ชาวพม่ายังคงชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ และมีบางกลุ่มเปิดแนวรบใหม่ด้วยการโจมตีเว็บไซต์หน่วยงานหลายแห่งของรัฐบาลทหาร ด้านกองทัพออกหมายจับเซเลบจากวงการต่างๆ รวม 6 คน ข้อหายุยงข้าราชการร่วมประท้วง ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ออกคำแถลงร่วมแสดงความเชื่อมั่นว่า อาเซียนสามารถมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเจรจาและการฟื้นสถานการณ์ในพม่า
การประท้วงและนัดหยุดงานที่ทำให้หน่วยงานหลายแห่งของรัฐบาลเป็นอัมพาตยังไม่มีวี่แววแผ่วลง แม้รัฐบาลทหารให้สัญญาจัดการเลือกตั้งใหม่ ทว่า ไม่ได้กำหนดเวลาชัดเจนแน่นอน รวมทั้งเรียกร้องให้ข้าราชการพลเรือนกลับเข้าทำงาน พร้อมใช้ไม้แข็งขู่ลงโทษหากไม่เชื่อฟังก็ตาม
ในวันพฤหัสบดี (18 ก.พ.) ผู้คนจำนวนหลายหมื่นคนออกไปชุมนุมประท้วงกันอีกครั้งในเมืองย่างกุ้ง เมืองใหญ่ที่สุดของพม่า เพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารของฝ่ายทหารพร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวอองซาน ซูจี โดยจุดชุมนุมมีทั้งที่บริเวณมหาเจดีย์สุเลกลางเมือง ขณะที่หนุ่มสาวจำนวนมากไปรวมตัวกันตรงสี่แยกใกล้ๆ มหาวิทยาลัยสำคัญ ซึ่งมีบางส่วนล้นออกมาที่ถนน และตำรวจพยายามผลักดันให้พวกเขากลับออกไป
นอกจากนั้น ยังมีผู้ขับขี่ยวดยานจำนวนมากพากันขับรถช้าๆ เพื่อแสดงการต่อต้านรัฐประหาร หลังจากเมื่อวันพุธ (17) มีคนจำนวนมากทำทีเป็นรถเสียเพื่อจอดขวางทางรถของตำรวจและทหาร
ในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของพม่า ผู้ประท้วงออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยเจ้าหน้าที่ 2 คนที่ถูกจับในระหว่างการยึดอำนาจ และที่เมืองหลวงเนปิดอว์ ตำรวจใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดสลายฝูงชนที่เคลื่อนเข้าใกล้แถวสกัดกั้นของตำรวจ
ที่เมืองมิตจีนา เมืองหลวงของรัฐกะฉิ่น ทางภาคเหนืองประเทศ สถานการณ์ตึงเครียดหลังจากพวกตำรวจและทหารใช้หนังสติ๊กไล่ยิงเพื่อสลายการชุมนุมประท้วง ทั้งนี้ ตามปากคำของชาวเมืองผู้หนึ่ง โดยที่ในภาพต่างๆ ซึ่งเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียแสดงให้เห็นแถวทหารและแถวรถกระบะของตำรวจ
ส่วนที่เมืองพุกาม ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่า ผู้คนถือแผ่นผ้าเขียนข้อความประท้วงและธงทิวต่างๆ เดินขบวนที่จัดกันอย่างมีสีสัน ไปตามเส้นทางผ่านเจดีย์และวัดวาโบราณสถาน ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่ามีผู้ประท้วงบางคนหยุดแวะที่วัดแห่งหนึ่งเพื่อทำพิธีสาปแช่งพวกผู้เผด็จการ
ช่วงคืนวันพุธ นอกจากสั่งปิดอินเทอร์เน็ตเป็นคืนที่ 4 ติดกัน รัฐบาลทหารยังออกหมายจับเซเลบ 6 คน ซึ่งรวมถึงนักแสดง ผู้กำกับ นักร้อง และแพทย์ ฐานยุยงให้ข้าราชการเข้าร่วมการหยุดงานประท้วงแบบอารยะขัดขืน ซึ่งเป็นความผิดที่อาจถูกจำคุก 2 ปี
ขณะเดียวกัน กลุ่มเคลื่อนไหวที่ติดตามโซเชียลมีเดีย ระบุว่า นับจากวันที่ 9 ที่ผ่านมา มีโพสต์แสดงการประท้วงรัฐประหารในเมือง 90% ทั่วประเทศ ถึงแม้กองทัพพยายามอวดอ้างว่า ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนการดำเนินการของทหาร
การเดินรถไฟอยู่ในอาการสะดุดติดขัดอย่างแรง และเมื่อคืนวันพุธ กองกำลังความมั่นคงในมัณฑะเลย์เผชิญหน้ากับพนักงานการรถไฟที่ผละงาน และได้ยิงกระสุนยางตลอดจนหนังกระติ๊ก รวมถึงขว้างก้อนหินเข้าใส่ผู้ชุมนุม ทำให้มีเจ้าหน้าที่มูลนิธิการกุศลแห่งหนึ่งถูกยิงด้วยกระสุนยางที่ขา
นอกจากการประท้วงและการหยุดงานแล้ว เมื่อวันพฤหัสฯ ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “แฮกเกอร์เมียนมา” ได้โจมตีเว็บไซต์หน่วยงานราชการหลายแห่งเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร ในจำนวนนี้รวมถึงเว็บไซต์ของธนาคารกลาง หน้าโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพ เว็บไซต์สถานีเอ็มอาร์ทีวีของรัฐ และสำนักงานอาหารและยา
สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่าแถลงว่า จำนวนผู้ถูกควบคุมตัวนับจากการรัฐประหารเพิ่มเป็น 495 คนแล้ว ในจำนวนนี้ 460 คน ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว
เมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสฯ เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศ 11 คน ถูกจับกุมข้อหาร่วมกิจกรรมอารยะขัดขืน
วันเดียวกันนั้น วิเวียน บาลากริชนัน และ เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ตามลำดับ ได้ออกคำแถลงการณ์แสดงความเชื่อมั่นว่า สมาคมอาเซียนสามารถมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเจรจาและการฟื้นสถานการณ์ในพม่ากลับสู่ภาวะปกติ และยังสนับสนุนให้จัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่าโดยเร็วที่สุด
ก่อนเดินทางเยือนสิงคโปร์ครั้งนี้ เร็ตโนยังได้เข้าเฝ้าฯสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์แห่งบรูไนเมื่อวันพุธ เพื่อขอให้บรูไนซึ่งเป็นประธานอาเซียนในขณะนี้ สนับสนุนการหารือดังกล่าว ขณะเดียวกัน มาเลเซียก็เรียกร้องให้จัดการประชุมพิเศษนี้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวอาจเป็นความท้าทายสำคัญ เนื่องจากอาเซียนมีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)