xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำทหารพม่าจะโหดไปถึงไหน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์


พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา
คนที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ในพม่าคงอยากจะรู้ว่าจะลงเอยอย่างไร ช้าหรือเร็ว ต้องสังเวยอีกกี่ชีวิต และอนาคตทางการเมืองของประเทศจะเป็นอย่างไร

ที่น่าอยากรู้ก็คือว่า ผู้นำรัฐเผด็จการพม่า พล.อ.มิน อ่อง หล่าย จะเหี้ยมโหดกว่านายทหารรุ่นพี่ซึ่งได้ความรุนแรงปราบปราม เข่นฆ่าประชาชนเพื่อให้ตัวเองได้กุมอำนาจประเทศต่อไป ดังเช่นวิกฤตในปี 1988 และ 2007 หรือไม่

มีหลักฐานปรากฏว่าเหยื่อกระสุนสังหารส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นหนุ่มสาว อยู่ช่วงระหว่าง 14 -18 ปี และมีส่วนหนึ่งอายุไม่เกิน 25 ปี ถูกกระสุนเจาะหัวหลายราย

มี 1 รายกระสุนทะลุปอด หมดโอกาสรอดชีวิต ดังนั้น จึงมีข้อสรุปว่าผู้นำเผด็จการพม่าสั่งปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงด้วยการใช้กระสุนจริง และ “ยิงเพื่อสังหาร” นอกเหนือจากแก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำ กระสุนยาง หรือด้วยมาตรการอื่นๆ

ในปี 1988 มีตัวเลขคนเสียชีวิตเกิน 3 พันคน และไม่มากหรือน้อยกว่านั้นในปี 2007 เหยื่อกระสุนสังหารมีทั้งพระสงฆ์ ประชาชน นักศึกษา และคนในกลุ่มอาชีพต่างๆ ซึ่งออกไปต่อต้านเผด็จการทหารซึ่งกระหายอำนาจเพื่อผลประโยชน์

พล.อ.มิน อ่อง หล่าย เริ่มต้นไม่ถึงเดือน ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากกระสุนปืนในการปราบ 3-4 รอบ อยู่ที่ประมาณ 54 ราย มีวันเดียวที่ยอดคนตายสูง 38 ราย

หลังจากเสียงประณามรุนแรงทั่วโลก ตัวเลขเหยื่อการสังหารก็ลดลงในวันต่อ แต่การปราบปรามยังมีต่อเนื่อง เพราะประชาชนทั่วประเทศยังเดินขบวนประท้วง หยุดงานแทบทุกภาคส่วน ยังไม่ส่อแววย่อท้อ ทั้งๆ ที่มีมาตรการปราบรุนแรง

ผู้ประท้วงซึ่งเป็นนักศึกษาประกาศว่า “ต้องให้เผด็จการทหารจบในรุ่นเรา” ดังนั้น แม้จะมีคนโดนจับกุมไปมากกว่า 1,700 คน บาดเจ็บไปหลายสิบคน จำนวนคนประท้วงยังไม่ลดลง ในช่วงสุดสัปดาห์มีคนออกมากกว่าเดิมด้วยความโกรธ

เป็นการตอบโต้ที่ผู้นำทหารสั่งให้เจ้าหน้าที่บุกเข้าไปในที่พักอาศัยยามค่ำคืน จับกุมตัวเอาไปคุมขังโดยใช้อำนาจเผด็จการ โดยไม่ปรากฏข้อหาชัดเจน ผู้ถูกคุมขังไม่ได้รับการเยี่ยม ทั้งมีเสียงร่ำลือว่ามีการซ้อม ทารุณผู้ต้องขังที่โดนสอบสวน

ความเหี้ยมของผู้นำทหารเผด็จการทำให้ตำรวจ 8 นายอพยพครอบครัวรวม 30 คน หนีข้ามชายแดนเข้าไปในอินเดียเพื่อลี้ภัย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าไม่สามารถทำใจ ทำตามคำสั่งของหัวหน้ารัฐบาลให้ทำร้ายประชาชนได้

เจ้าหน้าที่พม่าก็ช่างกระไร เขียนหนังสือไปถึงเจ้าหน้าที่อินเดีย ขอร้องให้ส่งตัวพวกตำรวจที่ขอลี้ภัยคืนอ้างว่า “ความสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อนบ้าน”

