xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



เราเห็นได้เลยว่า หลังในหลวงทรงมีรับสั่งกับนายกรัฐมนตรีไม่ให้นำกฎหมายมาตรา 112 มาใช้ การพูดจาหมิ่นจาบจ้วงล้อเลียนพระมหากษัตริย์ก็เป็นไปอย่างสนุกปาก

ฉะนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมมีการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดเวลา

และเมื่อรัฐปรับไปใช้กฎหมายมาตราอื่น เช่น มาตรา 116 ก็หาว่ารัฐอำมหิต ใช้นิติสงคราม ทั้งที่การกระทำที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความผิดที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องบังคับใช้กฎหมาย ไม่มีรัฐไหนที่ปล่อยให้ใครกระทำความผิดอะไรก็ได้แต่ตามอำเภอใจ

ที่ตลกกว่านั้นก็คือ วันนี้มีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 116 เช่นเดียวกับมาตรา 112 หากเป็นเช่นนั้นกฎหมายทุกมาตราก็จะไม่สามารถบังคับใช้ได้เลย เพราะสุดท้ายเมื่อนำมาใช้ก็จะถูกเรียกร้องให้ยกเลิก ไม่ต่างกับบ้านเมืองที่ไม่มีกฎหมายนั่นเอง

พูดอย่างง่ายๆ กฎหมายมีหน้าที่ในการควบคุมให้สังคมดำเนินไปอย่างสงบสุข โดยกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ออกมาควบคุมสังคมเป็นกฎพื้นฐานของการมีชีวิตอยู่ร่วมกัน และเพื่อระงับข้อพิพาทของสมาชิกที่อยู่ร่วมกันในสังคม และปกป้องประโยชน์ของส่วนรวมให้เกิดความเป็นธรรม

และเห็นแล้วว่า กระบวนการยุติธรรมก็มีลำดับชั้นและขั้นตอนของมัน ตำรวจทำหน้าที่ของตำรวจ ศาลก็ทำหน้าที่ของศาล และเห็นได้ว่า แม้จะทำความผิดซ้ำศาลก็ยังให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาเสมอเพื่อให้สามารถออกมาต่อสู้คดีได้โดยคำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยเป็นสำคัญ

ดังนั้นมันจึงยังมีหลักเกณฑ์การคานอำนาจที่พร้อมจะหยิบยื่นความเป็นธรรมให้กับทุกคนในการต่อสู้คดี เพียงแต่หลังเหตุการณ์สงบลงแล้วผู้ถูกกล่าวหาจะต้องสู้คดีตามลำพังเท่านั้นเอง

ผมเองก็มีบทเรียนนี้มาแล้ว ในฐานะจำเลยคดีชุมนุมหน้าสนามบิน แม้ผมไม่ได้มีบทบาทสำคัญในที่ชุมนุม ไม่ใช่แกนนำ ไม่ใช่ผู้ขึ้นปราศรัยปลุกระดม ไม่ใช่การ์ด แต่ผมก็ถูกตำรวจกล่าวหาว่าร่วมกระทำความผิด แม้ผมจะอ่านข้อกล่าวหาของตำรวจแล้วออกจะพิลึกพิลั่น และบางช่วงบางตอนไม่รู้เลยว่าตำรวจเอามาจากไหน แต่ผมก็ต้องสู้คดีไป วันนี้หลายคนรวมถึงผมยังเดินไปขึ้นศาลและหวังว่าจะได้รับความยุติธรรมในที่สุด

เช่นเดียวกันตอนนี้แกนนำ นปช. แกนนำ กปปส.ก็ยังมีคดีความที่ต้องเดินขึ้นศาล เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเขาก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย แม้เราจะอ้างว่าใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ แต่การชุมนุมที่ต่อต้านอำนาจรัฐนั้นก็ต้องย่อมมีเครื่องมือให้รัฐในการป้องกันตัวเองด้วย อันไหนที่เข้าข่ายความผิดเขาก็ต้องเอากฎหมายมาจัดการเรา

การที่ผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 จะได้รับข้อกล่าวหาคดีความต่างๆ กันถ้วนทั่วก็เป็นเรื่องปกติธรรมดานั่นเอง ถ้ารัฐไม่มีกฎหมายเป็นคู่มือแล้วก็ไม่มีวันที่จะดำรงความเป็นรัฐได้เลย การที่แกนนำผู้ชุมนุมถูกแจ้งข้อหาต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องกระทำ

ผมจึงแปลกใจบ้างที่มีการโจมตีตำรวจที่บังคับใช้กฎหมายกับผู้ชุมนุมในเวลานี้ มีการเรียกร้องให้ยกเลิกการดำเนินคดี ปล่อยตัวผู้ต้องหา ทั้งที่เรื่องนั้นเป็นอำนาจของศาล และความผิดทางอาญาแผ่นดินก็เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ ยกเว้นว่าจะมีการนิรโทษกรรมเท่านั้น

หรือว่าผู้ชุมนุมกลุ่มนี้เป็นพวกเหนือกฎหมายที่เป็นอภิสิทธิชนของสังคม

อย่าลืมว่า เนื้อหาการชุมนุมครั้งนี้ไม่ใช่แค่ขับไล่รัฐบาลไล่นายกรัฐมนตรี แต่เป็นการชุมนุมที่มีเนื้อหาท้าทายต่อระบอบของรัฐ เพราะแม้ผู้ชุมนุมจะเรียกร้องในทางเปิดให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่การแสดงออกนั้นไม่ใช่เพียงแค่ต้องการ “ปฏิรูป” แต่เห็นได้ว่า ผู้ชุมนุมนั้นมีเจตนาที่จะล้มล้างมากกว่า เมื่อพิจารณาจากการแสดงออก คำพูด ข้อเสนอ 10 ข้อ ซึ่งไม่มีหลักประกันอะไรเลยที่จะบอกว่าเป้าหมายสุดท้ายของผู้ชุมนุมไม่ใช่การล้มล้าง

