xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 15-21 พ.ย.2563

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ซ้าย) ม็อบราษฎรสาดสีใส่ป้ายหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติและบริเวณใกล้เคียง (ขวา) จิตอาสาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ช่วยกันล้างสีและข้อความต่างๆ ที่ม็อบราษฎรทำไว้
1.สังคมสวดยับ ม็อบราษฎรพ่นสีจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันหน้า สตช.-วัดปทุมฯ ด้านจิตอาสาพร้อมใจเยียวยาสมบัติสาธารณะ!

การชุมนุมของม็อบกลุ่มราษฎรที่แยกราชประสงค์เมื่อ 18 พ.ย. ผู้ชุมนุมได้ใช้สีสาดเข้าใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งสาดจากรั้วเข้าไปด้านในบริเวณสำนักงาน จนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าใส่แต่อย่างใด นอกจากนี้ม็อบราษฎรยังมีการทำลายตัวอักษรชื่อป้าย มีการสาดสีใส่กำแพงรั้ว รวมถึงกำแพงวัดปทุมวนาราม

ไม่เท่านั้น สิ่งที่กระทบจิตใจคนไทยทั้งประเทศอย่างมากก็คือ ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรมีการพ่นสีเป็นถ้อยคำที่หยาบคายด่าทอจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันจำนวนมาก ทั้งบริเวณกำแพง ป้ายรถเมล์ พื้นถนน รวมทั้งที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน้าวัดปทุมวนาราม เมื่อถ้อยคำดังกล่าวถูกเผยแพร่และส่งต่อกันทางสื่อโซเชียล ได้เกิดกระแสโจมตีการกระทำของกลุ่มราษฎรอย่างหนัก ส่งผลให้หลายคนรับการกระทำของม็อบกลุ่มราษฎรไม่ได้ และพร้อมใจกันไปช่วยลบข้อความดังกล่าวในช่วงเช้าวันรุ่งขึ้น (19 พ.ย.) รวมทั้งช่วยล้างช่วยทาสีใหม่ให้กับสมบัติสาธารณะที่ถูกม็อบกลุ่มราษฎรทำลาย ซึ่งการกระทำของจิตสาธารณะทั้งพ่อแม่และเด็กๆ ที่ไปช่วยกันครั้งนี้ ได้รับเสียงชื่นชมจากสังคมเป็นอันมาก

ด้านนายเสฏฐนันท์ ราฟาเอล เตชะวิบูลย์ ลูกชายเซเลบริตี้ กล่าวว่า ได้ติดตามดูในข่าวแล้วพบว่า เมื่อวาน (18 พ.ย.) มีการสาดสีตามจุดต่างๆ และที่หนักสุด คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมาสำรวจรอบๆ ตั้งแต่เช้า เพื่อเตรียมสเปรย์และสีมาลบข้อความเกี่ยวกับสถาบัน ไม่ให้มีใครได้เห็นและรู้สึกไม่ดีเหมือนกับตัวเอง ถือเป็นหน้าที่ของคนไทยที่จะปกป้องสถาบัน อยากบอกว่า ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยพบเห็นอะไรแบบนี้เลย ขอเตือนด้วยว่าการกระทำแบบนี้มันผิดกฎหมาย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนที่ม็อบกลุ่มราษฎรจะยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พ.ย. นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง แกนนำม็อบราษฎร ได้ประกาศนัดรวมพลครั้งต่อไปในวันที่ 25 พ.ย.ที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พร้อมระบุว่า เพื่อเป็นการทวงภาษีประชาชนทุกบาททุกสตางค์ และว่า วันที่ 25 พ.ย.นี้ จะเป็นวันเริ่มวันแรกของการเคลื่อนไหวใหญ่ และจะมีวันต่อๆ ไป

หลังม็อบกลุ่มราษฎรเริ่มเคลื่อนไหวเกินขอบเขต มีการพ่นสีข้อความจวบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 18 พ.ย. ทั้งที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน้าวัดปทุมวนาราม ส่งผลให้คนไทยหลายภาคส่วนเริ่มรับไม่ได้ พร้อมเรียกร้องให้มีการนำมาตรา 112 มาบังคับใช้กับผู้ทำผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ซึ่งในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ว่า หลังจากนี้ จะมีการบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรากับผู้ชุมนุมที่ทำผิดกฎหมาย โดยแถลงการณ์ระบุว่า “จากสถานการณ์การชุมนุมในห้วงที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลและทุกฝ่ายกำลังร่วมกันหาทางออกโดยสงบและสันติ บนพื้นฐานของกระบวนการตามกฎหมาย และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

"อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีท่าทีที่จะบรรเทาลง แม้รัฐบาลได้แสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา โดยหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ใช้ความพยายามปฏิบัติหน้าที่ ในการรักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดำเนินการต่าง ๆ ตามหลักสากลด้วยความระมัดระวัง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาบรรยากาศของความรักความสามัคคีปรองดองของทุกคนในชาติ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบ้านเมือง และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นสำคัญ"

"ปัจจุบันสถานการณ์ยังคงไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีนัก และมีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง นำไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปอาจเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และสถาบันอันเป็นที่รักยิ่ง รวมทั้งความสงบสุขปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยทั่วไป รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงจึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดำเนินคดีต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ที่สอดคล้องกับหลักการสากล จึงขอแจ้งมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน"

สำหรับท่าทีจากฝ่ายต่างๆ ที่มีต่อผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรหลังกระทำการจวบจ้วงสถาบันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งนัดชุมนุมครั้งต่อไปที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในวันที่ 25 พ.ย.นั้น แม้แต่แนวร่วมที่เคยร่วมชุมนุมและเป็นการ์ดให้กลุ่มราษฎร ก็เริ่มส่งสัญญาณถอนตัว

โดยเมื่อวันที่ 19 พ.ย. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก "หมูครับ แต่ไม่หมู" หรือนายหมู หนึ่งในแกนนำกลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตย แนวร่วมกลุ่มคณะราษฎร 2563 ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า "ผมและเพื่อนพี่น้องฟันเฟืองขอประกาศจุดยืน ผมจะเรียกร้องประชาธิปไตยตามแนวทางแบบอาชีวะเท่านั้น ม็อบที่แกนนำไปยุ่งเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูงจนเลยขอบเขตมากเกินไป ไม่ได้ไล่ประยุทธ์และรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ผมและเพื่อนพี่น้องฟันเฟืองอาชีวะจะไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับม็อบที่ชุมนุมนั้นอย่างเด็ดขาด การชุมนมวันที่ 25 พ.ย. นี้ ผมและเพื่อนพี่น้องอาชีวะฟันเฟืองส่วนใหญ่ขอถอนตัวครับ ใครจะไปสนับสนุน ใครจะไปก็ไปเราไม่บังคับ แต่ขอให้ไปในนามมวลชน อย่าแสดงสัญลักษณ์ปลอกแขนฟันเฟือง ฟันเฟืองลงมติขอเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการ ไม่สนับสนุนยุ่งเกี่ยวกับการจาบจ้วงใดๆ ทั้งสิ้น..."

ส่วนท่าทีจากฝ่ายอื่นๆ ได้แก่ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา กล่าวว่า “คนไทยอยากเห็นบ้านเมืองสงบเรียบร้อย เศรษฐกิจที่แย่อยู่จะได้แก้ไขได้ง่ายขึ้น เด็กๆ ไม่ต้องลงถนนแล้วได้รับผลเสียตามมา คนอื่นทำมาหากินใช้ชีวิตลำบาก ที่สำคัญที่สุด วางสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เหนือความขัดแย้งทั้งปวง อย่าทำเช่นทุกวันนี้ เราจะไม่มีทางอื่นไป”

ด้านเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ ศชอ. ได้โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 20 พ.ย. "พี่ดี้" นิติพงษ์ ห่อนาค พร้อมทีมงาน ศชอ. เข้าแจ้งความต่อ “พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ” ผบก.ปอท. ให้ดำเนินคดีกับ “รุ้ง - ปนัสยา” ตาม #มาตรา112 #ในหลวงและพระราชินีถูกbully #กฎหมายคือที่พึ่ง"

2.ม็อบราษฎรเริ่มแรง! รอง ผบช.น.เผย ภาพวงจรปิดยืนยัน ชายเสื้อชมพูอยู่การ์ดกลุ่มราษฎร ยิงปืนใส่กลุ่มเสื้อเหลือง

