ไฟเซอร์ อิงค์ ประกาศในวันจันทร์ (9 พ.ย.) ว่า วัคซินป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัท อาจจะมีประสิทธิภาพสูงลิ่วถึง 90% ทีเดียว โดยพิจารณาจากข้อมูลผลการทดลองระยะแรกๆ ซึ่งยังไม่สมบูรณ์ แต่กระนั้นข่าวนี้ก็กลายเป็นการนำเอาความหวังและการมองการณ์แง่ดีอย่างมหึมามาสู่โลก ที่กำลังดิ้นรนค้นหาวิธีการต่างๆ ซึ่งจะสยบโรคระบาดสร้างหายนะร้ายแรงนี้ให้อยู่หมัดในท้ายที่สุด
ประกาศคราวนี้ ออกมาในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกัน ซึ่งถูกมองกันว่าเป็นการลงประชามติว่าไว้วางใจหรือไม่ต่อการรับมือวิกฤตโรคระบาดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 1.2 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นยอดตายในสหรัฐฯกว่า 230,000 คน
“เรากำลังอยู่ในจุดซึ่งมีศักยภาพที่จะสามารถให้ความหวังบางประการได้” น.พ.บิลล์ กรูเบอร์ รองประธานอาวุโสด้านการพัฒนาทางคลินิกของบริษัทไฟเซอร์ บอกกับสำนักข่าวเอพี “เรารู้สึกมีกำลังใจเป็นอย่างมาก”
ไฟเซอร์ ซึ่งกำลังพัฒนาวัคซีนตัวนี้ร่วมกับบริษัทไบโอเอ็นเทค (BioNTech) หุ้นส่วนสัญชาติเยอรมันของบริษัท เวลานี้กำลังอยู่บนเส้นทางอันสดใสที่จะยื่นขออนุญาตสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) ในระยะต่อไปของเดือนนี้ เพื่อนำวัคซีนตัวนี้ออกมาใช้งานแบบฉุกเฉินเร่งด่วน ในทันทีที่ได้รับข้อมูลข่าวสารด้านความปลอดภัยที่จำเป็นอย่างเพียงพอแล้ว
อย่างไรก็ดี กระทั่งถ้าหากสิ่งต่างๆ เดินหน้าไปได้อย่างสวยงาม พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบก็ย้ำว่า ยังไม่น่าจะมีวัคซีนใดๆ ออกมาให้ใช้ได้เป็นจำนวนมากๆ ก่อนสิ้นปีนี้ และวัคซีนระยะแรกที่ออกมาได้อย่างจำกัด ก็จะต้องมีการแบ่งสันปันส่วนกัน
ทางด้าน น.พ.แอนโธนี ฟาวซี ผู้เชี่ยวชาญระดับท็อปด้านโรคติดเชื้อของรัฐบาลสหรัฐฯ แถลงว่าผลที่บ่งบอกว่ามีประสิทธิภาพสูงถึง 90% นี้เป็นเรื่องที่ “พิเศษสุด” และกล่าวต่อไปว่า “มันจะมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำในเรื่องเกี่ยวกับโควิด” เขาบอกอีกว่า ไฟเซอร์ดูเหมือนจะคว้าตำแหน่งนำในการแข่งขันกันทั่วโลกของพวกบริษัทยาและประเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาวัคซีนต่อสู้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่สามารถผ่านการทดสอบได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ น.พ.บรูซ อัลวาร์ด ที่ปรึกษาอาวุโสขององค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่า วัคซีนของไฟเซอร์สามารถที่จะ “สร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานต่อทิศทางของวิกฤตการณ์คราวนี้” ภายในเดือนมีนาคมปีหน้า อันเป็นกำหนดเวลาที่ WHO หวังเอาไว้ว่าจะสามารถเริ่มต้นให้วัคซีนแก่กลุ่มผู้คนที่มีความเสี่ยงสูงๆ
ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ซึ่งชื่นมื่นกับชัยชนะของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อยู่แล้ว ต่างพากันพุ่งแรงด้วยข่าวดีนี้ของไฟเซอร์ ในสหรัฐฯนั้น ดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ปิดวันจันทร์ (9) โดยบวกขึ้นมา 1.2% ขณะที่ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์สูงขึ้นมากว่า 800 จุด ราคาหุ้นของไฟเซอร์ทะยานมากกว่า 8%
