สตง.ชำแหละงบ มท.8 พันล้าน ตามแผนประชารัฐ “ประเทศไทยไร้ขยะ” หลังใช้เวลา 6 ปี ตรวจเชิงลึก พบประเทศไทยผุดสถานีขนถ่าย-กำจัดขยะทั่วประเทศ 3,206 แห่ง ปิดกิจการ 417 แห่ง สำรวจ “23 เทศบาลนคร” พบใช้งบรวมกว่า 2.8 พันล้าน สร้างโรงกำจัดแต่หลายแห่งใช้ประโยชน์ไม่ตรงวัตถุประสงค์ แถมตลอด 3 ปี จัดซื้อรถขนขยะ 500 คันแจก 379 อปท.วงเงินกว่า 1 พันล้าน
วันนี้ (6 พ.ย.) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.ได้สรุปผลการตรวจสอบการดำเนินงาน “การป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ด้านมลพิษขยะ” ตามแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทย ไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ระยะ 1 ปี (พ.ศ. 2559-2560) ของกระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแลให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2562 สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศภายใต้แผนงานบูรณาการ 3 แผนงาน จำนวนเงิน 8,638.32 ล้านบาท มีกระทรวงที่รับผิดชอบหลัก 2 กระทรวง คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย
โดยปี พ.ศ. 2561 มีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย/สถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยทั้งของรัฐและเอกชน 3,206 แห่ง ปิดให้บริการหรือหยุดดำเนินการ 417 แห่ง เปิดให้บริการหรือยังคงดำเนินการอยู่ 2,789 แห่ง แยกเป็นสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอย 23 แห่ง และสถานีกำจัดขยะ 2,766 แห่ง
สตง.ได้ตรวจสอบผลคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ระยะเวลาการตรวจสอบตั้งแต่ 14 ก.ค. 2558 - 30 ก.ย. 2559 และตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2562 - ก.ค. 2563 พบว่า การจัดการขยะมูลฝอยของ อปท.23 แห่ง พบสภาพปัญหาในการจัดการขยะมูลฝอย โดยเฉพาะอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างในระบบบางรายการ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ และการดำเนินการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ของ อปท.บางแห่งยังไม่เป็นไปตามแนวทางการดำเนินงานในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยตามแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนของกระทรวงมหาดไทย
โดยอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้าง อปท.17 แห่ง ใช้เงินงบประมาณก่อสร้าง วงเงินรวม 2,842.30 ล้านบาท และมี อปท.6 แห่ง ใช้วิธีจ้างเหมาเอกชนจัดเก็บและกำจัดฯ ประกอบกับการตรวจสอบระบบของ อปท.ที่ได้รับงบประมาณจัดการด้วยตนเองทั้ง 17 แห่ง และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลและบริหารจัดการ พบว่ามีระบบกำจัดขยะปิดใช้งานทั้งระบบเพียง 1 แห่ง และมี อปท.ที่มีระบบกำจัดขยะมูลฝอย แต่ไม่มีการใช้ประโยชน์อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างบางรายการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยใช้งานไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ถึง 12 แห่ง และไม่มีการใช้งานอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างบางรายการถึง 8 แห่ง
ขณะที่ที่ไม่ได้ใช้งานอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างบางรายการ รวมถึงมีการใช้งานที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครสงขลา เทศบาลนครนครปฐม เทศบาลเมืองสิงห์บุรี และเทศบาลเมืองสระบุรี