ชายเสื้อชมพูซึ่งอยู่ในกลุ่มการ์ดม็อบราษฎรยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อเหลืองเมื่อวันที่ 17 พ.ย.
หลังม็อบกลุ่มราษฎรรู้ว่า รัฐสภาจะมีการประชุมพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่างในวันที่ 17-18 พ.ย. ปรากฏว่า ก่อนหน้า 2 วัน (15 พ.ย.) กลุ่มราษฎรได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระดมมวลชนไปชุมนุมกดดันให้รัฐสภารับร่างฉบับไอลอว์ ที่กลุ่มราษฎรอ้างว่า เป็นฉบับประชาชน โดยโพสต์ข้อความส่วนหนึ่งว่า “...รวมพลังปักหลักชุมนุมใหญ่ราษฎรล้อมสภา ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ซึ่งวันนั้นจะเป็นวันเดียวกับวันที่เริ่มพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่าง (รวมไปถึงร่างจากภาคประชาชน ซึ่งไม่ปิดกั้นการแก้หมวด 1 หมวด 2 (เกี่ยวกับกษัตริย์)) พร้อมกัน ตั้งแต่ 15.00 น.ยาวไปจนกว่าขี้ข้าเผด็จการจะยอมลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน...”

ด้านกลุ่มไทยภักดี นำโดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม พร้อมมวลชนได้สวมใส่เสื้อเหลือง ไปรวมตัวกันใกล้รัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พ.ย. เมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า มีการประกาศว่า บริเวณหน้ารัฐสภาเป็นพื้นที่ห้ามชุมนุม นพ.วรงค์ได้นำมวลชนบางส่วนเดินทางไปศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด ให้พิจารณาส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อาจเข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ขณะที่เจ้าหน้าที่มีการตั้งแนวกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมไม่ว่าฝ่ายใดเข้าใกล้รัฐสภาในรัศมี 150 เมตร ต่อมา นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ หัวหน้าการ์ดกลุ่มราษฎร พร้อมผู้ชุมนุมบางส่วนเห็นแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ จึงมีการตะโกนด่าทอตำรวจ หลังจากนั้นได้ใช้คีมตัดเหล็กตัดลวดหนามหีบเพลงออก เจ้าหน้าที่เตือนให้ผู้ชุมนุมหยุดตัดลวดหนาม แต่การ์ดผู้ชุมนุมไม่หยุด เจ้าหน้าที่จึงฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมเป็นระยะๆ

ต่อมาผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรได้ปาพลุสีมีควันและมีกลิ่นเข้าใส่เจ้าหน้าที่ ด้านเจ้าหน้าที่ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมหยุดการกระทำดังกล่าว และขอเจรจากับหัวหน้าการ์ด ขณะที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้เตรียมกระสุนยางและแก๊สน้ำตา หากผู้ชุมนุมไม่หยุดการกระทำ ซึ่งหลังการเจรจาไม่เป็นผล และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวเดิน พยายามฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ไปหน้าอาคารรัฐสภา เจ้าหน้าที่ได้ฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตา เนื่องจากผู้ชุมนุมพยายามเคลื่อนตัวมาหน้าแนวตำรวจโดยไม่สนใจการแจ้งเตือน ขณะที่บรรยากาศในสภา เริ่มมี ส.ส. ส.ว. และเจ้าหน้าที่สภาบางส่วนเริ่มทยอยเดินทางออกจากสภาโดยเรือที่กองทัพเรือจัดเตรียมไว้ให้

ส่วนบรรยากาศที่หน้าวัดใหม่ทองเสน ถนนทหาร แกนนำผู้ชุมนุมกลุ่มไทยภักดีได้ประกาศขออาสาสมัครการ์ด เพื่อยืนเป็นแนวกันปะทะที่บริเวณแยกสะพานแดง เนื่องจากกลุ่มราษฎรพยายามตัดรั้วลวดหนามเพื่อเข้าไปยังพื้นที่ของกลุ่มไทยภักดี ซึ่งในเวลาต่อมา ได้เกิดการปะทะกัน มีการขว้างปาขวดน้ำ เก้าอี้ หิน และสิ่งของใส่กัน ก่อนที่แกนนำของทั้งสองฝ่ายจะประกาศให้มวลชนของฝ่ายตนหยุดขว้างปาสิ่งของใส่กัน

