xs
xsm
sm
md
lg

ระดม “นักสร้างการเปลี่ยนแปลง”ระดับแนวหน้า แบ่งปันประสบการณ์ หัวข้อ “โอกาสใหม่สังคมไทย”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในห้วงการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยทุกยุคสมัย การเสริมสร้าง “พลังพลเมือง” ถือเป็นเรื่องสำคัญ และการจะพิสูจน์พลังดังกล่าว สะท้อนได้จากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สิ่งนี้นับว่าเป็น “โอกาสใหม่” ของสังคมไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิหัวใจอาสาและภาคีเครือข่ายกว่า 40 องค์กร ได้ร่วมกันจัด งานปาฐกถาไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ 7 หัวข้อ “โอกาสใหม่สังคมไทย” เพื่อเปิดพื้นที่ความคิด เผยแพร่ แบ่งปันเครื่องมือแก้ปัญหาสังคม ผ่านการบอกเล่าประสบการณ์โดยคนทำงานตัวจริง ที่เรียกว่า “Changemaker” หรือ“นักสร้างการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งงานนี้จัดขึ้นเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของ “อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” ปูชนียบุคคลที่อุทิศตนในการพัฒนาสังคมมานานเท่าชีวิตการทำงาน (ชมวิดีทัศน์รวบรวมชีวประวัติ นาทีที่ 2.12 www.youtube.com/watch?v=Q9xfw2DTSjA&t=3838s )โดยสิ่งที่ท่านได้ยึดถือและเน้นย้ำตลอดมา คือ การสร้างพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันเสริมสร้างพลังพลเมืองขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคม

Changemakers ของงานนี้ล้วนมีประสบการณ์และเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม เริ่มจาก “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานทีดีอาร์ไอ “คุณธานินทร์ ทิมทอง” ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด “นพ.สันติ ลาภเบญจกุล” ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการลำสนธิไม่ทอดทิ้งกันและผอ.โรงพยาบาลท่าวุ้ง จ.ลพบุรี “อาจารย์นพพร สุวรรณรุจิ” ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม “ดร.ต่อตระกูล ยมนาค” ผู้สังเกตการณ์อิสระ โครงการข้อตกลงคุณธรรม – Integrity Pact “คุณธนิสรา เรืองเดช” ผู้ร่วมก่อตั้ง Elect & Punch Up “คุณอรพิน ยิ่งยงพัฒนา” ผู้ร่วมก่อตั้ง Vote62.com “คุณวริษฐา นาครทรรพ” ที่ปรึกษามูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) “คุณสุวิตา จรัญวงศ์” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเทลสกอร์ จำกัด “คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด “รศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์” สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้มาเพียงบอกเล่าสิ่งที่ได้ลงมือทำ แต่เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจ ให้ช่องทางหรือกลไกการแก้ปัญหาสังคมที่ยังรอประชาชนคนไทยจำนวนมาก มาร่วมกันขับเคลื่อน…สร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน

“คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม”ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา www.vhf.or.th กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานปาฐกถาไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ 7 “โอกาสใหม่สังคมไทย” ว่า เพื่อเป็นการสืบสานเจตนารมณ์ของอาจารย์ไพบูลย์ซึ่งมีความสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมโดยเฉพาะโควิด-19 โดยมองว่าพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการริเริ่มสร้างสรรค์และร่วมมือกันแก้ปัญหาสังคมอย่างหลากหลายจะเป็นโอกาสใหม่ของสังคมไทยในการสร้างพลังเพื่อลงมือแก้ไขปัญหา และความเข้มแข็งให้กับสังคมพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการริเริ่มสร้างสรรค์และร่วมมือกันแก้ปัญหาสังคมอย่างหลากหลายจะเป็นโอกาสใหม่ของสังคมไทยในการในการสร้างพลังเพื่อลงมือแก้ไขปัญหา และความเข้มแข็งให้กับสังคม

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) www.tdri.or.th นักวิชาการที่มองภาพรวมการขับเคลื่อนสังคมไทย กล่าวในงานนี้ว่า วิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับทั่วโลกได้พิสูจน์แล้วว่าลำพังการมีภาครัฐที่เข้มแข็งไม่เพียงพอต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคสังคม และถ้าถามว่าประเทศแบบไหนจะรอดในโลกข้างหน้าความสามารถของภาครัฐจะไม่ใช่ปัจจัยเดียว ที่เหนือไปกว่านั้นจะเป็นการเชื่อมประสานระหว่างรัฐ ธุรกิจ และสังคม

การพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมาเน้นการสร้างความเข้มแรงของภาครัฐ การเติบโตของภาคธุรกิจ แต่ภาคสังคมกลับถูกทอดทิ้ง จึงเกิดวิกฤติในการพัฒนา ดังกรณีหนังสือ The Third Pillar ของ Raghuram Rajan ที่กล่าวถึง 3 เสาหลักที่ค้ำจุนสังคม ได้แก่ รัฐ-ตลาด-ชุมชน ความสมดุลของ 3 เสาหลักนี้ ทำให้สังคมเจริญมั่งคั่ง นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมีแนวคิดนิยมบทบาทของรัฐ แต่บางคนชื่นชมบทบาทของกลไกตลาด แต่เสาหลักที่ 3 คือชุมชนกลับถูกมองข้าม

“ที่ผ่านมาเรามักจะให้ความสำคัญกับสองเสาหลักนั่นคือ ภาครัฐและภาคธุรกิจ แต่เสาที่ 3 ถ้าสั้นกว่า 2 เสาแรก สังคมจะเดินไปไม่ได้ หากเสาหลักทั้งสามมีความเข้มแข็งทัดเทียมกัน สังคมจะสร้างเงื่อนไขให้คนเราสามารถมีชีวิตที่ดี แต่หากเสาใดเสาหนึ่งอ่อนแอลงก็จะสั่นคลอนโครงสร้างหรือระบบในสังคมทั้งหมด”

“ธานินทร์ ทิมทอง” ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด www.learneducation.co.th เชื่อว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่อยู่ในใจทุกคน และปัญหาหลักของการศึกษาก็คือ ความเหลื่อมล้ำและคุณภาพการศึกษา จึงเป็นที่มาของบริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ที่เชื่อว่าครูมีความสำคัญและเทคโนโลยีก็เป็นเครื่องมือที่ทำให้คุณภาพการศึกษากระจายไปสู่พื้นที่ต่างๆ ได้ กว่า 9 ปี เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น เริ่มด้วยการทำเนื้อหาการเรียนการสอนวิชาวิทย์ คณิต ที่สนุกและเข้าถึงง่าย พร้อมกับการให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า 5,000 โรงเรียน คิดเป็นจำนวนนักเรียนและครูกว่า 100,000 คน จนพัฒนาและยกระดับมาสู่การทำแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์แบบผสมผสาน หรือที่เรียกว่า “Online Blended Learning Solution” กระจายไปสู่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ครอบคลุมนักเรียน 120,000 คน ใน 5 จังหวัดทั่วประเทศ กว่า 300 โรงเรียน

ด้วยความเชื่อว่าปัญหาการศึกษามีความซับซ้อนและเป็นเรื่องระยะยาว การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายจึงทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพและแก้ปัญหาได้จริง เช่นเดียวกับที่เลิร์น เอ็ดดูเคชั่นเข้าไปเป็นภาคีใน “โครงการร้อยพลังการศึกษา” โครงการความร่วมมือเชื่อมร้อยพลังผู้คนในสังคมไทยที่มีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพการศึกษาและช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ขาดโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการรวบรวมองค์กรที่ทำงานเพื่อพัฒนาการศึกษาในด้านที่ต่างกันช่วยเหลือใน 3 ด้าน (1)การเข้าถึงการศึกษา (2)คุณภาพการศึกษา (3) ทักษะชีวิต ด้วย 6 เครื่องมือ ดังนี้ (1)ทุนการศึกษา (2)ห้องเรียนดิจิทัล คณิต / วิทย์ (3)เรียนภาษาอังกฤษออนไลน์ (4)ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง (5)ครูแนะแนวรุ่นใหม่ (6)โรงเรียนคุณธรรม โดยมีเป้าหมายช่วยครูและนักเรียนจำนวน 1,000,000 คน ในเวลาอันใกล้ เขาจึงขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมมือกันเพื่อสร้างคนดี เก่ง เพื่อโอกาสใหม่ของสังคมไทย

