ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นไปตามธง เป๊ะยิ่งกว่าหวยล็อก
กับสัญญาณก่อนหน้านี้ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งซิกให้ “เด็กในคอนโทรล” ทั้ง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว. รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับคือ ฉบับพรรคร่วมรัฐบาล และฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน
หลังการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อระหว่างวันที่ 17-18 พ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนของมาตรา 256 เปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านจำนวน 2 ร่าง
โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ให้มี ส.ส.ร.เลือกตั้ง 250 คน และแต่งตั้งอีก 50 คน รวมเป็น 200 คน และให้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จภายใน 240 วัน ได้รับความเห็นชอบมากที่สุด 647 เสียง ไม่รับหลักการ 17 เสียง และงดออกเสียง 55 เสียง จำนวนนี้เป็น ส.ว.รับหลักการด้วย 176 เสียง
ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย ที่ให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ทั้ง 200 คน และให้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่มี ส.ส.ร. มีสมาชิกรัฐสภา รับหลักการ 576 คน ไม่รับหลักการ 21 คน งดออกเสียง 122 คน จำนวนนี้เป็น ส.ว.รับหลักการด้วย 127 เสียง
ส่วนอีก 5 ฉบับที่ถูกตีตกนั้น ได้แก่ ฉบับที่ 3 ที่ให้ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ปฏิรูปประเทศ มาตรา 270 และ มาตรา 271 มีสมาชิกรัฐสภา รับหลักการ 213 คน ไม่รับหลักการ 34 คน งดออกเสียง 472 คน, ฉบับที่ 4 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี และปิดทางนายกรัฐมนตรีคนนอก มาตรา 159 และมาตรา 272 มีสมาชิกรัฐสภา รับหลักการ 266 คน ไม่รับหลักการ 21 คน งดออกเสียง 432 คน
ฉบับที่ 5 ยกเลิกประกาศและคำสั่ง หรือการนิรโทษกรรม คสช. มาตรา 279 มีสมาชิกรัฐสภา รับหลักการ 209 คน ไม่รับหลักการ 50 คน งดออกเสียง 460 คน ฉบับนี้ไม่มี ส.ว.รับหลักการแม้แต่คนเดียว, ฉบับที่ 6 ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีสมาชิกรัฐสภา รับหลักการ 268 คน ไม่รับหลักการ 19 คน งดออกเสียง 432 คน
และฉบับที่ 7 ฉบับที่เป็นไฮไลท์ เนื่องจากเป็น “ร่างของประชาชน” หรือฉบับ iLaw (ไอลอว์) ที่ให้ “รื้อ สร้าง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” มีสมาชิกรัฐสภา รับหลักการ 212 คน ไม่รับหลักการ 138 คน งดออกเสียง 369 คน
ที่น่าสนใจคือ มี ส.ว.ไปร่วมรับหลักการ 3 คนด้วยกัน
แม้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านไปได้ 2 ฉบับ ที่ให้แก้ไขมาตราซึ่งเป็น “กล่องดวงใจ” คือ มาตรา 256 และให้มี ส.ส.ร. แต่เส้นทางหลังจากนี้ไม่ได้ราบรื่นหอมหวาน เพราะยังเหลืออีก 2 วาระ ที่เป็น “ด่านหิน” มียุทธวิธีให้ยื้อยุดฉุดกระชากกันอีกหลายตลบ มากกว่าในวาระที่ 1 เสียอีก
เพราะการที่รัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลอย่างท่วมท้น แสดงให้เห็นว่า “ผู้กำหนดเกม” ยังเป็นรัฐบาล ไม่ใช่ภายนอกรัฐสภา
แสดงให้เห็นว่า แรงกดดันที่เย้วๆ กัน “นอกสภา” หาได้เป็นที่หวาดวิตกของ “ฝ่ายกุมอำนาจ” แต่อย่างใด หนำซ้ำยังสามารถเลือกเดินหมากที่ตัวเองได้เปรียบอย่างสบายใจ
ขนาดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” ที่มีผู้ลงชื่อกว่า 1 แสนราย ก็ยังถูก “ตีตก” แบบไร้เยื่อใย
กระตุกให้ “แกนนำ-เบื้องหลัง” ของ “ม็อบราษฎร” ที่กระหยิ่มยิ้มย่องกับ “พลังนอกสภา” ได้ฉุกคิดว่า แท้จริงแล้วที่ม็อบๆ เคลื่อนไหวกันอยู่มี “พลานุภาพ” จริงหรือไม่
