ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในอเมริกาทะลุ 250,000 คน เมื่อวันพุธ (18 พ.ย.) ขณะที่นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กสั่งให้โรงเรียนรัฐบาลทั้งหมดเปลี่ยนไปสอนออนไลน์ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อยังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ด้าน WHO เตือนแม้มีข่าวดีจากผู้พัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา โดยเฉพาะไฟเซอร์ที่ล่าสุดยืนยันว่า มีประสิทธิภาพถึง 95% แต่โลกจะต้องฝ่าฟันการระบาดระลอกนี้ไปโดยไม่มีวัคซีน เนื่องจากยังนำออกมาให้ใช้กันอย่างกว้างขวางไม่ทัน
8 เดือนหลังจากนิวยอร์กซิตีเป็นศูนย์กลางการระบาดใหญ่ในอเมริกา ขณะนี้วิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในสหรัฐฯปะทุรุนแรงสุดในพื้นที่ตอนบนของแถบมิดเวสต์
ทิม วอลซ์ ผู้ว่าการรัฐมินเนโซตา หนึ่งในหลายๆ รัฐในแถบดังกล่าวที่มีอัตราการติดเชื้อต่อจำนวนประชากรสูงสุด สั่งปิดร้านอาหาร บาร์ ฟิตเนส และสถานบันเทิงทั้งหมด รวมทั้งยกเลิกศูนย์กีฬาเยาวชนนาน 4 สัปดาห์
อย่างไรก็ดี ในนครนิวยอร์ก นายกเทศมนตรี บิลล์ เดอ บลาสิโอ ยังคงสั่งให้โรงเรียนรัฐบาลทั้งหมดเปลี่ยนไปสอนออนไลน์แทนตั้งแต่วันพฤหัสฯ (19) หลังจากมหานครแห่งนี้พบการระบาดสูงขึ้นอย่างไม่น่าไว้วางใจ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% ติดต่อกัน 7 วัน ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กำหนดว่าจะต้องใช้มาตรการสั่งปิดโรงเรียน
ก่อนหน้านี้ เมื่อเร็วๆ นี้ เมืองใหญ่ๆ หลายเมือง เช่น บอสตัน ดีทรอยต์ ลาสเวกัส และฟิลาเดลเฟีย ก็สั่งให้โรงเรียนเปลี่ยนไปใช้ระบบออนไลน์ หรือเลื่อนการเปิดเทอมตามปกติ
สำหรับภาพรวมสถานการณ์ทั่วทั้งสหรัฐฯนั้น ในวันพุธ จำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศนี้พุ่งทะลุขีด 1 ใน 4 ของล้านคน นั่นคืออยู่ที่อย่างน้อย 250,016 คน ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มในวันเดียวสูงขึ้นกว่า 157,950 คน รวมยอดสะสมอยู่ที่ราว 11.5 ล้านคน สำหรับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในรอบ 24 ชั่วโมงมีเกือบ 79,000 คน กลายเป็นการทำสถิติรายวันสูงสุด โดยเพิ่มขึ้นจาก 75,000 คนในวันอังคาร (17)
ในเดือนนี้ เจ้าหน้าที่ในอย่างน้อย 21 รัฐ ได้ประกาศยกระดับมาตรการสาธารณสุข ซึ่งมีตั้งแต่การจำกัดการรวมกลุ่มที่เข้มงวดยิ่งขึ้น การปิดธุรกิจที่ไม่จำเป็น จนถึงคำสั่งสวมหน้ากากในที่สาธารณะ
อย่างไรก็ดี เคย์ลีห์ แม็กเอนานี โฆษกทำเนียบขาว แสดงความเห็นว่า การออกมาตรการจำกัดใหม่เหล่านั้น “มากเกินไป” เพราะคนอเมริกันรู้ดีว่า ควรป้องกันสุขภาพอย่างไรและไม่ต้องการถูกลิดรอนเสรีภาพ
ทว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขมองตรงกันข้าม ทั้งยังเตือนว่า การสังสรรค์ภายในครอบครัวช่วงเทศกาลวันหยุดขอบคุณพระเจ้าของสหรัฐฯ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 26 พ.ย. ประกอบกับอากาศที่หนาวเย็นลง อาจทำให้ไวรัสระบาดหนักขึ้นและเพิ่มภาระต่อระบบสาธารณสุข
สถานการณ์การระบาดที่รุนแรงขึ้นในอเมริกา เกิดขึ้นพร้อมกับข่าวดีจากไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคที่แถลงว่า หากได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้แบบเร่งด่วนฉุกเฉิน ก็อาจแจกจ่ายวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาที่เป็นผลงานร่วมของบริษัททั้งสอง ซึ่งผลศึกษาล่าสุดแสดงว่าประสิทธิภาพในการป้องกันสูงถึง 95% ในอเมริกาและสหภาพยุโรปตั้งแต่เดือนหน้า
