xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“วัคซีนโควิด” แค่ชะลอระบาด “โควิด – 19” ยังอยู่ยาว “อินฟินิตี้”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความหวังแห่งมนุษย์ชาติ ล่าสุดผลการทดลอง  “วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 มีประสิทธิภาพสูง 95%” หลังจากบริษัททั่วโลกต่างแถลงถึงความคืบหน้าผลการทดลองวัคซีนโควิด ถึงคิวพันธมิตรบริษัทเภสัชกรรมในสหรัฐฯ “ไฟเซอร์ อิงค์” และ “ไบโอเอ็นเทค” เผยผลการทดลองวัคซีนต้านโควิดในกลุ่มทดลองขนาดใหญ่ไม่พบผลข้างเคียง เรียกว่าผลลัพท์ประสบสำเร็จแล้วเกือบเต็มร้อย

แต่การค้นพบวัคซีนต้านโควิดดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าการแพร่ระบาดของโควิด -19 จะยุติลงในทันทีทันใด ในความเป็นจริงเป็นเพียงระยะเริ่มต้น “ชะลออัตราการแพร่ระบาด”9  เท่านั้น โควิด-19 จะยังคงอยู่ต่อยาวๆ เพราะต่อให้คิดค้นวัคซีนที่ได้ผลดีเยี่ยม แต่ด้วยกำลังผลิตที่มีจำกัด จึงยังไม่สามารถผลิตวัคซีนออกมาได้เพียงพอกับประชากรทั่วโลก

ช่วงกลางเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา “ไฟเซอร์ อิงค์ (Pfizer Inc)” บริษัทยาของสหรัฐฯ และ “ไบโอเอ็นเทค (BioNTech)” ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมันนี พันธมิตรร่วมออกแถลงการณ์ทดลองวัคซีนป้องกันการติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 ได้สูงกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ในขณะเดียวกันกับที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรงต่อเนื่องทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของวัคซีนดังกล่าวคือ ต้องเก็บในตู้เย็นอุณหูมิต่ำถึง -70 องศาเซลเซียส เรื่องทำให้การจัดเก็บและการขนส่งเป็นไปอย่างยากลำบาก และคงต้องติดตามกันต่อสำหรับผลข้างเคียงระยะยาว

สำหรับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สองหุ้นส่วน “ไฟเซอร์ อิงค์” และ “ไบโอเอ็นเทค” ที่จะขออนุมัติจากองค์การอาหารและยา (FDA) เพื่อใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน หลังจากทดสอบวิจัยวัคซีนระยะ 8 เดือน นับเป็นก้าวสำคัญในการนำวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ สามารถจัดการกับโรคระบาดร้ายแรงได้สำเร็จ

ผลทดสอบแสดงให้เห็นว่าวัคซีนดังกล่าวสามารถป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งแบบที่มีอาการเล็กน้อยและอาการรุนแรงได้ มีประสิทธิภาพถึง 95% ในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ชนิดรุนแรงและร่างกายไม่ตอบสนองต่อวัคซีนชนิดอื่น

รายละเอียดการทดลองวัคซีนดังกล่าว ทดสอบกับอาสาสมัครจำนวน 44,000 คน ซึ่งครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีนจริง และอีกครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีนหลอกเป็นน้ำเกลือ หลังจากรอดูผลการติดเชื้อพบว่าผู้ได้รับวัคซีนหลอก 162 รายติดเชื้อโควิด-19 และมีผู้รับวัคซีนจริงเพียง 8 รายเท่านั้นที่ติดเชื้อโควิด-19 และผลการทดสอบยังชี้ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันกับทุกกลุ่มอายุและเชื้อชาติ และมีรายงานผู้ได้รับวัคซีนเพียง 3.7% ที่มีอาการอ่อนเพลียหลังจากได้รับวัคซีนโดสที่สอง และอีก 2% มีอาการปวดศีรษะ

ไฟเซอร์ อิงค์ ระบุ ผลการทดลองบ่งชี้ว่า วัคซีน BNT162b2 มีประสิทธิภาพอย่างมากในการป้องกันไวรัสโควิด-19 หลังการฉีดวัคซีนเข็มแรกเป็นเวลา 28 วัน โดยพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในอาสาสมัครทุกกลุ่ม แม้อยู่ในวัย เชื้อชาติ และชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน โดยมีผลข้างเคียงในระดับต่ำ


 อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของกำลังการผลิตวัคซีน ไฟเซอร์ อิงค์ เปิดเผยว่าสามารถผลิตปริมาณ 50 ล้านโดสได้ภายในสิ้นปี 2563 หากได้รับอนุมัติจาก FDA และจะสามารถผลิตเพิ่มเติมได้อีกราว 1.3 พันล้านโดสภายในสิ้นปี 2564  

ข้อมูลจากสำนักข่าว “Regulatory Affairs Professional Affairs” (RAPA) รายงานว่ามีบริษัทและองค์กรทั่วโลกถึง 50 แห่งที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองวัคซีน ก่อนหน้านี้ รายงานวัคซีนของ บริษัท Sputnik-V จากประเทศรัสเซีย  มีประสิทธิภาพถึง 92% และวัคซีนจาก บริษัท Moderna มีประสิทธิภาพสูง94% เรียกว่า องค์กรต่างๆ ทั่วโลก ต่างเคลื่อนกระบวนการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ปรับเร่งความเร็วเพื่อเอาชนะโรคระบาดร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม หากผลิตวัคซีนโควิดออกมาได้แล้ว ทางสหรัฐฯ จะส่งมอบไปยังบุคลากรทางการแพทย์ลำดับแรก คาดว่าต้องใช้เวลาหลายเดือนจึงจะสามารถเข้าถึงประชาชนทั่วไปได้ นำมาซึ่งคำถามสำคัญที่ว่า โลกคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 สำเร็จ แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยุติลงเมื่อไหร่?

ข้อมูลน่าสนใจในหัวข้อเสวนาเรื่อง  “โควิดมาราธอน : ห่างกันไว้...แต่ไปด้วยกัน” จัดโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP หรือ ไฮแท็ป) ระบุแนวโน้มว่าโควิด-19 จะอยู่กับประชากรทั่วโลกไปอีกยาวนาน เปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอนที่ยังไม่เห็นเส้นชัย ณ ขณะนี้ กล่าวคือแม้ประชากรโลกจะได้รับวัคซีน แต่ยังคงเกิดการระบาดต่อไป อาจจะดีเลย์ออกไปอย่างน้อย 2-3 ปี

แม้มีการคิดค้นวัคซีนที่ได้ผลดีเยี่ยม ด้วยเงื่อนไขกำลังผลิตที่จำกัด ย่อมไม่สามารถผลิตวัคซีนออกมาได้เพียงพอกับประชากรทั่วโลก กล่าวได้ว่าซีนจึงแค่ชะลอการระบาดเท่านั้น ไม่ได้ทำให้การระบาดหยุดลงในทันที

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีบริษัทฯ ระดับโลก สามารถพัฒนาวัคซีนโควิดได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจกว่า 90% ทั้งนี้ ยังเป็นการทดลองเบื้องต้น ยังติดตามระยะยาวว่าท้ายที่สุดแล้วมีประสิทธิภาพเพียงใด มีผลข้างเคียงหรือไม่อย่างไร

เช่นเดียวกัน ประเทศไทยมีการค้นคว้าและวิจัยวัคซีนเช่นกัน ในชื่อ Chula Cov-19 ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนา ซึ่งประเด็นการพัฒนาวัคซีนนั้นต้องสร้างความเข้าใจร่วมกัน คือ ประเทศไทยต้องเริ่มต้นในการพึ่งพาตนเองมากยิ่งขึ้น จากวิกฤตครั้งที่ผ่านมา เป็นบทเรียนที่ดีให้กับประเทศไทยในการเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งหากเกิดการระบาดในครั้งหน้า จะได้เชื่อมั่นว่าไทยสามารถรับมือกับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที และอาจรับมือได้เร็วกว่าเดิม


 นพ.นคร เปรมศรี  ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ อธิบายว่าโรคโควิด-19 จะยังคงอยู่กับมนุษยชาติไปเรื่อยๆ ไม่มีทางจบในระยะเวลาอันใกล้ ขณะที่ความหวังของคนทั่วโลกพุ่งเป้าไปที่ “วัคซีนต้านโควิด” ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการทั่วโลกในปัจจุบัน ดังนั้น คาดว่าอาจไม่เพียงพอกับประชากรโลกอย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน ประเทศมหาอำนาจมีโควตาการจองวัคซีนในเบื้องต้น มีการคาดการณ์จำนวนวัคซีนที่ผลิตได้ประมาณ 10,000 ล้านโดส ต่อปี แต่เป็นปริมาณที่ไม่สามารถรองรับความต้องการของทุกคนในโลก