ทั้งนี้ มวลชนกลุ่มราษฎรยังคงพยายามรุกคืบฝ่าด่านเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าไปยังรัฐสภา ผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนย้ายรถเมล์ที่เจ้าหน้าที่นำมากั้น ออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตาม มีอยู่ช่วงหนึ่งที่แกนนำผู้ชุมนุมได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมถอยจากแยกเกียกกายโดยด่วน เพราะรถเมล์ที่เคลื่อนย้ายเกิดแก๊สรั่ว ทำให้มวลชนวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น ก่อนเปิดทางให้รถดับเพลิงเข้าพื้นที่เตรียมพร้อมหากเกิดอุบัติเหตุจากแก๊สรั่ว

ต่อมาได้เกิดเสียงปืนดังขึ้นหลายครั้ง โดยยังไม่ชัดเจนว่า เป็นเสียงปืน เสียงประทัด หรือระเบิดปิงปอง แต่แกนนำกลุ่มราษฎรได้แจ้งให้ผู้ชุมนุมถอยออกมา โดยอ้างว่าอีกฝั่งมีอาวุธ อย่างไรก็ตามได้มีสื่อจับภาพไว้ได้ว่า มีชายใส่ชุดกันฝนสีชมพู ถือปืนอยู่ในฝั่งผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร และเล็งไปยังฝั่งกลุ่มคนเสื้อเหลือง

ซึ่งภายหลัง พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. เผยเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ว่า จากการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด ยืนยันว่า ชายที่ใส่เสื้อสีชมพูดังกล่าวอยู่ในกลุ่มการ์ดของผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองแต่อย่างใด เนื่องจากพบว่า มีการพูดคุยกันกับทางกลุ่มการ์ดของกลุ่มราษฎร นอกจากนี้ยังมีคนคอยระวังหลังให้ด้วย แต่เป็นไปได้ว่าระหว่างที่ใช้อาวุธปืนยิงออกไปนัดแรก เกิดอาการลื่น ทำให้วิถีกระสุนพลาดหันเข้ามาหาทางฝั่งเดียวกัน ก่อนที่จะยิงต่ออีก 2-3 นัด ไปยังฝั่งกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อเหลือง ยืนยันว่า แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถเข้าไปยังบริเวณพื้นที่ดังกล่าวได้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีกลุ่มเสื้อเหลืองอยู่ในพื้นที่ของกลุ่มราษฎร

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวด้วยว่า ส่วนการดำเนินคดีผู้ชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภานั้น คาดว่าจะมีผู้ถูกดำเนินคดีประมาณ 14 ราย ส่วนใหญ่เป็นแกนนำที่ปราศรัยในการชุมนุมกลุ่มราษฎร

ด้านศูนย์เอราวัณ สรุปตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 55 ราย โดยบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา 32 ราย ถูกยิง 6 ราย ป่วย 4 ราย และอาการอื่นๆ 13 ราย

เป็นที่น่าสังเกตว่า มีสื่อมวลชนจับภาพไว้ได้ด้วยว่า ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรหลายคนมีการรุมทำร้ายชายเสื้อเหลืองที่บริเวณหลังรถตำรวจ เมื่อม็อบดังกล่าวเห็นสื่อมวลชนกำลังเดินเข้าไป จึงได้ยุติการรุมทำร้าย

ทั้งนี้ ระหว่างการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ม็อบกลุ่มราษฎรได้ทุบทำลายและสาดสีใส่รถเมล์ รถตำรวจ รถฉีดน้ำแรงดันสูง รวมถึงรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประชาชนที่จอดอยู่บริเวณดังกล่าวเสียหายหลายคัน โดยหลังจากแกนนำประกาศยุติชุมนุม ได้มีการนัดชุมนุมอีกครั้งในที่ 18 พ.ย. ที่แยกราชประสงค์

3.รัฐสภาลงมติรับหลักการแก้ รธน.แค่ร่าง 1-2 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. ตีตก “ฉบับไอลอว์” หวั่นแตะสถาบัน!



เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ได้มีการประชุมร่วมรัฐสภา นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่าง โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ท่ามกลางบรรยากาศนอกสภาที่มีการชุมนุมของม็อบกลุ่มราษฎรที่เรียกร้องให้สภารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของไอลอว์ โดยอ้างว่าเป็นฉบับของภาคประชาชน ขณะที่ผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อเหลือง กลุ่มไทยภักดี มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สำหรับบรรยากาศในสภา ได้มีการอภิปรายสนับสนุนและคัดค้านญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ซึ่งร่างที่ 1 เสนอโดยฝ่ายค้าน มีสาระสำคัญให้แก้มาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง 200 คนมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ร่างที่ 2 เสนอโดยฝ่ายรัฐบาล เสนอให้แก้มาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.200 คน โดยมาจากการเลือกตั้ง 150 คน และแต่งตั้งอีก 50 คน ร่างที่ 3 เสนอโดยฝ่ายค้าน ให้ยกเลิกมาตรา 270-271 ยกเลิกการให้อำนาจ ส.ว.ติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ จัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ร่างที่ 4 เสนอโดยฝ่ายค้าน ให้แก้ไขมาตรา 159 และ 272 โดยตัดอำนาจ ส.ว.ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีช่วง 5 ปีแรก

ร่างที่ 5 เสนอโดยฝ่ายค้าน ให้ยกเลิกมาตรา 279 โดยยกเลิกการรับรองความชอบด้วยกฎหมายของประเทศ คำสั่ง และการกระทำโดย คสช. ร่างที่ 6 เสนอโดยฝ่ายค้าน ให้แก้ไขเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง โดยกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ในการเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อและ ส.ส.แบ่งเขต ร่างที่ 7 เสนอโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือกลุ่มไอลอว์ ซึ่งมีการเสนอประมาณ 10 ประเด็น เช่น ยกเลิกช่องทางนายกฯ คนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง, ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ คสช.เขียน, ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศฯ, ยกเลิกการนิรโทษกรรม คสช., แก้ไขที่มาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมสรรหาใหม่ยกชุด ฯลฯ

ทั้งนี้ บรรยากาศในการอภิปราย มีทั้งฝ่ายที่เห็นว่า ควรรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะร่าง 1-2 ของฝ่ายค้านและรัฐบาล ขณะที่บางฝ่ายหนุนแก้รัฐธรรมนูญแค่บางมาตรา ไม่ต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน สนับสนุนให้รับหลักการทั้ง 7 ร่าง

โดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะ กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ กล่าวว่า ส่วนตัวจะร่วมรับหลักการญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 2 ญัตติ คือ เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมระบบเลือกตั้ง กลับมาใช้บัตร 2 ใบ และการตัดอำนาจ ส.ว.ในการติดตามการปฏิรูปประเทศ พร้อมย้ำว่า จะสนับสนุนเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา

ด้านนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการไอลอว์ ยืนยันว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 เป็นของประชาชน ไม่ใช่ไอลอว์ พร้อมอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันออกแบบเพื่อให้ คสช.ยังคงอำนาจอยู่ แม้หลังเลือกตั้งแล้วก็ตาม

ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ไอลอว์เป็นองค์กรที่ได้รับทุนจากต่างชาติและทุนบางแห่งมาจากจอร์จ โซรอส จึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยเฉพาะการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ และที่หนักไปกว่านั้น มีแกนนำคณะราษฎรจำนวนมากที่ร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงเป็นการมุ่งปฏิรูปสถาบัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นเรื่องอื่นพอรับได้ เช่น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านที่ห้ามแก้ไขหมวด 1 และ 2 เป็นต้น “หากสมาชิกรัฐสภาคนใดสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นปฏิปักษ์ ก็ขอให้โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์ หากต้องการปกป้องสถาบันเหมือนประชาชน ก็ขอให้โหวตเหมือนผม คือ การโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์”

ด้านนางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า “จะแก้หมวดไหนก็แก้ไป แต่ห้ามแตะหมวด 1 หมวด 2 เด็ดขาด ไอลอว์เป็นองค์กรรับทุนต่างชาติ รับเงินจอร์จ โซรอส พ่อมดการเงินชาวยิว ผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีค่าเงินบาทของไทยในปี 2540 ไอลอว์คือองค์กรที่ทุนจากผู้ทุบค่าเงินบาทจนทำให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งที่ผ่านมา แม้การรับทุนทำกิจกรรมจะไม่ผิด แต่สิ่งที่ไอลอว์ทำ เป็นกิจกรรมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาล สนับสนุนข้อเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบัน เสนอร่างรัฐธรรมนูญ นี่ถือเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่ ตนไม่เห็นด้วยกับสิ่งเหล่านี้ ความเจ็บปวดในปี 40 ยังเป็นฝันร้ายในหลายครอบครัว เราต้องไม่ชักน้ำเข้าลึก อย่าชักศึกเข้าบ้าน ไม่มีใครที่รักประเทศไทยเท่ากับคนไทย ดังนั้น ต้องไม่ให้ต่างชาติเข้ามาครอบงำเรา”