ทั้งยังมีการพูดและขึ้นป้ายเรียกร้องระบอบสาธารณรัฐอย่างชัดแจ้ง

ต้องยอมรับว่า แม้ผู้ชุมนุมจะอ้างเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายในการปกป้องประมุขของรัฐและระบอบของรัฐยังคงบังคับใช้อยู่ ก็เป็นเรื่องปกติที่เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องบังคับใช้กฎหมายไม่เช่นนั้นเขาจะมีความผิดเสียเอง เพราะไม่มีใครยอมให้ตะโกนด่ากล่าวหาใส่ร้ายประมุขของรัฐหรือเรียกร้องระบอบสาธารณรัฐอยู่บนถนนแน่นอน

ผมออกจะแปลกใจมากที่อธึกกิต แสวงสุข ผู้ดำเนินรายการช่องวอยซ์ทีวีของพานทองแท้ ชินวัตร ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กว่า

“คำสั่งจัดการแกนนำม็อบ จริงไหม ไม่รู้สินะ แต่จากนิสัย พฤติกรรม ที่ทำมา ก็ทำให้หลายคนเชื่อ ถ้าเป็นจริง สิ่งที่พวกเขาไม่ประเมิน หรือไม่รู้ตัว คือ สิ่งที่ทำกับไมค์ เพนกวิน รุ้ง สิ่งที่ทำกับฝ่ายประชาธิปไตยมาตลอด คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยรู้อยู่แก่ใจว่า อยุติธรรมอย่างเฮี่ยๆ เพียงถ้าเป็นเมื่อก่อน คนส่วนใหญ่อาจจะกลัว เอาตัวรอดดีกว่า ไม่กล้ายุ่งเกี่ยว

แต่ความรู้สึกนี้กำลังเปลี่ยนไป จากการจุดไฟแห่งความกล้าโดยม็อบคนรุ่นใหม่ ไม่ถอย ไม่กลัว เมื่อไหร่ที่ความโกรธปะทุ เห็นคนอื่นกล้า ทุกคนก็จะไม่กลัวอีกต่อไป ม็อบจะออกมาทุกถนน แบบที่ตำรวจทหารทั้งกองทัพก็ทำอะไรไม่ได้”

ผมถามว่าใครเป็นคนสั่ง อธึกกิตหมายถึง...ใช่ไหม? ทำไมต้องสั่ง ในเมื่อสิ่งที่แกนนำคณะราษฎรกระทำนั้นปรากฏให้เห็นอยู่อย่างชัดแจ้ง แล้วมันอยุติธรรมตรงไหน เพราะผู้ชุมนุมเกือบทุกม็อบก่อนหน้านั้นก็เคยโดนมาแล้วทั้งสิ้น ไม่มีใครได้รับอภิสิทธิ์ในการชุมนุมขับไล่รัฐบาลโดยไม่ผิดกฎหมายสักราย

ไปดูเนื้อหาในที่ชุมนุมที่แกนนำไปปราศรัยในสถานที่ต่างๆ จะเห็นได้ว่า ข้อกล่าวหาเช่นนั้นอย่าว่าต่อพระมหากษัตริย์ที่เป็นประมุขของรัฐ และมีกฎหมายคุ้มครองเลย แม้แต่คนธรรมดาก็ยังถือว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก ลองฟังข้อกล่าวหาที่หน้าสถานทูตเยอรมนี หรือข้อกล่าวหา 4 ข้อที่ยกมาเป็นสาเหตุที่อ้างว่าทำให้ต้องไปที่สถานทูตเยอรมนีดูว่ามันเข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และเป็นการละเมิดต่อบุคคลอื่นหรือไม่

ยังไม่นับการแสดงออกในหลายครั้งที่ทั้งหยามเหยียดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่นทั้งที่เรียกร้องความเท่าเทียม

และพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าใครบนแผ่นดินนี้จะเทิดทูนสักการะหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่ปฏิเสธและอ้างว่า ไม่รู้ไม่ได้ก็คือ พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพศรัทธาของคนในสังคมไทยจำนวนมาก การดูหมิ่นความศรัทธาของผู้อื่นก็ไม่ต่างกับเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา คือ การไม่เคารพความแตกต่างในสังคมนั่นเอง

วันนี้ผู้ใหญ่บางคนชื่นชมให้ท้ายผู้ชุมนุมว่าเสี่ยงโดนจับ เสี่ยงตาย เพื่อที่สังคมจะได้พูดความจริง ทั้งที่เราได้ยินทั้งความจริงและความเท็จจากที่ชุมนุมเจือปนกันอยู่ แต่เอาความจริงบางด้านมาอิงแอบเพื่อจะได้ถ่ายทอดความเท็จออกมาด้วย และตลกผู้ใหญ่เหล่านั้นก็ดันหลังเด็กว่ากล้าหาญๆ ออกมาเดินหน้าชนโดยที่ตัวเองแอบอยู่ข้างหลัง

แน่นอนความคิดของเด็กวันนี้ได้รับการบ่มเพาะมาจากผู้ใหญ่ จากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่อ้างเสรีภาพทางวิชาการ และพวกเขาก็มีสิทธิ์ที่เชื่อและจะไม่รักเคารพศรัทธาใครก็ตาม เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะบังคับกันได้

แต่อย่างไรก็ย่อมจะไม่สามารถเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไปตามความต้องการของใครเพียงฝ่ายเดียวได้ ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมยังต้องการให้สิ่งนั้นดำรงอยู่จะอ้างเสรีภาพและอะไรมาก็ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น