สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบริษัท บีทีเอส เจออุปสรรคอีกครั้งหนึ่ง เมื่อศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขวางกลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ผ่านมา (17 พ.ย.) โดยตั้งประเด็นสำคัญสองประเด็นว่า
การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเดิม (สายสุขุมวิท สายสีสม) ซึ่งจะหมดอายุในปี 2572 ออกไปอีก 30 ปีให้กับบริษัท บีทีเอส เป็นไปตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 หรือไม่ และเรื่องค่าโดยสารตลอดสาย 65 บาทแพงเกินไป
รถไฟฟ้าสายสีเขียว เจ้าของ คือ กทม.ประกอบด้วยรถไฟฟ้าสายสีเขียวเดิมหรือบีทีเอส ที่เป็นรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย ให้บริการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2542 เป็นการลงทุนโดยบีทีเอสทั้งหมด ได้สัมปทาน 30 ปีสิ้นสุดปี 2572
รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายระยะที่ 1 สายสะพานตากสิน-บางหว้า และสายอ่อนนุช-แบริ่ง กทม.เป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง และว่าจ้างบีทีเอสเดินรถ
รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายระยะที่ 2 สายเหนือหมอชิต-คูคต และสายใต้แบริ่ง-สมุทรปราการ เดิมเป็นของ รฟม.ลงทุนก่อสร้างไปแล้วในสมัย คสช. กทม.ขอโอนกลับมา เพื่อให้เป็นการเดินรถต่อเนื่องกันทั้งสาย
ตามข้อตกลง กทม.ต้องจ่ายค่าก่อสร้างคืนให้ รฟม.รวมดอกเบี้ยเป็นเงินราว 1 แสน ล้านบาท แต่ กทม.อ้างว่า ไม่มีเงิน ขอให้กระทรวงการคลังช่วยจ่าย แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในยุค คสช.ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2562 ให้แนวทาง กทม.เจรจากับบีทีเอสเป็นผู้ลงทุนระบบรางส่วนต่อขยายระยะที่ 2 สายเหนือและใต้ แทนการเปิดประมูลทั่วไปตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน โดยให้รวบ สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 3 ระยะเป็นสัมปทานเดียวกัน มีอายุ 30 ปี แต่ให้เริ่มนับอายุสัมปทานหลังจากสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสสายแรกสิ้นสุดในปี 2572 จึงมีผลเป็นการต่ออายุสัมปทานบีทีเอสสายแรกออกไปจนถึงปี 2602 จากเดิมเมื่อหมดอายุสัมปทานในปี 2572 บีทีเอสสายแรกจะตกเป็นของ กทม.
ข้อแลกเปลี่ยนคือ บีทีเอสต้องรับภาระหนี้ที่ กทม.มีต่อ รฟม.ประมาณ 1 แสนล้านบาท และต้องแบ่งรายได้ให้ กทม.นอกจากนั้น ยังต้องลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายระยะทาง 68.5 กิโลเมตร ไม่เกิน 65 บาทจากราคาที่ กทม.เคยศึกษาไว้ 158 บาท ซึ่งเป็นราคาที่คิดในเงื่อนไขที่มีการเปิดประมูล หาเอกชนมารับสัมปทานส่วนต่อขยาย
การต่ออายุสัมปทานบีทีเอสออกไป 30 ปี และให้รับภาระหนี้แสนล้านแทน กทม. บวกกับการลดค่าโดยสารตลอดสายเหลือ 65 บาท เป็นสูตรเดียวกับการแก้ปัญหา รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่เป็น win-win-win คือ กทม.ไม่ต้องมีภาระหนี้ 1 แสนล้าน ประชาชนได้ใช้รถไฟฟ้าที่มีระยะทางรวมกัน 68 กิโลเมตรในราคาสูงสุดตลอดสาย 65 บาท และบีทีเอสได้ขยายสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 2572 ออกไปอีก 30 ปี
คณะรัฐมนตรียุค คสช.มีมติเห็นชอบร่างสัญญาร่วมทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวบนหลักการนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2562 ไปแล้ว แต่หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่พรรคภูมิใจไทยได้บริหารกระทรวงคมนาคม ก็ถูกเตะถ่วงดึงเรื่องมาโดยตลอด แม้จะมีการเสนอเข้า ครม.มาแล้ว 2-3 ครั้ง และทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแล กทม. แต่นายศักดิ์สยาม ก็ใช้เงื่อนไขที่การขออนุมัติสัญญาต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็น ขัดขวางไม่ให้ ครม.อนุมัติร่างสัญญาในขั้นสุดท้ายมาโดยตลอด
ไม่ต่างอะไรกับการขัดขวางการต่ออายุสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ให้บริษัท BEM แลกกับการไม่ฟ้องเรียก “ค่าโง่” ที่ คสช.เห็นชอบไปแล้ว แต่ถูกศักดิ์สยามรื้อใหม่
ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายระยะที่ 2 ทั้งสองเส้นทาง ทดลองให้บริการแล้ว ช่วงสุดท้ายของส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต จากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ไปสถานีคูคต กำหนดเปิดให้บริการวันที่ 16 ธันวาคมนี้ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นประธานในพิธีเปิด
นายคีรี กาญจนพาสน์ เจ้าของบีทีเอส กล่าวว่า จะให้การบริการตามปกติ แม้ว่า ครม.ยังไม่อนุมัติการต่ออายุสัมปทาน และ กทม.ยังค้างค่าเดินรถ 8,000 ล้านบาท จะไม่ใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน
เขาคงรู้ดีว่า สุดท้ายแล้ว ต้องคุยกับใคร มีอะไรเป็นข้อแลกเปลี่ยนที่จะทำให้รัฐมนตรีคมนาคมเลิกขวางเสียที