“อองซานซูจี” ผู้นำพม่าที่ถูกฝ่ายทหารยึดอำนาจ เมื่อวันพุธ (3 ก.พ.) ถูกตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการว่านำเข้าอุปกรณ์สื่อสารอย่างผิดกฎหมาย ในความเคลื่อนไหวซึ่งดูเหมือนเป็นการหาเหตุผลอธิบายการไม่ให้เธอดำรงตำแหน่งทางการเมือง และกักกันตัวเธอเอาไว้อย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง ขณะที่เสียงเรียกร้องให้ประชาชนใช้วิธีอารยะขัดขืนเพื่อคัดค้านการรัฐประหารคราวนี้กำลังได้รับเสียงตอบรับเพิ่มมากขึ้น
การตั้งข้อหานี้มีขึ้นภายหลังกองทัพพม่าได้เข้ายึดอำนาจตั้งแต่วันจันทร์ (1 ก.พ.) และจับกุมคุมขัง ซูจี ซึ่งเป็นผู้นำในทางพฤตินัยของประเทศ ตลอดจนนักการเมืองพลเรือนคนอื่นๆ ทำให้ถูกประณามอย่างรุนแรงจากสหรัฐฯและชาติตะวันตกทั้งหลาย
ตามเอกสารของตำรวจซึ่งเผยแพร่ออกมาในวันพุธ (3) ระบุว่า จากการค้นบ้านพักของ ซูจี ในกรุงเนปิดอ ได้พบวิทยุสื่อสารแบบวอล์กกี้-ทอล์กกี้ 6 เครื่อง ซึ่งถูกนำเข้าพม่าอย่างผิดกฎหมายและถูกนำมาใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้นจึงขอกักตัวเธอไว้เพื่อการสอบสวนไปจนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์
ในเอกสารของตำรวจต่างหากอีกชุดหนึ่งยังแสดงให้เห็นว่า ตำรวจได้กล่าวหาประธานาธิบดีวิน มิ้น ซึ่งถูกจับตัวไว้หลังรัฐประหารเช่นเดียวกัน ในความผิดละเมิดระเบียบข้อกำหนดในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ บีบีซีนิวส์ระบุว่า พม่าในปัจจุบันมีกฎเกณฑ์กำหนดว่าสมาชิกรัฐสภาต้องไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา ดังนั้นข้อกล่าวหาเหล่านี้ก็อาจเพียงพอแล้วที่ฝ่ายทหารจะบรรลุวัตถุประสงค์ของตน นั่นคือการกีดกันห้ามไม่ให้ ซูจี ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ถึงแม้หลังการเข้ายึดอำนาจของกองทัพ ซึ่งมีการทหารและยานยนต์หุ้มเกราะออกลาดตระเวนในเมืองสำคัญต่างๆ จนสถานการณ์ในช่วงวันสองวันแรกดูเหมือนไม่ได้เกิดการต่อต้านประท้วงอย่างรุนแรงใดๆ แต่ปรากฏว่าในคืนวันอังคาร (2) นครย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าที่ยังคงเป็นศูนย์กลางด้านการพาณิชย์ และเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ ได้เกิดเสียงดังอึกทึกต่อเนื่องกันอย่างยาวนาน เมื่อชาวเมืองพากันบีบแตรรถยนต์ ตลอดจนเคาะหม้อเคาะกระทะกระป๋องกันสนั่นหวั่นไหวไปทั่วเมือง เป็นการตอบสนองการนัดแนะกันผ่านทางโซเชียลมีเดีย
ชาวเมืองย่างกุ้งยังพากันประท้วงด้วยการเคาะภาชนะโลหะ และบีบแตรรถกันอีกรอบเป็นคืนที่ 2 ในวันพุธ (3) ในย่านที่อยู่อาศัยบางย่าน ชาวบ้านยังพากันตะโกนในท้องถนนและร้องเพลงประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย
ขณะเดียวกัน ตั้งแต่วันอังคารมีการประกาศทางสื่อสังคมจัดตั้ง “ขบวนการอารยะขัดขืนแห่งพม่า” ขึ้นมา ซึ่งนักเคลื่อนไหวระบุว่า ภายใน 24 ชั่วโมงหลังก่อตั้ง มีผู้ติดตามแล้วกว่า 150,000 คน
ขบวนการอารยะขัดขืนแห่งพม่ายังได้ออกคำแถลงผ่านโซเชียลมีเดียในวันพุธ (3) ว่า บุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลและแผนกอายุรกรรม 70 แห่งใน 30 เมือง ตกลงร่วมประท้วงด้วยการผูกริบบิ้นแดงหรืองดปฏิบัติหน้าที่ยกเว้นในกรณีฉุกเฉิน พร้อมกล่าวหาว่า กองทัพเห็นแก่ประโยชน์ของตนเองมากกว่าความทุกข์ยากของประชาชนระหว่างวิกฤตโรคระบาดที่มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 3,100 คนในพม่า
ทางด้านพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ (เอ็นแอลดี) ของซูจี ผู้นำตัวก็ออกคำแถลงว่า ที่ทำการพรรคในหลายพื้นที่ถูกบุกค้น พร้อมเรียกร้องให้ทางการยุติการกระทำที่ผิดกฎหมาย
สำหรับ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นผู้นำในการเข้ายึดอำนาจ ได้แถลงในคืนวันอังคาร (2) ว่า จำเป็นต้องยึดอำนาจเนื่องจากผู้นำพลเรือนไม่สามารถจัดการปัญหาการฉ้อฉลตามคำเตือนของกองทัพ
กองทัพพม่ายังปลดคณะรัฐมนตรีทั้งหมดและแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ โดยมิน อ่อง หล่าย แต่งตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีที่มีแต่นายพลและอดีตนายพล รวมทั้งจัดตั้งสภาปกครองประกอบด้วยทหารระดับนายพล 8 นาย คล้ายกับสมัยรัฐบาลทหารที่ปกครองพม่ามาเกือบครึ่งศตวรรษจนถึงปี 2011
