ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “พาวเวอร์แบงก์” หรือ “แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้า” ที่ไม่ได้มาตรฐานนำมาซึ่งความเสียหายรุนแรง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตกเป็นข่าวคึกโครมเป็นต้นตอเหตุ “ระเบิด -ไฟไหม้” อยู่บ่อยครั้ง ล่าสุด สมอ. ออกประกาศพาวเวอร์แบงก์เป็น “สินค้าควบคุม” ตามมาตรด้านความปลอดภัย มอก. 2879-2560 ตั้งแต่ 16 พ.ย. 2563
ปฏิเสธไมได้ว่า “พาวเวอร์แบงก์” กลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่ทุกคนต้องพกติดตัว เพราะการในการใช้งานมือถือในแต่ละวันบางครั้งใช้งานหนักพลังงานแบตเตอรี่ในตัวเครื่องไม่เพียงพอ ดังนั้นต้องอาศัยพาเวอร์แบงก์ในการชาร์ทเพื่อการใช้งานราบรื่นตลอดทั้งวัน
ก่อนหน้านี้ นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่าการกำหนดให้พาวเวอร์แบงก์เป็นสินค้าควบคุม เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชน หลังจากที่มีข่าวพาวเวอร์แบงก์ระเบิด และเกิดเพลิงไหม้บ่อยครั้ง ทั้งกรณีวางไว้อยู่ในรถที่ตากแดดเป็นเวลานาน หรือชาร์จทิ้งไว้ในบ้านพัก แล้วเกิดเหตุระเบิดจนไฟลุกไหม้ที่พักอาศัย สร้างความเสียหายและอันตรายแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก
กระทั่ง สมอ. ออกประกาศกำหนดให้ “พาวเวอร์แบงก์” เป็น “สินค้าควบคุม” ตามมาตรด้านความปลอดภัย มอก. 2879-2560 ตั้งแต่ 16 พ.ย. 2563 พาวเวอร์แบงค์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดทุกยี่ห้อ ต้องมีเครื่องหมาย มอก. รับรอง โดยผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาตจาก สมอ. ก่อนผลิตหรือนำเข้า ตลอดจนร้านค้าที่จำหน่ายเพาเวอร์แบงก์ต้องขายเฉพาะที่มีเครื่องหมาย มอก. เท่านั้น
ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามกฎหมาย กรณีที่ผลิตหรือนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีร้านค้าขายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.itisi.go.th
สำหรับสินค้าควบคุม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ระบุให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) สามารถกำหนดสินค้าหรือบริการควบคุมได้ เพื่อป้องกันการกำหนดราคาซื้อ-ขายที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
ประเด็นการนำเพาเวอร์แบงก์เข้าลิสต์สินค้าควบคุมนั้น สมอ. ส่งสัญญาณตั้งแต่ช่วงต้นปี เพื่อให้บรรดาผู้ประกอบการเตรียมตัวกันตั้งแต่เนิ่นๆ โดยที่ผ่านมามีผู้ประกอบการมากกว่า 100 ราย ที่ผลิต หรือนำเข้า ให้มายื่นขอใบอนุญาต เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย และให้การค้าขายเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ย. 2563 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม พาวเวอร์แบงก์ไม่มีคุณภาพเป็นชนวนให้เกิดเหตุระเบิดไฟไหม้ ซึ่งทางสายการบินทั่วโลกได้ออกกฏห้ามนำพาวเวอร์แบงก์ที่มีความจุสูงขึ้นเครื่อง ตามมาตรฐานความปลอดภัยของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่า พาวเวอร์แบงก์ความจุไม่ถึง 20,000 mAh สามารถนำขึ้นเครื่องได้ไม่จำกัดจำนวน, พาวเวอร์แบงก์ความจุ 20,000 – 30,000 mAh สามารถนำขึ้นเครื่องได้ไม่เกิน 2 ก้อน และ พาวเวอร์แบงก์ความจุมากกว่า 32,000 mAh ห้ามนำขึ้นเครื่องทุกกรณี
ข้อมูลวิชาการกรณีการระเบิดของพาวเวอร์แบงก์ระบุชัดมีสิทธิ์เกิดขึ้นได้ โดยปัจจัยสำคัญคือ หากพาวเวอร์แบงก์นั้นๆ เป็นรุ่นเก่าที่ยังเป็นแบบ “ลิเธียมไอออน” (Li-Ion) ที่เก่าและเสื่อมคุณภาพ จะเป็นตัวเร่งการเกิดเหตุระเบิดได้
