xs
xsm
sm
md
lg

US-UN ประณาม “น่ารังเกียจ” พม่ายิงใส่ผู้ชุมนุมตาย 18 ศพ นองเลือดที่สุดตั้งแต่รัฐประหาร (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ ประณามความรุนแรง “ที่น่ารังเกียจ” จากฝีมือของกองกำลังด้านความมั่นคงพม่า ส่วนยูเอ็นเรียกร้องนานาชาติหนทางสกัดกองทัพ ไม่ให้ปราบปรามผู้ประท้วง หลังเกิดเหตุนองเลือดเมื่อวันอาทิตย์ (28 ก.พ.) ตำรวจพม่ายิงใส่ผู้ชุมนุมทั่วประเทศ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 ราย ในสถานการณ์ครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่รัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์



ฝูงชนของผู้ประท้วงตกอยู่ท่ามกลางดงกระสุนปืนในหลายพื้นที่ของย่างกุ้ง เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ หลังระเบิดแสง แก๊สน้ำตา และการยิงปืนขึ้นฟ้า ไม่อาจทำให้ผู้ชุมนุมยอมสลายตัว

ระหว่างการชุมนุมทั่วประเทศ พบเห็นผู้ประท้วงหลายคนสวมหมวกกันน็อกพลาสติกและโล่ทำเอง เผชิญหน้ากับตำรวจและทหารที่มาในชุดประจัญบาน ในนั้นบางส่วนมาจากหน่วยที่เคยเลื่องชื่อด้านการปราบปรามหนักหน่วงกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ทั้งหลายในภูมิภาคต่างๆ ตามแนวชายแดนของพม่า


โกลบัลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ สื่อมวลชนแห่งรัฐรายงานว่า “การดำเนินการอย่างหนักหน่วงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ สำหรับจัดการกับพวกผู้ประท้วงก่อจลาจล” พร้อมระบุทหารเคยแสดงออกถึงความอดทนอดกลั้น แต่ก็ไม่อาจเพิกเฉยกับพวก “ม็อบอนาธิปไตย”

ภาพข่าวสื่อมวลชนพบเห็นบรรดาผู้ประท้วงในย่างกุ้งช่วยกันลากผู้ได้รับบาดเจ็บออกไปจากจุดเกิดเหตุ จนเลือดเปื้อนเป็นทางยาวบนบาทวิถี ขณะที่แพทย์คนหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนามเล่าว่ามีชายคนหนึ่งเสียชีวิตหลังถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ในสภาพที่มีกระสุนฝังอยู่บริเวณหน้าอก

สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่า “กองกำลังตำรวจและทหารเผชิญหน้ากับการชุมนุมอย่างสันติ และใช้กำลังถึงตาย และตามข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่ทางสำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้รับ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 คนและบาดเจ็บกว่า 30 คน”


พม่าตกอยู่ท่ามกลางความยุ่งเหยิงมาตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจและควบคุมตัวอองซานซูจี ผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและบรรดาแกนนำพรรคของเธอ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยอ้างว่าศึกเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่พรรคของซูจีคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย มีการโกงอย่างกว้างขวาง

เหตุรัฐประหารส่งผลให้ก้าวย่างต่างๆสำหรับมุ่งหน้าสู่ประชาธิปไตยต้องหยุดชะงัก หลังพม่าตกอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบทหารมานานเกือบ 50 ปี ดึงดูดประชาชนแหลายแสนคนลงสู่ท้องถนนและเรียกเสียงประณามจากบรรดาชาติตะวันตก

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้สมาชิกดำเนินการมากกว่าที่เป็นอยู่ “ท่านเลขาธิการเรียกร้องประชาคมนานาชาติร่วมมือกัน และส่งสารอย่างชัดเจนถึงกองทัพ ว่าพวกเขาต้องเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนชาวพม่าที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง และหยุดปราบปรามผู้ประท้วง” โฆษกระบุ


ส่วน แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ประณามสิ่งที่เขาเรียกว่าความรุนแรงที่น่ารังเกียจโดยกองกำลังความมั่นคงของพม่า “เรายืนหยัดอย่างหนักแน่นให้กำลังใจประชาชนชาวพม่า และสนับสนุนทุกประเทศให้ส่งเสียงคนละเสียงสนับสนุนเจตนารมณ์ของพวกเขา” บลินเคนเขียนบนทวิตเตอร์ พร้อมระบุว่าอเมริกา “จะเดินหน้าผลักดันกระตุ้นให้นำตัวผู้อยู่เบื้องหลังมารับผิดชอบ”

ครูรายหนึ่งเสียชีวิต หลังตำรวจเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มครูด้วยระเบิดแสง ทำฝูงชนหลบหนีกระจัดกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง จากการเปิดเผยของลูกสาว

บริเวณด้านนอกของโรงเรียนการแพทย์แห่งหนึ่งในย่างกุ้ง คณะแพทย์และนักศึกษาในชุดกาวน์แตกกระเจิง หลังตำรวจขว้างระเบิดแสงเข้าใส่ ขณะที่กลุ่มพันธมิตรเสื้อกาวน์ขาวเผยว่า มีบุคลากรทางการแพทย์กว่า 50 คนถูกจับกุม


เว็บไซต์ข่าวอิรวดีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 2 คนในเมืองมัณฑะเลย์จากการปราบปรามของตำรวจ และมูลนิธิแห่งหนึ่งเผยว่า มีผู้เสียชีวิต 2 คนในเมืองพะโคตอนกลางของประเทศ และ 3 คนในเมืองทวาย ทางภาคใต้ นอกจากนั้นยังมีรายงานการกวาดล้างของตำรวจในเมืองล่าเสี้ยวทางตะวันออกเฉียงเหนือและมะริดทางใต้สุด

สัปดาห์ที่แล้ว พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร ประกาศว่า รัฐบาลใช้กำลังน้อยที่สุดในการจัดการการประท้วง กระนั้นก็ตาม มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 21 คนในสถานการณ์ความยุ่งเหยิง และกองทัพเผยว่าตำรวจเสียชีวิต 1 นาย

การใช้กำลังปราบปรามครั้งล่าสุดต่อเนื่องสองวันในช่วงสุดสัปดาห์ดูเหมือนเป็นการตัดสินใจขั้นเด็ดขาดของกองทัพเพื่อจัดการการขัดขืนของประชาชนทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะผู้ชุมนุมบนถนนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงข้าราชการ หน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่น ภาคตุลาการ การศึกษา สาธารณสุข และสื่อมวลชน

(ที่มา : รอยเตอร์)




กำลังโหลดความคิดเห็น