“นพ.สันติ ลาภเบญจกุล” ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการคนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน และผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เล่าถึงเส้นทางก่อนจะเกิดกลไกนักบริบาลชุมชนเมื่อ 10 ปีก่อนว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ต้องผ่านความยากลำบากในเรื่องใดบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขระเบียบ ข้อกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้กลไกนี้ขับเคลื่อนไปได้อย่างยั่งยืน

ในครั้งนั้นเคยมีเหตุให้งบสนับสนุนอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นชะงักเนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่น – ดิน (สตง.) ได้ตั้งข้อสังเกตการเบิกจ่ายไม่มีระเบียบชัดเจนรองรับ คุณหมอจึงเริ่มระดมความร่วมมือจากองค์กรนอกพื้นที่ จนเกิดการขับเคลื่อนงานกับภาคีต่างๆในระบบนิเวศที่กว้างขึ้นในระยะต่อมา และยังได้ทำงานร่วมกับภาครัฐจนนำมาสู่การประกาศใช้ “ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการเบิกค่าใช้จ่าย พ.ศ.2562”

นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลทั้งระบบ และช่วยปลดล็อคปัญหางบประมาณสนับสนุนอาสาสมัครนักบริบาล จากจุดเริ่มต้นด้วยกำลังของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครนักบริบาลเพียงไม่กี่คน ดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงประมาณ 200 คน ในช่วงแรก จนกระทั่งวันนี้ โครงการฯ มีอาสาสมัครนักบริบาลทั้งหมด 20 คน ให้การดูแลผู้ป่วยสูงอายุติดบ้านติดเตียงครอบคลุมทั้งอำเภออย่างใกล้ชิดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจำนวนมากกว่า 200 คน

ล่าสุด “โอกาสใหม่” ได้เกิดขึ้นอีกครั้งจากการสนับสนุนของภาครัฐผ่าน “โครงการอาสาสมัครนักบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง” ซึ่งสนับสนุนเงินทุนจำนวน 1,080 ล้านบาท ผ่านกระทรวงมหาดไทย ให้เกิดนักบริบาลชุมชน 2 คนต่อตำบล แต่ความท้าทายก็คือจะทำอย่างไรให้สามารถขยายผลได้ครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ และทำอย่างไรให้ท้องถิ่นเห็นความสำคัญ พร้อมจะช่วยกันดูแลชุมชนของตน ดังนั้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่สามารถช่วยเผยแพร่เรื่องราวดีๆ ด้วยการยกย่องหรือกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นลุกขึ้นมาร่วมมือกันเพื่อเตรียมรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยปัจจุบันมีมีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงมากกว่า 371,978 ราย (ณ ปี 2560) คาดการณ์ว่า ปี 2580 ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงเพิ่มขึ้นมากกว่า 837,484 ราย หรือ มากกว่า 1,161,797 ราย ภายปี 2590

การมีนักบริบาลชุมชนกระจายในทุกพื้นที่จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในวันนี้และอนาคตอันใกล้

“อาจารย์นพพร สุวรรณรุจิ” ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม www.yuvabadhanafoundation.org/th/work/moralschools กล่าวว่า ปัญหาสังคมส่วนใหญ่เกิดจากการขาดคุณธรรมทั้ง 5 ประการ ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบ วินัย ความซื่อสัตย์ ความพอเพียงและจิตอาสา เป้าหมายของสถาบันพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมคือการสร้างคนดีและเชื่อว่าการปลูกฝังคุณธรรมให้เด็กตั้งแต่ยังเล็กสร้างได้และยั่งยืน จึงเกิด “โครงการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม” เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ให้เกิดขึ้นในโรงเรียน และขยายผลให้เกิดโรงเรียนคุณธรรมเพิ่มมากขึ้น โดยมี “ทุนมนุษย์” ที่มาจากคนเกษียณอายุมาเป็นกลไกขับเคลื่อนเรียกว่า “นิเทศอาสา” ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำแนวทางการพัฒนาคุณธรรมแก่นักเรียน คุณครูและผู้บริหารโรงเรียน รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้นักเรียนและครูนำพลังของตนมาใช้เพื่อการสร้างสรรค์

ปัจจุบันมีโรงเรียนในเครือข่ายจำนวน 410 แห่ง กระจายอยู่ใน 75 จังหวัดทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ทั้งสายสามัญและอาชีวศึกษา โดยเริ่มดำเนินงานภายใต้มูลนิธิยุวพัฒน์เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562

