xs
xsm
sm
md
lg

แรงทะเยอทะยานของธนาธร

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



แม้ว่าการเลือกตั้ง อบจ.จะวัดความนิยมของการเมืองระดับชาติไม่ได้เต็มร้อย แต่ผลที่ออกมาก็น่าจะให้บทเรียนธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจกับคณะไม่น้อย เพราะเขาเป็นกลุ่มการเมืองเดียวที่ส่งผู้สมัครมากที่สุดและหาเสียงอย่างเต็มกำลังมากที่สุด แต่กลับไม่ได้รับการเลือกตั้งในตำแหน่งนายก อบจ.แม้แต่คนเดียว

ถ้าถามว่าเป็นเพราะอะไรส่วนตัวผมเชื่อว่า กระแสที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นพวกไม่เอาระบอบกษัตริย์นั้นน่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะสังคมเชื่อว่าธนาธรนั้นอยู่เบื้องหลังม็อบ 3 นิ้วที่มีการเคลื่อนไหวโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง ขัดแย้งกับข้อเรียกร้องที่อ้างว่าเพียงต้องการให้ “ปฏิรูป” เท่านั้นเอง

นอกจากนั้นถึงวันนี้ก็เปิดเผยอย่างชัดแจ้งแล้วว่าม็อบยังต้องการที่จะพาประเทศไทยไปสู่ระบอบสาธารณรัฐอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้นแกนหลักของม็อบยังเสนอแนวคิดคอมมิวนิสต์ด้วยซ้ำไป และจริงๆ แล้วหากไปดูบทสัมภาษณ์ของธนาธรเองก็เคยยอมรับว่า เขาสนใจในแนวคิดของมาร์กซิสต์เช่นเดียวกัน

จากที่ให้สัมภาษณ์นิตยสารสารคดีเมื่อสิบปีที่แล้วไว้ธนาธรเล่าว่า เมื่อจบธรรมศาสตร์แล้วไปเรียนต่ออังกฤษ เขาเริ่มสนใจ ลัทธิมาร์กซ์ เพราะได้อ่านแนวเศรษฐศาสตร์การเมืองของ เลนิน มาร์กซ์ และเข้าร่วมชมรมฝ่ายซ้าย SWP-Socialist Worker Party ที่ ใจ อึ๊งภากรณ์ เคยเป็นสมาชิก

แต่เมื่อเขามาเป็นนายทุน เขาเล่าว่า เขาปิดโรงงานไปโรงงานหนึ่ง คนงานประมาณ 700 คนต้องตกงาน ทั้งที่โรงงานยังมีกำไร แต่เขาบอกว่าเพราะการประเมินแล้ว ถ้าเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ปิดโรงงานไป มันจะให้ productivity ที่ดีกว่า

“ถามว่าในฐานะผู้บริหารองค์กรทางธุรกิจ คุณรู้ว่าทำอย่างนี้แล้วบริษัทมีกำไรมากกว่า คุณไม่ทำคุณผิดไหม ถ้าผมทำอย่างนี้แล้วผมสามารถลดต้นทุนให้บริษัทได้ ผมไม่ทำ ผมผิดจรรยาบรรณนักธุรกิจ แต่เมื่อผมเลือกที่จะทำ ผมก็ผิดความเป็นมนุษย์ เพราะว่าคนงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานนั้นเป็นคนงานเก่าแก่ที่ทำงานในบริษัทมา 10 กว่าปีทั้งนั้น พอปิดโรงงานเรียบร้อยผมขึ้นรถแล้วร้องไห้ เป็นครั้งแรกที่ผมร้องไห้กับการทำงาน ผมรู้สึกว่ามันเจ็บปวด แต่ในฐานะนักธุรกิจมันต้องทำ ในแง่นี้ผมรู้สึกว่าต้องขัดแย้งกันอยู่ระหว่างศีลธรรมของความเป็นมนุษย์กับจรรยาบรรณนักธุรกิจ” ธนาธรให้สัมภาษณ์นิตยสารสารคดีเมื่อสิบปีที่แล้ว

เท่ากับว่าเขาอ่านมาร์กซ์เข้าใจมาร์กซ์จนคนคิดว่าเขาเป็นมาร์กซิสต์คนหนึ่ง แต่เมื่อเป็นนายทุนแม้เขาจะคิดถึงความยากลำบากของชนชั้นกรรมาชีพที่เป็นลูกจ้าง เขาร่ำไห้ แต่เขาก็ต้องตัดสินใจแบบนายทุน ที่มาร์กซ์เรียกว่า พวกกระฎุมพีนั่นเอง

ดังนั้นเชื่อได้ว่า ความคิดเรื่องลัทธิมาร์กซ์และนำพาสังคมไทยไปสู่คอมมิวนิสต์นั้น ไม่ใช่ความคิดที่ไม่ได้หารือกันในหมู่แกนนำและคนที่อยู่เบื้องหลัง แม้จะมีพวกเขาบางคนออกมาคัดค้านก็ตาม

แต่ที่แน่ๆ ธนาธรเป็นคนที่มีความทะเยอทะยานอยากจะมีอำนาจ เหมือนที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ตำแหน่งที่ลิมิตสูงสุด...มีอำนาจมากพอที่จะไปต่อรอง...ทุกคนรู้ว่าสิ่งที่เราพูดไม่เป็นความจริง พูดง่ายๆ มันเป็นความจริงแค่ครึ่งเดียว เราถึงโดนฝ่ายก้าวหน้าด่า ถามว่าเรารู้มั้ย...มันก็รู้กันหมดแหละ ปัญหาคือใครจะทำยังไง เราคิดว่าวิธีการของเราคือต้องมีอำนาจ และต่อรอง”