ขณะที่เกม “นอกสภา” ก็ดูเต็มไปด้วยความรุนแรงในสายตาผู้คนจำนวนมากในบ้านนี้เมืองนี้ โดยเฉพาะผู้คนที่เห็น “ข้อความ” ที่ร่วมชุมนุมเขียนเอาไว้บนถนน ตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงพิมพ์ลงบนกระดาษและถือโชว์หราเพื่อประกาศให้โลกรู้ รวมทั้งเนื้อหาที่ปราศรัยกันบนเวทีย่อมรู้ได้ดีว่า “จาบจ้วงล่วงละเมิด” อย่างเปิดเผย ชนิด “ไม่มีกั๊กและไม่มีกลัว”
ยิ่งเมื่อ “แกนนำม็อบ” ประกาศนัดชุมนุมอีกครั้งที่หน้า “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563
หลายต่อหลายคนที่เคยจิตใจอ่อนโยนเพราะมองเห็นว่า พวกเขาคือ “เด็ก” และคือ “เยาวชน” ที่ต้อง “ประคับประคอง” เริ่มมีความคิดที่เปลี่ยนไป
และนั่นนำมาซึ่งการที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยกฯ ออกแถลงการณ์เพิ่มความเข้มข้นบังคับใช้กฎหมายกับ “ม็อบ” หลังสถานการณ์ชุมนุมส่อรุนแรงขึ้น
ตามต่อด้วยการที่ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ประกาศพร้อมที่จะนำ “มาตรา 112” กลับมาใช้อีกครั้ง
หรือจริงๆ แล้ว “ม็อบคณะลาบ” กำลังมุ่งไปสู่ทาง “แพ้พ่าย” ในทุกกระดานและจมดิ่งอยู่ใต้ “หุบเหวอันมืดมนอนธการ” มากกว่า
แพ้หมดรูปเกมแก้ รธน.
ที่พ่ายไปอย่างย่อยยับ แพ้ไปเต็มประตูแล้ว
คงเป็นเกมเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เคยถูกบรรจุเป็นข้อเรียกร้องสำคัญของ “ม็อบราษฎร” แต่ระยะหลังสุ่มเสียงชัก “เลือนราง” ไปอย่างชอบกล
ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลที่ “ไม่เต็มใจ” เท่าไรนักกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในห้วงเวลานี้ ก็สามารถกำหนดกรอบตั้ง “ธง” ให้เดินไปในแนวทางที่ตัวเองกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการยื้อเวลามาได้มากกว่า 1 เดือน โดยที่ฝ่ายค้าน-ฝ่ายตรงข้าม ไม่สามารถทำอะไรได้เลย
หรือมาวันนี้ในขั้นตอนคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่ก็ไม่ต่างอะไรกับการสู้ในรัฐสภาวาระ 1 เพราะรัฐบาลยังกุมเสียงข้างมากอยู่ อันหมายถึงการเป็น “ผู้กำหนดเกม-เนื้อหา” เพราะการต่อสู้ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ จะใช้ “เสียงข้างมาก” เป็นตัวตัดสินในทุกๆ เรื่อง แค่ด่านนี้ก็อยากที่ฝ่ายค้านจะ “หักด่าน” ผ่านไปได้แล้ว
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำนวน 45 คน แบ่งเป็น ส.ว. 15 คน และ ส.ส. 30 คน แยกเป็นพรรคเพื่อไทย-พรรคพลังประชารัฐ พรรคละ 8 คน, พรรคภูมิใจไทย 4 คน, พรรคก้าวไกล-พรรคประชาธิปัตย์ พรรคละ 3 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา-พรรคเสรีรวมไทย-พรรคประชาชาติ-พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคละ 1 คน
โดยมีกรอบทำงาน 45 วัน นับนิ้วแล้วน่าจะเสร็จขั้นตอนกรรมาธิการราวๆ ต้นปีหน้า
ก่อนเข้าสู่ยกที่ 2 การพิจารณาวาระ 2 ของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่จะเป็นการนำร่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้วมาพิจารณาโหวตในที่ประชุมวาระสองแบบเรียงรายมาตรา ที่จะใช้เสียงข้างมากเป็นหลัก โดยไม่ต้องใช้เสียง ส.ว. 80 กว่าเสียงเหมือนวาระแรก
แต่ลำพังเสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็กินขาด อีกทั้งเสียงส่วนใหญ่ในสภาไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับร่างของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯก็ได้
“ยกสุดท้าย” นี่แทบจะปิดประตูตาย เพราะในวาระที่ 3 จะกลับไปทำเหมือนกับวาระแรกคือ ต้องได้เสียง ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 80 กว่าเสียง
