xs
xsm
sm
md
lg

Social Accounting สนับสนุนรายงานผลตอบแทนสังคมใน CSR

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แนวคิดด้านการบันทึกบัญชีของกิจการได้คำนึงถึงวิธีการบันทึกรายการทางสังคม และผลกระทบและผลลัพธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในกิจการด้วยความตั้งใจมากขึ้นจนเริ่มเป็นตัวชี้วัดภาคบังคับสำหรับกิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือกิจการที่ต้องลงทุนในโครงการเชิงสังคมในระดับสูง

ถือเป็นโครงการสำคัญขององค์กรในลำดับต้นๆ ที่ต้องสะท้อนความคุ้มค่าให้ชัดเจน ซึ่งหากเหมาะสมในการดำเนินงาน การนำเสนอขออนุมัติแต่แรกและการรายงานผลประกอบการจะมีข้อมูลที่เป็นผลคำนวณแสดงข้อมูลและเปิดเผย Social Return ที่มาจากกิจกรรม CSR ด้วย

แนวคิดบัญชีดังกล่าวเรียกว่า Social Accounting หรือบัญชีทางสังคม เป็นแนวทางในการบันทึกมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้สื่อสารและเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจภายนอก

บัญชีทางสังคมหรือ Social Accounting มีประเด็นน่าสนใจที่กิจการจะต้องทำความเข้าใจหลายประการ ก่อนจะนำไปใช้ในอนาคต

ประการที่ 1 หลักการของบัญชีทางสังคมหรือ Social Accounting ใช้ในโครงการเชิงสังคม เป็นการต่อยอดหลักการทางบัญชีดั้งเดิมที่เคยใช้มาในอดีต โดยเครื่องมือที่นำมาใช้ต่อยอดเพิ่มเติมคือ Expanded Value Added Statement (EVAS) เป็นนวัตกรรมการแสดงรายการมูลค่าเพิ่ม ที่บันทึกปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคมกิจและสภาพแวดล้อมไว้ในงบดังกล่าว โดยรายการมูลค่าเพิ่มเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ไม่ใช่ตัวเงินโดยตรง (Non-monetized) อย่างเช่น จำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการทำกิจกรรมทางสังคมหรือจิตอาสา โดยมีจุดประสงค์จะแสดงมูลค่าทางสังคมที่สร้างขึ้นมาโดยผ่านกิจกรรมทางสังคม

ประการที่ 2 รูปแบบบัญชีใหม่ตามหลักการบัญชีทางสังคม หรือ Social Accounting เป็นรูปแบบที่ใช้ระบบบัญชี 3 ส่วน เรียกว่า Triple Bottom Line มีบรรทัดที่ใช้วัดผลดำเนินงาน 3 ส่วน
(1)ส่วนผลจากธุรกรรมทางธุรกิจต่อสภาพทางการเงินของกิจการเอง เรียกว่า Financial Bottom Line
(2)ส่วนผลจากธุรกรรมของกิจการต่อพนักงาน สังคม กลุ่มเป้าหมาย
นอกสถานะทางการเงินของกิจการ เรียกว่า Social or Community Bottom Line
(3)ส่วนผลจากธุรกรรมของกิจการต่อสิ่งแวดล้อม เรียกว่า Environment -Bottom Line

ประการที่ 3 ขณะนี้ผู้ประกอบการทั่วโลกยังขาดแนวพึงปฏิบัติที่ดีร่วมกันเกี่ยวกับผลที่เกิดทางสังคมของการทำกิจกรรมทางสังคม และมักจะพิจารณาด้วยมาตรวัดทางการเงินเป็นหลัก แม้ว่าจะเป็นกิจกรรมและธุรกรรมทางสังคมอย่างเช่น CSR ที่เป็นเป้าประสงค์เชิงสังคมมิใช่เป้าประสงค์ทางด้านพาณิชย์ บัญชีทางสังคม (Social Accounting) ขยายขอบเขตและนิยาม ให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับการบันทึกรายการที่เป็นวัตถุประสงค์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ยังไม่บันทึกไว้ในงบการเงินแบบดั้งเดิม

