xs
xsm
sm
md
lg

ต้องปกป้องประมุขของประเทศ

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ไม่ว่าจะอะไรก็ตามการแสดงออกของคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ออกมาชุมนุมบนท้องถนนในระยะเวลานี้คือ การแสดงออกที่ท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย พวกเขาไม่เพียงแต่เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่พวกเขาแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่มีความเคารพนับถือหรือให้เกียรติพระองค์แม้แต่น้อย

แม้พวกเขาบอกว่าการปฏิรูปไม่ใช่การล้มล้าง แต่การแสดงออกของพวกเขาบ่งบอกว่าต้องการล้มล้างไม่ใช่การปฏิรูป

มีการกล่าวหาต่างๆ นานาผ่านการแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี และหน้าศาลหลักเมือง มีการกล่าวถึงพระนามแบบลอยๆ เหมือนกับบุคคลธรรมดา และมีการเอาคำพูดมาล้อเลียนเสียดสีอย่างสนุกสนานอยู่บนถนน บนรถปราศรัย และบนเวทีของการชุมนุม

เราไม่รู้หรอกว่าในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ คิดอย่างไรกับคนที่ออกมาต่อต้านพระองค์ จนกระทั่งโจนาธาน มิลเลอร์ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ สถานีโทรทัศน์แชนเนลโฟร์นิวส์ (Channel 4 News) ของอังกฤษ ได้ “ยื่นไมค์” ทูลถามในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ระหว่างที่พระองค์ทรงพระดำเนินทักทายพสกนิกร

มิลเลอร์ : คนเหล่านี้จงรักภักดีต่อพระองค์ ทว่าพระองค์จะมีพระราชดำรัสอย่างไรต่อผู้ชุมนุมที่ออกมาบนท้องถนนเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ

รัชกาลที่ ๑๐ : ข้าพเจ้าไม่มีความเห็น...เรารักพวกเขาเฉกเช่นเดียวกัน (ตรัสซ้ำอีก 2 ครั้ง)

มิลเลอร์ : มีโอกาสที่จะประนีประนอมหรือไม่

รัชกาลที่ ๑๐ : ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม

ชัดเจนว่าในหลวงทรงตอบว่า ทรงรักคนที่ออกมาต่อต้านพระองค์เช่นเดียวกัน และยังแสดงออกถึงความเชื่อมั่นว่า สังคมไทยจะมีทางออกที่พูดคุยกันได้ ผ่านคำตอบว่า ไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม

แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปผมเชื่อว่า ไม่ใช่เสียแล้ว เพราะดูเหมือนม็อบที่ผู้ใหญ่หนุนหลังพยายามจะแสดงความก้าวร้าวและรุนแรงออกมาเรื่อยๆ เราได้ยินพวกเขาโพสต์ข้อความในโซเชียล และแสดงข้อความผ่านลูกโป่งยักษ์ในม็อบว่า “กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ”

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ม็อบกำลังสื่อสารกับใคร เพราะสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องคือ อ้างว่าเพื่อให้พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง และอาจจะไม่ใช่แค่ว่าพวกเขาต้องการให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมเพียงอย่างเดียว แต่น่าจะมีความต้องการที่ไกลกว่านั้น นั่นคือ การล้มล้างระบอบกษัตริย์ให้หมดไปจากประเทศไทยด้วยซ้ำไป

ซึ่งน่าจะโยนคำถามนี้ไปให้กับสังคมไทยช่วยกันตอบด้วยว่า เราต้องการมีประมุขของรัฐเป็นพระมหากษัตริย์หรือเป็นนักการเมือง เมื่อเราเห็นพระราชภารกิจต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ที่ทรงทำให้กับสังคมไทยอย่างเทียบไม่ได้กับบทบาทของนักการเมืองนับตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา

เห็นได้ชัดว่า การแสดงออกที่ก้าวร้าวรุนแรงนั้นเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ มีพระราชประสงค์ไม่ให้รัฐบาลนำกฎหมายอาญามาตรา 112 มาใช้นั่นเอง

ในข้อเสนอ 10 ข้อของพวกเขาจึงมีข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร และยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน

ความพยายามที่จะให้พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะลดคุณค่าลงสามารถแตะต้องเหมือนบุคคลธรรมดาของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่พยายามแปะโลโกว่าเป็นรอยัลลิสต์คนสำคัญนั้นจึงประสบในช่วงนี้ และสอดคล้องกับความคิดของปิยบุตร แสงกนกกุล ที่พยายามบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์โดยสะท้อนผ่านการโค่นล้มกษัตริย์ของฝรั่งเศสที่เขาใฝ่ฝันมาเนิ่นนาน