ขณะที่ น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ในฐานะผู้แทนริเริ่มเสนอกฎหมายร่างฉบับไอลอว์ ยืนยันว่า กระบวนการรับทุนของไอลอว์เป็นไปอย่างโปร่งใส และว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นความต้องการของประชาชน 1 แสนคน

สำหรับการลงมติในหลักการวาระแรกต่อญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 7 ฉบับ มีขึ้นในวันต่อมา (18 พ.ย.) ซึ่งหลังการลงคะแนนโดยใช้วิธีขานชื่อเป็นรายบุคคล ปรากฏว่า มีร่างที่ผ่านการรับหลักการวาระ 1 แค่ 2 ร่าง คือร่างที่ 1 ที่เสนอโดยฝ่ายค้าน และร่างที่ 2 ที่เสนอโดยฝ่ายรัฐบาล โดยร่างที่ 1 รับหลักการ 576 เสียง ไม่รับหลักการ 21 งดออกเสียง 123, ร่างที่ 2 รับหลักการ 647 เสียง ไม่รับหลักการ 17 เสียง งดออกเสียง 55 เสียง, ร่างที่ 3 รับหลักการ 213 เสียง ไม่รับหลักการ 35 เสียง งดออกเสียง 472 เสียง, ร่างที่ 4 รับหลักการ 268 เสียง ไม่รับหลักการ 20 เสียง งดออกเสียง 432 เสียง, ร่างที่ 5 รับหลักการ 209 เสียง ไม่รับหลักการ 51 เสียง งดออกเสียง 460 เสียง, ร่างที่ 6 รับหลักการ 268 เสียง ไม่รับหลักการ 19 เสียง งดออกเสียง 432 เสียง และร่างที่ 7 รับหลักการ 212 เสียง ไม่รับหลักการ 139 เสียง งดออกเสียง 369 เสียง

หลังจากนั้น ที่ประชุมมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 45 คน เพื่อแปรญัตติใน 15 วัน โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นตัวตั้ง หรือเป็นร่างหลักในวาระ 2 พร้อมกำหนดประชุมนัดแรกวันที่ 24 พ.ย.นี้ เวลา 9.30 น.

4.ผลโพล พบ พลังเงียบหนุน รบ.มากขึ้น เอือมระอาม็อบราษฎร จี้หยุดอ้างเรื่องภาษี เพราะจ้องทำลายทรัพย์สิน!



วันนี้ (21 พ.ย.) ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ภาษีของราษฎร กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ จำนวน 1,112 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 19-21 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยเมื่อถามถึงภาษีของราษฎร พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 93.3 อยากให้ม็อบราษฎรหยุดอ้างว่าจะรักษาเงินภาษีของราษฎร เพราะเห็นแล้วว่า ม็อบได้ทำลายทรัพย์สินส่วนรวมจากเงินภาษีของราษฎร ร้อยละ 92.7 เห็นว่า ม็อบประชาธิปไตย ใจเผด็จการยิ่งกว่าผู้มีอำนาจตอนนี้ เพราะคุกคามผู้อื่น บังคับผู้อื่นต้องทำตามข้อเรียกร้อง ทำลายผู้เห็นต่าง ถึงจะรุนแรงบานปลาย ไม่สนเงินภาษีประชาชนที่ต้องมาฟื้นฟูหลังการสูญเสีย ร้อยละ 92.3 เห็นว่า น่าเคลือบแคลงสงสัยว่า ม็อบทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง คนหยิบมือเดียวได้ประโยชน์ด้วยทุนต่างชาติมาทำลายเงินภาษีของราษฎร

ผลโพล ยังพบด้วยว่า ร้อยละ 91.7 เห็นว่า ม็อบประชาธิปไตยแท้จริง ต้องชุมนุมด้วยความสงบ ช่วยรักษาทรัพย์สิน สมบัติชาติ ไม่ทำลายเงินภาษีประชาชนเหมือนที่หน้ารัฐสภา ร้อยละ 91.6 ระบุว่า ถ้าม็อบเห็นแก่อนาคตของน้อง ๆ พี่ ๆ มาทำลายทรัพย์สินส่วนรวมจากเงินภาษีของราษฎรทำไม ร้อยละ 90.6 มองว่า ขบวนการต่างชาติร่วมทุนในไทยหนุนม็อบ ปลุกปั่นทำลายเงินภาษีของราษฎร และส่วนใหญ่ร้อยละ 90.0 เห็นว่า เงินภาษีของราษฎรถูกม็อบทำลาย เช่น รถเมล์ รถตู้ตำรวจ รถน้ำแรงดันสูง กล้องวงจรปิดดูแลความปลอดภัยของราษฎร เป็นต้น