ประการที่ 4 ตามแนวคิดของบัญชีทางสังคม (Social Accounting) กิจการจะแสดงให้เห็นว่า กิจการมีกิจกรรมที่สร้างมูลค่าแก่กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย รวมทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เกิดขึ้นอันเป็นผลตอบแทนทางสังคม จึงมาจากความตั้งใจในการลงทุนของกิจการ (Investment in Social Ventures) และกลุ่มเป้าหมายใดบ้างที่ได้รับผลจากการลงทุนดังกล่าว

ประการที่ 5 สิ่งที่กิจการใช้พิจารณาว่าได้ลงทุนไปเพื่อทำกิจกรรมทางสังคม และ CSR ได้แก่ เวลาที่เสียสละให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เวลาในการทำกิจกรรมเชิงพาณิชย์ลดลง ความรู้ ความช่วยเหลือทางเทคนิค ในลักษณะการให้คำปรึกษาที่ไม่ได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทน ภาวะผู้นำและการบริหารจัดการที่ทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อม การเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นเครือข่าย ร่วมสนธิกำลังด้วย หรือการให้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ประการที่ 6 ผลตอบแทนทางสังคม ที่เกิดจากการลงทุนด้วยกิจกรรมทางสังคม ต้องเป็นการวิเคราะห์อย่างมีระบบ มาจากการได้ข้อมูลความคาดหวังหรือความจำเป็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง กลุ่มเป้าหมาย ใช้มุมมองของสภาพสังคมเป็นหลักในการหาผลตอบแทน ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ของกิจการอาจจะเกิดผลลัพธ์ทางสังคมด้วย ผลกระทบทางสังคมของกิจการที่เป็นเชิงสังคม อาจจะมีผลลัพธ์ทางเศรษฐศาสตร์ด้วย และใช้ผลป้อนกลับ (Feedback) จากผู้รับประโยชน์ กลุ่มเป้าหมาย

ประการที่ 7 วิธีการคิดผลตอบแทนทางสังคม มาจากการที่กิจการสามารถพิสูจน์และปรับปรุงสภาพทางสังคมและสภาพแวดล้อมได้อย่างไรบ้าง เช่น กิจการแสดงความรับผิดชอบต่อการดำเนินธุรกิจและตามไปแก้ไขให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางสังคมด้วย หรือกำหนดวัตถุประสงค์หลัก (Core Purpose) เพิ่มเติมว่า จะสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วยความยั่งยืน เช่นเดียวกับที่ทำให้กิจการเองมีความยั่งยืน

ประการที่ 8 กิจการถือว่ามีวัตถุประสงค์หลักทางสังคมที่ชัดเจนได้ ก็ต่อเมื่อกิจการมีวิสัยทัศน์ที่จะทำกิจกรรมทางสังคม มีพันธกิจที่เชื่อมโยงถึงสังคม มีค่านิยมที่ใส่ใจในสังคม มีวัตถุประสงค์การดำเนินงานเชิงสังคม มีกิจกรรมในแผนที่เป็นกิจกรรมเชิงสังคม มี Social KPIs และผลผลิตที่เป็นเรื่องเชิงสังคม มีประโยชน์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจริงที่วัดผลได้ หรือดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นเป้าหมายทางสังคมมาหารือ ขอความเห็นก่อนทำแผนกลยุทธ์

ผลการศึกษาพบว่า ข้อดีของการพัฒนา Social Accounting ในกิจการ ได้แก่ ช่วยให้บริหารกิจการได้ดีขึ้น เพิ่มความเข้าใจในผลประกอบของกิจการ ผลกระทบ และผลประโยชน์ที่เกิดกับกลุ่มเป้าหมายนอกกลุ่มลูกค้าโดยตรง มีข้อมูลที่จะใช้ในการสื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องภายนอก เพิ่มความเข้าใจและกำหนดแนวทางสู่ความยั่งยืนได้ดีขึ้น ใช้เป็นข้อมูลปรับปรุงบริการ ผ่านการรับฟังความคิดเห็น มีความสามารถจัดทำรายงานผลดำเนินงานของกิจการดีขึ้น และได้เรียนรู้ทักษะการทำกิจกรรมเชิงสังคม