เอ่ยชื่อของ แอนดรูว์ หลี่ ซีอีโอของซุกกรุ๊ป (Zouk group) ทุกคนจะต้องนึกถึงเสียงเพลง แสงสีเสียง และความสนุกสนาน ล่าสุดซีอีโอของบริษัทเจ้าของไนต์คลับ และการจัดงานเอนเตอร์เทนระดับโลก ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ บอกว่าพวกคงจะไม่ได้เห็นฟลอร์เต้นระบำกันไปอีกนานเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิงคโปร์ ที่เคยเที่ยวเคยเต้นกันถึงเช้านั้นต้องเลิกคิดไปก่อน
แอนดรูว์ หลี่ ออกมาให้สัมภาษณ์บิสิเนสไทม์ส เนื่องในโอกาสที่สถานบันเทิงกำลังจะสามารถเปิดให้บริการได้แล้วในสิงคโปร์ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ หลังวิกฤต COVID-19 เริ่มจะคลี่คลาย บรรดาไนต์คลับและสถานบันเทิงยามราตรีที่สิงคโปร์จะปรับเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างไร
ไนต์คลับเป็นสถานที่แรกๆ ที่ถูกรัฐบาลสั่งปิดในช่วงเกิดโรคระบาด ขณะที่เป็นสถานที่สุดท้ายที่จะได้เปิดดำเนินกิจการ ซีอีโอของซุกกรุ๊ปบอกว่า “ดีใจมากที่จะได้กลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง หลังจากบรรดากิจการที่เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มทั้งหลาย อยู่ในสภาพใกล้ตายกันหมดแล้ว”
แอนดรูว์ หลี่ บอกว่า แม้จะต้องผ่านวิกฤตครั้งใหญ่ แต่เขาก็ไม่ท้อใจ หลังจากได้ไฟเขียว รวมทั้งไกด์บุ๊ก การดำเนินกิจการหลัง COVID-19 จากการท่องเที่ยวสิงคโปร์ และได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของการเปิดไนต์คลับต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเขาเสริมว่าบาร์เต้นรำของซุกกรุ๊ป จะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการใหม่หมด
“ลืมเรื่องฟลอร์สำหรับเต้นรำบำกันไปได้นานๆ เลย ไนต์คลับรูปโฉมใหม่ในสิงคโปร์จะกลายเป็นที่สังสรรค์แบบเรียบๆ ร้อยๆ เราออกแบบที่นั่งใหม่ให้ผู้มาใช้บริการได้อย่างปลอดภัย มีการสั่งเครื่องดื่มจากแอปพลิเคชันเพื่อที่จะลดการติดต่อสัมผัสกับพนักงาน เครื่องดื่มแก้วใครแก้วมัน ไม่มีการแชร์จากขวดเดียวกัน”
การต้องปรับเปลี่ยนไนต์คลับให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่นับเป็นสิ่งท้าทาย ซึ่งความท้าทายไม่ใช่เรื่องใหม่ในชีวิตของ แอนดรูว์ หลี่ ชายหนุ่มหน้าตี๋สัญชาติอังกฤษ ที่หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเดอร์แฮม ในปี 2003 ก็เข้าทำงานเป็นพนักงานรูมเซอร์วิสของบูติกโฮเทล อย่างโคโม เมโทรโปลิแทน ลอนดอน ก่อนจะมุ่งมั่นจนได้เป็นผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ในฮ่องกง
หลังจากนั้น แอนดรูว์ ก็ไปรับตำแหน่งซีโอโอของไพรฟ์กรุ๊ป ฮ่องกง ปี 2012 ก่อนที่ปี 2015 จะไปเป็นรองประธาน บริษัท เกนติง ฮ่องกง และเป็นซีอีโอของซุกกรุ๊ปในปีเดียวกัน ซึ่งดูแลพนักงาน 300 ชีวิต ทั้งในสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ลาสเวกัส รวมทั้งเรือสำราญเกนติง ครูส
นอกจากงานบริหารระดับนานาชาติแล้ว แอนดรูว์ยังท้าทายตัวเองด้วยการเป็นนักไตรกีฬา ซึ่งเขายอมรับแต่โดยดีว่า โรคระบาดที่เกิดขึ้นทั้งโลกครั้งนี้เป็นงานหินที่ท้าทายมากที่สุดในชีวิตเลยทีเดียว
