ไฟเซอร์ประกาศในวันจันทร์ (9 พ.ย.) ว่า จากข้อมูลที่ออกมาช่วงแรกๆ ของวัคซีนไวรัสโคโรนาของบริษัท ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการทดลองระยะสุดท้าย ส่อแสดงให้เห็นว่า มันน่าจะมีประสิทธิภาพสูงถึง 90% ทีเดียวในการป้องกันโรคโควิด-19 ทำให้บริษัทอาจจะพร้อมยื่นเรื่องในช่วงเวลาต่อไปของเดือนนี้ เพื่อขอสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) อนุญาตแบบฉุกเฉินเร่งด่วนให้ใช้วัคซีนนี้กับประชาชน
ประกาศคราวนี้ที่ออกมาในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกัน ซึ่งถูกมองกันว่า เป็นการลงประชามติว่าไว้วางใจหรือไม่ ต่อการรับมือวิกฤตโรคระบาดของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ถือเป็นข่าวให้กำลังใจชิ้นสำคัญ และหาได้ยากซึ่งออกมาในช่วงหลังๆ นี้ ในการทำศึกกับเจ้าไวรัสมรณะที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 1.2 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นยอดตายในสหรัฐฯกว่า 230,000 คน
เวลานี้มีบริษัทยาเวชภัณฑ์และประเทศต่างๆ จำนวนมาก กำลังเร่งรัดแข่งขันกันเพื่อพัฒนาวัคซีนที่สามารถต่อสู้ป้องกันไวรัสนี้ได้
“เรากำลังอยู่ในจุดซึ่งมีศักยภาพที่จะสามารถให้ความหวังบางประการได้” นพ.บิลล์ กรูเบอร์ รองประธานอาวุโสด้านการพัฒนาทางคลินิกของบริษัท ไฟเซอร์ บอกกับสำนักข่าวเอพี “เรารู้สึกมีกำลังใจเป็นอย่างมาก”
ทางด้าน นพ.แอนโธนี ฟาวซี ผู้เชี่ยวชาญระดับท็อปด้านโรคติดเชื้อของรัฐบาลสหรัฐฯ แถลงว่า ผลที่บ่งบอกว่ามีประสิทธิภาพสูงถึง 90% นี้ เป็นเรื่องที่ “พิเศษสุด” และกล่าวต่อไปว่า “มันจะมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำในเรื่องเกี่ยวกับโควิด” เขาบอกอีกว่า ไฟเซอร์ดูเหมือนจะคว้าตำแหน่งนำในการแข่งขันกันทั่วโลกของพวกบริษัทยาและประเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาวัคซีนต่อสู้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่สามารถผ่านการทดสอบได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ นพ.บรูซ อัลวาร์ด ที่ปรึกษาอาวุโสขององค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่า วัคซีนของไฟเซอร์สามารถที่จะ “สร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานต่อทิศทางของวิกฤตการณ์คราวนี้” ภายในเดือนมีนาคมปีหน้า อันเป็นกำหนดเวลาที่ WHOหวังเอาไว้ว่าจะสามารถเริ่มต้นให้วัคซีนแก่กลุ่มผู้คนที่มีความเสี่ยงสูงๆ
อย่างไรก็ตาม การประกาศครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า กำลังจะมีวัคซีนออกมาให้ใช้กันได้แล้ว โดยสิ่งที่เป็นข่าวคือบทวิเคราะห์เบื้องต้น ซึ่งมาจากคณะกรรมการอิสระที่ทำหน้าที่เฝ้าติดตามข้อมูล ภายหลังได้เห็นรายงานเกี่ยวกับการติดเชื้อในหมู่ผู้เข้ารับการทดลองจำนวน 94 ราย โดยตัวเลขนี้เท่าที่ปรากฏออกมาแล้วจนถึงเวลานี้ ขณะที่จำนวนผู้เข้าทดลองในการศึกษาวิจัยนี้มีทั้งสิ้นเกือบๆ 44,000 คน ทั้งในสหรัฐฯและในประเทศอื่นๆ อีก 5 ประเทศ โดยที่ตามวิธีการทดลองนั้น บางคนได้รับวัคซีนจริงๆ แต่บางคนได้รับวัคซีนหลอก
