xs
xsm
sm
md
lg

บทพิสูจน์สติปัญญาของลุงตู่

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ครึ่งปีหลังปี 2563 เราเกือบจะใช้ชีวิตกันเป็นปกติ แม้โควิดจะระบาดหนักในประเทศอื่นทั่วโลก จนใครต่อใครชื่นชมประเทศไทยว่า สามารถจัดการกับโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก่อนจะถึงปีใหม่เพียงสัปดาห์เดียวเราก็พบกับการแพร่ระบาดของโควิดขนาดใหญ่และรุนแรงกว่าการระบาดในครั้งแรก และกว่าจะพบนั้นก็ทำให้การแพร่เชื้อจากจุดเริ่มลุกลามไปไกลเกือบทั่วประเทศจนยากจะควบคุมแล้ว

จากตลาดกุ้งที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ กระจายไปสู่บ่อนการพนันที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่อีกหลายแห่ง และต่อมาโควิดก็ทำให้รู้ว่ามีบ่อนการพนันเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ และทำให้ตำรวจที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้นถูกคำสั่งย้ายออกนอกพื้นที่ แต่จนถึงขณะนี้เราก็ไม่ได้ยินเลยว่า ผู้มีอิทธิพลซึ่งเป็นเจ้าของบ่อนเหล่านั้นถูกดำเนินคดีอะไร อาจเป็นเพราะถึงตอนนี้หลักฐานต่างๆ ไม่มีแล้ว และบ่อนบัดนี้ก็กลายเป็นอาคารที่ว่างเปล่าไปแล้ว

กระทั่งทำให้มีการพูดกันอีกว่า เราควรจะมีบ่อนถูกกฎหมายหรือยัง เพราะเมื่อไม่มีการพนันถูกกฎหมายก็มีการลักลอบเล่นการพนันอยู่ดี และกลายเป็นบ่อเกิดให้เจ้าหน้าที่รัฐรับส่วย หรือไม่คนไทยก็ออกไปเล่นยังบ่อนการพนันที่เปิดในประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนของเรา จึงมีคำถามว่าอย่างไหนที่ส่งผลดีและผลเสียต่อเศรษฐกิจของเรามากกว่ากัน

กลับมาที่เรื่องโควิด แม้ครั้งนี้โควิดจะระบาดหนักกว่าครั้งแรก และมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละวันที่สูงมาก เราก็ไม่เห็นว่ารัฐจะใช้มาตรการที่เข้มข้นเหมือนกับครั้งแรก ราวกับว่า รัฐมีบทเรียนจากการจัดการในครั้งก่อนแล้วว่า มาตรการที่ใช้เข้มข้นจนเกินไปจนเรียกว่าการล็อกดาวน์นั้น แม้จะสามารถจำกัดวงการแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นแต่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง จนรัฐไม่กล้ากลับไปใช้มาตรการเช่นนั้นอีก

กระนั้นก็มีคำถามอยู่ดีว่า หากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ทำให้การควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคลุกลามกว้างไกลและป้องกันได้ยากขึ้น ก็ย่อมจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจเช่นเดียวกันหรือไม่ หรือว่า ถึงตอนนี้รัฐบาลประเมินแล้วว่า การล็อกดาวน์แม้จะควบคุมโรคได้ง่ายกว่า แต่จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่า

แน่นอนว่า ถ้าเราฟังกระแสสังคมตอนนี้มีคนที่เรียกร้องให้รัฐบาลล็อกดาวน์และใช้มาตรการที่เข้มข้นแบบครั้งแรก เพราะเชื่อว่า สามารถจัดการกับเชื้อโรคได้ง่ายกว่า ขณะเดียวกันก็มีคนไม่เห็นด้วย เพราะจะกระทบกับวิถีชีวิต โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ไม่ประจำหรือไม่มีเงินเดือน หรือเกรงว่าจะตกงาน เพราะรอบที่แล้วมีคนตกงานจำนวนมาก ธุรกิจปิดตัวเอง แม้รัฐบาลจะเยียวยาเงินจำนวนหนึ่งหรือมีมาตรการในการอุ้มธุรกิจต่างๆ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและได้รับกันไม่ทั่วถึง เพราะมีงบประมาณจำกัด

นอกจากนั้นเห็นได้ชัดว่าในครั้งนี้รัฐเองก็พยายามหลีกเลี่ยงคำว่าล็อกดาวน์ ราวกับว่า คำคำนี้เป็นคำละเอียดอ่อน จนนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.ใช้คำว่า เขตควบคุมสูงสุดและเข้มงวดแทน

นอกจากนั้นก่อนหน้านี้หมอทวีศิลป์กล่าวว่า มีคำตอบอยู่ในคำถาม เมื่อไหร่ก็ตามที่ ศบค.ต้องประกาศว่าเป็นการล็อกดาวน์ หมายถึงว่าคำสั่งนี้จะทำให้กระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจ กระทบต่อการหารายได้ของทุกท่าน ก็ต้องมีการเยียวยาซึ่งเป็นภาระของภาษีเงินของทั้งประเทศ ซึ่งในตอนนี้เราเผชิญอยู่ในการตกต่ำของเศรษฐกิจทั่วโลกและของไทยเราเอง

