xs
xsm
sm
md
lg

‘ซูจี’ ถูกนำตัวขึ้นศาลนัดแรก-เจอยัดข้อหาเพิ่ม ขณะคนพม่ายังคงออกมาประท้วงท้าทาย ด้านทั่วโลกประณามทหารปราบโหด และอาเซียนนัดประชุมพรุ่งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้คนยังคงออกมาชุมนุมประท้วงกันตามท้องถนนในเมืองย่างกุ้งเมื่อวันจันทร์ (1 มี.ค.)  และวิ่งหนีไปวิ่งกลับมาเอาเถิดเจ้าล่อกับพวกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่พยายามขับไล่ โดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ เท่าที่จัดหาและดัดแปลงกันได้ เพื่อป้องกันแก๊สน้ำตาของพวกเจ้าหน้าที่ซึ่งหนุนหลังกองทัพ
“อองซานซูจี” ถูกนำตัวขึ้นศาลผ่านระบบสื่อสารทางไกลเป็นครั้งแรกในวันจันทร์ (1 มี.ค.) โดยถูกตั้งข้อหาเพิ่มอีก 2 กระทง ขณะที่ชาวพม่ายังคงออกไปชุมนุมประท้วงกันต่อ ถึงแม้คณะปกครองทหารได้ยกระดับการปราบปรามโดยใช้กระสุนจริงทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 คนเมื่อวันอาทิตย์ (28) ท่ามกลางการประณามจากนานาชาตินำโดยยูเอ็นและวอชิงตัน ด้านอาเซียนเตรียมประชุมอย่างไม่เป็นทางการในวันอังคาร (2) เพื่อหาทางคลี่คลายสถานการณ์ในพม่า

มิน มิน โซ ทนายความของอองซานซูจี เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (1) ว่า ซูจีซึ่งดูแข็งแรงดีระหว่างให้การผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ได้ร้องขอพบทีมกฎหมายอีกครั้ง

ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ผู้นี้ไม่ได้ปรากฏตัวในที่สาธารณะอีกเลยนับจากถูกกองทัพทำรัฐประหารเข้ายึดอำนาจและควบคุมตัวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พร้อมกับผู้นำคนอื่นๆ ของพรรค รวมถึงประธานาธิบดีวิน มิ้น

แรกทีเดียวซูจีถูกฝ่ายทหารตั้งข้อหาลักลอบนำเข้าวิทยุสื่อสารอย่างผิดกฎหมายจำนวน 6 เครื่อง โดยอ้างว่าค้นเจอในบ้านพักของเธอที่กรุงเนปิดอ ต่อมาเธอถูกเพิ่มข้อหาละเมิดกฎหมายภัยพิบัติแห่งชาติด้วยการตระเวนหาเสียงซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎป้องกันการระบาดของไวรัส

ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ ซูจีถูกตั้งข้อหาเพิ่มอีก 2 ข้อหาคือ ละเมิดกฎหมายการสื่อสาร และมีเจตนายุยงให้เกิดความวุ่นวาย โดยที่ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปในวันที่ 15 มีนาคม

ส่วนประธานาธิบดีวิน มิ้น ซึ่งตอนแรกเจอข้อหาละเมิดกฎหมายภัยพิบัติแห่งชาติ คราวนี้ก็ถูกเพิ่มข้อหาเจตนายุยงให้เกิดความวุ่นวายเช่นเดียวกัน

การไต่สวนซูจีซึ่งกระทำที่กรุงเนปิดอว์ มีขึ้นขณะที่ตำรวจในเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของพม่า ใช้ระเบิดแสงและแก๊สน้ำตาเข้าสลายผู้ชุมนุมที่ยังคงออกมาประท้วงตามท้องถนน นอกจากนั้นยังมีการชุมนุมเกิดขึ้นในอีกหลายเมืองทั่วพม่า โดยในวันจันทร์ (1) ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ทว่า เมื่อวันอาทิตย์ (28 ก.พ.) สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ตำรวจพม่าใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 คน ขณะที่คณะกรรมาธิการที่เป็นตัวแทนของสมาชิกรัฐสภาพม่าที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 26 คน