คำตอบยังไม่มีทันที เพราะเจ้าหน้าที่ชายแดนอินเดียบอกต้องสอบถามกระทรวงมหาดไทยดูก่อนว่ามีนโยบายอย่างไร ที่แน่ๆ ก็คือ ถ้าส่งตัวตำรวจ 8 นาย กลับไปพม่า ถ้าไม่โดนยิงทิ้ง ก็ถูกขังอย่างไม่มีวันได้เห็นเดือนเห็นตะวันอีก

ด้วยเหตุนี้ ยังมีชาวพม่าอีกจำนวนหนึ่งออกันอยู่หน้าด่านข้ามแดนเข้าไปอินเดีย เพื่อรอดูสถานการณ์ว่าจะถูกส่งตัวกลับหรือไม่ เพราะนี่เป็นการลี้ภัยทางการเมือง หนีจากโทษที่อาจทำให้ถึงตายได้ เป็นที่เชื่อว่าทางการอินเดียคงปฏิเสธ

มีปฏิญญาสากลและกฎหมายระหว่างประเทศที่ให้ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติรับผู้ลี้ภัยซึ่งหนีจากประเทศของตนเองด้วยเหตุของการกดขี่ปราบปรามทางการเมือง หรือเหตุอื่น กรณีของพม่านั้นเห็นชัดว่าอันตรายถึงตาย

ความหวังที่จะให้ผู้นำทหารยอมคายอำนาจให้ง่ายๆ นั้น คงเป็นเรื่องเลื่อนลอย เพราะได้ถลำลึกเข้าไปมาก แต่ละวันมีแต่จับกุมประชาชน แกนนำ และนักการเมืองในชุดรัฐบาลอองซาน ซูจี จนแทบไม่เหลือ มีข้อหาใหม่พิลึกๆ มายัดให้

อยู่ในอำนาจมาตั้งแต่วันรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ ยังไม่มีรัฐบาลไหนแม้แต่แห่งเดียวที่ประกาศรับรองรัฐบาลของพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ซึ่งไม่รู้สึกแคร์

ทั้งประกาศว่ารัฐบาลพม่าพร้อมจะอยู่ต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องมีเพื่อนมาก และคงจะเป็นสภาพเช่นนั้นหลังจากหลายประเทศประกาศมาตรการคว่ำบาตร อายัดเงินฝาก และทรัพย์สินของรัฐบาลและผู้นำพม่าที่ฝากไว้ต่างประเทศ

ผู้นำรัฐบาลพม่าหลายยุคปิดประเทศนานกว่า 50 ปี ภายใต้นโยบายสังคมนิยมแบบพม่า ซึ่งไม่คบหาโลกภายนอก เปรียบเหมือนนาฬิกาประเทศหยุดเดิน

เปิดตัวสู่โลก ทดลองนโยบายการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่ถึง 5 ปีเต็ม ทหารพม่ายอมทนรับสภาพไม่ได้ เพราะขาดอำนาจและการแสวงหาผลประโยชน์ที่เคยได้ ก็เลยหาเรื่องอ้างว่าโดนโกงเลือกตั้ง ยึดอำนาจก่อนรัฐบาลใหม่ทำหน้าที่

ดังนั้น ความเหี้ยมของพล.อ.มิน อ่อง หล่าย นั้น ไม่มีใครสงสัย เพียงแต่ขอบทพิสูจน์ว่าจะโหด กระหายเลือดกว่ารุ่นพี่ๆ ไม่แคร์ชาวโลก หรือเปล่าเท่านั้น

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา คนพม่าออกมาเดินขบวนทั่วประเทศครั้งใหญ่อีก เพื่อให้ผู้นำเผด็จการทหารตระหนักว่าถึงอย่างไร ประชาชนคงไม่ยอมให้อำนาจมาจากนอกระบบมาทำลายโอกาสของประเทศในการอยู่ร่วมกับประชาคมโลก

คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุม มีแนวคิดอย่างเดียวกันว่า จะไม่ยอมให้ผู้นำเผด็จการทหาร ขโมยหรือปิดกั้นเส้นทางอนาคตของพวกตัวเอง ด้วยการปิดประเทศ หรือใช้ระบบเผด็จการทหารปกครองประเทศซ้ำรอยครั้งก่อนนี้

ผู้นำเผด็จการไม่ยอมถอย เพราะต้องสูญเสียผลประโยชน์ เสี่ยงต่อการโดนลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตเพราะสั่งฆ่าประชาชน ดังนั้นจึงเป็นเดิมพันสูงด้วยชีวิต สำหรับประชาชนซึ่งต้องต่อสู้เพื่ออนาคต และนั่นเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก


กำลังโหลดความคิดเห็น