และต่อให้มีการรับหลักการในวาระที่ 2 และ 3 จนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านสภา ก็ต้องเจออีกด่านคือ “ประชามติ” ที่กินระยะเวลายาวนาน เรียกว่า รัฐบาลเอาคุ้มแน่
หากดูเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ที่กำหนดให้ ส.ส.ร.มีเวลาในการยกร่างรัฐธรรมนูญ นาน 240 วันนับแต่เปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญนัดแรก ไหนจะยังมีขั้นตอนการทำประชามติ การยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่จะใช้เวลาอีกต่ำๆ 6 เดือน
เหมือนกับต่ออายุให้รัฐบาลไปได้อีก 1 ปีครึ่ง กว่าจะเสร็จครบเทอมกันพอดี
แต่ทั้งหมดทั้งมวล ต่อในกรณีที่สภา “ไม่เจอตอ” อย่างศาลรัฐธรรมนูญ ที่ดูทรงแล้วพรรคพลังประชารัฐ และส.ว. ง้างเท้ารอจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
อย่างที่รู้กันว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นเหมือน “โลกคู่ขนาน” กับ “รัฐสภา” ต่อให้เสียงข้างมากในสภาจะมองว่า ถูกต้อง หรือทำได้อย่างไร แต่หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ขัดรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างเป็นอันจบ เพราะนี่คือ ผลที่ผูกพันทางกฎหมายทุกองค์กร
หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแท้ง ต้องมายื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญกันใหม่เป็นรายมาตรา ต้องทำตามมาตรา 256 อย่างเคร่งครัด เสียเวลาอีกไม่รู้เท่าไร
เผลอๆ กว่าจะเสร็จ “เกินเทอม” ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่เสียอีก
ตามเสียงลือเสียงเล่าอ้าง “แกนนำรัฐบาล” วางเกมจะยื้อโหวตในวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ด้วยซ้ำ โดยตั้งใจจะปล่อยให้เหตุการณ์ “นอกรั้วสภา” วุ่นวาย ตามคิวที่ตำรวจใส่ “เกียร์ว่าง” ปล่อยม็อบ “สองสี” ฟาดฟันกันตรงแยกเกียกกาย ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย. วันแรกของการประชุม
ด้วยประเมินว่า ผู้ชุมนุมหวังบุกเข้าในพื้นที่รัฐสภา หากเป็นไปตามคาดรับรองว่า ไม่ได้โหวตกันแน่
เพราะมี “ทีมเฉพาะกิจ” เตรียมจะยกเหตุความวุ่นวายข้างนอก ทำให้บรรยากาศไม่เอื้อต่อการลงมติมาเป็นข้ออ้างขอเลื่อนการลงมติไปก่อน แต่อีกทางก็เชื่อว่า “แกนนำม็อบ” รู้ทัน รีบเลยประกาศยุติการชุมนุม ไม่บุกเข้าไปในรัฐสภา เพราะกลัว “เข้าทาง”
ทำให้ “แนวร่วม” ต่าง “ผิดหวัง” ด้วยมองว่า ผู้ชุมนุมสามารถคุมพื้นที่โดยรอบรัฐสภาได้เบ็ดเสร็จ และควรจะตรึงกำลังอยู่กดดันการลงมติของที่ประชุมรัฐสภาต่อไป อย่างน้อยๆก็อาจได้ลุ้นส่ง “ร่างไอลอว์” ให้ได้ไปต่อ
แต่ “แกนนำม็อบ” กลับเลือกที่จะสั่งยุติ และสลายมวลชน ก่อนที่จะนัดหมายไปที่แยกราชประสงค์ที่อยู่ห่างไกลพิสัยจากรัฐสภาในวันรุ่งขึ้น แล้วก็ไปทำกิจกรรม “ป้ายสี” ที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แทน
ชำแหละปมตัดหาง “ไอลอว์”
ทั้งๆที่ไฮไลท์ของวันที่ 18 พ.ย. คือการโหวตรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแท้ๆ
ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า “กลุ่มราษฎร” ไม่ได้ให้ความสลักสำคัญใดๆต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และก็ไม่ได้เห็นค่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ “ไอลอว์” แม้แต่น้อยเช่นกัน
เพียงแต่หยิบยกมาเป็น “ข้ออ้าง” ในการกดดันรัฐบาลและรัฐบาล ให้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น
หรือพูดง่ายๆว่า หาเรื่องหลอกด่ารัฐบาลก็เท่านั้น
เพราะหากให้ความสำคัญกับคำว่า “ร่างประชาชน” จริง สถานการณ์ต้องแตกหักไปแล้วตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย.