อาจารย์นพพร กล่าวอีกว่า ถ้าพิจารณาจากจำนวนโรงเรียนทั่วประเทศหลักแสนแห่งจะเห็นว่ายังมีโรงเรียนและนักเรียนอีกจำนวนมากที่รอรับการพัฒนาและดูแลจากทุกคนเพื่อช่วยให้พวกเขามีโอกาสพัฒนาตนเอง และเชื่อมั่นว่าสังคมไทยยังมีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่ความสงบร่วมเย็น ถ้าทุกคนในสังคมช่วยกันสนับสนุนเด็กในวัยเรียนให้เป็นคนดี มีคุณธรรมเพื่อเติบโตไปอย่างมีอนาคตและทำความดีเช่นเดียวกับอาจารย์ไพบุลย์ วัฒนธรรมศิริได้ทำให้เห็นมาโดยตลอด

สำหรับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น นักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียน มีวินัยความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ความพอเพียง จิตอาสา และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น มีความสุขในการเรียนมากขึ้น การออกกลางคันลดลง ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนมากขึ้น


“ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ผู้สังเกตการณ์อิสระ โครงการข้อตกลงคุณธรรมคุณธรรม – Integrity Pact https://bit.ly/2TWOSXe กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการแสวงหาวิธีการที่จะทำให้ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยลดลง โครงการข้อตกลงคุณธรรม – Integrity Pact เป็นเครื่องมือที่ได้ผลมากที่สุดในแง่การประหยัดงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนกว่า118,000 ล้านบาท โดยตลอดระยะเวลา 6 ปีนับตั้งแต่เริ่มโครงการ ตัวอย่างเช่น โครงการจัดซื้อเครื่องจักรโรงงานยาสูบ ประหยัดได้ 2,254 ล้านบาท โครงการเน็ตประชารัฐ ประหยัดได้ 9,741 ล้านบาท โครงการจ้างผลิตและจัดทำ e-Passport ประหยัดได้ 4,975 ล้านบาท เป็นต้น

หัวใจความสำเร็จของโครงการข้อตกลงคุณธรรมคุณธรรม – Integrity Pact เกิดจากความร่วมมือระหว่าง องค์กรต่อต้านคอรัปร์ชัน (ประเทศไทย) และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง โดยมีอาสาสมัครผู้สังเกตการณ์อิสระ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากวงการต่างๆเพียง จำนวน 244 คน ร่วมกันเป็นกำลังสำคัญในการติดตามและสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างมากกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไปแล้วรายงานกลับไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง โปร่งใสในการทำงานของโครงการนั้นๆ

“โครงการยังมีความต้องการผู้อาวุโส ผู้สูงวัย และผู้ที่มีความรู้ความสามารถในสาขาต่างๆ มาร่วมกันเป็นอาสาสมัครผู้สังเกตการณ์อิสระอีกมาก และขอให้ฝ่ายต่างๆ ที่มีพลังช่วยกันผลักดันสังคมได้สนับสนุนให้มีโครงการที่ดีอย่างโครงการนี้”

นี่คือโอกาสที่อาสาสมัครผู้สังเกตการณ์จะสามารถมาร่วมกันดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติ

“ธนิสรา เรืองเดช” ผู้ร่วมก่อตั้ง Elect & Punch up www.punchup.world/2019/08/elect-in-th/ กล่าวว่า Elect คือเทคโนโลยีภาคประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเริ่มขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาในช่วงที่คนไทยกำลังจับตารอการเลือกตั้งช่วงเดือนมีนาคม 2562 เพื่อต้องการให้ประชาชนออกไปเลือกตั้งด้วยการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูล และต้องการให้ประชาชนพูดคุยเรื่องการเมืองกันด้วยข้อมูลอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานข้อเท็จจริง และที่สำคัญคือการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเป็นสิทธิ์และเป็นของทุนของประชาชน

เมื่อเริ่มเปิดตัวประชาชนให้ความสนใจเข้ามาเป็นอาสาสมัคร หลายช่วงอายุ หลายทักษะ ทั้ในประเทศไทยเละต่างประเทศเทศ ถือเป็นเรื่องที่น่าดีใจอย่างยิ่งที่เวบไซต์สร้างโดยกลุ่มคนตัวเล็กๆ จะทำให้คนต้องการเข้ามามีส่วนร่วมจำนวนมาก

