ละเอียดยิบ เพจเฟซบุ๊ก The METTAD แฉ “iLaw” รัวๆ 7 ข้อ คนไทยต้องเบิกเนตร ที่สำคัญ เอื้อคนแดนไกลกลับบ้านแบบเท่ๆ-คนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง นั่ง “ส.ส.ร.” สบาย ผิดกฎหมาย และขัด รธน. “พท.” ป้อง “นายใหญ่” สุดฤทธิ์
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (16 พ.ย. 63) เพจเฟซบุ๊ก The METTAD โพสต์ข้อความระบุว่า
“ร่างแก้ไขของ iLaw ผิดกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างไร โปรดเบิกเนตร
เนื้อหาพร้อมกราฟิก ระบุว่า 1. ชื่อปลอม แอบอ้าง มีพิรุธ
ใน 1 แสนรายชื่อ ตรวจพบว่า มี 400 รายชื่อ ที่ถูกปลอมหรือแอบอ้างมา ทำให้ที่มาของรายชื่อไม่โปร่งใส ต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อทั้งหมดอีกครั้ง รวมถึงยังมีประชาชนที่ลงรายชื่อบางส่วนขอถอนรายชื่อออก
เนื่องจากตามกฎหมายข้างต้นนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนต้องแจ้งไปยังผู้ที่มีรายชื่อเข้าร่วมกันทั้งหมดทุกคน เพื่อให้ผู้ที่เข้าชื่อที่แท้จริงยืนยันกลับมายังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และหากตรวจพบว่า ผู้ที่มีรายชื่อเหล่านั้น เป็นรายชื่อปลอม ตามกฎหมายข้างต้นได้บัญญัติโทษไว้ใน ม.14 ว่า
“ผู้ใดลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร หรือใช้ หรืออ้างลายมือชื่อปลอมเช่นว่านั้น เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่แท้จริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
2. ร่างที่มาจากเงินต่างชาติ ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ
iLaw เป็นองค์กรเอกชน ที่ยอมรับว่า ได้รับเงินสนับสนุนจากต่างชาติ การปลุกระดมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของชาติ ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างชัดเจน ตามรัฐธรรมนูญ มีกฎห้ามพรรคการเมืองไม่ให้รับเงินต่างชาติ ดังนั้น สามารถเทียบเคียงกิจกรรมของ iLaw ได้เท่ากับเป็นกิจกรรมทางการเมือง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
3. ยกทั้งร่างต้องผ่านประชามติ ไม่ใช่แค่ล่ารายชื่อ
เนื้อหาที่แก้ไข 1 ใน 7 ข้อ คือ การล้มล้างรัฐธรรมนูญทางอ้อม ด้วยการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมาร่างใหม่ และเคยมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 60 ทั้งฉบับจะกระทำไม่ได้ เพราะผ่านการทำประชามติแล้ว หากจะแก้ทั้งฉบับต้องทำประชามติก่อน แต่หากแก้รายมาตราสามารถทำได้
4. สอดไส้ให้พวกพ้องเข้ามาแก้ รธน.