อัลเบิร์ต บูร์ลา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ไฟเซอร์ ซึ่งเป็นบริษัทยาของอเมริกา แถลงผลการศึกษาล่าสุดเมื่อวันพุธว่า เป็นก้าวสำคัญในการทดลองที่รวมแล้วดำเนินอยู่นาน 8 เดือน
การแถลงคราวนี้มีขึ้น หลังจากวัคซีนของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคซึ่งเป็นบริษัทเยอรมนี ดำเนินการทดลองทางคลินิกในขั้นสุดท้าย โดยใช้อาสาสมัครเกือบ 44,000 คน ที่มีทั้งผู้ได้รับวัคซีนจริง และผู้ได้รับวัคซีนหลอก ปรากฏว่าในหมู่อาสาสมัครเหล่านี้ซึ่งต่างได้รับยาฉีด 2 ครั้งนั้น ได้ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดแล้วเป็นจำนวน 170 คน โดย 162 คนได้รับยาหลอก และอีก 8 คนได้วัคซีนจริง นั่นเท่ากับว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพถึง 95% เพิ่มขึ้นจากรายงานการวิเคราะห์เบื้องต้นที่เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งอยู่ในระดับมากกว่า 90%
ทั้งนี้ สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) วางกฎเกณฑ์ไว้ว่า ไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค ต้องพบผู้ติดเชื้อในหมู่อาสาสมัครเป็นจำนวน 164 รายขึ้นไป จึงจะเพียงพอที่จะบอกได้ว่าวัคซีนนั้นๆ ทำงานป้องกันได้มีประสิทธิภาพจริงๆ แค่ไหน ผลการศึกษาล่าสุดนี้ออกมาหลังพบผู้ป่วยครบตามเกณฑ์แล้ว ขณะที่รายงานการศึกษาเบื้องต้นก่อนหน้านี้ยังไม่ครบ
ขณะเดียวกัน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา บริษัทโมเดอร์นาของอเมริกา ก็ได้เปิดเผยข้อมูลการศึกษาเบื้องต้นว่า วัคซีนของบริษัทมีประสิทธิภาพในการต้านทานไวรัสโคโรในระดับ 94.5%
ในผลการศึกษาที่เปิดเผยล่าสุดของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค ยังพบว่าผลข้างเคียงจากวัคซีนทั้งระดับรุนแรงที่สุด ปานกลาง จนถึงต่ำ เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ เท่านั้น โดยมีอาสาสมัคร 4% มีอาการเหนื่อยมาก และ 2% ปวดศีรษะรุนแรงหลังจากได้รับวัคซีนโดสที่ 2 ส่วนผู้ป่วยสูงวัยมีผลข้างเคียงน้อยกว่า
ทั้งนี้ การทดลองจะดำเนินต่อไปอีก 2 ปีเพื่อศึกษาว่า ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจะอยู่ได้นานแค่ไหนและมีปัญหาความปลอดภัยในระยะยาวหรือไม่
อย่างไรก็ตาม บริษัททั้งสองคาดว่า หากได้รับอนุมัติให้ใช้แบบฉุกเฉินได้ จะสามารถผลิตวัคซีนได้ 50 ล้านโดสในปีนี้ และ 1,300 ล้านโดสภายในปลายปี 2021
สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับการที่ต้องจัดเก็บวัคซีนตัวนี้ที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจสร้างปัญหาด้านโลจิสติกส์นั้น ทั้งสองบริษัทอธิบายว่า ได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับการจัดส่งที่ควบคุมอุณหภูมิได้และสามารถจัดเก็บได้นาน 15 วันโดยการเติมน้ำแข็งแห้งเท่านั้น
กระนั้น ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายสถานการณ์ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-6 เดือนก่อนที่จะมีวัคซีนเพียงพอสำหรับการแจกจ่ายทั่วโลก เท่ากับว่า ประเทศมากมายต้องรับมือการระบาดระลอกปัจจุบันโดยไม่มีวัคซีน และสำทับว่า ไม่ควรฝากความหวังว่า วัคซีนจะแก้ปัญหาโควิดได้ และชะล่าใจไม่ระมัดระวังตัวเองจากการติดเชื้อ
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)