กองทัพพม่าสั่งบล็อกเฟซบุ๊กในวันพฤหัสบดี (4 ก.พ.) อ้างเพื่อเสถียรภาพของประเทศ อย่างไรก็ตาม ชาวย่างกุ้งยังคงออกมาแสดงการอารยะขัดขืนช่วงกลางคืน และมีการออกมาประท้วงบนท้องถนนตอนกลางวันในมัณฑะเลย์แม้เป็นขนาดเล็กๆ ขณะที่เลขาธิการยูเอ็นประกาศกร้าวให้นานาชาติช่วยกันกดดันเพื่อให้การรัฐประหารในแดนหม่องล้มเหลว
พม่ากลับเข้าสู่ยุคเผด็จการทหารเมื่อวันจันทร์ (1) ด้วยการที่กองทัพประกาศยึดอำนาจ และบุกเข้าควบคุมตัวอองซานซูจี ตลอดผู้นำพลเรือนคนอื่นๆ ที่บ้านพักในกรุงเนปิดอ ปิดฉากการทดสอบประชาธิปไตยช่วงไม่กี่ปี และเรียกเสียงประณามเซ็งแซ่จากทั่วโลก
การยึดอำนาจครั้งนี้ยังคงปราศจากการประท้วงรุนแรง ขณะที่มีทหารเฝ้าควบคุมสถานการณ์อยู่ในเมืองใหญ่ จะมีก็แต่ประชาชนกลุ่มที่สนับสนุน “ทัดมาดอ” หรือกองทัพพม่า หลายร้อยคนออกมาเดินขบวนสนับสนุนการรัฐประหารในกรุงเนปิดอว์เมื่อวันพฤหัสฯ (4)
ขณะที่ประชาชนอีกกลุ่มใช้โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก เพื่อแสดงการต่อต้านการกระทำของกองทัพ และแลกเปลี่ยนแผนประท้วงด้วยวิธีอารยะขัดขืน
อย่างไรก็ดี วันพฤหัสฯ เทเลนอร์ หนึ่งในผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ในพม่า ยืนยันว่าได้รับคำสั่งจากทางการให้ปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊กชั่วคราว ซึ่งบริษัทจำใจต้องปฏิบัติตาม
ด้านเฟซบุ๊กยืนยันเรื่องนี้เช่นกัน และเรียกร้องให้ทางการพม่ายกเลิกการปิดกั้น นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า แอปอื่นๆ ของบริษัท เช่น วอตส์แอป ถูกบล็อกเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ชาวพม่าในมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ยังสามารถใช้เฟซบุ๊กได้เป็นพักๆ และใช้แพลตฟอร์มนี้ไลฟ์การประท้วงบนท้องถนนครั้งแรกนับจากการรัฐประหาร ที่มีผู้เข้าร่วมราว 20 คน ณ บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์มัณฑะเลย์ ซึ่งสื่อท้องถิ่นรายงานว่าตำรวจเข้าจับกุมผู้ประท้วงไป 4 คน
นอกจากนั้นยังมีการจัดการประท้วงซึ่งมีผู้เข้าร่วมสิบกว่าคนในเมืองย่างกุ้ง ก่อนที่จะรีบแยกย้ายกระจายตัวไปอย่างรวดเร็ว
ชาวพม่ายังใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กแชร์ภาพแคมเปญอารยะขัดขืนของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลหลายแห่งพร้อมใจหยุดงาน หรือติดริบบิ้นแดง ซึ่งเป็นสีประจำของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจี
เวลาเดียวกัน ยังมีภาพเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรร่วมต่อต้านการรัฐประหารบนเฟซบุ๊กเมื่อวันพุธ ขณะที่ประชาชนในย่างกุ้งและเมืองอื่นๆ พากันออกมาเคาะกาละมังและบีบแตรรถเป็นคืนที่ 2 เมื่อคืนวันพุธ เพื่อระบายความไม่พอใจต่อการยึดอำนาจของทหาร
นอกจากนั้นยังมีสมาชิกรัฐสภาจำนวนสิบกว่าคน ที่ได้รับเลือกตั้งจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน จัดการประชุมรัฐสภาเชิงสัญลักษณ์ขึ้นในบริเวณซึ่งพวกเขาใช้เป็นที่พักอาศัยตั้งแต่ทหารเข้ายึดอำนาจ
