๐ เครือข่ายระดับโลก Social Value International เร่งขับเคลื่อน SROI สร้างความคุ้มค่าด้วยการบริหารผลตอบแทนทางสังคม
๐ พร้อมเร่งผลิตนักวิเคราะห์และผู้ประเมินบัญชีทางสังคม เป็นอีกเป้าประสงค์ขององค์กร มุ่งผลักดันตอบโจทย์เป้าหมายโลก SDGs
๐ ประยุกต์ SROI ขับเคลื่อนคุณค่าสังคมไทย ปรับเปลี่ยนจากการ ”ได้ทำ” ไปสู่การ “ได้ผล” ทุกภาคส่วน ร่วมขยับนำกรอบมาตรฐานสากล
๐ เริ่มด้วย “วัดผล” วางแผน “บริหารจัดการ” สู่การ “ขยายผล” ทั้งภาครัฐ ภาคสังคม ภาคธุรกิจ และการลงทุน
Social Value International เป็นเครือข่ายขององค์กรชั้นนำทั่วโลกมีสมาชิกเครือข่ายกว่า 700 องค์กรใน 45 ประเทศทั่วโลก และมีองค์กร Local/Regional Social Value ขับเคลื่อนในระดับเครือข่ายใน 26 ประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย สนับสนุนการพัฒนากรอบมาตรฐานดัชนีชี้วัดทางสังคมในระดับองค์กรและตัวช่วยการบริหารจัดการผลลัพธ์ทางสังคม (Impact Management Program & Social Return on Investment) เพื่อสะท้อนผลลัพธ์ต่อเป้าหมายโลกร่วมกัน ด้วยการเร่งผลักดันเชิงนโยบายควบคู่กับการขยายแนวปฏิบัติผ่านการส่งเสริมเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญการประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม (SROI Accredited Professional)
พร้อมกับการนำร่องบุกเบิกจนเป็นที่แพร่หลายในซีกโลกตะวันตก ซึ่งนำโดยประเทศอังกฤษ จากการกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนผ่านกฎหมาย SOCIAL VALUE ACT ที่เริ่มกำหนดให้ภาครัฐพิจารณา “คุณค่าสังคม” ในการใช้งบประมาณของหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หน่วยงานการบริหารงานส่วนกลาง หน่วยงานในระบบสาธารณสุข เป็นต้น
แม้ว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะเป็นรูปแบบ “โดยสมัครใจ” แต่นับเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ไม่ได้พิจารณาเพียงราคาและคุณภาพของสินค้าบริการที่ส่งมอบ หากแต่เรียกร้องให้ ผู้ให้บริการ หรือ Contractor นำส่ง “คุณค่าสังคม” เป็น “มูลค่าเพิ่ม” อีกด้วย
โดยรัฐบาลอังกฤษได้เตรียมระบบรองรับการนำไปสู่การปฏิบัติ นอกจากการปรับระเบียบ การส่งเสริม “Eco-System” ตั้งแต่การส่งเสริมการประเมิน Social Value อย่างน่าเชื่อถือ ผ่านคู่มือ การจัดอบรม และการส่งเสริมกลุ่มหน่วยงานให้คำปรึกษาและตรวจประเมิน ตลอดจนส่งเสริมรูปแบบการมีส่วนร่วมในชุมชนผ่านโมเดลที่เรียกว่า LOCAL COMPACT ที่หน่วยงานชุมชนจะเป็นผู้กำหนดสิ่งที่ชุมชนต้องการ คุณค่าที่ต้องการให้ส่งมอบ และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบริการสาธารณะที่ดีร่วมกับผู้กำกับ/องค์การบริหาร/ภาครัฐ และ Contractor ตลอดจนร่วมวางกรอบการติดตามประเมินที่น่าเชื่อถือ มีความโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับ
หลังจากออกกฎหมายมา 3 ปี รัฐบาลได้จัดให้เกิดการประเมินผลการใช้กฎหมาย พบสัญญาณบวกในการนำกฎหมายฉบับนี้ไปประยุกต์ใช้ กว่า 60 %ของผู้ให้ความเห็นแจงว่าเกิดผลลัพธ์ทางสังคมที่ดีขึ้น ผ่านการลงทุนในชุมชนโดยตรง การจ้างงาน การสร้างอาชีพ การฝึกฝนพัฒนาศักยภาพคน และการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ข้อท้าทาย 3 ประการสำคัญ ได้แก่ 1) ความเข้าใจในการนำกฎหมายไปสู่การออกแบบแนวทางการประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม 2) มาตรฐานกลางและแนวทางปฏิบัติในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง 3) กรอบการประเมินติดตามและความพร้อมของระบบการประเมินในวงกว้าง