เท่ากับว่า “ไอลอว์” ของ “จอน อึ้งภากรณ์” ที่ถูกจับได้ไล่ทันว่า มี “ต่างชาติ” เป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” กับ “แก๊งคณะลาบ” ต่าง “หลอกใช้” ซึ่งกันและกัน ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันมาแต่แรก
“ไอลอว์” ของ “จอน” ก็หวังว่า จะได้รับอานิสงส์ผลบุญจากแรงกดดันของ “ม็อบราษฎร” บีบให้รัฐบาลและ ส.ว.
กลับกัน “คณะลาบ” กลับเห็นช่อง “ร่างไอลอว์” ที่เปิดกว้างให้ปู้ยี้ปู้ยำรัฐธรรมนูญ “หมวด 1 - 2” เพื่อโอกาสในการปีนป่ายให้ถึง “ฟ้าเดียวกัน”
โดยจะใช้ “ร่างไอลอว์” เป็น “ใบเบิกทาง” ในการกดดันรื้อ -ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามสไตล์ตัวเอง ที่ว่ากันว่าเกี่ยวกับ “ระบอบการปกครอง”
เมื่อเห็นว่า รัฐบาล และฝ่ายความมั่นคงไม่ได้ยี่หระกับแรงกดดัน หนำซ้ำ ยังงัด “ไม้แข็ง” ฟาดใส่ม็อบที่แยกเกียกกายประหนึ่งหมูไม่กลัวน้ำร้อน ก็ต้องโดดหนี เบนเข็มมุ่งหน้าไปที่ราชประสงค์แทน
แถมในการอภิปราย “ร่างไอลอว์” ในรัฐสภา ก็ทำให้รู้เช่นเห็นชาติ ได้แฉองค์กรแห่งนี้ ว่า “เบื้องหน้า-เบื้องหลัง” เป็นอย่างไร
“จอน” เองก็จนมุม อธิบายไม่ออกเรื่อง “ทุนต่างชาติ” ส่วนเนื้อหานอกจากหวัง “พลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน” ยังได้ฉีกหน้ากาก เปลือยใจให้เห็นว่า มุ่งหมายอะไร โดยเฉพาะจุดประสงค์แอบแฝงคือ เรื่องเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้กับใคร
แม้มี “จุดร่วม” เดียวกัน แต่เมื่อเช็คอาการแล้วพบว่า “ไอลอว์” ไปไม่รอด “กลุ่มราษฎร” ก็เลือก “ถีบหัวส่ง” เลือกขยับไป “เล่นของสูง” ที่ “แยกราชประสงค์” แทน ทิ้งให้ “ร่างไอลอว์” กลายเป็น “ซาก” อยู่ที่รัฐสภา ไม่คิดแม้แต่จะมา “ดูใจ”
เรื่องนี้ “ศาสดาม็อบเด็ก” อย่าง สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล ก็ชำแหละไว้ในวันเดียวกันแล้วว่า “ถ้าผมจะยืนยันว่า ร่าง iLaw ไม่ดีเท่าไร จะเป็นไรไหม?