ด้านสมาคมให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่า บอกว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 30 คนนับจากที่กองทัพยึดอำนาจเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะที่เมื่อวันอาทิตย์มีผู้ถูกจับกุมอีกอย่างน้อย 270 คน รวมแล้วยอดผู้ถูกจับกุม ตั้งข้อหา หรือลงโทษนับจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ มีจำนวน 1,132 คน

ทั้งกองทัพและโฆษกสำนักงานตำรวจพม่าไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงเมื่อวันอาทิตย์ ทว่า ในโพสต์วันเดียวกันนั้น หนังสือพิมพ์โกลบัล นิว ไลต์ ออฟ เมียนมา ของทางการ ได้เตือนว่า รัฐบาลอาจต้องใช้มาตรการรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อจัดการม็อบที่สร้างความวุ่นวาย ซึ่งกองทัพไม่อาจเพิกเฉยได้แม้ได้พยายามอดกลั้นมาก่อนหน้านี้

ทางด้าน แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้กล่าวประณาม “การใช้ความรุนแรงอย่างน่าชิงชัง” ของกองกำลังความมั่นคงพม่า ขณะที่ มาร์ก การ์โน รัฐมนตรีต่างประเทศแคนาดา วิจารณ์ว่า การกระทำดังกล่าว “น่าตกใจ” โดยทั้งบลิงเคนและการ์โนเรียกร้องให้นานาชาติร่วมมือกันตอบโต้คณะทหารเมียนมา

ทอม แอนดรูส์ ผู้จัดทำรายงานพิเศษของยูเอ็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในพม่า กล่าวว่า เห็นได้ชัดว่า การปราบปรามของกองทัพพม่าจะดำเนินต่อไปและสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลง ดังนั้น เขาจึงเสนอให้ทั่วโลกคว่ำบาตรการส่งอาวุธให้พม่า และเพิ่มมาตรการแซงก์ชันต่อผู้อยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร รวมทั้งธุรกิจของกองทัพพม่า และขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็นยื่นฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาบรรดานายพลพม่ามักไม่ยี่หระการแซงก์ชันแบบจำกัดและการกดดันทางการทูตของชาติตะวันตก เนื่องจากยังคงได้รับการสนับสนุนจากจีนและรัสเซีย

ขณะเดียวกัน สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่พม่าร่วมเป็นสมาชิก ยังคงพยายามหาทางคลี่คลายสถานการณ์ในพม่า โดยเมื่อวันจันทร์ วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ แถลงในรัฐสภาว่า รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะจัดประชุมอย่างไม่เป็นทางการผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในวันอังคาร โดยจะรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนของรัฐบาลพม่าด้วย

บาลากริชนันยังเรียกร้องให้กองทัพพม่าละเว้นการใช้ความรุนแรง ดำเนินการขั้นตอนต่างๆ เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์ทันที ป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือด ความรุนแรง และการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหารือเพื่อหาทางออกทางการเมืองในระยะยาว ซึ่งรวมถึงการกลับสู่กระบวนการประชาธิปไตยที่จะเริ่มต้นขึ้นได้ด้วยการปล่อยตัวประธานาธิบดีวิน มิ้น, ซูจี และผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ ทันที

วันเดียวกันนั้น ฮิชามมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย แถลงว่า อาเซียนต้องมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นเพื่อทำให้พม่ากลับสู่ภาวะปกติ และขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้น และทิ้งท้ายว่า มาเลเซียสนับสนุนการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของอาเซียน

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)

ผู้คนยังคงออกมาชุมนุมประท้วงกันตามท้องถนนในเมืองย่างกุ้งเมื่อวันจันทร์ (1 มี.ค.)  และวิ่งหนีไปวิ่งกลับมาเอาเถิดเจ้าล่อกับพวกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่พยายามขับไล่ โดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ เท่าที่จัดหาและดัดแปลงกันได้ เพื่อป้องกันแก๊สน้ำตาของพวกเจ้าหน้าที่ซึ่งหนุนหลังกองทัพ








กำลังโหลดความคิดเห็น