รายงานฉบับดังกล่าวออกมาในปี 2015 พร้อมกับข้อเสนอแนะเพื่อปิดจุดอ่อน ให้เกิดการนำกฎหมายสร้างผลลัพธ์สูงสุด โดยมีแนวทางสำคัญ ดังนี้ 1) ภาครัฐควรเป็นเจ้าภาพในการบูรณาการประเมินคุณค่า/บัญชีทางสังคม เชื่อมระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคสังคม และมุ่งพัฒนาความพร้อมแก่หน่วยงานกำกับดูแลและเจ้าหน้าที่จัดซื้อจัดจ้าง ในกลไกการตรวจประเมิน ตลอดจนส่งเสริมมาตรการแรงจูงใจต่างๆ ให้หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานให้บริการ รวมถึงเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ และชุมชน เผยแพร่สื่อสารข้อมูลของหน่วยงาน/องค์กรนำร่องที่ดำเนินการทำได้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนเป็นเจ้าภาพส่งเสริมการพัฒนากรอบมาตรฐานและแนวทางการประเมินผลลัพธ์สังคมร่วมกัน ทั้งจากบริบทขององค์กรรัฐ และภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ NGOs/SE เป็นต้น
ภายหลังการทำงานเชิงระบบและมีความต่อเนื่องพบว่า “อังกฤษ” มีผู้เชี่ยวชาญทางการประเมินมากที่สุด นอกจากนี้ ยังเห็นได้ว่าตัวเลขของรายงานการประเมินผลทางสังคมมีสัดส่วนเกิดขึ้น นับเป็นประเทศที่มีการเปิดเผยข้อมูลการประเมินทางสังคม SROI Report มากที่สุด จากกว่า 45 ประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ดี สำหรับในภูมิภาคเอเชีย เป็นภูมิภาคที่มีอัตราการก้าวกระโดดของความตื่นตัวในการนำกรอบมาตรฐานโลกดังกล่าวไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา มีการจัดตั้งเครือข่าย Social Value ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน ไทย เกาหลี อินโดนีเซีย และอินเดีย โดย “ไต้หวัน” เป็นอีกประเทศที่มีความโดดเด่น และมีจำนวนการเปิดเผยข้อมูล SROI Data มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากอังกฤษ
๐ โควิดปัจจัยเร่งบริหารความเสี่ยง
“โควิด-19” ยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการนำกรอบมาตรฐานไปใช้ในมิติของ “การบริหารความเสี่ยง” Risk Management ขององค์กรธุรกิจมากขึ้น ไม่เพียงภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการ โดยพบว่า “ภาคการศึกษา” เป็นอีกแรงผลักสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจ การประเมินวิเคราะห์อย่างน่าเชื่อถือ ตลอดจนการบูรณาการ “บทบาทมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยใช้ SROI เป็นแกนในการออกแบบรูปแบบงานวิจัย งานบริการวิชาการ โครงการ Project Intervention ที่ดำเนินการได้จริง
รวมถึงการสร้างความร่วมมือผ่านโครงการที่มีผลกระทบและน่าสนใจ เช่น “ไต้หวัน” มีการร่วมนำการขับเคลื่อนโดย National Central University และ Yunus Social Business Centre ที่ได้เชื่อมโยงความร่วมมือของคณาจารย์ นิสิต นักศึกษา นำกรอบมาตรฐานและความเป็นวิชาการ ผนวกศาสตร์ความเป็นผู้ประกอบการทางสังคม และการสนับสนุนของภาคธุรกิจ จัดตั้ง SOCIAL VALUE TAIWAN ขึ้นเมื่อปี 2018 นำโดยประธานบริษัท EasyCard ผู้ให้บริการระบบบัตรขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงการชำระค่าบริการร่วมกับสถานประกอบการห้างร้านต่างๆ อย่างครบวงจร มาสู่การขับเคลื่อนสังคมผ่านการสนับสนุนการจัดตั้ง SVTaiwan และเป็นเจ้าภาพจัดงานในปี 2019 สืบเนื่องมาสู่การสร้างความร่วมมือกับ PWC องค์กรชั้นนำในการเป็นหัวหอกขับเคลื่อนมาตรฐานและเชี่ยวชาญ จนทำให้ไต้หวันพุ่งเป็นประเทศอันดับ 2 ในการเปิดเผยข้อมูล SROI ในโครงการ/หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