iLaw ทำการสอดไส้ คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.ร. โดยแก้ให้ผู้กระทำผิดกฎหมายพรรคการเมืองจนถูกเพิกถอนสิทธิ ผู้ติดยาเสพติด และ ผู้ถือหุ้นสื่อ สามารถลงสมัครเป็น ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญได้
5. พรรคการเมืองที่สนับสนุน ถือว่า มีความผิดร่วมด้วย
หากนักการเมืองและพรรคการเมืองใด ให้การสนับสนุนร่างฉบับ iLaw เท่ากับว่า สนับสนุนให้ต่างชาติแทรกแซง การแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศไทย สามารถฟ้องเอาผิดถึงขั้นยุบพรรคได้อีกรอบ
6. การแทรกแซงจากต่างชาติ
การประท้วงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งนี้ มีการแทรกแซงจากต่างชาติชัดเจน เพราะทาง ส.ส. เยอรมนี จากพรรคกรีนส์ ได้ยืนยันผ่าน BBC ว่า ให้การสนับสนุนม็อบในไทย และได้ติดต่อกับกลุ่มผู้เคลื่อนไหวมาสักระยะหนึ่งแล้ว
อีกทั้ง พรรคกรีนส์ ในเยอรมนี ได้รับการสนับสนุนจาก Heinrich Boll Stiftung เช่นเดียวกันกับ iLaw ถือว่า เป็นท่อน้ำเลี้ยงเดียวกัน
ฝนโซรอสตกขี้หมูไหล
7. สอดไส้นิรโทษกรรมคดีการเมือง
iLaw เสนอให้โละทิ้งกระบวนการตรวจสอบทั้งหมด อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน สมาชิกวุฒิสภา และ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดคดีการเมืองที่หลบหนีคดีอยู่ สามารถได้รับนิรโทษกรรมได้ รวมทั้งประเทศไทยจะไม่มีกระบวนการตรวจสอบคอร์รัปชัน เป็นเวลาขั้นต่ำ 6 เดือน
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน เคยชำแหละออกมาคล้ายคลึงกันในประเด็นเหล่านี้แล้ว เพียงแต่การโยงใยกลุ่มผู้ได้ประโยชน์ไม่ชัเจนขนาดนี้เท่านั้น
ขณะเดียวกัน นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
“รู้มั้ยว่า ทำไมนักธุรกิจการเมืองและคนแดนไกล จึงอยากล้มรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสร้างเงื่อนไขลวงว่า จะไม่ยอมแก้หมวด 1 หมวด 2 เพราะแท้จริงแล้ว
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์นั้น ยังมีอีกในหลายมาตราที่เกี่ยวเนื่อง ไม่รวมที่คนบางพวกเตรียมตัวที่จะหาทางเข้าไปเป็น ส.ส.ร. หรือกรรมการยกร่างโดยใช้ม็อบกดดันคู่ขนานไปด้วย เพื่อแปรญัตติเติมบางมาตราที่ไม่พึงประสงค์เข้าไปในหมวดอื่นและมาตราอื่น เช่น เรื่องตัดงบประมาณหรือลดทอนเรื่องบางประการ (จะค่อยๆ ทยอยอธิบายทีหลังครับ)
แต่เอาเรื่องพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่นักธุรกิจการเมืองและคนแดนไกลเกลียดชังนี้ก่อนครับ โดยเฉพาะ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ทำให้คดีทุจริตไม่มีอายุความและเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจาณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
เพราะเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ย่อมต้องยกเลิกของเก่า และมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งหมด นึกสิครับว่าใครเป็นคนเขียนและหน้าตาเนื้อหา พ.ร.ป. จะปราบโกงหรือเอื้อโกงกันดี
ไม่อยากคาดเดาครับ เพราะเดาถูกทุกที 5555”
วันเดียวกันนี้ ที่พรรคเพื่อไทย นายสมคิด เชื้อคง รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน และ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณี ส.ว.บางคน บอกว่า การล้มรัฐธรรมนูญ 2560 จะทำให้คนแดนไกลได้ประโยชน์ ขอยืนยันว่า รัฐธรรมนูญต่อให้ล้มใหม่ คนได้ประโยชน์ คือ พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ส.ว.ชุดนี้ ก็ได้รับการแต่งตั้งจาก พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น เวลาจะกล่าวหาคนอื่น ต้องดูที่มาตัวเองด้วยว่า ได้รับการแต่งตั้งจากใคร
