ใครจะคิดว่าประเทศเลบานอน ประเทศที่ได้รับฉายาว่า “ปารีสตะวันออกกลาง” จะเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจจนดูแล้วยากจะแก้ไขได้โดยง่าย เพราะมีปัญหาเกี่ยวโยงกับเสถียรภาพทางการเมือง การทุจริต คอร์รัปชันในระบบการเงิน การค้า สารพัด มองไม่เห็นอนาคต
มีประชากร 5.4 ล้านคน ประมาณ 1 ใน 3 อาศัยอยู่ในเบรุต เมืองหลวง และประเทศเคยผ่านสงครามกลางเมืองยืดเยื้อในช่วงยุค 1980 แบ่งออกเป็นส่วนๆ และอยู่ภายใต้กลุ่มอิทธิพลที่มีกองกำลังของตัวเอง และยังเป็นอยู่ทุกวันนี้ และซับซ้อนกว่าเดิม
การชุมนุมเดินขบวนประท้วงรัฐบาลนานหลายเดือนก่อนการระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้เลบานอนอยู่ในความวุ่นวาย มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุม และกองกำลังของรัฐ มีผู้เสียชีวิตทุกวัน สภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินปอนด์เลบานอนลดค่าเร็ว
เมื่อมีหนี้สินสะสมกว่า 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เลบานอนไม่สามารถชำระหนี้ที่ครบกำหนดได้ จึงต้องอยู่ในสภาพผิดนัด การเจรจาขอกู้จากไอเอ็มเอฟยังไม่ได้ผลสรุปเพราะการระบาดของโคโรนาไวรัส เจ้าหน้าที่ตัวหลักในการเจรจามีการเปลี่ยนบ่อยครั้ง
ทุกวันนี้โครงสร้างของฐานะและรายได้ของคนเลบานอนในด้านเศรษฐกิจยังเป็นในรูปแบบที่คนรวยก็ยังรวยเหมือนเดิม หรือรวยมากขึ้น คนชั้นกลางกลายเป็นคนยากจน ส่วนคนยากจนลดระดับชั้นมาเป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอก การว่างงาน เงินเฟ้ออัตราสูง
ประชาชนอยู่ไปแต่ละวันแบบไม่มีทางเลือก และต้องรับปัญหาการเมือง ความไม่สงบ และผู้ลี้ภัยจากซีเรียและกลุ่มอาหรับอื่นๆ ที่ต้องการหาที่ปลอดภัยจากสงคราม
ปัญหายืดเยื้อหลายปีเพราะการทุจริต คอร์รัปชันอย่างมากมายในภาครัฐ นำไปสู่การบริหารการเงินผิดพลาดร้ายแรง นำไปสู่การว่างงาน และเงินเดือนที่ได้รับตามไม่ทันกับอัตราเงินเฟ้อ ธนาคารจำกัดการแลกเงินปอนด์เลบานอนกับดอลลาร์สหรัฐรายวัน
คนมีเงินฝากธนาคารอาจเบิกถอนเงินของตัวเองได้เพียงวันละ 200 ดอลลาร์ และเงินตราต่างประเทศกลายเป็นภาวะขาดแคลน มีนักการเมืองประเมินว่านายธนาคารได้ลักลอบขนเงินดอลลาร์สหรัฐออกไปนอกประเทศมากกว่า 6 พันล้านเหรียญช่วงโควิด-19
ประชาชนมีปัญหาไฟฟ้าติดๆ ดับๆ โดยตลอด เมื่อกระแสไฟไม่สม่ำเสมอ ทางเลือกคืออาคารต่างๆ ใช้เครื่องผลิตไฟฟ้าทำให้เกิดเสียงดังในเมือง ควันฟุ้งจากเครื่องปั่นไฟ สร้างปัญหามลพิษ เมื่อหยุดผลิต ประชาชนต้องทนกับอากาศร้อนยามค่ำคืน
จากที่เคยคึกคักในอดีตที่รุ่งเรืองในด้านธุรกิจ กรุงเบรุตอยู่ในความมืด ในบาร์และสถานบันเทิงแทบไม่มีลูกค้า อยู่ในสภาพซบเซา เงียบเหงา ถนนไม่มีไฟฟ้าให้แสงสว่างทำให้ผู้ใช้รถต้องอาศัยไฟรถสัญจรอยู่ในความมืด ทำให้ชีวิตของคนเมืองหลวงต้องลำบาก
เบรุตเคยมีชื่อเสียงเรื่องแหล่งร้านอาหารขึ้นชื่อ เป็นเมืองทันสมัยกว่าเมืองอื่นๆ ในกลุ่มประเทศอาหรับ มาตรฐานสังคมอยู่ในขั้นสูง ประชาชนภูมิใจในความเหนือชั้น แต่ปัจจุบันไม่มีใครทราบว่าเลบานอนจะได้มีโอกาสฟื้นตัวเองไปสู่สภาพที่รุ่งเรืองได้หรือไม่