การเคลื่อนไหวของ “อินโดนีเซีย” เกิดเครือข่ายตั้งแต่ 2014 และเข้าร่วมขับเคลื่อน SVI อย่างเป็นทางการในปี 2018 โดยอยู่ระหว่างการผลักดันในระดับนโยบายร่วมกับกระทรวง Ministry of Forestry and Environment of the Republic of Indonesia เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำกรอบมาตรฐานเครื่องมือ SROI ไปสู่การประเมิน IMPACT ในภาคเอกชน โครงการ CSR ต่างๆ นอกจากนี้ “ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี อินเดีย” ต่างมีเครือข่าย Social Value ร่วมสร้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ระบบฐานข้อมูล ตลอดจนกับการผูกโยงในระดับนโยบาย เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในการสร้างระบบการบริหารจัดการผลลัพธ์ทางสังคมเป็นลำดับสำคัญในโลกธุรกิจและทุนนิยมในยุค New Normal
๐ ประเทศไทยก้าวกระโดด
สำหรับ “ประเทศไทย" Social Value Thailand เปิดตัวในปี 2017 สกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ Executive Director – Social Value Thailand ชี้ให้เห็นถึงทิศทางความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตการณ์ที่ทั่วโลกเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 นับเป็นตัวเร่งสำคัญในการกระตุกทิศทางการพัฒนาของโลกและประเทศเรา มุ่งสู่การพัฒนาภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างทุนสังคม และวัฒนธรรมการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นับเป็นกติกาและกลไกสำคัญในการบริหารจัดการความสงบสุขในระดับสากล ประเทศไทยได้ร่วมขบวนและนำกติกาโลกมาสู่การบริหารจัดการผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตลอดจนแผนปฏิรูปในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดการสอดรับนโยบายประเทศที่ได้หลอมรวม SDGs เข้าเป็นประเด็นยุทธศาสตร์หลัก
SOCIAL VALUE THAILAND เชื่อว่า การผลักดันกรอบแนวคิดการประเมินผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเตรียมของพร้อมของหน่วยงานกำกับดูแล ภาครัฐ เอกชน ภาคสังคมจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ ในขณะที่ทุกภาคส่วนเริ่มปรับกระบวนทัศน์อย่างจริงจังเป็นรูปธรรม เปิดเผย โปร่งใส เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องร่วมกันแล้วนั้น การพัฒนาบุคคลากร สถาบันที่มี“ศักยภาพและความพร้อม”ในการส่งเสริมการประเมินผลลัพธ์สังคมอย่างน่าเชื่อถือ จะเป็น“กลไกยกระดับ”การพัฒนาความร่วมมือระหว่างสังคมชุมชนและภาคส่วนต่างๆ สู่การขับเคลื่อนทุกฟันเฟืองของประเทศที่จะสร้างคุณค่าร่วมทางสังคม แก้ปัญหาเชิงลึกที่ซับซ้อนได้อย่างแท้จริง