ผลโพลยังพบอีกว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 94.8 ระบุว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังจงรักภักดีและต้องการปกป้องรักษาสถาบันหลักของชาติ ขณะที่ร้อยละ 93.4 ระบุว่า ไม่รัก ก็อย่าทำลาย และร้อยละ 91.6 ระบุว่า เอือมระอากับม็อบ หยุดได้แล้ว ประเทศไทยต้องเดินหน้าต่อ จัดการคนทำผิดกฎหมายไม่ต้องเว้น

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 92.4 ต้องการให้ผู้มีอำนาจออกออกมาทำบ้านเมืองให้สงบสุข ไม่วุ่นวายโดยเร็ว ในขณะที่ร้อยละ 7.6 ระบุว่า ปล่อยไปแบบนี้

เมื่อถามถึงจุดยืนทางการเมืองของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 59.6 สนับสนุนรัฐบาล ขณะที่ร้อยละ 20.4 ไม่สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 20.0 เป็นพลังเงียบ ขออยู่ตรงกลาง

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า หลังเกิดเหตุปะทะทำลายทรัพย์สินราชการจากเงินภาษีของราษฎร ส่งผลทำให้กลุ่มพลังเงียบและผู้ที่เคยไม่สนับสนุนรัฐบาลบางส่วน เทคะแนนมาสนับสนุนรัฐบาลมากขึ้น นอกจากนี้ผลโพลเรื่อง ภาษีของราษฎร ยังชี้ให้ประชาชนทั่วไปเห็นอย่างน้อย 3 อย่างคือ 1.แกนนำและม็อบผู้เคยประกาศตัวเรื่องปกป้องภาษีของประชาชน แต่กลับมาทำลายเงินภาษีของประชาชนด้วยวิธีที่รุนแรงแบบธรรมดาที่ใคร ๆ ก็ทำได้ คือทุบทำลายให้เสียหายและประชาชนต้องมาจ่ายเพิ่มในการซ่อมแซมฟื้นฟู แทนที่จะเอาเงินภาษีของประชาชนไปช่วยเรื่องสุขภาพและการศึกษา

2.แกนนำและม็อบเคยเรียกร้องให้หยุดคุกคามประชาชน แต่กลับทำร้ายผู้เห็นต่างจนบาดเจ็บ รวมถึงคุกคาม เบียดเบียนผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน จนทำมาหากินไม่ได้ และ 3.แกนนำและม็อบเรียกร้องประชาธิปไตยแท้จริง แต่กลับไปบังคับข่มขู่และใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย พรรคพวกทำผิดกฎหมายได้ต้องปล่อยตัว ถ้าบ้านเมืองไม่มีกฎหมาย แล้วราษฎรจะอยู่กันอย่างไร เพราะถ้าไปศึกษาประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยในโลกตะวันตกจะพบว่า ประเทศเหล่านั้นมีสงครามกลางเมือง มีจลาจล เพราะกลุ่มผลประโยชน์ขัดแย้งกันในหมู่ประชาชน พวกเขาจึงต้องมีระบบการส่งตัวแทนผ่านการเลือกตั้งเข้าสู่สภา และแก้ปัญหาความขัดแย้งกันในสภา

5.ศาลฎีกา พิพากษายืนจำคุก “จุฑามาศ” อดีตผู้ว่าฯ ททท. 50 ปี คดีรับสินบนเทศกาลหนัง ขณะที่ลูกสาวโดนด้วย 40 ปี!


นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าฯ ททท.
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีทุจริตเงินสินบนจัดเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อายุ 73 ปี อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ น.ส.จิตติโสภา ศิริวรรณ อายุ 46 ปี บุตรสาว เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานเป็นพนักงาน เรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อการกระทำอย่างใดในหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้อแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิตามสัญญาแก่หน่วยของรัฐ และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 11 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนรอราคาหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 มาตรา 12

คดีนี้ อัยการโจทก์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2558 จากกรณีที่จำเลยทั้งสองร่วมกันรับเงินตอบแทนจาก สามี-ภรรยาชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นนักธุรกิจภาพยนตร์ เพื่อให้ได้สิทธิในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2002-2007 (พ.ศ. 2545-2550) มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ต่อมา ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2560 เห็นว่า พฤติการณ์ของนางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเรียกรับทรัพย์สินฯ ให้จำคุกนางจุฑามาศ รวม 11 กระทงๆ ละ 6 ปี เป็นจำคุก 66 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงตามกฎหมายแล้ว ให้จำคุกสูงสุดเป็นเวลา 50 ปี ส่วน น.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 บุตรสาว จำคุกรวม 11 กระทงเช่นกัน กระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 44 ปี ริบเงินกระทำผิด 1,822,494 เหรียญสหรัฐฯ และดอกผลที่เกิดขึ้นให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย โดยเงินนั้นเป็นทรัพย์ที่ฝากอยู่ในธนาคารต่างประเทศ ศาลจึงได้กำหนดมูลค่าทรัพย์ที่สั่งริบนั้น เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 62,724,776 บาท หลังจากนั้น จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ต่อมา ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2562 ให้จำคุก น.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 รวม 10 กระทง (จากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 11 กระทง) กระทง ละ 4 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 40 ปี ส่วนนางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 มารดา คงจำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 11 กระทงๆ ละ 6 ปี จำคุกทั้งสิ้น 66 ปี แต่เมื่อรวมโทษตามกฎหมายแล้ว ให้จำคุกสูงสุดเป็นเวลา 50 ปี และให้ยกคำสั่งริบทรัพย์ของศาลชั้นต้น เนื่องจากเป็นการวินิจฉัยเกินคำขอ เพราะคดีนี้อัยการโจทก์ไม่ได้มีคำขอให้ริบของกลางหรือเงินใดๆ ไว้ท้ายฟ้อง หลังจากนั้น จำเลยทั้งสองยื่นฎีกาขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องอีก

เมื่อถึงกำหนดนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ศาลได้เบิกตัวนางจุฑามาศ และ น.ส.จิตติโสภา จำเลยสองแม่ลูก ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง มาศาลเพื่อฟังคำพิพากษา

ทั้งนี้ ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า จากการไต่สวนพยานรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เริ่มดำเนินการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ และโครงการอื่นๆ อย่างเป็นลำดับขั้นตอน ให้เจ้าหน้าที่ของ ททท. ประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญของบริษัทในกลุ่มธุรกิจกรีน เตรียมจัดตั้งบริษัทใหม่ แก้ไขเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของบริษัทให้มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้รับจ้างตรงตามที่คณะกรรมการจัดจ้างของ ททท. ต้องการ จนนำไปสู่การเข้าทำสัญญาของบริษัทในกลุ่มธุรกิจกรีนกับ ททท. โดยการอนุมัติของจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีตกลงราคาและวิธีพิเศษ มุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า อนุมัติทุกโครงการด้วยความสุจริต ศาลเห็นว่า รับฟังไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดเส้นทางการเงินเชื่อมโยงระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทในกลุ่มธุรกิจกรีน รวมถึงอีเมลและโทรสารที่จำเลยที่ 1 ติดต่อเจรจาเรื่องผลประโยชน์ คือเงินที่โอนเข้าบัญชีจำเลยที่ 2 รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เรียกรับเงินเป็นค่าตอบแทนในการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่

สำหรับจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดหรือไม่ ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่า รับจ้างทำวิจัยและโครงการนั้น ไม่มีหลักฐานหรือการรับรองใดๆ จากหน่วยงานหรือองค์กรภายนอกที่จะทำให้มีน้ำหนักเชื่อได้ว่า มีการทำวิจัยและโครงการต่างๆ ตามที่นำสืบมา ศาลเห็นว่า มีลักษณะใช้การทำวิจัยและโครงการเป็นข้ออ้าง เพื่อรับเงินบริษัทในกลุ่มธุรกิจกรีนโอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

หลังศาลฎีกาพิพากษายืน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวสองแม่ลูกขึ้นรถยนต์กลับไปคุมขังไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลางตามคำพิพากษา


กำลังโหลดความคิดเห็น