ร่าง iLaw สามารถดึงคนจำนวนหนึ่ง ให้เข้าร่วมได้ แต่ร่าง iLaw ยังไม่ชัดเจนเรื่องสถาบันกษัตริย์
บังเอิญร่างฯ เปิดช่องทางไว้ว่า หมวด 1 และ 2 ไม่ได้ห้ามแก้ ก็เลยเปิดช่องให้ "คณะราษฎร" ถือเป็นโอกาสจะแก้หมวดกษัตริย์ด้วย…”
เข้าอิหรอบ “สาวไส้ให้กากิน” โดยแท้ สำคัญที่ไร้เสียงตอบโต้ใดจาก “ม็อบคณะลาบ” เท่ากับ “ยอมรับ” โดยปริยาย
ไม่เท่านั้นยังมี คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.ออกมาชำแหละให้เห็นเป็นลิ่วๆ ว่า นอกจากการแก้ไขมาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.แล้ว มี “นัยซ่อนเร้น” ตรงนี้การเสนอให้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับสิ้นผลไป โดยเฉพาะกฎหมายลูกที่มีความสำคัญ อาทิ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ซึ่งการให้ “กฎหมาย ป.ป.ช.” สิ้นไป จะมีผลต่อกระบวนการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและคดีทุจริตประพฤติมิชอบอื่นๆ แน่นอน เพราะการให้ยกเลิกนั้น จะมีผลเสมือนเป็นการนิรโทษกรรมคดีทุจริตในทางปฏิบัติ ตามหลักกฎหมายอาญาที่ว่ากฎหมายมีผลย้อนหลังได้หากเป็นคุณแก่ผู้กระทำผิด ตามที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาหลายฉบับวางบรรทัดฐานไว้
เรียกว่า เปลือยกาย “ล่อนจ้อน” และ “ล่อนจอน” ไปทีเดียว
เพราะไปลากไปถึง “ทุนนอก” ที่เข้าตีน “2 นายกฯ หนีคดี” ได้แบบคาหนังคาเขา
เป็นเหตุให้ “คณะลาบ” ตัดหาง “ไอลอว์” แบบทันควัน
หวังไต่ฟ้า แต่ตัวลงเหว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภายนอกที่ม็อบยกระดับ “เย้ยฟ้า-ท้าดิน” อาจจะดูรุนแรงด้วยเนื้อหา และดูเหมือนว่า จะกดดันรัฐบาลได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ม็อบเองกำลังพาตัวเองเข้าสู่ “ทางตัน”
เพราะแม้รัฐสภาจะตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ แต่ได้ผ่าน 2 ร่างสำคัญคือ ของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
การระบุว่า การปฏิเสธร่างไอลอว์เท่ากับการมองข้ามประชาชนนั้น ก็พูดลำบาก เพราะการให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร..นั้น คือ การให้อำนาจ ส.ส.ร.ไปแก้ไขรัฐธรรมนูญตัวใดก็ได้อยู่แล้ว
ในเมื่อรัฐบาลรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทั้งของตัวเองและฝ่ายค้าน มันจะทำให้กลุ่มราษฎรเหลือเงื่อนไขในการขับเคลื่อนน้อยขึ้น อย่างน้อยก็ตัดประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปได้ เพราะรัฐสภาได้รับหลักการ มีความคืบหน้าไปแล้ว
ไม่แปลกที่ม็อบจะหันไปแตะ “เบื้องสูง”
ทั้งพฤติกรรม-เนื้อหา-สัญลักษณ์-การปราศรัย ทุกอย่างของม็อบเวลานี้ ก้าวข้ามรัฐบาล-รัฐธรรมนูญ ไปไกลมากแล้ว
ไม่ต้องย้อนไกล แค่ “ข้อความ-สัญลักษณ์” ที่ปรากฏบริเวณหน้า สตช. เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่ “จาบจ้วง” ทั้งสิ้น
หรือการนัดหมายมวลชนในวันที่ 25 พ.ย. เพื่อจะเดินทางไปสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็เพื่อเป็นการ “หาเหตุ” หรือ “สร้างสถานการณ์” ให้มีภาพความรุนแรง ใช่หรือไม่
ด้วยรู้ดีว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใน “เขตพระราชฐาน” เป็น “เซฟตี้โซน” ที่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้เข้าโดยเด็ดขาดแน่นอน เหมือนครั้งที่พยายามบุกประชิด “พระบรมมหาราชวัง” ถึง 2 หนก่อนหน้านี้