ธนิสรา กล่าวอีกว่า สิ่งที่ทำคือ ‘Civic Tech’ เทคโนโลยีภาคประชาชนที่มาจากความต้องการของประชาชน ถือเป็นเรื่องใหม่ แต่ในต่างประเทศได้ทำกันไปแล้ว เช่น ไต้หวัน เชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นโอกาสใหม่ของสังคมไทย ประชาชนสามารถส่งเสียงออกไป นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีและความร่วมมือของประชาชนเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างการทำงานของรัฐ และน่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง

“อรพิน ยิ่งยงพัฒนา” ผู้ร่วมก่อตั้ง Vote62.com https://vote62.com/ และบรรณธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ กล่าวว่า Vote62.com เกิดจากการทำงานร่วมกับ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด ผู้ให้บริการด้านการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ รวมถึงเทคโนโลยีการสื่อสารอื่นๆ ให้แก่องค์กรอิสระที่ทำงานแก้ปัญหาสังคม และภาคีเครือข่าย ในการออกแบบแพล็ตฟอร์มรายงานผลการเลือกตั้งเมื่อช่วงมีนาคม 2562 เพื่อกระตุ้นให้สังคมตื่นตัวและมีทัศนคติที่ดีต่อการเลือกตั้งและประชาธิปไตย อย่างน้อยๆ ให้ออกไปใช้สิทธิ์ จนกระทั่งพัฒนาต่อจนเป็นรูปแบบ Crowd Sourcing เพื่อให้ประชาชนสามารถส่งข้อมูลทั้งรูปภาพที่คูหาเลือกตั้งและการกรอกข้อมูลในระบบที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เหมือนเป็นการช่วยกันจับตาความโปร่งใส่ในการเลือกตั้ง ผลปรากฎว่าประชาชนให้ความร่วมมือเกินคาดหมาย มีคนส่งภาพเข้ามากว่า 10,000 ภาพ เข้ามากรอกข้อมูลกว่า 20,000 ครั้ง ทำให้เห็นว่าประชาชนตื่นตัวกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอย่างมาก ถือเป็นหมุดหมายที่ดีของสังคมไทย โดยหลังจากนี้ Vote62.com จะพัฒนาแพล็ตฟอร์มต่อไป พร้อมกับต้องการให้ประชาชนจำนวนมากมีส่วนร่วมเพราะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยภาคพลเมืองของสังคม

“วริษฐา นาครทรรพ ยมนาค ” ที่ปรึกษามูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) https://www.ashoka.org/th กล่าวว่า อโชก้ามองเห็นโอกาสในการสร้างวิธีแก้ปัญหา นั่นก็คือการสร้างคน สิ่งที่อโชก้าทำคือการค้นหาคนที่จะมาสร้างการเปลี่ยนแปลง และให้การสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นเงินทุน หรืออื่นๆ เพราะเชื่อว่าโลกปัจจุบันต้องการคนที่มีลักษณะแบบนี้ คนที่ไม่ทิ้งใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง หรือที่เรียกว่า “เครือข่ายอโชก้าเฟลโลว์” ซึ่งเป็นผู้นำความคิดใหม่ที่เปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ในสังคม ที่เป็นประโยชน์ต่อคนทุกคนและพัฒนาชีวิตของคนนับล้านให้ดีขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 4,000 คน ใน 91 ประเทศ

กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของอโชก้าเฟลโล่ว์ เป็นคนที่มีโอกาสได้ริเริ่มแนวคิดหรือวิธีการแก้ปัญหาสังคมในตอนที่ยังเป็นเยาวชน ดังนั้น อโชก้าจึงมองว่าเยาวชนเป็นผู้เล่นสำคัญมาก ถ้ามีพื้นที่หรือระบบเข้ามาสนับสนุนให้พวกเขาพัฒนาความคิด จะทำให้มีทักษะเป็นนักสร้างการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับที่อโชก้าทำอยู่ก็คือ School of Changemakers โครงการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจจริงกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ผ่านนวัตกรรม (Innovation) และความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)

