xs
xsm
sm
md
lg

ยกนิ้วให้!! “ผอ.หญิงนักพัฒนา” หลักสูตรนอกห้องเรียนแน่น “ปลูกผัก-แยกขยะ-ทำบัญชี” [ มีคลิป ]

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจ “ผอ.ปัทมา” ผู้บริหารหญิงสายลุย แห่งโรงเรียนวัดหวายเหนียวปุญสิริวิทยา เพียง 2 ปีที่ได้เข้ามา ก็เปลี่ยนโรงเรียนให้ดีขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ เผย ไม่มีอุดมการณ์ แต่ทำงานด้วยด้วยความเชื่อที่ว่า “เด็กพัฒนาได้”

เนรมิตโรงเรียนให้ดีขึ้นภายใน 2 ปี

“จริงๆ แล้วไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนมีอุดมการณ์ เป็นความชอบส่วนตัวมากกว่า แม่จะบอกว่าเราเป็นคนรักเด็กตั้งแต่เด็กๆ เวลาเล่นกับเด็ก ได้ผูกพันกับเด็กจะชอบ มีความคิดว่าเด็กพัฒนาได้ จะดีแค่ไหนไม่รู้ แต่อยากให้ดีขึ้นมากกว่า อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง”

ปัทมา สายสอาด ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหวายเหนียวปุญสิริวิทยา ต.หวายเหนียว อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เปิดใจกับผู้สัมภาษณ์ ในฐานะที่เธอถูกยกย่องให้เป็น “ผอ.นักพัฒนา” เพราะระยะเวลาเพียง 2 ปี ที่ ผอ.ปัทมา ก้าวเข้ามาบริหารสถานศึกษาแห่งนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงโรงเรียนไปอย่างสิ้นเชิง

และแม้จะต้องประสบปัญหาที่ยากแก่การแก้ไข แต่เธอก็พยายามทำให้ดีที่สุด จนได้รับรางวัล คุรุเกียรติคุณ ประเภทผู้บริหารสถานศึกษาดีเด่น ในปี 2561 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และรางวัลอื่นๆ อีกมากมายมาสู่โรงเรียน



สำหรับโรงเรียนแห่งนี้ เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ที่เปิดสอนในระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งสิ้น 528 คน เมื่อครั้งที่ ผอ.ปัทมา เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้บริหารใหม่ๆ พบว่ามีปัญหาหลายด้านที่ต้องเร่งเข้ามาแก้ไข ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ปัญหาอาคารเรียนที่เก่าและทรุดโทรม

“สภาพที่มาครั้งแรกคือ ตึกใหญ่แต่ไม่ได้ใช้ มีคำสั่งให้รื้อถอนไปแล้ว ครบวาระที่ต้องรื้อถอนเพราะอาคาร 55 ปีขึ้นไป แต่เนื่องจากว่าไม่มีงบประมาณในการรื้อถอน สภาพทรุดโทรม สิ่งที่อยากทำอีกอย่างคืออาคารเริ่มทรุดโทรม ถ้าเกิดวันดีคืนดี เกิดเหตุอะไร ก็จะทำให้เกิดความเสียหายถึงชีวิตได้

ปัญหาที่เราเจอมาครั้งแรก เห็นแล้วอยากทำ ก็คือเรื่องระเบียบวินัยของนักเรียนก่อน แล้วก็เรื่องสภาพความพร้อมใช้อาคารสถานที่ ที่เด็กควรได้รับ ในการที่จะจัดกระบวนการเรียนการสอนให้ดี ประกอบไปด้วยสื่อการเรียนการสอน”



นอกจากอาคารสถานที่ที่ปัจจัยพื้นฐานที่โรงเรียนแห่งนี้แล้ว ปัญหาความยากจน การขาดโอกาสทางการศึกษา ยังเป็นอีก 1 ปัญหาที่นี่ ที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

“สังเกตก่อนอันดับแรก เห็นเด็กมาโรงเรียนสายบ้าง บางคนก็ไม่มา ทำไมขาดเรียน ให้คุณครูสำรวจแล้วแจ้งรายชื่อมา คนไหนขาดประจำขาดบ่อย ตอนนี้หายไปแล้ว ก็ให้คุณครูทำการติดตาม ก็เริ่มตั้งแต่ตอนนั้น

พอเราไปบ้านแต่ละบ้าน จะได้รู้ว่าเขามีปัญหาหลายเรื่อง สภาพแวดล้อมบ้านเขาเอง ปัญหาครอบครัว หย่าร้าง พ่อแม่ไม่สามารถทำงานที่บ้านตัวเองได้ ต้องไปทำงานต่างจังหวัด ไม่มีเวลาดูแลลูก ลูกอยู่กับปู่ย่าตายาย

