xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเรียกร้องเรื่องสถาบันกษัตริย์ กับความจริงในใจกลางม็อบ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

มีคนบางคนบอกว่า ท่ามกลางความขัดแย้งของสังคมไทยไม่มีพื้นที่ให้กับ คนกลางๆ ในความหมายของเขาไม่ได้หมายความถึงคนกลางๆ ที่ไม่สนใจความขัดแย้งในขณะนี้ เอาแต่ก้มหน้าก้มตาทำมาหากิน แต่หมายถึงคนที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองแล้วมันถูกป้ายสีว่ามีจุดยืนอย่างนั้นอย่างนี้ ผลักคนไปอยู่ขั้วโน้นขั้วนี้

แต่โดยส่วนตัวผมยังเชื่อว่า สังคมยังมีที่ยืนให้กับคนกลางๆ ถ้าเขามีความเห็นที่ตรงไปตรงมาในการมองข้อดีและข้อเสียของทั้งสองด้านที่เป็นความขัดแย้งกัน ไม่ใช่แสดงความเห็นแล้วมีทัศนคติเชิงบวกไปทางด้านใดด้านหนึ่งก็ย่อมจะมีคนไม่เห็นด้วยแล้วออกมาโต้แย้งคัดค้าน และหากการโต้แย้งคัดค้านนั้นมีเหตุมีผลก็ย่อมจะบอกว่าเขาไม่ยอมรับฟังความคิดไม่ได้

เพราะระบอบประชาธิปไตยนั้นมันสู้กันด้วยเหตุผล ไม่ใช่เพราะคนที่ออกมาพูดนั้นมีภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นคนที่น่าเชื่อถือ แล้วตลกถ้าใครไปโต้แย้งคนที่มีภาพลักษณ์ที่ดีคนๆนั้นมักถูกกล่าวหาว่า คับแคบไม่ยอมรับความเห็นต่าง
ส่วนตัวผมยอมรับว่าตัวเองเป็นคนที่หากเชื่อมั่นว่า ความคิดเห็นของเราถูกต้อง เรามีเหตุผลที่จะอธิบายโต้แย้งความเห็นใดความเห็นหนึ่งที่คิดว่าไม่ถูกต้อง ก็พร้อมจะกระทำทันที แต่ก็ไม่ได้ยึดติดว่า เราจะเป็นฝ่ายถูก เมื่อถูกโต้แย้งกลับมาความคิดของผู้อื่นอาจจะมีความคิดที่ดีกว่ามีเหตุมีผลกว่าเราก็ได้

แต่ผมเห็นมีคนจำพวกหนึ่งเหมือนกันที่อยู่เป็น พยายามพูดติเตียนคนที่ออกมาแสดงความเห็นเพื่อให้ดูเสมือนว่าเขามีมุมมองที่แหลมคม เหมือนสายตาของเหยี่ยวที่มองจากข้างบน บินเหนือ แต่ตัวหนังสือที่ถ่ายทอดออกมาก็ปิดบังไม่ได้ว่า แท้จริงแล้วก็เพราะจุดยืนที่เลือกข้างเหมือนกัน


ย้ำอีกครั้งว่าในความขัดแย้งทางการเมืองเที่ยวนี้ ผมเป็นคนหนึ่งที่เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั้นมีความไม่ชอบธรรม เพราะใช้รัฐธรรมนูญที่เขียนมาเพื่อประโยชน์ของตัวเอง และผมมองเห็นตั้งแต่กับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จึงไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น และแสดงความเห็นไว้นานแล้วว่าจะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองปะทุขึ้นมาอีก

ผมจึงไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ และไม่ได้เลือกพรรคพลังประชารัฐ

ดังนั้น ถ้าใครมาเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ แล้วพล.อ.ประยุทธ์ลาออก แล้วเลือกตั้งกันใหม่ ก็ถือเป็นความคิดที่สอดคล้องกับผม และตัวเองก็เสนอทางออกนี้มาหลายครั้งแล้วว่า จะเป็นทางออกที่จะหยุดวิฤตการณ์บนท้องถนน