เป็นการเร่งจังหวะ เพราะรู้ดีว่าเงื่อนไขเหลือจำกัดแล้ว
โดยเฉพาะตัว “แกนนำม็อบ” เองที่มาไกล จนหาทางลงไม่เจอ อยู่ในสภาวะ “กลับตัวก็ไม่ได้ จะเดินต่อไปก็ไปไม่ถึง”
จำเป็นต้องปั่นกระแสให้ “แตกหัก-รุนแรง” ที่ฝ่ายแกนนำม็อบมองว่าคือ “ทางออกสุดท้าย” เพื่อให้ทุกอย่างมันจบ ด้วยไปวัดดวงเรื่องของผลลัพธ์เอาว่า จะออกหน้าไหน
บังเอิญกับที่เริ่มพบการใช้อาวุธปืนในพื้นที่การชุมนุม ที่น่าแปลกว่าเหตุใด “ปลอกกระสุน” ไปตกอยู่ในฝั่งม็อบราษฎร ด้วยตามทฤษฎีแล้ว “ปลอกกระสุน” ต้องตกอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลตัว “มือปืน”
เรียกว่าบรรดา “แกนนำ” พร้อมใจกันพาผู้ร่วมชุมนุมเดินลงสู่ “หุบเหว” ก็คงจะไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก ส่วนผู้ชุมนุมเองก็ย่อมรู้อยู่แล้วว่า เป้าหมายเบื้องหน้าคืออะไร เพราะฉะนั้นจะบอกว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือถูกล่อลวงก็คงจะไม่ใช่
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนั้น แนวร่วมม็อบฯ บางสายจึงประกาศถอนตัวจากการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นหน้าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เช่นกลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตย ซึ่งเป็นมวลชนสายอาชีวะ เพราะเห็นว่า ไปยุ่งเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูงจนเลยขอบเขตมากเกินไป
ขณะที่ “รัฐบาลบิ๊กตู่” ล่าสุดก็มีท่าทีขึงขัง จะงัดกฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรา ขึ้นมาปราบผู้ชุมนุม แอกชั่นนี้ น่าสนใจ เพราะมันสอดคล้องกับที่แกนนำกลุ่มราษฎร เริ่มปราศรัยว่า จะมีการใช้ประมวลกฎหมายอาญา “มาตรา 112” กับแกนนำแล้ว
ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะหากออกหน้านี้ ไม่ใช่เพราะรัฐบาลต้องการใช้กฎหมายมาตรานี้กับแกนนำ แต่ดูให้ดีบางทีอาจเป็นการ “แง้มประตู” ให้แกนนำได้ “ลี้ภัยการเมือง” เพราะรู้ว่า หาประตูกันไม่เจอ
ตามรอยกันไปกับไอดอลทั้ง “สมศักดิ์ เจียมฯ” หรือ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ที่ต้องคดีมาตรา 112 แล้วซุกหัวกันอยู่ที่ต่างประเทศ
เข้าใจว่า ขณะเดียวกัน ม็อบเองก็ยังชะเง้อแอบลุ้นวันที่ 2 ธ.ค.นี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีบ้านพักหลวงของ “บิ๊กตู่” อยู่เหมือนกัน เลยประกาศชุมนุมคร่อมช่วงนั้น
เอาเข้าจริง หาก “ลุงตู่” ร่วง ไม่ได้ไปต่อ ก็ไม่ถือว่าเข้าทางม็อบอย่างที่เข้าใจ ด้วยยังมีรับธรรมนูญ 2560 มีแนวทางการคัดเลือกนายกฯ คนใหม่ ที่เป็นเรื่องของ “เกมการเมือง” ที่ม็อบไม่ได้มีส่วนร่วมอยู่ดี
แต่หาก “บิ๊กตู่” รอด ก็ไม่ต่างจาก “เป็นอมตะ” และน่าเป็นห่วง “ม็อบ” เหลือเกินว่า จะเจออะไรหลังจากนี้
“ม็อบตัวเบิ้มๆ” ทั้งหลาย ทั้งหน้าฉาก-หลังฉาก ไม่แค่จะตกเหวเท่านั้น แต่คงจะ “อยู่ยาก”
เจอ “ลุงตู่ ร่างอัลติเมท” คิดเอาเองแล้วกันว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง
สุดท้ายต้องบอกว่า สถานการณ์การเมืองไทยสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรงได้จาก “ทุกฝ่าย” ทั้งจากฝ่ายมวลชนที่เขม็งเกลียวมากขึ้นทุกที และทั้ง “ฝ่ายการเมือง” ที่พร้อมจะผสมโรงเพื่อเพิ่มดีกรีดังที่ปรากฏให้เห็นในประวัติศาสตร์การเมืองหลายต่อหลายครั้ง