ทั้งนี้ กระทรวงสื่อสารและข้อมูลของพม่าระบุว่า จะปิดเฟซบุ๊กจนถึงวันที่ 7 เนื่องจากผู้ใช้จำนวนมากใช้เป็นช่องทางในการเผยแพร่ข่าวปลอมที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
ทางด้านนานาชาติต่างประณามการยึดอำนาจของพลเอกมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ภายใต้ข้ออ้างว่า มีการโกงการเลือกตั้ง โดยในวันพุธ (3) แอนโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ แสดงความคิดเห็นอย่างแข็งกร้าวที่สุดระหว่างให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ว่า ยูเอ็นจะทำทุกสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อผลักดันผู้เล่นสำคัญทั้งหมดและนานาชาติให้ร่วมกันกดดันพม่าเพื่อให้การรัฐประหารครั้งนี้ล้มเหลว และสำทับว่า การพยายามเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งและเจตจำนงของประชาชนเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง
ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พรรคเอ็นแอลดีของซูจีได้ชัยชนะท่วมท้น โดยผู้สังเกตการณ์ทั้งในท้องถิ่นและต่างชาติ ตลอดจนถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งของพม่า ต่างยืนยันว่า ไม่พบความผิดปกติร้ายแรงที่อาจส่งผลต่อความถูกต้องในการเลือกตั้ง
ขณะที่รัฐธรรมนูญซึ่งใช้อยู่ปัจจุบันที่สืบทอดมาจากยุครัฐบาลทหาร ก็มีการรับประกันว่ากองทัพจะยังคงมีอิทธิพลอย่างมาก ซึ่งรวมถึงที่นั่ง 1 ใน 4 ในสภา และการควบคุมกระทรวงสำคัญๆ
กระนั้น นักวิเคราะห์ระบุว่า บรรดาทหารระดับสูงยังคงกลัวตัวเองจะสูญเสียอิทธิพล อีกทั้งไม่พอใจที่ซูจีได้รับความนิยมอย่างมากจากประชาชน
ในวันพุธ กองทัพพม่าตั้งข้อหาซูจีละเมิดกฎหมายนำเข้า หลังอ้างว่าพบวิทยุสื่อสาร 6 เครื่องที่ไม่ได้จดทะเบียนในบ้านพักของผู้นำหญิงวัย 75 ปีผู้นี้
อเมริกาและอังกฤษต่างประณามข้อกล่าวหาดังกล่าว และเรียกร้องให้ปล่อยตัวซูจีทันที
ทำเนียบขาวยังแถลงว่า การจัดการรับมือสถานการณ์รัฐประหารในพม่าเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญ และอเมริกากำลังพิจารณาลงโทษทหารพม่าด้วยการแซงก์ชัน นอกจากนั้นประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังหารือสถานการณ์นี้กับผู้นำเกาหลีใต้และออสเตรเลีย
ด้านชาร์ลส์ แซนเทียโก ประธานรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน วิจารณ์ว่า ข้อกล่าวหาซูจีไร้สาระ และเป็นเพียงแค่ความพยายามของกองทัพพม่าเพื่อสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจ
ทั้งนี้ ซูจีถูกจำกัดบริเวณอยู่ภายในบ้านพักนาน 15 ปีระหว่างปี 1989-2010 แต่ยังคงเป็นผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตยและได้รับความนิยมจากประชาชน แม้ว่าชื่อเสียงในสายตานานาชาติระยะหลังๆ จะเสียหายหนักจากการเพิกเฉยต่อชะตากรรมของมุสลิมโรฮิงญาก็ตาม
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)