กระนั้น การประกาศครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ากำลังจะมีวัคซีนออกมาให้ใช้กันได้แล้ว โดยสิ่งที่เป็นข่าวคือบทวิเคราะห์เบื้องต้น ซึ่งมาจากคณะกรรมการอิสระที่ทำหน้าที่เฝ้าติดตามข้อมูล ภายหลังที่พวกเขาได้เห็นรายงานเกี่ยวกับการติดเชื้อในหมู่ผู้เข้ารับการทดลองจำนวน 94 ราย โดยตัวเลขนี้คือเท่าที่ปรากฏออกมาแล้วจนถึงเวลานี้ ขณะที่จำนวนผู้เข้าทดลองในการศึกษาวิจัยนี้มีทั้งสิ้นเกือบๆ 44,000 คนทั้งในสหรัฐฯและในประเทศอื่นๆ อีก 5 ประเทศ
ตามวิธีการทดลองนั้น อาสาสมัครบางคนได้รับวัคซีนจริง แต่บางคนได้รับวัคซีนหลอก ไฟเซอร์เองไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรมากกว่านี้ แต่การที่วัคซีนจะมีประสิทธิภาพในระดับ 90% ได้ ย่อมส่อแสดงให้เห็นว่าผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดต้องเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนหลอก เวลานี้การศึกษาวิจัยนี้ยังคงดำเนินอยู่ และไฟเซอร์ก็เตือนให้ระมัดระวังว่า อัตราความสามารถในการป้องกันโรคของวัคซีนตัวนี้ ยังอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ หากผลที่กำลังทยอยออกมามีเคสผู้ติดเชื้อสูงกว่านี้
น.พ.เจสซี กู๊ดแมน แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการฝ่ายวัคซีนของเอฟดีเอ พูดถึงผลบางส่วนที่ออกมานี้ว่า “ให้ความหวังเป็นอย่างยิ่ง” แต่ก็ชี้ว่ายังมีคำถามอยู่มากมายที่ยังคงรอคำตอบอยู่ เป็นต้นว่า ผลป้องกันของวัคซีนนี้จะยาวนานแค่ไหน และมันสามารถคุ้มครองคนสูงอายุได้พอๆ กับคนอ่อนวัยกว่าหรือไม่
สำหรับทรัมป์ ผู้ซึ่งพูดอยู่เรื่อยระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีว่า วัคซีนน่าจะพรักพร้อมให้ใช้กันได้ภายในวันเลือกตั้ง 3 พฤศจิกายน ได้ทวีตในวันจันทร์ว่า “ต ลา ด หุ้ น พุ่ ง แ ร ง วั ค ซี น กำ ลั ง จ ะ อ อ ก ม า แ ล้ ว ร า ย ง า น ว่ า ไ ด้ ผ ล 90 % ข่ า ว ยิ่ ง ใ ห ญ่ จ ริ ง ๆ !”
ส่วนว่าที่ประธานาธิบดีไบเดน ก็แถลงแสดงความยินดีแก่ผู้ที่ได้ร่วมมือช่วยกันทำวัคซีนนี้และก่อให้เกิดความหวังขึ้นมา แต่เตือนด้วยว่า กว่าที่การสู้รบกับโควิด-19 จะสิ้นสุดลงได้จริงๆ นั้นยังต้องใช้เวลาอีกแรมเดือน และเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องสวมหน้ากากป้องกันและรักษาการเว้นระยะห่างทางสังคมกันต่อไปอีก เขาบอกด้วยว่าประเทศยังคงกำลังจะเผชิญหน้ากับ “ฤดูหนาวอันมืดมน”
สหรัฐฯยังคงเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโรคระบาดนี้มากที่สุดในโลก โดยยอดเคสที่ยืนยันแล้วทะลุหลัก 10 ล้านรายในวันจันทร์ (10) ขณะที่จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ๆ ก็กำลังพุ่งทำสถิติสูงสุดใหม่ๆ ไม่หยุดหย่อน โดยอยู่ในระดับวันละมากกว่า 100,000 ราย กลัวกันว่าจะมีผู้เสียชีวิตอีกหลายหมื่นคนในช่วงหลายๆ เดือนที่กำลังจะมาถึง เมื่ออากาศจะหนาวเย็นและเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดยาว
วัคซีนของไฟเซอร์ตัวนี้ เป็น 1 ในวัคซีนคู่แข่งที่ดูเป็นไปได้จำนวนหนึ่งซึ่งกำลังได้รับการทดสอบระยะสุดท้ายกันอยู่ทั่วโลก โดยที่ 4 ตัวในจำนวนนี้ดำเนินการศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ บริษัทอเมริกันอีกรายหนึ่งคือ โมเดอร์นา อิงค์ ก็บอกว่า วาดหวังจะสามารถยื่นขออนุญาตใช้ฉุกเฉินกับทางเอฟดีเอได้ในช่วงต่อไปของเดือนนี้