พื้นฐานดั้งเดิม ความรู้สำคัญ ที่ดูแล้วส่วนใหญ่ผู้ปกครองเรียนไม่สูง การศึกษาค่อนข้างต่ำ ไม่ได้ตามมาตรฐาน ทำให้การศึกษาที่จะส่งต่อไปทางบุตรหลาน หรือจะส่งเสริมให้เกิดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็ต่ำไปด้วย”

ผอ.สายลุย ลงพื้นที่ด้วยตนเอง

จากการพูดคุยกับ ผอ.ปัทมา ทำให้ทราบว่าในพื้นที่การศึกษาของโรงเรียนนี้ มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ครอบครัวมีฐานะยากจน คุณภาพชีวิตค่อนข้างต่ำทีมข่าวจึงตัดสินใจลงพื้นที่พร้อม ผอ.เพื่อไปตรวจสอบข้อมูล โดยไปกันที่บ้านของน้องจาที่เป็นเด็กพิเศษ พิการซ้ำซ้อน และครอบครัวค่อนข้างขัดสน

จากการที่ได้เข้าไปตรวจสอบบ้านของน้องจา ก็พบว่าบ้านหลังนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯได้เข้ามาสร้างให้นานแล้ว เป็นบ้านขนาดเล็ก มีพื้นที่เพียง 19 ตารางวา โดยมีทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็กพิเศษ อาศัยอยู่รวมกันทั้งหมด 7 ชีวิต ซึ่งมีพ่อและแม่ของน้องจา เป็นผู้หารายได้เลี้ยงครอบครัว ด้วยการทำงานรับจ้างรายวัน มีรายได้ไม่แน่นอน โดย ผอ.อยากให้มีการช่วยเหลือด้านของที่พักผู้ป่วยเป็นอันดับแรก



“อยากให้ดูเรื่องของที่อยู่ที่นอนก่อน เพราะว่าผู้ป่วยก็นอนนอกบ้าน เป็นผู้ป่วยติดเตียง ในส่วนของน้องจา โรงเรียนน่าจะช่วยเหลือได้อยู่ ถ้าทางบ้าน ภาระพ่อเขาก็ทำงานคนเดียว ก็จะมีภาระหลายๆ อย่าง

ที่เร่งด่วนคือเรื่องไฟฟ้า เห็นแม่เขาบอกสายไฟมันเก่าแล้ว ถ้าลัดวงจรขึ้นมาก็หมดทั้งหลัง เกิดความเสียหาย ตอนนี้มีใช้อยู่ เพียงแต่ว่าเขาห่วง เพราะมันเก่า นานแล้ว และมีหนี้สินจะเป็นหนี้รายวัน ไปติดค่ากับข้าวมา ทำงานได้ถึงไปจ่าย ไปเอามาก่อน อาจจะเป็นมื้อเช้าที่ต้องกิน พอทำงานได้ ตอนเย็นก็เอาเงินไปจ่าย”

ไม่เพียงแค่การลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนในการดูแลเท่านั้น ผู้บริหารท่านนี้ยังลงพื้นที่เพื่อขอทุนสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีหลายภาคส่วน เพื่อนำมาพัฒนาโรงเรียนอีกด้วย



เราต้องลงไปถึงบ้าน เข้าไปตามบ้านเลย ทำหนังสือติดไปด้วย ก็จะมีครูเก่าๆ ที่เกษียณไปแล้วหรือกำลังจะเกษียณ จะเป็นคนในพื้นที่ ดีตรงที่ว่าครูในพื้นที่เยอะ เราก็จะคุยว่า เอาแบบนี้ๆ แล้วก็จะมีศิษย์เก่าหลายๆ ท่านนึกถึงโรงเรียน และอยากกลับมาช่วยเหลือโรงเรียน

เขาเห็นว่าเราเอาไปทำจริง มีพัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ โรงเรียนมีพัฒนาการตลอด เด็กจากที่ผลการเรียนรู้ต่ำ จนเราฝึกเด็กให้ไปประกวดได้ชนะเลิศ ไปแข่งอะไรก็ติดลำดับถึงระดับภาค ก็จะมีผลงานต่อเนื่องเรื่อยๆ จะลงเฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์ มีแจกของ อันนี้คิดเองนะคะว่าเขาน่าจะเชื่อมั่นกับเราว่า เรานำเงินไปแล้ว เราเอาไปใช้จริงกับเด็ก”