“อรนุช เลิศสุวรรณกิจ” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด https://techsauce.co/ กล่าวว่า จะดีกว่านี้ไหมถ้าพยายามเชื่อมโลกของธุรกิจและภาคสังคมเข้าด้วยกัน เพราะในประเทศไทยยังมีปัญหาสังคมจำนวนมากที่รอการแก้ไข เช่น มีสตาร์ทอัพที่จับประเด็นการศึกษาจำนวนมาก และมีความตั้งใจจริงที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่ก็มีความท้าทายเมื่อต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบหรือนโยบายต่างๆ รวมถึงแหล่งทุนสนับสนุนเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด พูดง่ายๆ ก็คือ เงินก็ต้องหา แต่ความตั้งใจช่วยสังคมกลับไม่ค่อยมีแรงสนับสนุน

ดังนั้น ถ้าสามารถเชื่อมโลกของภาคธุรกิจและภาคสังคมเข้าด้วยกันได้ก็จะเป็น “โอกาสใหม่” ที่คนทำงานเพื่อสังคมซึ่งเชี่ยวชาญในประเด็นปัญหา และจะได้รับแนวคิดใหม่ๆที่มาจากฝั่งสตาร์ทอัพ เกิดการระดมความคิดซึ่งเปี่ยมไปด้วยพลัง

“การทำงานเพื่อสังคมต้องทลายกรอบความคิดเดิมๆ ว่าไม่ใช่เรื่องของการทำเพียงคนเดียว ทุกคนต้องมามีส่วนร่วมกันให้ได้จริงๆ”

“สุวิตา จรัญวงศ์” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทลสกอร์ จำกัด https://th.tellscore.com/th/ กล่าวว่า การทำประเด็นทางสังคมมีต้นทุนและไม่สามารถทำคนเดียวได้ ที่ผ่านมาได้เห็นเเรงผลักดันจากภาคีภาคสังคม รวมทั้งอินฟลูเอนเซอร์ที่มีใจทำให้เกิดโอกาสใหม่ที่มาจากความร่วมมือ ดังกรณีช่วงวิกฤติโควิด19 เทลสกอร์ ยังได้ช่วยองค์กรต่างๆ สื่อสารและสร้างสรรค์เนื้อหาโควิด-19 รวมกว่า 5,500 ชิ้น โดยมีไมโครอินฟลูเอ็นเซอร์อาสากว่า 2,200 คน รวมผู้ติดตามมากกว่า 30 ล้านคน เฉพาะ“แคมเปญเทใจสู้โควิด” ได้แรงช่วยจาก “ไมโครอินฟลูเอนเซอร์” ที่มีจิตอาสาจำนวน 4,841 คน รวมผู้ติดตาม กว่า 16 ล้านคนช่วยสื่อสารระดมทุน 10 โครงการ

“Tellscore” และ “อินฟลูเอนเซอร์อาสา” แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่แพลตฟอร์มสื่อสารเพื่อเชื่อมโยง “แบรนด์-ผู้บริโภค” เท่านั้น แต่ในยามที่สังคมต้องการตัวช่วย “ Tellscore” ได้ทำหน้าที่สื่อสารเชื่อมโยง “ผู้บริจาค-ผู้รับประโยชน์” นับเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่ง

“รศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์” นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากประสบการณ์และบทเรียนของกลไกแก้ปัญหาสังคมที่หลากหลายในเวทีนี้ โดยส่วนตัวเห็นว่าโอกาสใหม่ของสังคมมาจากการมีข้อมูลเป็นพื้นฐาน เพราะข้อมูลจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและบอกข้อเท็จจริงแทนการยึดที่ตัวบุคคลและยังทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างโครงการต่างๆ เข้าด้วยกัน นำมาซึ่งการรับรู้และเข้าใจทำให้เห็นเป้าหมายของกันและกัน รวมทั้งวิธีการทำงานที่จะนำไปสู่ความร่วมมือ

การทำงานภาคสังคมต้องเปิดใจและทำให้เกิดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่ใช่แค่อยากเห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่การร่วมมือกันจะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายและส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน

“รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล” ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส https://www.thaipbs.or.th/home กล่าวว่า ในยุคนี้เสียงเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนเเปลงสังคมให้ก้าวผ่านอย่างสร้างสรรค์ดังขึ้นทุกมิติ ดังนั้น ไทยพีบีเอสยังคงประกาศพันธกิจด้วยเสียงกึกก้องว่า จะเป็นส่วนหนึ่งของการโอบอุ้มสังคมไทยให้ก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปสู่สังคมที่สร้างสรรค์