ผมจึงมองว่า ถ้าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมอยู่ที่รัฐบาลและรัฐธรรมนูญ ไม่ไปแตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์จะมีคนออกมาสนับสนุนการชุมนุมจำนวนมาก

และผมเห็นว่า การมีวาระปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ไปพร้อมกับข้อเรียกร้องทางการเมืองนั้น ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ใช้โอกาสนี้ในการผูกมัดตัวเองเข้าไว้กับสถาบัน แต่ผมไม่ได้คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ผิดที่ทำเช่นนั้น เพราะหากอยู่ในสถานะนี้ใครๆ ก็ต้องทำแบบเดียวกัน

แต่ช้าก่อนผมไม่ได้เห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ควรจะปฏิรูปไปตามพลวัตของยุคสมัยและกาลเวลา ผมเห็นด้วยครับ แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนไม่ต่างกับเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพรักของคนไทยจำนวนมาก ควรจะมีพื้นที่ในการพูดคุยที่เหมาะสมในเวลาที่คนไทยส่วนใหญ่มีฉันทามติร่วมกัน

แล้วถ้าเรายอมรับความจริงสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปตัวเองมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

ผมจึงไม่เห็นด้วยกับความคิดของ อานันท์ ปันยารชุน ที่มองว่า ข้อขัดแย้งของเมืองไทย ทุกสมัยเป็นข้อขัดแย้งของข้อพิพาทไม่ใช่ระหว่างสองฝ่าย แต่จริง ๆ เป็นเรื่องระหว่างคนสองกลุ่มเท่านั้น เป็นข้อพิพาททางการเมืองบ้างหรือเป็นข้อพิพาทในเรื่องวิธีคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองบ้าง แต่ไม่ใช่ข้อพิพาทที่อยู่บนพื้นฐานเรื่องสีผิว ศาสนาหรือเชื้อชาติ 

เพราะข้อเรียกร้องครั้งนี้เป็นเรื่องของคนสองกลุ่มจริง แต่นอกจากอุดมการณ์ทางการเมืองแล้ว ข้อเรียกร้องต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นคุณค่าของสังคมส่วนใหญ่ก็คือการล่วงละเมิดต่อศรัทธาของผู้อื่นไม่ต่างกับเรื่องเชื้อชาติ และศาสนานั่นเอง

ถามว่า เรามองเห็นการเรียกร้องของผู้ชุมนุมได้ยินได้ฟังข้อเรียกร้องของพวกเขาไหม ตอบเลยว่าได้ยินได้ฟัง และติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าความคิดผมจะถูกหรือผิดก็ตาม แต่ส่วนตัวผมเห็นว่า เป้าหมายของพวกเขาไม่ได้อยู่ที่การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่มันคือการล้มล้างสถาบันหรือภาษาง่ายๆ ว่า ล้มเจ้ามากกว่า ทั้งนี้ผมไม่ได้กล่าวหาเขาแบบที่พวกทำตัวเป็นเทพมองว่า เอะอะก็ผลักคนไปเป็นพวกล้มเจ้า แต่ผมมองจากการกระทำและการแสดงออกของพวกเขา

เราเห็นได้ว่า ผู้ชุมนุมซึ่งเรียกร้องความเท่าเทียมความเสมอภาคไม่ได้เรียกร้องต่อผู้อื่นแบบให้เกียรติแต่เต็มไปด้วยความหยามเหยียด หยาบคาย ก้าวร้าว โดยมิได้คำนึงว่า เป็นการทำร้ายความเชื่อและศรัทธาของบุคคลอื่น แน่นอนนั่นเป็นเพราะผู้ชุมนุมมิได้มีความเคารพและเทิดทูลต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสิทธิที่ไม่มีใครปังคับได้