และอาจจะกล่าวได้ว่า ผอ.ปัทมา เป็นผู้บริหารสายลุยก็ว่าได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ธีรญา เหงี่ยมจุล ครูโรงเรียนวัดหวายเหนียวปุญสิริวิทยา เป็นผู้มาช่วยยืนยัน

“ผอ.เป็นคนที่ลงรายละเอียดในทุกๆ เรื่อง ไม่ปล่อยผ่าน ขนาดบางวันไปประชุม แกต้องกลับมาที่โรงเรียน แล้วส่วนใหญ่จะกลับเป็นคนสุดท้าย

มีอยู่ครั้งนึง วันนั้นมันค่ำแล้ว พอดีครูผ่านมาทางโรงเรียน ฝนตกหนัก ไฟดับ แต่พอผ่านมาหน้าโรงเรียนแล้วประตูมันเปิดเลยแวะเข้ามาดู ผอ.เดินถือไฟฉายกระบอกนึง ลมมันแรงมาก พัดของบนเวทีระเนระนาดหมด แกเดินเก็บเดินทำ แล้วห้องแกก็รั่ว ไฟดับ ผู้หญิงคนเดียวเดินดูแลความเรียบร้อย นึกในใจชื่นชมค่ะ ช่วงนั้น ผอ.มาใหม่ๆ เรายังนึกเลย ผู้หญิงจะทำอะไรได้มาก แต่แกแกร่ง เป็นผู้หญิงแกร่งจริงๆ”

ต่อยอดทักษะชีวิตนอกห้องเรียน

นอกจากการแก้ปัญหาในกลุ่มเด็กยากจน ให้ได้มีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมแล้ว การจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะชีวิตให้แก่เด็ก เป็นสิ่งที่ ผอ.ปัทมา ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

“พื้นที่ของโรงเรียน ด้านหลังยังใช้ไม่เกิดประโยชน์เท่าไหร่ เราเลยไปทำเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นนโยบายด้วย และอยากปลูกฝังให้เด็กมีความรับผิดชอบ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมประชารัฐ และอาหารกลางวัน ตอนนี้นำมาส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ และอาจจะนำไปใช้ต่อยอดกับที่บ้านได้ ก็เลยทำโครงการ Smart Farm ขึ้นมา คือ การปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงปลาดุก ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ทำสวนหม่อน ปลูกกล้วย ปลูกมะนาว ตอนนี้ทำโรงเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน

เด็กก็รู้หน้าที่ของตัวเองว่า ได้ผลผลิตก็จะไปขาย ถ้ามีเยอะมากพอเข้าอาหารกลางวันได้เราก็เตรียมเลย วันนี้เห็ดเยอะก็เข้าโครงการอาหารกลางวันไป เอาไป และเป็นรายได้ มีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ของที่เหลือก็เอาไปขายคุณครู คุณครูซื้อหมดแล้ว ไม่พอก็จะไปขายข้างนอก ก็จะมีตลาดนัดหน้าโรงเรียน ให้เด็กไปขายเพิ่ม



แม้กระทั่งการเรียนทำขนม เบเกอรี่ในโครงการประชารัฐ เด็กมัธยมก็เรียนทำพวกคุกกี้ ขนมปัง ขายเข้าโครงการอาหารกลางวัน เอามาแจกเด็กๆ ในมื้อวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ เป็นอาหารเช้า เราจะเลี้ยงอาหารเช้าเด็กๆ เราพยายามบริหารจัดการงบให้ได้”

ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีโครงการอื่นๆ ที่นักเรียนสามารถนำไปปรับใช้ และสร้างรายได้พร้อมกับที่บ้านได้ นั่นก็คือ โครงการคัดแยกขยะ

“ตอนนี้เริ่มดีขึ้นจากปีแรก เหนื่อยเหมือนกัน คุณครูก็เคี่ยวเข็ญเด็ก จากพื้นฐานที่บ้านด้วย เรื่องการคัดแยกขยะยังไม่มี แล้วก็การทิ้งขยะรวม เราก็ดูว่าเป็นปัญหาระดับประเทศ โรงเรียนเราก็เป็น ขยะหน้าโรงเรียนเต็มถังทุกถัง แต่ก่อนมาใหม่ๆ จะล้น มีกี่ถังก็ล้นหมด หน้าโรงเรียนไม่สวยเลยใครผ่านไปผ่านมา ก็เลยคุยกับคุณครูว่าต้องทำคัดแยกขยะ ไม่งั้นเราแก้ปัญหาการทิ้งขยะไม่ได้ ก็แยกขวด มีถังแยกสี สีเหลือง สีน้ำเงิน สีเขียว