สำหรับประเทศไทย ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ประชากรได้ 50% ในปี 2021 ซึ่งจะมีการบริหารจัดการรวมทั้งการแบ่งกลุ่มของผู้ที่จะได้รับวัคซีน ประเมินว่าวัคซีนยังไม่เพียงพอสำหรับทุกคน ต่อให้เรามีเงินเท่าไหร่ก็ไม่สามารถซื้อสิ่งนั้นได้ ดังนั้น ประเทศไทยต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด เพิ่มขีดความสามารถเป็นผู้วิจัยและพัฒนารวมทั้งเป็นผู้ผลิต (Maker)

อย่างไรก็ดี หลังจาก “ไฟเซอร์ อิงค์” แถลงการณ์ความสำเร็จของ “วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 มีประสิทธิภาพสูง 95%” กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับแนวโน้มวัคซีนโควิดในเมืองไทยเช่นเดียวกัน ซึ่งไฟเซอร์ อิงค์ เป็นหนึ่งในบริษัทยาที่อยู่ในแผนการจัดหาวัคซีนล่วงหน้าที่ สธ. กำหนดไว้

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่ารัฐบาลมีข้อตกลงในการประสานข้อมูลเชิงลึกกับบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ โดยพื้นฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย แต่ไม่ได้มีพูดคุยถึงขึ้นจำนวนโดสในการจัดหาวัคซีนนำเข้า กรอบเวลาไว้ในการจัดหาวัคซีน สธ. ปูพรมจัดหาวัคซีนล่วงให้คนไทยในสัดส่วน 50% ของจำนวนประชากรภายในปี 2021 ส่วนการผลิตวัคซีนที่รัฐบาลไทยสนับสนุน ยังเดินหน้าตามแผนเดิมเริ่มทดสอบในคนต้นเดือน ม.ค. ปี 2564

ความคืบหน้าถึงการผลิตวัคซีนต้านโควิดใช้ได้เองในประเทศไทย ปัจจุบันมีวัคซีนกว่า 20 ชนิด ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา หลัก ๆ ที่มีความคืบหน้ามากที่สุด คือ วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวิจัยและพัฒนาวัคซีน จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และวัคซีนชนิด DNA พัฒนาโดยบริษัทไบโอเน็ตเอเชีย

ทั้งนี้ ผลการทดสอบที่เพิ่งออกมาของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ส่งผลให้วัคซีน mRNA ของจุฬาฯ กำลังพัฒนา มีความหวังขึ้นอย่างมาก เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้คาดหวังว่าผลของวัคซีนจะสูงถึง 90% องค์การอนามัยโลกเองก็ตั้งเป้าไว้เพียง 50% เท่านั้น โดยวัคซีนดังกล่าวยู่ระหว่างทดสอบในสัตว์ทดลองเพื่อดูประสิทธิผลของวัคซีน ก่อนเริ่มทดสอบในคนราวเดือน ม.ค. 2564

พร้อมกันนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ไทยจองซื้อ วัคซีนโควิด 19 จากแอสตราเซนเนกา จำนวน 26 ล้านโดส วงเงิน 6,049,723,117 บาท เพื่อให้คนไทย 13 ล้านคนเข้าถึงวัคซีนเป็นประเทศแรกๆ ที่เข้าถึงวัคซีน เนื่องจากหากไม่รีบจองซื้อ พอถึงวันที่วัคซีนสำเร็จก็อาจไม่ได้มาหรืออาจต้องจ่ายในราคาต้นทุนถึงโดสละ 20 เหรียญสหรัฐฯ โดยการจองซื้อจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมาด้วย เพื่อให้ผลิตได้เองภายในประเทศ ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการขนส่งและความเสียหาย ที่สำคัญวัคซีนที่สำเร็จต้องผ่านกระบวนการรับรองต่างๆ มีความปลอดภัยสำหรับผู้รับวัคซีน

ตามที่กล่าวข้างต้นว่า การค้นพบวัคซีนต้านโควิด ไม่ได้หมายความว่าการแพร่ระบาดของโควิด – 19 จะยุติลงทันที ข้อจำกัดการเข้าถึงวัคซีนเป็นต้นว่ากำลังการผลิตต่างๆ ยังไม่สามารถผลิตวัคซีนออกมาได้เพียงพอกับประชากรทั่วโลก

 อย่างไรก็ตาม นับเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์หลังโลกเผชิญวิกฤตโรคระบาดรุนแรงมานานแรมปี ขณะที่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลก ณ วันที่ 19 พ.ย. 2563 พุ่งทะยานกว่า 56 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 1.3 ล้านราย “วัคซีนโควิด ความหวังแห่งมนุษย์ชาติ ใกล้สำเร็จลุล่วงแล้ว 100 %” 


กำลังโหลดความคิดเห็น