ถ้าเราจะพูดถึงผู้ชุมนุมด้วยสายตาอย่างไรก็ตาม เราก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้ เราก้าวข้ามแกล้งมองไม่เห็นความหยาบคาย ก้าวร้าว ดูถูก เหยียดยาม และการแสดงออกที่บูลลี่บุคคลอื่นไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประมุขของรัฐซึ่งมีกฎหมายรองรับ จะอ้างว่า เราไม่ยอมรับกฎหมายนั้นเพราะเราไม่เคารพประมุขของรัฐตราบที่กฎหมายยังบังคับใช้ไม่ได้ หรือเมื่อถูกกฎหมายบังคับใช้เจ้าหน้าที่ตั้งข้อกล่าวหาเราจะกล่าวหาว่าเขามารังแกหรือเป็นนิติสงครามไม่ได้

แต่แน่นอนผมเห็นด้วยและชื่นชม คุณเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกาคนใหม่ที่ออกคำแนะนำ 12 ข้อเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติต่อผู้เสียหายในคดีอาญา เพื่อให้การปฏิบัติต่อผู้เสียหาย-เหยื่ออาชญากรรม สอดคล้องกับหลักการรัฐธรรมนูญและมาตรฐานองค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะข้อแรกที่ว่า ศาลพึงปฏิบัติต่อผู้เสียหายด้วยความเข้าใจและคำนึงถึงศักดิ์ศรีของบุคคล ตลอดจนความปลอดภัยและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อร่างกาย จิตใจ ฐานะสถานภาพทางสังคม ความเป็นอยู่ และการดำรงชีวิตของผู้เสียหาย อันเนื่องมาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาทางศาล

ซึ่งผมคิดว่า กระบวนการยุติธรรมทุกลำดับชั้นก็ควรยึดหลักการนี้ไม่ใช่เฉพาะชั้นศาล

ถ้าติดตามการแสดงออกต่อพระมหากษัตริย์ของผู้ชุมนุมจะชัดเจนว่า การแสดงออกดังกล่าวไม่ใช่เพียงเพราะพระมหากษัตริย์ที่มีกฎหมายรองรับและปกป้องในฐานะประมุขของรัฐแล้วจะมีความผิดเท่านั้น แต่การแสดงออกแบบนั้นแม้กระทั่งการแสดงออกต่อบุคคลธรรมดาก็ยังเป็นการด้อยค่าบุคคลอื่นแบบมองเห็นคนไม่เท่ากันและยังเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลอื่นเช่นเดียวกัน ถ้าใครได้ยินข้อเรียกร้องในการไปสถานทูตเยอรมนีของผู้ชุมนุม

ไม่ต้องสงสัยหรอกว่า ทำไมผู้ชุมนุมจึงเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ หรือมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา เพราะขนาด 2 มาตรายังบังคับใช้เราก็เห็นอยู่แล้วว่า ผู้ชุมนุมมีเจตนาอย่างไร ซึ่งถ้าใครคิดว่า ข้อเรียกร้องของพวกเขาเพียงแค่เป็นการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมคิดว่าเป็นการมองอย่างตื้นเขินและผิดความจริงไปมาก และผมไม่คิดว่าข้อเรียกร้องแบบนี้ไม่ว่ารัฐไหนจะยอมให้ประมุขของรัฐอยู่ในสถานะแบบนั้นได้

แน่นอนสิ่งที่หลายคนมองก็คือ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ถอยในข้อเรียกร้องอื่น ความฮึกเหิมในชัยชนะของผู้ชุมนุมจะยิ่งรุกไล่ไปจนกระทบต่อสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไหม เพราะพวกเขาไม่ได้มีความเคารพศรัทธาเลยแม้แต่น้อยนั่นเอง