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์พาวเวอร์แบงก์ระเบิดที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งในประเทศไทย ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยอธิบายความว่า
“พาวเวอร์แบงก์ระเบิดเพราะว่า แบตเตอรี่แบบ ลิเธียมไอออน นี้มีราคาถูกและจุปริมาณไฟฟ้าได้มาก แต่ทว่าก็มีโอกาสที่จะเกิดการลัดวงจร, ระเบิด หรือติดไฟจนลุกไหม้ได้ ถ้าหากเป็นของที่ผลิตออกมาไม่ได้คุณภาพ, ระบบตัดวงจรควบคุมไฟมีปัญหา หรือว่าหมดอายุการใช้งานแล้ว ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้ แบตเตอรี่แบบที่เป็น “ลิเธียมโพลิเมอร์” (Li-Po) จะมีความปลอดภัยมากกว่า
“และยิ่งการใช้งานอย่างไม่เหมาะสม ก็เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ พาวเวอร์แบงก์ระเบิดได้ อาทิเช่น ถูกน้ำจนทำให้วงจรป้องกันเสียหาย, ได้รับความร้อนที่สูงมาก, ชาร์จด้วยกระแสไฟที่สูงเกิน, ได้รับการกระแทกอย่างแรง”
สำหรับแบตเตอรี่แบบ ลิเธียมไอออน เป็นโลหะที่ไวไฟต่อปฏิกริยาเคมีมาก และอาจจะเกิดการลัดวงจรเมื่อเจอความร้อนที่สูจนติดไฟ เช่นกรณีพาวเวอร์แบงก์ระเบิดขณะใช้งานมือถือและกำลังชาร์จไฟไปด้วย แม้กระทั่งการระเบิดโดยที่ไม่ได้มีการเสียบชาร์จอยู่ก็มีความเป็นไปได้ เพียงแต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยหนึ่งในล้าน
ขณะนี้ สมอ. ประกาศให้พาวเวอร์แบงก์เป็นสินค้าควบคุม ตามมาตรด้านความปลอดภัย มอก. 2879-2560 ต้องมีตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานการผลิต มอก. รับรอง การันตีผ่านการทดสอบความปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว
นอกจากเรื่องกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยข้างต้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า “พาวเวอร์แบงก์” เสื่อมสภาพการใช้งานกำลังเป็นปัญหาเพิ่มอัตรา “ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E – Waste)” หรือซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำงานที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน เสื่อมสภาพ เช่น มือถือ แบตเตอร์รี่ พาวเวอร์แบงก์ หูฟัง Gadget ต่างๆ ฯลฯ ซึ่งจะกลายเป็นขยะอันตรายถ้าหากทิ้งไม่ถูกที่หรือใช้วิธีกำจัดที่ไม่ถูกต้อง
ขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นทุกวันปริมาณทั่วโลก 40 ล้านตันต่อปี และมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ต่อปี ข้อมูลสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ และกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่ามีการเพิ่มปริมาณขยะตั้งแต่ปี 2011 มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ 41.5 ล้านตัน และปี 2016 เพิ่มขึ้นมามากถึง 93.5 ล้านตัน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง ประเทศจีนที่คาดว่าภายในปี 2020 นี้ จะมีการทิ้งโทรศัพท์มือถือ มากกว่า 7 เท่าตัว ประเทศอินเดียจะทิ้งโทรศัพท์มือถือมากกว่าถึง 8 เท่าตัว
สัดส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ 32% เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่น กล้องวิดีโอ ของเล่น เครื่องปิ้งขนมปัง ที่โกนหนวดไฟฟ้า รองลงมา 24% เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น เครื่องครัว เครื่องถ่ายเอกสาร รวมถึงแผ่นโซลาร์เซลล์
อย่างไรก็ตาม ขยะอิเล็กทรอนิกส์จัดเป็นขยะที่อันตราย ไม่สามารถกำจัดโดยการฝังกลบหรือเข้าโรงเผาขยะเพราะอาจทำให้เกิดการรั่วไหลของสารพิษอย่าง ตะกั่ว ปรอท คลอรีน แคดเมียม และโบรมีนลงสู่น้ำและดิน ทำให้ตกค้างตามแหล่งน้ำเหนือผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดินที่จะถูกนำไปใช้บริโภคและอุปโภคในชีวิตประจำวัน หรือทำให้เกิดควันพิษที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศโดยตรง ก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ฯลฯ ทำให้เกิดการปนเปื้อนแทรกซึมเข้าไประบบนิเวศ ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพ
รายงานของ Global e-Waste Monitor 2020 คาดการณ์ที่ว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวภายในปี 2030 และจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ทั้งอันตรายโดยตรงต่อบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับขยะ และโดยอ้อมจากผลที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม สารปรอทกว่า 50 ตันติดอยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีการติดตามอย่างเป็นระบบ และส่วนใหญ่จะถูกปล่อยกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม โดยสารปรอทนั้นเป็นสารนูโรท็อกซินจะส่งผลต่อสมอง สร้างความเสียหายต่อการพัฒนาการของเด็กอีกด้วย
รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า มนุษย์อยู่ในจุดเริ่มต้นของเทรนด์การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มสูงขึ้นไปทั่วทุกที่ เท่ากับการเป็นการเพิ่มปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตด้วย
สำหรับประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชนกว่า 380,000 ตันต่อปี ทว่าขยะเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ถูกวิธีเพียง 7% ส่วนที่เหลือนอกจากจะไปกองรวมกับขยะมูลฝอยอื่นๆ เข้าสู่กระบวนการฝังกลบ บางส่วนพ่อค้ารับซื้อของเก่าจะรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่า นำส่งแหล่งคัดแยกขยะที่ไม่ได้มาตรฐานซึ่งมีอยู่มากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดจนเร่งให้เกิดปัญหาด้านสุภาพ
การจัดการกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้ประสิทธิภาพจะต้องได้รับการร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยรัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมดูแล ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกกำหนดให้ผู้ขายและผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีส่วนรับผิดชอบในการรีไซเคิลขยะจากผลิตภัณฑ์ของตน มีการเก็บภาษีรีไซเคิลกับผู้ซื้อสินค้า
เช่น สหรัฐฯ ราคาสินค้าที่แสดงในร้านค้าจะไม่รวมภาษี และหากเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จะมีค่า Recycle Fee หรือค่าใช้จ่ายในการจัดการรีไซเคิลเพิ่มขึ้น เพราะถือว่าผู้บริโภคได้สร้างขยะที่จัดการยากเลย หรือ ญี่ปุ่น ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีการจัดระเบียบจัดการขยะอย่างเคร่งครัด ประชาชนต้องค่ารีไซเคิลหากต้องการจะทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
สถานการณ์ขยะอิเล็กทรอนิกส์ของไทย E-Waste ยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี สถิติของกรมควบคุมมลพิษพบว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง จาก 357,000 ตันในปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 384,233 ตันในปี 2558 ในปี 2559
ทั้งนี้ พบซากโทรศัพท์มือถือมากที่สุด ด้วยจำนวน 10.9 ล้านเครื่อง รองลงมาคืออุปกรณ์เล่นภาพหรือเสียงขนาดพกพาจำนวน 3.57 ล้านเครื่อง คาดว่าปี 2564 จะพบซากโทรศัพท์มือถือจำนวน 13.42 ล้านเครื่อง และอุปกรณ์เล่นภาพหรือเสียงขนาดพกพาประมาณ 3.65 ล้านเครื่อง
หากแนวโน้มขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ภายในประยะเวลาไม่เกิน 10 ปีนับจากนี้ เมืองไทยจะเผชิญกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ขั้นวิกฤต ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในเรื่องเร่งด่วนที่ภาครัฐต้องจัดการอย่างเป็นรูปธรรม