นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เรียกร้องกองทัพพม่าปล่อยตัวอองซานซูจี เพื่อให้ประเทศไปต่อ พร้อมชี้ถ้านานาชาติใช้มาตรการแซงก์ชั่น ก็รังแต่ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่าทหาร อย่างไรก็ดี ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนประชุมทางไกลกดดันให้คณะทหารหม่องยุติการปราบปรามประชาชน กลับมีข่าวว่า ตำรวจใช้กระสุนจริงทำให้ผู้ประท้วง 4 คนได้รับบาดเจ็บเมื่อวันอังคาร (2 มี.ค.) และผู้นำสูงสุดกองทัพก็ข่มขู่ลงโทษแกนนำการประท้วงและ “ผู้ยั่วยุ” รวมถึงข้าราชการที่ผละงาน
ในการสัมภาษณ์กับสถานีวิทยุและโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ ซึ่งมีการเผยแพร่เนื้อหาบางส่วนในวันอังคาร (2) นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ กล่าวว่า กองทัพเมียนมาควรได้เรียนรู้จากอดีตว่า จำเป็นต้องปล่อยตัวอองซานซูจี และเจรจากับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ เนื่องจากวิถีทางใช้กำลังทหารไม่สามารถทำให้พม่าเดินต่อไปได้ ขณะเดียวกัน หากนานาชาติใช้มาตรการแซงก์ชั่นพม่า ก็มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่ากองทัพ
“การที่ต้องถอยหลังกลับไป และมีฝ่ายทหารเข้ามายึดอำนาจอีกครั้ง ... มันเป็นการถอยหลังกลับอย่างน่าเศร้าใจครั้งมโหฬารสำหรับพวกเขา เพราะมันไม่มีอนาคตหรอกในเส้นทางนั้น” ลี กล่าว
“การใช้กำลังที่เป็นอันตรายถึงชีวิต กับพวกพลเรือนและพวกผู้เดินขบวนที่ปราศจากอาวุธ ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เลย นั่นคือความหายนะไม่ใช่เพียงแค่ในทางระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นความหายนะสำหรับภายในประเทศด้วย”
ทางด้านรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) นัดประชุมผ่านวิดีโอคอลล์ในช่วงเย็นวันอังคาร เพื่อหาทางคลี่คลายสถานการณ์ในพม่า โดยที่มีรายงานว่า เหล่ารัฐมนตรีของอาเซียนได้หารือกับผู้แทนคนหนึ่งของคณะทหารพม่า
ตั้งแต่ก่อนเริ่มการประชุมครั้งนี้ มีสมาชิกสำคัญบางชาติของอาเซียน กล่าวประณามรัฐบาลทหารพม่า
เริ่มจากวิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์เมื่อคืนวันจันทร์ (1) ว่า ตกใจกับการใช้กำลังปราบปรามพลเรือน และเรียกร้องให้กองทัพพม่าใช้ความอดกลั้นระดับสูงสุด รวมทั้งกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย
บาลากริชนันเสริมว่า อาเซียนจะสนับสนุนให้กองทัพพม่าเจรจากับซูจี ซึ่งล่าสุดถูกตั้งข้อหาเพิ่มเป็น 4 ข้อหาเมื่อวันจันทร์
ขณะที่ ทีโอโดโร ล็อกซิน รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ ทวิตว่า อาเซียนควรแสดงความชัดเจนกับพม่า และเสริมว่า นโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ไม่ใช่การอนุมัติแบบครอบจักรวาลหรือการยินยอมโดยปริยายต่อการกระทำผิด
สำหรับ รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิชัมมุดดีน ฮุสเซน ของมาเลเซีย ก็เรียกร้องให้ปล่อยตัวซูจีและผู้ถูกคุมขังคนอื่นๆ ในทันที พร้อมกับบอกว่าถ้าสถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ก็จะสร้างความเสียหายให้แก่สันติภาพ, เสถียรภาพ, และความเจริญมั่งคั่งของภูมิภาคนี้
ในส่วนของอินโดนีเซียนั้น ก่อนหน้านี้ได้เรียกร้องให้กองทัพพม่าฟื้นกระบวนการประชาธิปไตย รวมทั้งยังส่งรัฐมนตรีต่างประเทศหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของคณะทหารพม่าที่กรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ในวันอังคาร เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศแดนอิเหนา ได้ออกมารบเร้าพม่าให้ “เปิดประตูของตน” เพื่อให้กลุ่มอาเซียนเข้าไปช่วยคลี่คลายความตึงเตรียดที่กำลังบานปลายขยายตัวออกไปเรื่อยๆ