ดังนั้น หากใครจะแสดงตัวเป็นคนกลางของสังคมเรียกร้องให้หันหน้าเข้าหากันให้ถอยคนละก้าว โดยมองแค่ข้อเรียกร้องในประเด็นทางการเมืองของผู้ชุมนุมอย่างเดียวเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงการแสดงออกอันหยาบคายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ถามว่า ถ้าเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ถอยในข้อเรียกร้องทางการเมือง ใครรับประกันได้ว่าผู้ชุมนุมจะไม่รุกไล่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักของคนไทยจำนวนมากจนเกินเลยการปฏิรูปไปบ้าง

ตอนนี้มีคนจำนวนมากกลัวเด็กไม่รัก กลัวจะเป็นไดโนเสาร์ที่ถูกมองว่าไม่ก้าวทันกับโลกยุคใหม่เป็นพวกอนาล็อกไม่ใช่พวกดิจิตอล แม้จะพูดให้ดูเป็นคนกลางที่เข้าใจปัญหา แต่ก็อำพรางการเลือกข้างทางการเมืองไม่ได้หรอก ถ้าไม่ยอมพูดถึงความจริงเชิงประจักษ์จากที่ชุมนุม ความรุนแรงทางวาจาและการแสดงออกที่เหยียดหยามความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น

ผมก็ยอมรับว่า วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นตัวปัญหา รัฐธรรมนูญเป็นตัวปัญหา เราต้องเอาปัญหานี้ออกจากสังคมไทยให้เร็วที่สุด แต่ปัญหานี้ต้องไม่ผูกโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และหาเวทีที่เหมาะสมที่จะพูดกันเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่แท้จริง อย่างไม่มีนัยของการล้มล้างแบบการแสดงออกของผู้ชุมนุม

แน่นอน ม็อบครั้งนี้มีลักษณะพิเศษที่ต่างกับทุกครั้งคือ แกนนำของผู้ชุมนุมเป็นคนหนุ่มสาวที่ไม่สนใจกฎเกณฑ์ของสังคม เราจึงเห็นพวกเขาไปชุมนุมที่หน้าศาล ปราศรัยด่าทอล้อเลียนพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย ปิดล้อมโรงพักทุบทำลายรถตำรวจ และความเป็นคนหนุ่มสาวก็ถูกใช้เป็นเกราะกำบังปกป้องตัวเองจากอำนาจรัฐ แต่เราจะบอกว่าม็อบครั้งนี้ไม่มีการเมืองหนุนหลังก็คงจะไม่ถูกต้อง

ต้องยอมรับว่า ม็อบก็คือเครื่องมือช่วงชิงอำนาจของสองขั้วการเมืองของไทยที่พัฒนามาจากฝ่ายที่เอาทักษิณและไม่เอาทักษิณ วันนี้อาจจะเป็นเอาธนาธรไม่เอาธนาธร แต่ก็ยังเป็นการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองของสองขั้วต่างกันเพียงตัวบุคคลเท่านั้นเอง และยังชัดเจนขึ้นเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเอาสถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบสาธารณรัฐด้วยซ้ำไป

ดังนั้น ถ้าจะพูดถึงเรื่องนี้จึงไม่ใช่พูดแค่ว่าเราต้องรับฟังคนหนุ่มสาวซึ่งเป็นลูกหลานของเราเพราะพวกเขาเป็นอนาคตของชาติ แต่ต้องกล้าพูดถึงการแสดงออกต่อศรัทธาของสังคมไทย และความมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนระบอบของรัฐด้วยว่าคนส่วนใหญ่จะยอมรับได้ไหม ไม่ใช่ให้จำนนเพียงเพราะอนาคตเป็นของพวกเขาโดยไม่สนใจคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ยังมีชีวิตอยู่

ใครจะทำตัวเป็นกลางแล้วพูดถ้อยคำหรูๆ กลัวเด็กไม่รักก็ได้ แต่ต้องรับฟังเสียงสะท้อนกลับไม่ว่าดอกไม้หรือก้อนอิฐด้วย เพราะนี่เป็นชะตากรรมของประเทศที่ทุกคนมีส่วนร่วมที่เท่าเทียมกัน

ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น