นายสมคิด กล่าวต่อว่า การที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ คนหนึ่ง ให้ข่าวระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์ เป็นการเบี่ยงประเด็น แต่ต้องการล้มล้างองค์กรอิสระ อำนาจทางศาลเพื่อให้ นายทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ กลับบ้าน เรื่องนี้เป็นการกล่าวหามั่ว เป็นไปไม่ได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่สภาฯ ใครจะมาเกี่ยวข้องไม่ได้ ต้องไปดูการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลได้ร่วมลงนามด้วย ที่บอกว่า ถ้ารัฐธรรมนูญผ่าน จะไปล้ม ป.ป.ช. ล้มล้างคดี ขอให้ ส.ส.ท่านนั้นไปอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 256(7) (8) ระบุเอาไว้ชัด ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. องค์กรอิสระ ก่อนจะดำเนินการต้องผ่านการทำประชามติเสียก่อน
“ดังนั้น การที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ คนนั้น จะพูดอะไร ควรไปอ่านรัฐธรรมนูญก่อน อย่ากล่าวหามั่ว รัฐธรรมนูญแก้โดยสภา ไม่ได้แก้โดยท่านใด รัฐธรรมนูญไม่ว่าจากฉบับรัฐบาล ฝ่ายค้าน ไอลอว์ เมื่อมีการแก้ไข ประชาชนได้ประโยชน์ ไม่อยากให้เอาวาทกรรม ความมัน เอาความสนุกมาพูดจาให้คนอื่นเสียหาย คนเราถ้าจะเล่นการเมืองเอาสะใจ เอามัน พวกผมก็ทำเป็น แต่ใครจะได้ประโยชน์ ประชาชนจะรำคาญเปล่าๆ ต่อไปจะกล่าวหาใคร ควรอ่านรัฐธรรมนูญก่อน สำหรับการโหวต พรรคร่วมฝ่ายค้านพร้อมจะรับร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ซึ่งรวมร่างไอลอว์ด้วย เพราะเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน”
แน่นอน, ประเด็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ในการพิจารณารับหลักการร่างรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ รวมถึงฉบับ ไอลอว์ ที่เสนอเข้าไปในสภา มีสองประเด็น
ประเด็นแรก รัฐสภา จะรับร่างของ ไอลอว์ หรือ ไม่ เพราะเป็นการเสนอแก้ไขทั้งฉบับ ไม่เว้นหมวด 1 และหมวด 2 (พระมหากษัตริย์) ซึ่งถือว่ามาจากการล่ารายชื่อประชาชนจำนวนหนึ่ง รวมทั้งมีม็อบกดดันอยู่นอกสภา นัยว่า จะกดดันและบีบคั้นชนิด ต้องการให้เละคามือด้วย หากไม่รับร่าง ไอลอว์
ประเด็นที่สอง กรณีที่มีความไม่ชอบมาพากลของ ไอลอว์ ซึ่งเป็นองค์กรที่รับเงินต่างประเทศ มาเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งสนับสนุนม็อบ และผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของไทย จะเอาอย่างไร ยอมหรือไม่ ถ้าไม่ยอมม็อบที่ปิดล้อมอยู่นอกสภา ก็คงไม่ยอมเช่นกัน แล้วอะไรจะเกิดขึ้น???
นี่คือ เงื่อนไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ เพราะทุกฝ่ายต่างก็ได้แสดงจุดยืนออกมาแล้ว โดย ฝ่ายรัฐบาลจะรับร่างที่ 1 และ 2 เท่านั้น ส่วนฝ่ายค้าน จะรับทั้งหมด 7 ร่าง รวมทั้งร่างของ ไอลอว์ โดยไม่สนใจว่า จะแก้หมวดพระมหากษัตริย์หรือไม่ รวมทั้งที่ถูกแฉออกมาแล้วว่า ผิดกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญยังเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องตัวเองอย่างไรด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่น่าจับตามองก็คือ พลังกดดันของม็อบราษฎร 63 จะได้ผลหรือไม่ แค่ไหน รัฐสภาไทย จะธำรงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรี หรือไม่ รวมทั้งที่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขอให้ ส.ส., ส.ว. มีอิสระในการโหวตรับหลักการนั้น จะทำได้หรือไม่ อีกไม่ช้าไม่นานก็คงได้เห็นกัน
เหนืออื่นใด ได้แต่หวังว่า ทุกฝ่ายจะมีเหตุมีผลและรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน และไม่ทำให้เกิดความรุนแรง ไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม