ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียบร้อยโรงเรียนประยุทธ์ รัฐสภาโหวตรับหลักการญัติติแก้ไข รธน. วาระที่1 ของรัฐสภา ผลปรากฏว่ามี 2 ญัตติจาก 7 ญัตติ ที่เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภา และ เสียงบังคับ 1ใน 3 ต้องเป็นส.ว.
คือ ญัตติของรัฐบาลได้คะแนน 647 คะแนน ตามมาด้วยญัตติของพรรคเพื่อไทยได้ อันดับ 2 ได้คะแนน 576 คะแนน
2 ญัตตินี้ มีความเหมือนกัน คือ ร่างใหม่ทั้งฉบับยก เว้นหมวด 1-2 ต่างกันตรงที่ของเพื่อไทยจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ทั้ง 200 คนจากประชาชน แต่ญัตติของรัฐบาลที่ชนะเลิศนั้น ส.ส.ร. ผสมกัน ระหว่างเลือกตั้ง 150 คน และ 50 คนมาจากการแต่งตั้ง
ซึ่งม็อบต้องการให้ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน แบบของเพื่อไทย และต้องการให้ หมวด 1-2 สามารถแก้ไขได้ แบบของไอลอว์ เพราะต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ญัตติอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการลดทอนอำนาจส.ว. , การล้มล้างคำสั่ง คสช., ยุทธศาสตร์ชาติ , การเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง จากบัตรใบเดียวเป็น 2 ใบ รวมทั้งร่างของ iLaw ตกไปด้วยคะแนนค่อนข้างต่ำ แม้ว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะโหวตรับทุกร่างอย่างพร้อมเพรียงกัน
มีเพียงร่างของพรรคเพื่อไทย หลุดเข้ามาได้
รัฐสภา มีการตั้งกรรมาธิการพิจารณาแก้ไข รธน.คณะเดียว 45 คน จากทั้ง 2 สภา เป็นไปตามสัดส่วนประกอบด้วย ส. ว 15 คน, พรรคเพื่อไทย 8 คน , พปชร 8 คน , ภูมิใจไทย 4 คน, พรรคก้าวไกล 3 คน, ปชป. 3 คน , ชาติไทยพัฒนา 1 คน, เสรีรวมไทย 1 คน, ประชาชาติ 1 คน กรรมาธิการ แปรญัตติใน15 วัน ใช้ฉบับของรัฐบาลเป็นหลักในการพิจารณา นัดประชุมครั้งแรก 24 พฤศจิกายน นี้
ถึงแม้จะนำร่างของรัฐบาลเป็นหลักในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ แต่มีโอกาสตั้งส.ส.ร. ค่อนข้างแน่
พล.ท.พงศกร รอดชมพู อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ กุนซือของพลพรรคนักการเมืองสายธนาธร วิเคราะห์ว่า ต่อไปคงเป็นการต่อรองกันในเรื่องสัดส่วนของ ส.ส.ร. ที่มาจากการแต่งตั้ง
ส.ส.ร. มีความสำคัญอย่างไร?
ส.ส.ร. จากการแต่งตั้งที่เป็นร่างของฝ่ายรัฐบาลเป็นประเด็นเดียวที่แตกต่างจากร่างของพรรคเพื่อไทย และพอจะเข้าวาระ 3 เพื่อลงมติให้ผ่าน ปกติจะใช้ร่างของรัฐบาลเป็นตัวตั้ง แล้วเอาของฝ่ายค้านมาใส่ในส่วนที่รับกันได้
แล้ว 50 คนนี้ คือใคร ? แม้ว่าจำนวนจะไม่มาก แต่เชื่อว่าจะต้องเป็นนักร่างรัฐธรรมนูญมืออาชีพ (เจ้าเก่า หรือไม่ก็ใหม่แบบแนวทางเดิม) ซึ่งจะมีบทบาทครอบงำ ส.ส.ร. จากการเลือกตั้งได้
แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า ส.ส.ร.50 คนนี้ คือผู้ร่างรัฐธรรมนูญตัวจริง จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้าน จะไปต่อรองถึงที่มาของส.ส.ร.ทั้ง 50 คนนี้ อย่างน้อยควรมีคนของฝ่ายค้านเข้าไปตามสัดส่วนส.ส. ในสภาได้หรือไม่ ?