การใช้มาตรการต่างๆ เหล่านี้มีค่าใช้จ่ายต้องเสีย ต้องเป็นภาพที่ทำให้ทุกคนต้องลำบากกันทั้งหมด ฉะนั้นถ้าตอนนี้เราสามารถกระจายความรับผิดชอบร่วมมือกันไปได้ ทุกคนล้วนแล้วแต่อยากทำมาหากินอยู่ในชีวิตประจำวันที่เราเคยทำกันมา แต่ต้องเป็นรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ ต้องปฏิบัติ และในการติดเชื้อขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกมาก

ซึ่งคำพูดดังกล่าวของหมอทวีศิลป์ถูกนำไปตีความว่า รัฐไม่สามารถรองรับภาระทางการเงินในการเยียวยาหากต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์นั่นเอง

ในขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็บอกว่า “เราก็ไม่อยากไปล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เพราะเรารู้ว่าปัญหามันคืออะไร ท่านล็อกดาวน์ตัวเองกันได้บ้างไหม มันอยู่ที่ทุกคนอ่ะนะ ถ้าเราไม่อยากไปติดเชื้อเราก็ไม่ต้องไปไหน อยู่บ้าน 14-15 วัน ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ก็จะปลอดภัย คัดกรองคนได้มากขึ้น แต่ถ้ายังไปมาหาสู่กันทั้งหมด มันตรวจสอบคน 70 ล้านคนไม่ไหวหรอก”

เมื่อถามว่า จะมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชนหรือไม่ เช่น การพักชำระหนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ของเก่ายังไม่จบเลย พักกันใหม่ก็ต้องมาดูว่าอะไรจะทำต่อก็ทำให้ ทำอย่างไรต้องหา ต้องมีวิธีการหาเงินมาใช้ด้วย ถ้ายังบอกว่า ต้องช่วย ต้องช่วย แต่เงินเอาจากไหนมาไม่ได้เลย มันก็จบหมดแหละ

คำพูดของนายกฯ ก็ยิ่งสะท้อนชัดเจนว่า สิ่งที่รัฐไม่สามารถใช้มาตรการเข้มข้นเพื่อล็อกดาวน์ประเทศได้นั้น ก็เพราะรัฐมีปัญหาเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้นั่นเอง

ดังนั้นคิดว่าคำถามที่ประชาชนจะถามต่อไปก็คือว่า หากไม่ใช้ล็อกดาวน์แล้ว รัฐบาลมีแนวทางที่จะควบคุมการแพร่เชื้อให้ลดลงอย่างรวดเร็วได้อย่างไร และหากมีตัวเลขที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จะมีความพร้อมและศักยภาพในการรับมือกับผู้ติดเชื้อได้สูงสุดเพียงไหน เพราะถึงตอนนี้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาไม่หายก็สูงกว่าที่รักษาหายไปแล้วมาก

คนที่ได้รับผลกระทบจากการทำมาหากิน จากการประกอบอาชีพก็ตั้งคำถามว่า จะกลับมาประกอบอาชีพตามปกติได้อย่างไร เมื่อไหร่ และผลกระทบที่สูญเสียไปจนอาจจะไม่สามารถรักษาธุรกิจเอาไว้ได้นั้น รัฐจะมีมาตรการที่จะช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร สิ่งเหล่านี้รัฐบาลควรจะมีมาตรการที่ชัดเจนออกมา

นอกจากนั้น ประชาชนกำลังตั้งคำถามว่า รัฐบาลจะสามารถหาวัคซีนมาให้ประชาชนได้เมื่อไหร่ แม้ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จะบอกว่า ในระยะเวลา 3 เดือนนี้จะได้เข้ามา 2 ล้านโดสก่อน ซึ่งก็ต้องเตรียมแผนว่าจะฉีดให้ใครบ้างตามลำดับความเร่งด่วน และที่เหลืออีก 26 ล้านโดส จะเข้ามาในระยะต่อไป และได้สั่งให้เพิ่มเติมไปอีก 35 ล้านโดส

แน่นอนว่า เมื่อเราได้วัคซีนแล้วโดยหลักจะต้องฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงคือ บุคลากรทางการแพทย์ก่อน แต่ประชาชนจำนวนมากก็มีคำถามว่า พวกเขาจะได้รับการฉีดวัคซีนเมื่อไหร่ เมื่อต้องใช้คนละ 2 โดส ทำไมรัฐบาลไม่วางแผนจัดหาวัคซีนให้ได้ถึง 140 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่รัฐตั้งเป้าจะฉีดให้กับประชาชนกว่า 200 ล้านคนครบทุกคน

หรือตั้งคำถามว่า ทำไมเราจึงจัดการวัคซีนได้ล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำไมประเทศอื่นเช่น สิงคโปร์เขาได้รับการฉีดวัคซีนไปจำนวนหนึ่งแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามที่รัฐบาลจะต้องรีบตอบและทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะให้จับตาดูเลยว่า ในอนาคตแรงกดดันที่โถมเข้าใส่พล.อ.ประยุทธ์ก็คือความล่าช้าของการได้รับวัคซีนนี่เอง

แม้พล.อ.ประยุทธ์จะโชคดีจากวิกฤตการเมืองที่ชะงักไปในขณะนี้ แต่สถานการณ์โควิดครั้งนี้ก็จะเป็นตัวสะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์มีความสามารถสติปัญญาที่จะนำพาประเทศให้ก้าวพ้นวิกฤตครั้งนี้หรือไม่

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น