“ตอนที่ระดับวัดความอันตรายของการระบาดของโรค “ดอร์สคอน” (DORSCON - Disease Outbreak Response System Condition) ขึ้นถึงสีส้ม (มีตั้งแต่เขียว เหลือง ส้ม และแดง) รายได้ของซุกกรุ๊ปก็ลดลงไป 35% หลังจากนั้น รัฐบาลก็ออกกฎควบคุมคนให้เข้ามาในคลับของเราไม่เกิน 250 คน รายได้เราก็ลดลงไปอีก 50% จนในที่สุดไนต์คลับทั้งหมดก็ถูกปิด รายได้ของเราก็ลดลงไป 90% หลังจากนั้นเราก็ได้แต่เฝ้ารอว่าเมื่อไหร่เราจึงจะได้รับการอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้เสียที
มันยากมากที่เราจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใดๆ เพราะเราไม่รู้อนาคตเลยว่าจะต้องปิดไปถึงเมื่อไหร่ เราจะต้องมีเงินสดสำรองเอาไว้แค่ไหนดี และที่สำคัญมากก็คือ เราลำบากใจมากที่จะต้องมีการโยกย้าย ลดเงินเดือนพนักงานที่เหมือนกับเป็นครอบครัวของเรา บางคนทำงานร่วมกับเรามาเป็นสิบ-ยี่สิบปี พวกเขาเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในความสำเร็จของบริษัท”
แม้ซีอีโอคนเก่งบอกว่า เจอวิกฤตครั้งใหญ่ แต่ซุกกรุ๊ปก็ผ่านไปได้อย่างค่อนข้างดี “เราปรับตัวมาทำค็อกเทลบรรจุขวดขาย และตอนนี้กำลังออกใหม่ในรูปแบบกระป๋องด้วย เพื่อจะวางขายในซูเปอร์มาร์เกต เราทำสื่อดิจิทัลด้วยนะ มีทั้งดีเจไลฟ์สตรีมมิ่ง ค็อกเทลคลาส ไปจนถึงวิดีโอสอนออกกำลังกายเลย
แล้วที่ขายดิบขายดี ก็คือจุดเด่นของซุกกรุ๊ปครับ เราขายแพกเกจซูมปาร์ตี้ ที่ให้บริการทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และดนตรี ผ่านทางออนไลน์ ตอนนี้กลายเป็นสิ่งฮิตในสิงคโปร์แล้วครับ แต่ละปาร์ตี้มีคนร่วมได้เป็นพันคนผ่านทางออนไลน์ ดีเจก็ได้มีงานทำ รวมทั้งธุรกิจส่งอาหารก็ดำเนินไปได้ด้วย โดยอาศัยไนท์คลับของซุกเป็นศูนย์กลาง”
ก่อนหน้าที่จะเกิดโรคระบาดไม่นาน ซุกกรุ๊ป เพิ่งจะออกไปลงทุนที่รีสอร์ต เวิลด์ ในลาสเวกัส ในมูลค่าถึง 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแผนจะเปิดตัวในกลางปี 2021 บนเนื้อที่กว่า 1 แสนตารางฟุต ที่คาดว่าจะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของลาสเวกัสโดยทุนสิงคโปร์
“ตอนนี้การสังสรรค์กันในไนท์คลับก็คงจะยากลำบากหน่อย จนกว่าจะมีวัคซีนออกมานั่นแหละ โดยเฉพาะสถานบันเทิงขนาดใหญ่ๆ ที่ยังต้องจำกัดคนเข้ามาใช้บริการไปก่อน ซึ่งก็ยังต้องทำใจกันไป แต่ผมก็อยากให้มีการขยับขยายอยู่เรื่อยๆ ถ้าสถานการณ์ปลอดภัยดีขึ้นนะครับ มันคงไม่สมเหตุสมผลถ้าสถานบันเทิงออกแบบมาสำหรับรองรับคนเป็นพันคน แต่อนุญาตให้คนมาเที่ยวได้แค่ 100 คน อย่างนั้นคงไม่มีใครรักษาธุรกิจเอาไว้ได้แน่ๆ แต่ผมก็เข้าใจครับว่า ความปลอดภัยต้องมาก่อน”
แอนดรูว์ หลี่ ยอมรับว่า ช่วงแรกๆ ที่โดนรัฐบาลสั่งปิดไนต์คลับ ตัวเขาเองก็อยู่ในช่วงจิตตกเหมือนกัน “ผมรู้สึกว่าโดนโจมตีอย่างรุนแรงสุดๆ รู้สึกเหมือนใกล้บ้า ต้องรวบรวมสติอยู่พักหนึ่งเลย อย่างที่บอกละครับว่า มันยากที่เราจะวางแผนงานอะไร แม้ว่าจะอยู่ในธุรกิจนี้มาเป็นสิบๆ ปี มันยากจริงๆ ผมต้องหันเข้าหาธรรมะ ไปนั่งสมาธิ สงบจิตสงบใจให้สมองโล่ง”
“อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยผมได้มากเลยคือ สุนัขครับ ผมเพิ่งได้ลูกหมามาหนึ่งตัวเมื่อต้นปี 2020 มันช่วยให้ผมผ่านพ้นความทุกข์ในช่วงนี้ไปได้อย่างดีเลย”