ประชาชนหลายหมื่นคนในหลายเมืองใหญ่ของพม่า ออกไปชุมนุมต่อต้านกองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจทั่วประเทศ เป็นวันที่ 2 เมื่อวันอาทิตย์ (7 ก.พ.) พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวอองซาน ซูจี นับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดหลังจากการประท้วงที่ริเริ่มโดยพระภิกษุเมื่อปี 2007 ขณะที่ผู้แทนพิเศษยูเอ็นจวกเหล่านายพลพม่ากำลังพยายามทำให้การเคลื่อนไหวต่อต้านของพลเมืองเป็นอัมพาต รวมทั้งปิดหูปิดตาโลกภายนอก ด้วยการปิดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า บริษัทมือถือบางค่ายเริ่มให้บริการอินเทอร์เน็ตได้แล้วเมื่อบ่ายวันอาทิตย์
ประชาชนในย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าและเมืองใหญ่สุดของพม่า พากันสวมเสื้อแดง โบกธงแดง และถือลูกโป่งสีแดงซึ่งเป็นสีของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจี ออกมาชุมนุมกันอย่างกว้างขวางในเมืองนี้ ติดต่อกันเป็นวันที่สองเมื่อวันอาทิตย์
ฝูงชนจากทั่วเมืองย่างกุ้ง รวมตัวกันเดินขบวนไปยังมหาเจดีย์ซูเล่ ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งเป็นจุดชุมนุมสำคัญระหว่างการประท้วงที่นำโดยพระสงฆ์ในปี 2007 และการประท้วงอีกหลายครั้งย้อนหลังไปในปี 1988
ผู้ชุมนุมชูสามนิ้วที่กลายเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการ คนขับรถหลายคนบีบแตร และผู้โดยสารชูรูปซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ วัย 75 ปี
พวกผู้ประท้วงในย่างกุ้งเริ่มแยกย้ายกันกลับเมื่อถึงเวลาค่ำคืน ภายหลังประกาศว่าพวกเขาจะกลับลงสู่ท้องถนนกันใหม่ในเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันจันทร์ (8) ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าพวกเขายังจะดำเนินการต่อต้านการรัฐประหารของฝ่ายทหารต่อไปไม่เลิกรา
นอกจากนั้น พวกเขายังเรียกร้องให้ข้าราชการพลเรือนทั้งหลาย ตลอดจนผู้คนที่เป็นลูกจ้างพนักงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ให้นัดหยุดงานและเข้าร่วมการประท้วง
ขณะเดียวกัน มีการเปิดเผยบันทึกภายในของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ ประเมินว่า ในกรุงเนปิดอว์ก็มีผู้ชุมนุมราว 1,000 คน ส่วนที่ย่างกุ้งมี 60,000 คน อย่างไรก็ดี มีบางคนประเมินจำนวนผู้ประท้วงในย่างกุ้งว่า สูงถึง 100,000 คน
นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่า มีการประท้วงขนาดใหญ่เกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วประเทศ ในจำนวนนี้รวมถึงมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ซึ่งข่าวระบุว่า มีผู้ออกมารร่วมประท้วงกันหลายหมื่นคน การชุมนุมคราวนี้ส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ ต่างจากในปี 1998 และ 2007 ที่รัฐบาลทหารพม่าออกมาปราบปรามและเกิดการนองเลือด
อย่างไรก็ดี มีเสียงปืนดังขึ้นในเมืองเมียวดี ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า รายงานระบุว่า ตำรวจพร้อมอาวุธปืนเข้าปะทะกับกลุ่มผู้ประท้วงหลายร้อยคน ซึ่งมีการไลฟ์สดการชุมนุม แต่ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
การชุมนุมประท้วงที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วันเสาร์ (6) เกิดขึ้นทั้งที่ประชาชนทั่วพม่ายังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เช่นเดียวกับตอนที่ทหารเข้าจับกุมซูจีและผู้นำพลเรือนคนอื่นๆ เมื่อวันจันทร์ และประกาศรัฐประหารที่ส่งผลให้เส้นทางสู่ประชาธิปไตยของประเทศแห่งนี้หยุดชะงัก และนานาชาติพากันประณามกองทัพพม่า
ทว่า ต่อมา เน็ตบล็อกส์ ซึ่งเป็นกลุ่มติดตามการให้บริการอินเทอร์เน็ต เผยว่า เครือข่ายมือถือบางแห่งกลับมาให้บริการอินเทอร์เน็ตได้แล้วเป็นบางส่วนเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ แต่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยังถูกบล็อกอยู่ และไม่มีความชัดเจนว่า อินเทอร์เน็ตจะใช้ได้นานแค่ไหน
ขณะเดียวกัน มีวิดีโอไลฟ์สดออกมาเฟซบุ๊ก ถ่ายทอดการชุมนุมเดินขบวนประท้วงจากเมืองใหญ่ๆ หลายแห่งในพม่า ยังไม่เป็นที่ชัดเจนในเฉพาะหน้านี้ ว่า พวกเขาสามารถเล็ดรอดการบล็อกอินเทอร์เน็ตได้ด้วยวิธีไหน
อนึ่ง วันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีทั้งอินเทอร์เน็ตและข้อมูลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับชะตากรรมของซูจีและคณะรัฐมนตรี ได้เกิดกระแสข่าวลือว่า ทหารปล่อยตัวซูจีแล้ว ทำให้ฝูงชนพากันออกไปฉลอง ก่อนที่ทนายความส่วนตัวจะออกมาแถลงว่า ตำรวจจะควบคุมตัวซูจีจนถึงวันที่ 15 เพื่อสอบสวนตามข้อกล่าวหาลักลอบนำเข้าวิทยุสื่อสาร 6 เครื่อง และเสริมว่า แม้แต่ตนเองก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมซูจี
ทั้งนี้ มิน อ่อง หลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้นำการรัฐประหารโดยอ้างว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่พรรคของซูจีชนะถล่มทลายนั้น มีการโกงเลือกตั้ง ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
วันอาทิตย์ โทมัส แอนดรูว์ ผู้แทนพิเศษของยูเอ็นที่จัดทำรายงานเกี่ยวกับพม่าออกแถลงการณ์ว่า นับจากที่ทหารเข้ายึดอำนาจ มีผู้ถูกจับกุมกว่า 160 คน และขณะนี้บรรดานายทหารใหญ่กำลังพยายามทำให้การเคลื่อนไหวต่อต้านของพลเมืองเป็นอัมพาต รวมทั้งปิดหูปิดตาโลกภายนอก ด้วยการปิดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยสิ้นเชิง
แอนดรูว์ยังเรียกร้องให้นานาชาติยืนหยัดเคียงข้างชาวพม่าในช่วงเวลาอันตรายนี้ ขณะที่สำนักงานสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นในพม่า เรียกร้องให้กองทัพรับประกันสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบและละเว้นการปราบปรามผู้ประท้วง
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)