“ยังพบว่าบางแห่งไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากชำรุดและไม่ได้รับการซ่อมแซม หากทำการซ่อมแซมจะต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง จึงส่งผลทำให้อุปกรณ์บางรายการไม่สามารถใช้งานได้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยอุปกรณ์ที่ชำรุดและไม่สามารถใช้งานได้ที่พบมากที่สุด คือ บ่อบำบัดน้ำเสีย ระบบคัดแยกขยะมูลฝอยชุมชน และระบบน้ำชะล้างขยะมูลฝอยขุมชน (ที่ล้างรถ) เป็นต้น”
สตง.ยังพบว่า แผนปฏิบัติการ “ประเทศไทย ไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ระยะ 1 ปี (พ.ศ. 2559-2560) ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559-2564 อปท.บางแห่งยังไม่สามารถดำเนินงานในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยตามแผนปฏิบัติการจัดการ
จากตัวอย่าง อปท. 23 แห่ง พบว่า การลดปริมาณและคัดแยกขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด ในครัวเรือนและผู้ประกอบการบางส่วน ยังไม่มีการคัดแยกขยะก่อนนำมาทิ้ง จาก 430 ตัวอย่าง พบว่า ผู้นำชุมชน/ประธานชุมชน 19 ราย ไม่มีการคัดแยกขยะ และครัวเรือนและผู้ประกอบการ 272 ราย ไม่มีการคัดแยกขยะก่อนนำไปทิ้ง
แต่ที่มีการคัดแยกก่อนนำไปทิ้ง พบว่าขยะที่มีการคัดแยกน้อยที่สุด คือ ขยะอินทรีย์ ที่คัดแยกเพียงร้อยละ 31.41 ซึ่งหมายถึงขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว สามารถนำมาหมักทำปุ๋ยได้ เช่น เศษผัก เปลือกผลไม้เศษอาหาร ใบไม้เศษเนื้อสัตว์ เป็นต้นและขยะที่มีการคัดแยกมากที่สุด คือ ของเสีย อันตราย โดยมีการคัดแยกคิดเป็นร้อยละ 96.44 เช่น แบตเตอรี่ หลอดไฟ ภาชนะบรรจุสารเคมี เป็นต้น
“ขณะที่ ครัวเรือน/ผู้ประกอบการ 272 ราย ยืนยันว่า ไม่ทราบว่าหน่วยงานของรัฐมีการรณรงค7ประชาสัมพันธ์ในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบว่า มีเพียง 298 ชุมชม จากกลุ่มตัวอย่าง 647 ชุมชน ที่มีการเก็บสถิติ และ อปท.6 แห่ง ยังไม่เคยมีการเก็บข้อมูลสถิติชุมชนที่มีการคัดแยกขยะในพื้นที่ จึงไม่สามารถให้ข้อมูลได้ว่าชุมชนในพื้นที่มีการคัดแยกขยะหรือไม่อย่างไร”
สตง.สำรวจข้อมูลจากฝ่ายบริหาร อปท.พบว่า การจัดเก็บขยะในระบบ “อยู่ในเกณฑ์ดีมาก” โดยในช่วงปี พ.ศ. 2559 ผู้ที่มีหน้ที่รับผิดชอบปฏิบัติงานดี มีการแก้ปัญหาการเก็บ ไม่มีขยะมูลฝอยตกค้าง มีแนวทางลดปริมาณขยะอย่างชัดเจน ประชาชนให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะ ผู้บริหารของหน่วยงานให้ความสำคัญ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริหาร อปท.ยอมรับว่า รถเก็บขยะไม่เพียงพอ ชำรุด มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาค่อนข้างสูง บุคลากรที่ทำหน้าที่ในการจัดเก็บและขนถ่ายไม่มีความรู้ มีไม่เพียงพอ และลาออกบ่อย ประชาชนบางส่วนยังขาดจิตสำนึก และการมีส่วนร่วมในการดัดแยกขยะมูลฝอยชุมชน เป็นต้น
จากปัญหารถเก็บ ขนไม่เพียงพอ หรือชำรุดนั้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ากระทรวงมหาดไทย ได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยให้กับ อปท.ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อจัดซื้อรถบรรทุกขยะในแต่ละแห่ง ได้แก่ รถบรรทุกขยะ ขนาด 1 ตัน แบบเปิดข้างเทท้าย รถบรรทุกขยะขนาด 6 ตัน แบบอัดท้าย และรถบรรทุกขยะขนาด 6 ตัน แบบเปิดข้างเทท้าย โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับจัดซื้อรถบรรทุกขยะให้แก่ อปท.379 แห่ง จำนวน 384 คัน เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 863,012,000 บาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ เนื่องจากไม่มีแผนความต้องการ โดยรายการครุภัณฑ์ (รถบรรทุกขยะ) ของ อปท. และปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สถ.ได้จัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีจากสำนักงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม งบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย (รถขยะ) จำนวน 135 คัน งบประมาณ299,395,000 บาท
เมื่อตรวจสอบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ของเทศบาลนครและเทศบาลเมืองที่สุ่มตรวจสอบ 23 แห่ง พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554-2562 ขยะมูลฝอยที่จัดเก็บได้โดยรวมมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “บ่อกำจัดขยะแบบฝังกลบ” ของเทศบาลที่สุ่ม 23 แห่ง พบว่ามีเทศบาลที่ไม่มีระบบกำจัดขยะ 6 แห่ง ใช้วิธีจ้างเอกชนดำเนินการหรือนำไปกำจัดในสถารที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
ขณะที่เทศบาล 17 แห่ง มีระบบฝังกลบ ส่วนระบบของเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม “ปิดบริการ” โดยหากพิจารณาเปรียบเทียบ ระหว่างปริมาณขยะมูลฝอยที่เทศบาลต่างๆ จัดเก็บได้เฉลี่ยต่อวัน กับปริมาณความจุหรือความสามารถในการรองรับปริมาณขยะมูลฝอยต่อวันของระบบที่ออกแบบไว้ซึ่งมีจำนวนใกล้เคียงกัน
ดังนั้น ในอนาคตหาก อปท.ยังไม่สามารถลดปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ประกอบกับปริมาณขยะมูลฝอยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้ อปท.มีปิญหาเรื่องพื้นที่บ่อฝังกลบเต็ม จนต้องปิดดำเนินการเร็วกว่าอายุการใช้งาน สูงสุดของระบบตามที่ออกแบบไว้
สตง.ยังพบว่า มี อปท.14 แห่ง ดำเนินการไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล ซึ่ง 7 แห่ง นำขยะมูลฝอยมาเท ที่บ่อฝังกลบทุกวัน แต่มีการใช้ดินหรือวัสดุอื่นกลบทับขยะมูลฝอย ประมาณอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง และอีก 7 แห่ง นำขยะมูลฝอยมาเทที่บ่อฝังกลบทุกวัน แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการใช้ดินหรือวัสดุอื่นกลบทับขยะมูลฝอยที่นำมาเทหรือไม่ได้ฝังกลบเป็นประจำ แต่จะรอให้ขยะมูลฝอยที่นำมาเทมีปริมาณมากหรือเมื่อเริ่มส่งกลิ่นเหม็นรบกวนจึงจะทำการฝังกลบ
ล่าสุด ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2563 พบว่า อปท.ที่ดำเนินการฝังกลบทุกครั้งที่มีการนำขยะมาเท 6 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลเมืองอุทัยธานี เทศบาลเมืองสตูล เทศบาล เมืองพังงา เทศบาลเมืองสิงห์บุรี และเทศบาลเมืองสระบุรี
นอกจากนี้ เทศบาลนครนครสวรรค์ และเทศบาลเมืองยโสธร จากเดิมที่เคยมีการฝังกลบทุกครั้ง ที่มีการนำขยะมาเท แต่ปัจจุบันดำเนินการฝังกลบสัปดาห์ละครั้ง หรือเป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม และอีก 3 แห่งมีการเปลี่ยนไปจ้างเอกชนกำจัด คือ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครระยอง และเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ส่วนอีก 5 แห่ง มีสถานภาพการจัดการขยะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
อย่างไรก็ตาม สตง.มีข้อเสนอแนะว่า กรณีรายได้จากค่าธรรมเนียมในการจัดเก็บและขนถ่ายขยะมูลฝอยของ อปท.ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมซน ทั้งนี้ อาจเร่งดำเนินการให้มีการประกาศใช้กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย พ.ศ. ... ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เพื่อให้การดำเนินการบริหารจัดการขยะมูลฝอย และให้กำชับให้ อปท.ได้มีการสำรวจตรวจสอบอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้าง ดำเนินการบันทึกข้อมูลในระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ และให้ความสำคัญต่อขั้นตอนการติดตามประเมินผลการดำเนิน โครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ เพื่อปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานโครงการในระยะต่อไป