ขณะแถลงกับพวกผู้สื่อข่าวในกรุงจาการ์ตา เร็ตโน ยังเรียกร้องให้พม่าปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมือง และฟื้นฟูประชาธิปไตย เวลาเดียวกันก็ให้สัญญาว่า เหล่าประเทศอาเซียนจะไม่ละเมิดคำมั่นสัญญาของพวกเขาที่จะไม่แทรกแซงกิจการของกันและกัน
“การฟื้นฟูประชาธิปไตยให้กลับมาเข้าร่องเข้ารอยเป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการ” เร็ตโน บอก
“อินโดนีเซียขอเน้นย้ำว่า เจตนารมณ์, ผลประโยชน์, และเสียงของประชาชนชาวพม่า จักต้องได้รับความเคารพ”
เท่าที่ผ่านมา ความพยายามของเซียนในการมีปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายทหารของพม่า กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากพวกผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในพม่า โดยที่คณะกรรมการชุดหนึ่งของบรรดาสมาชิกรัฐสภาพม่าที่ถูกคณะทหารขับไล่ออกมานั้น ได้ประกาศว่าคณะทหารยึดอำนาจเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย และกล่าวว่า การที่อาเซียนเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์เช่นนั้นจะเป็นการมอบความถูกต้องชอบธรรมให้แก่คณะทหาร
ซะ ซะ (Sa Sa) ซึ่งทางคณะกรรมการแตจ่งตั้งให้เป็นผู้แทนประจำสหประชาชาติ แถลงว่า อาเซียนไม่ควรที่จะติดต่อยุ่งเกี่ยวกับ “ระบอบปกครองนำโดยทหารที่ผิดกฎหมายไร้ความชอบธรรมนี้”
วิจารณ์รัฐมนตรีอาเซียนยังคงไร้น้ำยา
กระทั่งมีการเรียกประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนคราวนี้ โอ อีซัน นักวิเคราะห์จากสถาบันกิจการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ ก็คาดว่า อาเซียนคงทำได้เพียงออกคำแถลงโดยใช้น้ำเสียงแข็งกร้าวเท่านั้น เนื่องจากประเพณีปฏิบัติในการยึดนโยบายไม่แทรกแซงกิจการของกันและกัน อีกทั้งระบบการตัดสินใจก็เป็นแบบมุ่งหาฉันทามติ
บิ๊กทหารพม่าออกมาขู่อีกจะปราบรุนแรง
ขณะเดียวกัน เมื่อวันจันทร์ (1) สถานีทีวีของทางการพม่าได้เผยแพร่คำเตือนของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หลาย ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ และเป็นผู้นำการทำรัฐประหารยึดอำนาจคราวนี้ ที่ระบุว่า แกนนำการประท้วงและ “ผู้ยั่วยุ” รวมถึงข้าราชการที่ผละงานจะถูกลงโทษ
ตำรวจใช้กระสุนจริง
ต่อมาในวันอังคาร (2) มีรายงานว่า ตำรวจพม่าใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ประท้วงในเมืองกะเล่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 4 คน และยังมีถูกยิงด้วยกระสุนยางได้รับบาดเจ็บอีกหลายคน นอกจากนั้นตำรวจยังใช้ระเบิดแสงสลายการชุมนุมใน 4 จุดในเมืองย่างกุ้ง
ทั้งนี้ มีผู้ประท้วงเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 21 คนนับจากกองทัพเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ขณะที่กองทัพรายงานว่า ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย
นอกจากผู้ประท้วง นักเคลื่อนไหว และนักการเมืองแล้ว ทางการพม่ายังจับกุมผู้สื่อข่าว 6 คน ซึ่งรวมถึงผู้สื่อข่าวของเอพี ที่ถูกกล่าวหาว่า เผยแพร่เนื้อหาที่อาจทำให้ทหารหรือข้าราชการอื่นๆ ก่อกบฏ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
นับจากการรัฐประหารเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลทหารพม่าได้ปิดกั้นการสื่อสาร ปิดอินเทอร์เน็ตช่วงกลางคืน และบล็อกเว็บไซต์โซเชียลมีเดียบางเว็บไซต์
ด้านสมาคมให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองเผยว่า มีผู้ถูกจับกุม ตั้งข้อหา และตัดสินลงโทษกว่า 1,200 คน ซึ่งในจำนวนนี้ยังถูกคุมขังอยู่ถึง 900 คน
วันจันทร์ เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอเมริกาเตือนว่า จะเพิ่มมาตรการลงโทษกองทัพพม่าหากยังมีการเข่นฆ่าประชาชนที่ไม่มีอาวุธ รวมทั้งโจมตีนักข่าวและนักเคลื่อนไหว
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)