กว่า 3 ปี ในการสร้างความตระหนักและความเข้าใจ ตลอดจนส่งเสริม “วิชาชีพการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม” ให้กับทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา และภาคสังคมกว่า 1,000 คน ในปี 2020 จึงนับเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของประเทศไทย ในบทบาทของภาครัฐในการส่งเสริมภาคธุรกิจในการนำเครื่องมือบริหารจัดการทางสังคมบูรณาการในการดำเนินธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม กรมโรงงาน ได้ประกาศ SROI เป็นหนึ่งในองค์ประกอบการพิจารณารางวัล CSR Award ในกลุ่มรัฐวิสาหกิจก็มีทิศทางเดียวกันในการเริ่มประยุกต์การประเมินประสิทธิผลและความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการ CSR ตลอดจน การยกระดับเกณฑ์ Enable ของรัฐวิสาหกิจที่ปรับแกนการดำเนินงานมาสู่การวิเคราะห์และบูรณาการกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นหลัก
โดยเกิดการนำร่องรัฐวิสาหกิจแห่งแรกคือ “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.” นำกรอบการประเมิน SROI มาชี้วัดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณในการให้บริการรถไฟฟ้า ซึ่งนับเป็นการนำเป้าประสงค์ หรือ Bottom Line ด้านสังคม มาประกอบการพิจารณาขีดความสามารถและความสำเร็จของการบริหารงานหลักขององค์กร ไม่เพียงเป็น CSR/Project base เท่านั้น ในด้านของการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาและวิทยาศาสตร์ นำโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ได้เน้นย้ำและส่งเสริมนโยบายในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของงานวิจัย งานวิชาการ ผ่านกลไกการสนับสนุนทุนวิจัย ตลอดจนเกิดการนำร่องอย่างเป็นรูปธรรมโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยกำหนดการนำเครื่องมือมาประเมินและพัฒนารูปแบบการให้ทุนในโครงการ Social Innovation เพื่อติดตามผลในชุมชนร่วมกับนักวิจัย และผู้ประกอบการ
นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทบได้เริ่มนำกรอบเครื่องมือประเมินวัดโครงการงานวิจัย งานบริการวิชาการภายในมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการกำหนดนโยบาย วิธีการดำเนินงานที่มีผลกระทบมากขึ้น โดยในปี 2020 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นำร่องไปกว่า 30 โครงการ นับเป็นสัญญาณของ “Market Demand” ในกระแสหลักได้เป็นอย่างดี สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยตระหนักและพร้อมผลักดันให้ “เรื่องสังคม” ถูกจัดให้เป็น “เรื่องสำคัญ” เป็นยุทธศาสตร์ เป็นกลยุทธ์และถูกนำมาเป็นหนึ่งในการวัดขีดความสามารถของบริษัท องค์กร และหน่วยงานต่างๆ
ดังนั้น การเตรียมความพร้อม ติดคันเร่งประเทศไทย เป็นเรื่องสำคัญ โดยสถาบันฯ ได้ปรับโครงสร้างการทำงาน ร่วมจัดตั้ง SOCIAL VALUE ACCELERATOR กับ 8 องค์กรชั้นนำของประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และสถาบันวิทยาการจัดการ ทริส คอร์ปอเรชั่น เพื่อรองรับความต้องการและความจำเป็นเร่งด่วน
โดยมุ่งเน้นแนวทางการขับเคลื่อนด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายผสานพลังความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน การศึกษา และภาคสังคม เพื่อมุ่งเป้าส่งเสริมกลไกใน 4 มิติสำคัญ ได้แก่ 1.การยกระดับกรอบมาตรฐานสากลที่มีความน่าเชื่อถือและเหมาะสมกับบริบทของประเทศ 2.การส่งเสริมเข้าถึงฐานข้อมูลข่าวสารความรู้ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาและสร้างประโยชน์ให้แก่เครือข่าย 3.การพัฒนาวิชาชีพและองค์ความรู้ในการบริหารจัดการและติดตามประเมินผลลัพธ์สังคม 4.การเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายและการสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การขยายความร่วมมือ ตลอดจนส่งเสริมกลไกและแรงจูงใจเพื่อเสริมพลังและความร่วมมือทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ มุ่งหวังให้เกิดขับเคลื่อนบทบาทศูนย์กลางในการบูรณาการ มิติ "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ด้วยการนำองค์ความรู้ การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ พัฒนาศักยภาพบุคลากรและระบบการบริหารจัดการทางสังคม ร่วมกับการพัฒนากรอบการประเมินผลลัพธ์สังคม ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อพลิกสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของสังคม วิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศของโลก ไปพร้อมกับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ของภาคธุรกิจที่มีความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันในเวทีโลก
๐ 60 ประเทศร่วมสร้างสมการใหม่ของธุรกิจ
ในวันนี้ความเคลื่อนไหวของทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าผลักดันตัวชี้วัดประเทศเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบัน อันดับดัชนีความยั่งยืน (SDG Index) จากรายงานการศึกษา SDGs Development Report โดยเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Solutions Network (SDSN) และมูลนิธิแบร์เทลส์มันน์ (Bertelsmann Stiftung) พบว่า จาก 162 ประเทศที่ได้ร่วมขบวนสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ยังไม่มีประเทศใดแม้แต่ประเทศที่มีคะแนนสูง ที่มีแนวโน้มจะบรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย โดยเฉพาะข้อ12 การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ข้อ13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อ14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล ข้อ15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก
สำหรับประเทศไทยติดอันดับที่ 40 จาก 162 ประเทศ ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างดีในข้อ1 ขจัดความยากจน แต่ความท้าทายระดับแรกที่มีอยู่คือข้อ 4 ความเท่าเทียมทางการศึกษา ส่วนความท้าทายในระดับสูงมี 4 เป้าหมาย ได้แก่ ข้อ3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ข้อ10 ลดความเหลื่อมล้ำ ข้อ13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ ข้อ14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนจากทั่วโลกเป็นไปในทิศทางเดียวและนับเป็นอีกปัจจัยผลักดันการพัฒนาในประเทศไทย ในปี 2018 กับการจัดตั้ง SDG IMPACT ภายใต้ UNDP มุ่งผสานการดำเนินงานเพื่อผลักดัน ตลาดทุนของโลก และการใช้งบประมาณรัฐบาลที่สะท้อนการมุ่งเป้าสู่ SDGs IMPACT SDG Action Manager ภายใต้การผลักดันของ UN Global Compact โดยมีการเปิดตัวในปี 2020 พร้อมกับเครื่องมือในการบริหารจัดการ IMPACT ซึ่งใช้เทคโนโลยีกับระบบ DIGITAL PLATFORM และ AI เป็นการช่วยให้ภาคธุรกิจ สถาบันทั่วโลก รวมทั้งหน่วยงานทั่วโลกสามารถเชื่อม “เป้าหมายโลก” กับ Day to Day Business Operations ขององค์กรได้ง่าย
ด้วยเทคโนโลยีทำให้เกิดการขยายตัวและเชื่อมต่อของธุรกิจน้ำดีทั่วโลกกว่า 60 ประเทศ ร่วมสร้างสมการใหม่ของธุรกิจที่ไม่เพียง “สร้างกำไรทางการเงิน” แต่มุ่งสมดุลด้วย “กำไรทางสังคม” ซึ่งวัดและขยายผลได้