บริษัท ไฟเซอร์ เองไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรมากกว่านี้เกี่ยวกับการติดเชื้อที่ระบุในรายงาน พร้อมกับเตือนด้วยว่าอัตราความสามารถในการป้องกันโรคเบื้องต้นของวัคซีนตัวนี้ ยังอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อีกเมื่อถึงเวลาที่การศึกษาวิจัยนี้เสร็จสิ้นลง กระนั้นการเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นเช่นนี้ ก็ยังคงถือว่าผิดปกติธรรมดาอย่างมาก
ทางด้านเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบออกมาเน้นย้ำว่า ภายในสิ้นปีนี้ ยังไม่น่าจะมีวัคซีนใดๆ ก็ตาม ออกมาให้ใช้กันได้ในปริมาณมากมาย และดังนั้น วัคซีนจำนวนแรกๆ จะต้องใช้วิธีแบ่งสรรปันส่วนกัน
“เรายังจำเป็นที่จะต้องดูที่ข้อมูล แต่ที่ปรากฏออกมานี่ต้องถือว่าให้ความหวังเป็นอย่างยิ่ง” นพ.เจสซี กู๊ดแมน แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการฝ่ายวัคซีนของเอฟดีเอ กล่าวให้ความเห็น เขาชี้ว่า ยังมีคำถามอยู่มากมายที่ยังคงรอคำตอบอยู่ เป็นต้นว่า ผลป้องกันของวัคซีนนี้จะยาวนานแค่ไหน และมันสามารถคุ้มครองคนสูงอายุได้พอๆ กับคนอ่อนวัยกว่าหรือไม่
ถ้าวัคซีนตัวนี้ ซึ่งไฟเซอร์พัฒนาร่วมกับ ไบโอเอ็นเทค (BioNTech) บริษัทเยอรมนี สามารถผ่านการตรวจสอบจนออกมาใช้ได้ในที่สุด “มันก็จะยังต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง ก่อนที่จะมีผลกระทบอย่างสำคัญในระดับประชากรทั่วไป” กู๊ดแมนกล่าวต่อ
ขณะที่ มารีลีน อัดโด ผู้อำนวยการหน่วยยาเขตร้อน ณ โรงพยาบาลยูเคอี ในเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ให้ความเห็นทำนองเดียวกันว่า ผลเบื้องต้นที่ออกมานี้ ถือเป็น “สัญญาณแรกที่น่าสนใจมาก” ทว่า ยังคงมีคำถามอยู่อีกมาก
อย่างไรก็ดี ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ซึ่งชื่นมื่นกับชัยชนะของว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน อยู่แล้ว ต่างพากันพุ่งแรงจัดด้วยข่าวดีนี้ของไฟเซอร์ พวกดัชนีสำคัญของตลาดหุ้นในยุโรป ซึ่งกำลังเผชิญโควิด-19 กลับมาระบาดหนักรอบใหม่ พากันทะยานโด่งไปราว 5% ขณะที่สัญญาตราสารฟิวเจอร์ของดัชนีดาวโจนส์ของสหรัฐฯ ก็กระโจนขึ้นมา 5% และไต่สูงถึงราว 1,400 จุดในช่วงก่อนการเปิดซื้อขายในตลาดจริงราวๆ 2 ชั่วโมง
ทรัมป์ผู้ซึ่งพูดอยู่เรื่อยระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ว่า วัคซีนน่าจะพรักพร้อมให้ใช้กันได้ภายในวันเลือกตั้ง 3 พฤศจิกายน ได้ทวีตในวันจันทร์ว่า “ต ลา ด หุ้ น พุ่ ง แ ร ง วั ค ซี น กำ ลั ง จ ะ อ อ ก ม า แ ล้ ว ร า ย ง า น ว่ า ไ ด้ ผ ล 90% ข่ า ว ยิ่ ง ใ ห ญ่ จ ริ ง ๆ !”