นอกจากคัดแยกขยะ ขวดพลาสติกอะไรต่างๆ แล้ว เด็กจะมีกิจกรรมในชุมนุมการธนาคารขยะ ก็เริ่มเก็บและให้คุณครูส่งเสริมการออกเยี่ยมบ้านเด็กในปีการศึกษานี้ คุณครูก็จะไปเยี่ยมบ้าน ที่บ้านเด็กต้องคัดแยกขยะ บ้านไหนยังไม่คัดแยกขยะคุณครูติดตามนะ มีการปลูกผักมั้ย ผอ.ให้ปลูกผักที่บ้านด้วย เพราะเราสอนไปแล้ว ก็จะติดตาม”



เมื่อให้ ผอ.ปัทมา ประเมินผลงานของตนเองในระยะเวลา 2 ปี ที่ได้เข้ามาดูแลบริหารโรงเรียนขยายโอกาสแห่งนี้ เธอกล่าวว่าอาจจะยังไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ แต่ตอนนี้ก็ถือว่าเดินมาได้ไกลมากแล้ว เพราะทำให้เกิดผลงานเชิงประจักษ์ในหลายๆ ด้าน และโรงเรียนแห่งนี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งด้านอาคารสถานที่ คุณภาพการศึกษา คุณภาพชีวิตของนักเรียน และที่สำคัญ ความสุขของเด็กๆ ที่ได้มาโรงเรียนในแต่ละวัน

จนนำมาซึ่งรางวัลแห่งเกียรติยศ คือ รางวัลคุรุเกียรติคุณ ประเภทผู้บริหารศึกษาดีเด่น ในปี 2561 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย ที่ถือว่าเป็นผลลัพธ์ของการทำงาน โดยเธอมองอนาคตหลังจากนี้ไว้ว่า อยากพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

“เอาเป็นว่าคาดหวังเท่าไหร่ไม่สำคัญ ตอนนี้อยากรู้ว่าพัฒนาการของนักเรียนและคุณครูดีขึ้นมั้ย เป็นลำดับมั้ย ที่ตอนนี้ ผอ.เห็นทุกอย่างดีขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรรมการการศึกษาเอง ท่านเห็นเราทำงานก็สนับสนุน เวลามีกิจกรรมก็จะมาร่วมทุกครั้ง ทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี นักเรียนกับคุณครูเริ่มปรับตัวเองได้ เป็นคนทำงานจริงจัง ถ้าทำแล้วก็อยากให้ดี แต่ก็ค่อยๆ ทำก็ได้ ถ้าทำไม่ไหวก็บอกนะ เราก็จะบอกเขา เราก็จะช่วยกัน



พื้นฐานที่สำคัญ ต้องอ่านออกเขียนได้ และเข้าใจกับชีวิต สภาพตัวเอง จะบอกเด็กๆ ว่า ถึงแม้ครอบครัวจะมายังไง เป็นยังไง แต่สำคัญเลยตัวเองเมื่อมากเรียนแล้วต้องรู้ ทำตัวเองให้ดีขึ้น นักเรียนอยากพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองมั้ย อยากอยู่อย่างนี้ตลอดไปรึเปล่า ถ้าไม่อยากเป็นต้องตั้งใจเรียน ขยัน

ถ้ามีปัญหาบอกครู บอก ผอ.นะ ผอ.ช่วยได้ ไม่มีอะไรที่ช่วยไม่ได้ แต่เราต้องช่วยตัวเองด้วย สิ่งนึงก็คือคิดว่าถ้าเขาไปแล้ว อยากให้เขารักและกลับมาดูแลโรงเรียน เหมือนกับคณะกรรมการของโรงเรียนที่ว่าท่านจบไปแล้วกี่ปี ท่านก็ยังกลับมาช่วยเหลือโรงเรียน ดูแลน้องๆ ส่วนของคุณครู ก็พัฒนาศักยภาพตัวเอง สอนยังไงให้เด็กมีความสุข ให้เด็กอยากมาโรงเรียน เข้าห้องแล้วมีความสุข สนุกกับการเรียน เด็กก็อยากมาโรงเรียนทุกวัน”

ขึ้นชื่อว่าการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานประเภทใด ย่อมประสบปัญหาอุปสรรคได้เสมอ โดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนหรือเด็กที่มาจากร้อยพ่อพันแม่ ฉะนั้น ผู้ที่เป็นครูหรือผู้บริหารการศึกษา จึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจธรรมชาติของงาน ที่มีความสลับซับซ้อน โดยนำความรู้ความสามารถ และหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก มาประกอบกับกิจการงาน ทำให้สิ่งนั้นสำเร็จ ดังเช่น ผอ.หญิงแกร่งนักพัฒนาผู้นี้…



สัมภาษณ์ : รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น