ค่าเงินปอนด์เลบานอนตกไปกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ช่วงกลางปีก่อน ทำให้ครอบครัวที่ยังมีฐานะดีไม่กล้าที่จะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือแม้กระทั่งไปทานอาหารนอกบ้าน ทั้งๆ ที่กรุงเบรุตมีแหล่งบันเทิงสำหรับคนมีเงิน แต่บรรยากาศทั่วไปซึมเซา ไม่น่าเที่ยวเตร่
ธุรกิจที่สายป่านสั้น ทนสภาพความซบเซาไม่ได้ ต้องปิดตัวลงจำนวนมาก
ปัญหาหลักตั้งแต่แรกเริ่มในระบบการเงิน เพราะธนาคารแห่งชาติพยายามชักนำให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินดอลลาร์มาฝาก โดยเสนอดอกเบี้ยในอัตราสูง นี่เป็นเหมือนระบบแชร์ลูกโซ่ที่เรียกว่า Ponzi Scheme โดยเอาเงินฝากใหม่มาจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก
เมื่อเงินฝากก้อนใหม่ไม่เข้ามา เป็นธรรมดาที่ธนาคารกลางจะขาดเงินจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารพาณิชย์ ทำให้เกิดวิกฤต มีหนี้สินและขาดสภาพคล่องรุนแรง เมื่อมีการถอนเงิน ธนาคารพยายามที่จะไม่จ่ายคืนเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อการเบิกเงินดอลลาร์จากธนาคารไม่ได้ และมีวิกฤตเงินเฟ้อ ทำให้มีอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืด รัฐบาลพยายามสกัดกั้นโดยเสนอรับซื้อเงินดอลลาร์ในอัตราแลกเปลี่ยนที่จูงใจ แต่ไม่เป็นผลเพราะคนทั่วไปกลัวถูกจับกุม ต้องหลบเลี่ยงการซื้อขาย
ในอัตราตลาดทั่วไป คือ 1,500 ปอนด์ต่อ 1 ดอลลาร์ เมื่อหายาก ก็มีผู้เสนอให้มากถึง 9,000 ปอนด์ต่อ 1 ดอลลาร์ และเลบานอนนำเข้าสินค้า อาหาร สิ่งของจำเป็น
ทุกอย่างขาดแคลน เมื่อไม่มีเงิน ก็ต้องเอาอะไรก็ได้ที่ใช้การได้มาแลกเปลี่ยนหรือมาขาย แม้กระทั่งผ้าอ้อมเด็กก็สามารถเอามาแลกกับอาหารได้ ทำให้เกิดตลาดสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าและของจำเป็น เสื้อผ้าก็นำไปแลกกับน้ำตาล นม หรือผงซักฟอก
อัตราเงินเฟ้อทำให้ค่าแรงและอำนาจการซื้อตกต่ำ ดังเช่นชายคนหนึ่งเคยมีรายได้ต่อเดือน 2 แสนปอนด์เลบานอน แต่ก่อนสามารถแลกได้ 130 ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน เงินเท่าเดิมแลกได้เพียง 30 ดอลลาร์สหรัฐ แม้กระนั้นก็ยังหาแลกได้ยากกว่าที่เคยเป็น
วิกฤตเศรษฐกิจ ซ้ำเติมโดยการระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้เลบานอนแทบไร้ทางออก ช่วงการประท้วงในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องคือการไม่ขึ้นภาษีน้ำมัน และยาสูบ ถือว่าเป็นผลกระทบต่อชนชั้นกลาง ในภาวะปัจจุบัน มีแต่คนอยู่อย่างลำบาก
ทุกวันนี้ คนห่วงอยู่แต่ว่าจะมีอาหารกิน มีนมและอาหารให้เด็กๆ หรือสิ่งของจำเป็นเช่นผ้าอ้อม และของจำเป็นสำหรับเด็กอ่อน และขาดทั้งเงินและของยังชีพ
ธนาคารโลกประเมินว่าระดับของคนยากจนในเลบานอนจะมีมากถึง 45 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนโดยรวม ในบางพื้นที่คนจนมีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับประเทศที่เคยรุ่งเรืองมาก่อน แต่รายได้ส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยวที่ชะงัก
ไม่ง่ายที่เลบานอนจะพ้นวิกฤต ถ้าไม่ได้เงินกู้ไอเอ็มเอฟด้วยเงื่อนไขผ่อนปรน