ส่วนว่าที่ประธานาธิบดี ไบเดน ก็แถลงแสดงความยินดีแก่ผู้ที่ได้ร่วมมือช่วยกันทำวัคซีนนี้ และก่อให้เกิดความหวังขึ้นมา แต่เตือนด้วยว่า กว่าที่การสู้รบกับโควิด-19 จะสิ้นสุดลงได้จริงๆ นั้น ยังต้องใช้เวลาอีกแรมเดือน และเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องสวมหน้ากากป้องกันกันต่อไปอีก
แอลเบิร์ต บูรลา ประธานและซีอีโอของไฟเซอร์ กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ ซีเอ็นบีซี ว่า การเลือกตั้งถือเป็นกำหนดเส้นตายปลอมๆ เสมอมา และข้อมูลต่างๆ จะพรักพร้อมสำหรับการนำเสนอ ก็ต่อเมื่อถึงเวลาที่มันพรักพร้อมแล้ว ทั้งนี้ คณะกรรมการอิสระที่ทำหน้าที่เฝ้าติดตามข้อมูล ได้ประชุมหารือกันในวันอาทิตย์ (8) เพื่อวิเคราะห์ผลเท่าที่ปรากฏออกมาแล้วของการทดลองวัคซีนโควิด-19 ตัวนี้ และจากนั้นก็แจ้งทางไฟเซอร์
“ผมดีใจมาก” บูรลา กล่าว พร้อมกับบอกว่า มีผู้คนจำนวนมากมายต้องทุ่มเททำงานกันทั้งวันทั้งคืนเป็นเวลาถึง 9 เดือน และผู้คนจำนวนเป็นพันๆ ล้านคน ตั้งความหวังกับวัคซีนนี้ เขาพูดด้วยว่า ไม่เคยคิดเลยว่ามันจะได้ผลในระดับสูงถึง 90%
ก่อนหน้านี้ ในปีนี้ นพ.แอนโธนี ฟาวซี ผู้เชี่ยวชาญระดับท็อปด้านโรคติดเชื้อของรัฐบาลสหรัฐฯ เคยพูดเอาไว้ว่า เขาจะรู้สึกดีใจแล้วถ้าได้วัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในระดับ 60% ขณะที่พวกนักวิทยาศาสตร์เตือนกันมาเป็นเดือนๆ แล้วว่า วัคซีนโควิด-19 ใดๆ ก็ตาม อาจได้ผลแค่ระดับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ นั่นคือ มีประสิทธิภาพประมาณ 50% และจะต้องคอยฉีดซ้ำกันทุกๆ ปี
วัคซีนของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคตัวนี้ เป็น 1 ในวัคซีนคู่แข่งที่ดูเป็นไปได้รวม 10 ตัว ซึ่งกำลังได้รับการทดสอบระยะสุดท้ายกันอยู่ทั่วโลก โดยที่ 4 ตัวในจำนวนนี้ดำเนินการศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ บริษัทอเมริกันอีกรายหนึ่ง คือ โมเดอร์นา อิงค์ ก็บอกว่า วาดหวังจะสามารถยื่นขออนุญาตใช้ฉุกเฉินกับทางเอฟดีเอได้ในช่วงต่อไปของเดือนนี้
ทั้งอาสาสมัครในการทดลองขั้นสุดท้าย รวมทั้งพวกนักวิจัย ต่างไม่ทราบว่าใครได้รับวัคซีนจริง ใครได้วัคซีนหลอก แต่ 1 สัปดาห์หลังจากผู้รับการทดลองได้รับวัคซีนโดสที่ 2 ตามที่กำหนดกันไว้ การศึกษาวิจัยของไฟเซอร์ก็จะเริ่มต้นนับจำนวนผู้ที่มีอาการโรคโควิด-19 และตรวจยืนยันว่า ติดเชื้อไวรัสโคโรนาใช่หรือไม่
เนื่องจากการศึกษาวิจัยนี้ยังไม่ยุติ กรูเบอร์ รองประธานอาวุโสด้านการพัฒนาทางคลินิกของไฟเซอร์
จึงไม่สามารถบอกได้ว่าในแต่ละกลุ่มมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนเท่าใด แต่ตามหลักคณิตศาสตร์แล้ว ผู้ติดเชื้อที่นับกันได้จนถึงเวลานี้ แทบทั้งหมดทีเดียวน่าจะเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนหลอก
ไฟเซอร์ไม่มีแผนยุติการศึกษาวิจัยของตนจนกว่าจะพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวน 164 ราย ในหมู่อาสาสมัครทั้งหมดของตน อันเป็นตัวเลขที่เอฟดีเอเห็นพ้องด้วยว่าเพียงพอที่จะบอกได้ว่าวัคซีนตัวนี้ทำงานป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด ทั้งนี้ เอฟดีเอระบุชัดว่าวัคซีนใดๆ ก็ตามต้องได้ผลอย่างน้อยที่สุด 50%
กรูเบอร์บอกว่า ไม่มีผู้เข้าร่วมการทดลองรายใดที่ล้มป่วยรุนแรง เขายังไม่สามารถให้ตัวเลขแยกย่อยลงไปได้เช่นกันว่า มีผู้สูงอายุจำนวนเท่าใดที่ติดเชื้อ ทั้งนี้ คนแก่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคโควิด-19
สูงที่สุด
ผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้รับการตรวจทดสอบต่อเมื่อพวกเขามีอาการป่วยขึ้นมา ทำให้ยังไม่มีคำตอบว่า คนที่ได้รับวัคซีนแล้วสามารถติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ และดังนั้นจึงแพร่เชื้อไวรัสออกไปแบบไม่รู้ตัวได้หรือไม่
ตามข้อกำหนดของเอฟดีเอนั้น บริษัทต่างๆ ที่พัฒนาวัคซีนจะต้องคอยติดตามพวกผู้เข้าร่วมการทดลองของตนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งในเรื่องผลข้างเคียงต่างๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 เดือน อันเป็นระยะเวลาที่ปกติแล้วหากมีปัญหาใดๆ ก็จะแสดงตัวออกมาให้เห็นแล้ว ไฟเซอร์คาดหมายว่าจะไปถึงกำหนดเวลาดังกล่าวในช่วงต่อไปของเดือนนี้ แต่ในการแถลงข่าววันจันทร์ (9) บริษัทบอกว่าไม่มีรายงานว่ามีข้อน่ากังวลใจด้านความปลอดภัยที่ร้ายแรงใดๆ
เนื่องจากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ยังกำลังอาละวาดอยู่ พวกบริษัทยาจึงวาดหวังจะสามารถขออนุญาตจากรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกให้ใช้วัคซีนของพวกตนในแบบฉุกเฉิน ขณะที่ดำเนินการทดลองเพิ่มเติมต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งนี่เท่ากับยินยอมให้พวกตนนำวัคซีนเข้าสู่ตลาดรวดเร็วขึ้นกว่าปกติ ถึงแม้เรื่องนี้ก่อให้เกิดความกังวลว่าพวกนักวิทยาศาสตร์เรียนรู้วัคซีนที่นำออกมาใช้กันมากน้อยแค่ไหน
เมื่อเดือนที่แล้ว พวกที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของเอฟดีเอแสดงความกังวลว่า การเปิดทางให้ใช้วัคซีนโควิด-19 แบบฉุกเฉิน อาจกลายเป็นการทำลายความเชื่อมั่นในวัคซีนที่ฉีด และทำให้ยิ่งยากลำบากขึ้นไปอีกในการค้นหาว่ามันใช้ได้ผลจริงๆ ขนาดไหน พวกที่ปรึกษาเหล่านี้บอกว่า เป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดที่จะต้องอนุญาตให้การศึกษาวิจัยในขั้นสุดท้าย นั่นคือ ในหมู่ประชากรจำนวนมากๆ เหล่านี้ ดำเนินต่อไปจนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์
(ที่มา: เอพี, เอเอฟพี, เอเจนซีส์)