เมื่อใครได้อ่านบทสัมภาษณ์ของธนาธรก็เดาได้ไม่ยากว่าเขาต้องการมีอำนาจที่จะต่อรองกับใคร พูดๆ กันแบบไม่ต้องอ้อมค้อม ณ เวลานี้เพราะเปิดไพ่กันมาหมดแล้วก็บอกได้ว่า เขาน่าจะหมายถึงการมีอำนาจที่จะต่อรองกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง ดังนั้นม็อบจึงเล่นหนักเล่นใหญ่มีการกล่าวโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรงชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนกระทั่งทำให้รัฐต้องนำมาตรา 112 มาบังคับใช้

การกล่าวพาดพิงและโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กลุ่มของธนาธรที่คุยกันว่าจะกวาดเก้าอี้ อบจ.เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าสังคมไทยส่วนใหญ่ยังคงยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ และเชื่อว่าเมื่อเทียบกับนักการเมืองแล้วสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมไทยมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้

แค่ลองนึกภาพหากเรามีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคมไทยระหว่างที่มีประมุขของรัฐเป็นนักการเมืองในระบอบสาธารณรัฐ กับมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบอบไหนที่จะหาทางออกและคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งของสังคมไทยได้มากกว่ากัน และมีตัวอย่างมาแล้วที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงลงมาแก้วิกฤตของสังคมในหลายครั้ง

ไม่รู้เหมือนกันว่าอะไรที่ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากหลงว่า ธนาธรคือตัวแทนของพวกเขาที่จะนำพาสังคมไทยไปข้างหน้า และสามารถสร้างชีวิตและการเมืองที่ดีกว่าให้พวกเขา ทั้งที่ไม่มีเครื่องยืนยันอะไรเลยที่จะบอกว่า ธนาธรจะเป็นผู้นำที่ดีที่จะมาสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่หนทางที่ดีกว่านักการเมืองคนอื่น

บางคนพยายามอธิบายว่า ธนาธรเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่ความจริงเรารู้กันว่า ความสำเร็จของเครือไทยซัมมิทนั้นมาจากที่พ่อของเขาวางรากฐานไว้ และตัวจักรสำคัญก็คือ แม่ของเขาไม่ใช่ตัวธนาธรเอง ดังนั้นไม่มีอะไรเลยที่จะยืนยันความสามารถของธนาธรนอกจากโวหารและวาทกรรมที่ประดิดประดอยปรุงแต่งเท่านั้นเอง

แต่แม้ว่าคนไทยจะช่วยให้บทเรียนกับธนาธรผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็เชื่อว่า หาทำให้ธนาธรหยุดที่จะนำพาสังคมไทยไปสู่เป้าหมายที่เขาต้องการไม่ หากเราฟังบทสัมภาษณ์ของเขาก็จะเห็นแรงปรารถนาของความทะเยอทะยานและเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่าเขาจะทำความฝันของตัวเองได้สำเร็จ แต่ตอนนี้เขาโทษคนไทยว่ายังไม่ยอมเปิดใจและไม่พร้อมสำหรับอนาคตที่ดี

ดังนั้นเชื่อได้ว่าหลังปีใหม่เจ้าของม็อบก็จะเข็นม็อบออกมาบนถนน

แน่นอนว่าม็อบจะยังคงพุ่งเป้าที่สถาบันพระมหากษัตริย์ แม้แกนนำหลายคนจะถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 แต่เพราะคนที่ชักใยอยู่เบื้องหลังม็อบทั้งนักการเมือง อดีตฝ่ายซ้าย และนักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัย ต่างมีความคิดที่ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ และมองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนเกินของระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องถูกโค่นล้มหรืออย่างน้อยก็ต้องลดทอนบทบาท และสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาให้กลายเป็นเพียงสัญลักษณ์

ผมคิดว่าสำหรับธนาธรแล้ววันนี้ เขาไม่สามารถอำพรางตัวตนที่แท้จริงได้อีกแล้ว แม้การเลือกตั้งครั้งนี้ธนาธรอ้างว่า เขาถูกโจมตีเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เขาไม่สามารถอธิบายต่อสังคมได้ และมองว่าตัวเองถูกใส่ความและโจมตีอย่างไม่เป็นธรรม หรือพยายามพูดในท่วงทำนองว่า พวกเขาต้องการเพียงแต่ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับสังคมไทย อยู่คู่กับประชาธิปไตยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนก็ตาม

แต่เราเห็นแล้วว่า การแสดงออกของแกนนำม็อบนั้นมีความต้องการที่จะล้มล้างมากกว่าการปฏิรูปนั่นเอง

ธนาธรน่าจะยังมีแรงปรารถนาเหลือล้น แม้ตัวเลขเลือกตั้งบอกให้รู้ว่าสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการเดินตามความคิดของเขาอย่างที่หลอกตัวเองก็ตาม น่าสงสารก็แต่คนหนุ่มสาวที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อความทะยานอยากและฝากอนาคตไว้กับเขาเท่านั้นเอง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น