นอกจากนี้ยังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี และกองทัพระบุว่า จะจัดการเลือกตั้งหลังจากสอบสวนและจัดการข้อกล่าวหาโกงการเลือกตั้งเสร็จสิ้น
พร้อมกันนี้ รัฐบาลชุดใหม่ยังออกคำเตือนประชาชนไม่ให้พูดหรือโพสต์สิ่งใดๆ ที่อาจปลุกเร้าให้เกิดการจลาจลหรือสถานการณ์ความไม่สงบ
ทางด้านนานาชาติ เมื่อวันพุธ กลุ่ม 7 ประเทศผู้นำทางอุตสาหกรรม (จี7) ได้ออกคำแถลงประณามการรัฐประหาร และเรียกร้องให้กองทัพพม่าเคารพผลการเลือกตั้ง ยุติสถานการณ์ฉุกเฉิน คืนอำนาจให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่เป็นธรรมทันที รวมถึงเคารพสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม
ที่สหรัฐฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงขู่งัดมาตรการแซงก์ชันกลับมาใช้กับเหล่านายทหารพม่าที่ยึดอำนาจ ขณะเดียวกัน มีการเปิดเผยว่า พลเอก มาร์ก มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมทางทหาร พยายามติดต่อกองทัพพม่าแต่ไม่สำเร็จ
สำหรับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วการยึดอำนาจของกองทัพพม่าเป็นการรัฐประหาร ซึ่งตามกฎหมายของสหรัฐฯ เท่ากับว่าวอชิงตันจะไม่สามารถให้ความช่วยเหลือรัฐบาลพม่าได้
อย่างไรก็ดี คำประกาศดังกล่าวมีผลเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เนื่องจากความช่วยเหลือเกือบทั้งหมดเวลานี้ดำเนินการโดยหน่วยงานเอกชน ขณะที่กองทัพพม่านั้นถูกอเมริกาแซงก์ชันอยู่แล้วจากการกวาดล้างชาวมุสลิมโรฮิงญา
ส่วนที่ญี่ปุ่น ชาวพม่าหลายพันคนได้ออกมาประท้วง พร้อมเรียกร้องให้ทางการโตเกียวแสดงจุดยืนแข็งกร้าวต่อการรัฐประหารของกองทัพพม่า
ขณะที่จีนไม่ประณามการทำรัฐประหารในประเทศเพื่อนบ้าน กระนั้น กระทรวงการต่างประเทศในปักกิ่งปฏิเสธว่า ไม่ได้ให้การสนับสนุนหรือยินยอมกับการกระทำดังกล่าว
ด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้มีการประชุมฉุกเฉินในวันอังคาร (2) โดยที่ คริสติน ชราเนอร์ เบอร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษของยูเอ็นในพม่า เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงส่งสัญญาณชัดเจนในการสนับสนุนประชาธิปไตยในพม่า
แต่ปรากฏว่า คณะมนตรีไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับการออกคำแถลงเพื่อประณามการรัฐประหาร สืบเนื่องจากจีนยังไม่เห็นด้วย
บีบีซีนิวส์รายงานว่า จีนกำลังส่งเสียงเตือนนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารขึ้นมาว่า การแซงก์ชั่นหรือการบีบคั้นจากนานาชาติจะมีแต่ทำให้สิ่งต่างๆ เลวร้ายลงไปในพม่า
อันที่จริง ปักกิ่งได้แสดงบทบาทเป็นผู้คอยปกป้องพม่าจากการตรวจสอบตามจิกของนานาชาติมานานแล้ว โดยที่จีนมองว่าประเทศเพื่อนบ้านของตนรายนี้มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจ และวางตัวเป็นพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดรายหนึ่งของพม่า
ทั้งนี้ จีนซึ่งมีรัสเซียเคียงข้าง ได้คอยปกป้องพม่าครั้งแล้วครั้งเล่าจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสหประชาชาติ เกี่ยวกับการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามกวาดล้างประชากรชนส่วนน้อยมุสลิมโรฮิงญา
“จุดยืนของปักกิ่งในสถานการณ์นี้ สอดคล้องกันกับจุดยืนโดยรวมของจีนซึ่งมีความระแวงสงสัยต่อการเข้าก้าวก่ายแทรกแซงของนานาชาติ” เซบาสเตียน สแตรงจิโอ นักเขียนซึ่งเป็นบรรณาธิการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของนิตยสาร “เดอะ ดิโพลแมต” บอกกับบีบีซี
เขาเตือนว่า ขณะที่จีนได้ประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์จากการที่พม่าแปลกแยกกับพวกชาติตะวันตก แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าปักกิ่งมีความพออกพอใจกับการรัฐประหารคราวนี้
“พวกเขามีการติดต่อทำความตกลงต่างๆ ที่ดีมากกับพรรค NLD และได้ลงทุนเอาไว้เยอะแยะในการสร้างความสัมพันธ์กับอองซานซูจี การหวนกลับมาของฝ่ายทหารแท้ที่จริงแล้วหมายความว่า จีนในเวลานี้ต้องรับมือกับสถาบันในพม่าซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้วเป็นผู้ที่ระแวงสงสัยเจตนารมณ์ของจีนมากที่สุด”
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, บีบีซีนิวส์)