกำลังรักษาความปลอดภัยพม่าได้รับการบันทึกไว้หมดแล้ว และผู้ที่มีส่วนในเรื่องนี้จะต้องรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศพม่าออกมาแถลง ยืนยันความชอบธรรมในการใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ประท้วง และเสริมว่า พยายามอดกลั้นอย่างถึงที่สุด พร้อมประณามยูเอ็นและบางประเทศว่าแทรกแซงกิจการภายในของพม่าอย่างโจ่งแจ้ง
ขณะเดียวกัน สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่า เผยว่า นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจ มีผู้ถูกจับกุมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเวลานี้ยอดรวมอยู่ที่ 640 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งนักการเมือง ตลอดจนพวกพนักงานรถไฟ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ธนาคารที่เข้าร่วมการต่อสู้แบบอารยะขัดขืน
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)