พูดกันให้ถึงที่สุดเนื้อหาของความขัดแย้งทุกวันนี้นั้น เป็นเรื่องของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกับระบอบประชาธิปไตยที่เป็นความฝันของคนอย่างสมศักดิ์ ปิยบุตร รวมไปถึงธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรณิการ์ วานิช ที่พยายามจะเขย่าโครงสร้างของสังคมไทยโดยมีเป้าหมายคือลดทอนบทบาทสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ

ปิยบุตรเคยพูดว่า ระบอบเรียกว่า constitutional monarchy ลงหลักปักฐานตั้งมั่นได้ก็เพราะ monarchy หรือสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นยอมถอยลงไปอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ทั้งที่ความจริงเรารู้กันว่าพระมหากษัตริย์นั้นอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมาแล้วตั้งแต่ 2475

รวมถึงที่ปิยบุตรพูดโดยอิงแอบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศว่า “สถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับประชาธิปไตย โดยแยกการใช้อำนาจจากรัฐให้เป็นเพียงหน่วยทางการเมืองหน่วยหนึ่ง ซึ่งทำให้กษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจใดๆ ผ่านรัฐได้อีกต่อไป โดยในทางรูปธรรมนั้นหมายถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์สามารถทำอะไรเองได้ เนื่องจากผู้ที่รับผิดชอบคือผู้สนองพระบรมราชโองการ รวมถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ และต้องสาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ”

แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ซึ่งพวกเขามุ่งมั่นจะให้เป็นประตูไปสู่การลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะเปิดกว้างให้แก้หมวดพระมหากษัตริย์ได้ ซึ่งเป็นน้ำเสียงเดียวกับม็อบที่เรียกร้องอยู่บนท้องถนนจะไม่ผ่านสภาฯ แต่ก็ถือได้ว่าพวกเขาพาสังคมไทยเดินทางมาไกลแล้ว และการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อาจเป็นเรื่องที่กระทำได้โดยปกติในอนาคต เพราะไม่ได้กลัวมาตรา 112 อีกต่อไปนั่นเอง

การที่ปล่อยให้ม็อบล่วงละเมิดเกียรติภูมิของพระมหากษัตริย์อยู่บนท้องถนนนี้ ทำให้สังคมส่วนใหญ่ที่ยังเคารพเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งคำถามต่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เช่นเดียวกันว่า ทำไมปล่อยให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้นขึ้น และดูเหมือนไม่เห็นความพยายามยับยั้งเหตุการณ์จากรัฐบาลเลย

แน่นอนผมพยายามเข้าใจว่ารัฐบาลต้องใช้ความละเอียดอ่อนเพราะผู้ชุมนุมมีความเยาว์วัยเป็นเกราะกำบัง การดำเนินการต้องใช้ขั้นตอนของกฎหมายเพื่อป้องกันข้อครหา แต่ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า หากไม่บังคับใช้มาตรา 112 ซึ่งเป็นพระประสงค์ของในหลวงแล้ว เราจะยับยั้งการกล่าวหาพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำรุนแรงหยาบคายได้อย่างไร

เพราะแม้จะใช้กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้พระมหากษัตริย์มอบอำนาจให้ใครไปไล่ฟ้องประชาชนที่ดูหมิ่นพระองค์

และแม้จะเป็นพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ไม่ให้นำมาตรา 112 มาบังคับใช้ แต่เราเห็นได้ชัดจากสถานการณ์ปัจจุบันว่า มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายคุ้มครองพระประมุขของประเทศ แม้รัฐบาลจะเลี่ยงไปใช้มาตรา 116 แต่ไม่แน่ใจว่า การวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำหยาบคายหมิ่นพระเกียรตินั้น จะเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดของมาตรานี้หรือไม่

ผมมีความเห็นว่า เมื่อทุกประเทศล้วนแล้วแต่มีกฎหมายปกป้องพระประมุขของประเทศ เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาที่มีกฎหมายปกป้องประธานาธิบดี จะทำอย่างไรที่จะทำให้มาตรา 112 นำกลับมาบังคับใช้ได้

อย่าลืมว่าข้อวิจารณ์ของมาตรา 112 นั้นถูกวิจารณ์ว่ามีอัตราโทษสูงเกินไปอัตราขั้นต่ำสูงเกินไป และองค์ประกอบความผิดไม่ชัดเจน และถูกตีความนำมาบังคับใช้อย่างกว้างขวาง ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัดที่ทำให้เกิดปัญหา ทำไมเราไม่นำข้อถกเถียงนี้มาหารือกันเพื่อปรับปรุงให้กฎหมายบังคับใช้ได้ อย่างน้อยพระมหากษัตริย์จะได้มีเกราะคุ้มกันเฉกเช่นเดียวกับประมุขของทั่วโลก

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องหยิบมาพิจารณาไม่ใช่นิ่งเฉยทำเป็นทองไม่รู้ร้อนราวกับว่าประชาชนกลุ่มหนึ่งกับพระมหากษัตริย์เป็นคู่ขัดแย้งกันตามลำพัง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น