พล.ท.พงศกร ชี้ว่า ลองนึกภาพผู้ร่างรัฐธรรมนูญ มีนักกฎหมายจาก 2 ฝ่าย สัประยุทธ์กันด้วยวิชาด้านกฎหมาย รัฐธรรมนูญจะสนุกแค่ไหน อยากให้ถ่ายทอดสดเพื่อความบันเทิง และเป็นช่องทางให้ประชาชนเรียกร้องสิ่งที่ต้องการได้ด้วย
จริงอยู่ แม้ทั้ง 2 ร่างฯ จะยกเว้นการแก้ไขใน หมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งควรนำมาพิจารณาด้วย แต่ก็ผ่านไปแล้ว สมควรเดินหน้าต่อไป
ในกรณีของ iLaw ยังมีเนื้อหาที่น่าสนใจมากมาย สมควรไปนำเสนอต่อ ส.ส.ร.ให้รับไปดูกัน และในการโหวตครั้งนี้ ยังดูเหมือนส.ว. ส่วนหนึ่งก็เห็นด้วยในการปิดสวิทช์ตัวเอง แต่ก็คงไม่มีประโยชน์แล้ว กว่าจะร่างเสร็จ คงใช้เวลาประมาณ 2 ปี จากขั้นตอนต่างๆ มากมายที่ทุกฝ่ายต่างพอใจ
เสนาธิการอนาคตใหม่ ทิ้งท้ายว่า แก้รัฐธรรมนูญได้เป็นส่วนมาก แม้ไม่หมดตามที่ต้องการก็ยังดี สู้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายฝ่ายประชาธิปไตย ก็ชนะอยู่ดี อย่าเผลอแวะไปเป็นเผด็จการกันเสียก่อนเท่านั้น
ทางด้าน"พิภพ ธงไชย" นักเคลื่อนไหวการเมืองรุ่นใหญ่ อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มองว่า วันนี้ถึงรธน.ฉบับ “ไอลอว์”ไม่ผ่าน ด้วยเสียงสนับสนุนเพียง 3 คน (เสียงจาก ส. ว. ) ทั้งที่มาจากประชาชนเข้าชื่อเสนอนับแสนคน ซึ่งถือเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่ถูกนำเสนอโดยประชาชน นับตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา
ขอปรบมือให้กับท่านทั้ง 3 ที่แสดงจุดยืนทางการเมืองวันนี้อย่างน่าชื่นชม โดยเฉพาะศิลปินแห่งชาติ เจ้าของรางวัลซีไรต์ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์”
แต่การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ก็ทำให้รัฐธรรมนูญเผด็จการทหาร 2560 ต้องยุติ นำไปสู่การเขียนใหม่โดยส.ส.ร. ต้องดูกันต่อไปว่า นักการเมืองขี้ขลาดตาขาวในรัฐสภา “สัปปายะสภาสถาน”วันนี้ จะนำการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่
ดูฉากการเมืองฉากนี้ ซึ่งจะเป็นฉากละครการเมืองยาวถึง 2 ปี จนหมดสมัย พล.อ.ประยุทธ์ กันต่อไป ท่ามกลางแรงกดดัน "การเมืองบนท้องถนน" ในกรุงเทพมหานคร
"แกนนำม็อบสามนิ้ว" ประกาศสลายจากการชุมนุมหน้ารัฐสภา และประกาศยกระดับการชุมนุม เมื่อเย็นวันที่ 18 พ.ย. เรียกระดมคนมาชุมนุมได้เต็มพื้นที่แยกราชประสงค์ ส่งสัญญาณม็อบยังรวมตัวกันได้จำนวนมากเช่นเดิม การชุมนุมครั้งต่อไปนัดรวมตัวกัน หน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 25 พ. ย.
ประเด็นการชุมนุม ยกระดับไปที่ประเด็น ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะทั้งสองประเด็น ทั้งเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ไม่ได้รับการตอบสนอง
ประเด็นที่เพิ่งจบไป เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างที่ม็อบสนับสนุน คือร่างไอลอว์ ถูกตีตกไปแล้ว จึงเหลือประเด็นที่สามประเด็นเดียว
ทางด้านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์ ในตอนท้ายระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์ยังคงไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีนัก และมีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง นำไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป อาจเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และสถาบันอันเป็นที่รักยิ่ง รวมทั้งความสงบสุขปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยทั่วไป
รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคง จึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติโดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดำเนินคดีต่างๆ ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศที่สอดคล้องกับหลักการสากล
ยังต้องให้ความสำคัญกับ "ดี้" นิติพงษ์ ห่อนาค ที่โพสต์ข้อความ เรียกร้องให้ใช้ ม. 112 ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกษัตริย์ กับคนจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ได้แล้ว โดยระบุว่า “ตักบาตรอย่าถามพระ...ม.112 อย่าถามในหลวง... ได้เวลาแล้ว ได้เวลาแล้ว”
จากสถานการณ์ที่เดินไปอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน คาดเดาได้ว่า นับจากนี้การชุมนุมจะร้อนแรง และมาตราการรับมือจากรัฐบาลก็จะแรง และเด็ดขาด อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ คงหนีไม่พ้นการสูญเสีย