ทั้งสองบริษัทต่างพัฒนาวัคซินโดยใช้เทคโนโลยีใหม่เอี่ยมอ่อง โดย “วัคซีน mRNA” ของพวกเขา ไม่ได้ทำจากเชื้อไวรัสโคโรนาเอง ซึ่งหมายความว่าไม่มีโอกาสเลยที่ผู้รับวัคซีนรายใดจะล้มป่วยจากการถูกฉีดวัคซีน ตรงกันข้าม วัคซีนนี้บรรจุชิ้นรหัสพันธุกรรมชิ้นหนึ่งซึ่งจะสอนให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถจดจำโปรตีนยอดแหลมซึ่งอยู่บนผิวนอกของไวรัสโคโรนา
ถึงแม้ส่งเสียงเชียร์ข่าวนี้ในช่วงต้นๆ ของวันจันทร์ แต่ในเวลาต่อมาของวันเดียวกัน ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ต่อเนื่องเป็นชุด กล่าวหาไฟเซอร์และเอฟดีเอว่ารอเวลาจนกระทั่งหลังเลือกตั้งจึงประกาศข่าววัคซีนที่เป็นข่าวบวกนี้ ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลทางการเมือง
ไฟเซอร์ยืนยันว่างานของบริษัทไม่ได้รับอิทธิพลจากการเมือง และ “กำลังเคลื่อนไปด้วยอัตราความเร็วของวิทยาศาสตร์” บริษัทเองเพิ่งทราบผลการศึกษาวิจัยเบื้องต้นชั่วคราวนี้เมื่อวันอาทิตย์ (8) หลังจากคณะกรรมการอิสระติดตามตรวจสอบข้อมูลของบริษัทได้ประชุมหารือกันในเรื่องนี้ ขณะที่เอฟดีเอไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของไฟเซอร์ที่จะประกาศผลเบื้องต้นของตน และไม่ได้มีการออกมาแถลงใดๆ ของทางสำนักงานเอง
บริษัทไฟเซอร์ในตอนแรกเลือกที่จะไม่เข้าร่วมโครงการ “ปฏิบัติการวาร์ปสปีด” (Operation Warp Speed) ของคณะบริหารทรัมป์ ซึ่งมุ่งช่วยเหลือให้เงินทุนแก่การวิจัยและการยกระดับด้านการผลิตของพวกบริษัทวัคซีนจำนวนราว 5-6 แห่ง โดยไฟเซอร์ประกาศว่าได้นำเอาเงินของตนเองจำนวน 2,000 ล้านดอลลาร์มาลงทุนในด้านการทดสอบและการขยายความสามารถในการผลิต แต่ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ไฟเซอร์ได้ลงนามในสัญญาที่จะส่งวัคซีนให้สหรัฐฯจำนวน 100 ล้านโดสในราคา 1,950 ล้านดอลลาร์ เมื่อเอฟดีเออนุมัติให้ใช้วัคซีนของบริษัทได้แล้ว
ไฟเซอร์บอกว่าบริษัทเกี่ยวข้องอยู่ในปฏิบัติการวาร์ปสปีด ก็เพียงแค่ว่าวัคซีนจำนวนที่เซ็นสัญญานั้น เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายของคณะบริหารทรัมป์ ที่จะมีวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ 300 ล้านโดสพรักพร้อมเอาไว้ใช้ได้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของปีหน้า
ประสิทธิภาพในการป้องกันที่ออกมาแข็งแรงขนาดนี้ถือเป็นเรื่องเซอร์ไพรซ์ พวกนักวิทยาศาสตร์เคยเตือนมาเป็นแรมเดือนแล้วว่า วัคซีนโควิด-19 ใดๆ ก็ตาม อาจได้ผลแค่ระดับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ นั่นคือมีประสิทธิภาพประมาณ 50% และจะต้องคอยฉีดซ้ำกันทุกๆ ปี ก่อนหน้านี้ในปีนี้ ฟาวซี ก็เคยพูดเอาไว้ว่า เขาจะรู้สึกดีใจแล้วถ้าได้วัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในระดับ 60%
แต่ไม่ว่าระดับประสิทธิภาพในการป้องกันจะเป็นอย่างไรเมื่อการทดลองถึงขั้นสุดท้าย สิ่งหนึ่งที่ยังไม่มีใครทราบก็คือเราจำเป็นต้องฉีดวัคซีนนี้กันเป็นประจำหรือไม่
นอกจากนั้น เนื่องจากผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้รับการตรวจทดสอบต่อเมื่อพวกเขามีอาการป่วยขึ้นมา ทำให้ยังไม่มีคำตอบว่า คนที่ได้รับวัคซีนแล้วสามารถติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ และดังนั้นจึงแพร่เชื้อไวรัสออกไปแบบไม่รู้ตัวได้หรือไม่
ไฟเซอร์ประมาณการว่า บริษัทน่าจะสามารถผลิตวัคซีนออกมา 50 ล้านโดสให้ใช้กันทั่วโลกได้ภายในปี 2020 เพียงพอสำหรับผู้คน 25 ล้านคน
(ที่มา : เอพี)