เมืองไทย 360 องศา
“มันเหมือนจะจบ แต่ยังไม่จบง่ายๆ ครับนาย” หากรับฟังคำพูดตามอารมณ์ก็จะประมาณนี้นี้แหละนาย หลังจากที่ล่าสุดอัยการมีมติไม่ยื่นอุทธรณ์คดีฟอกเงิน
สำหรับคดีที่ “โอ๊ค” นายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นจำเลยร่วมในคดีที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีที่สมคบกันฟอกเงินที่เกี่ยวข้องกับปล่อยเงินกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในชื่อ “กฤษดามหานคร” เมื่อหลายปีก่อน เมื่อครั้งที่ นายทักษิณ ชินวัตร ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
และต่อมา เขาถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีที่รู้จักกันในนาม “คดีเงินกู้กรุงไทย” อันโด่งดัง และกำลังอยู่ในการพิจารณาคดีของศาล เนื่องจากเพิ่งถูกรื้อฟื้นคดี และสามารถฟ้องลับหลังจำเลยได้ จากการใช้กฎหมายใหม่เมื่อไม่นานมานี้ หลังจากก่อนหน้านี้ต้องจำหน่ายคดีชั่วคราว เนื่องจากหลบหนี
ขณะที่อดีตผู้บริหารของกลุ่มกฤษดามหานคร รวมทั้งอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทยถูกพิพากษาจำคุกคนละ 12 ปี และหนึ่งในนั้นก็คือ นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ ที่ถูกแยกฟ้องในคดีฟอกเงินร่วมกับ นายพานทองแท้ ชินวัตร และอดีตผู้บริหารกลุ่มกฤษฎามหานครอีกบางคน
หากย้อนกลับไปพิจารณาแบ็กกราวนด์แบบรวบรัดก็คือคดีนี้ นายพานทองแท้ ถูกระบุว่า รับโอนเงินเป็นเช็คจำนวน 10 ล้านบาทเข้าบัญชี ซึ่งมีการกล่าวหากันว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงิน “ค่าปากถุง” จากการปล่อยสินเชื่อโดยมิชอบระหว่างธนาคารกรุงไทยและกลุ่มเอกชนในชื่อกลุ่มกฤษดามหานคร ที่มี นายวิชัย กฤษดาธานนท์ อายุ 80 ปี กับ นายรัชฎา กฤษดาธานนธ์ อายุ 53 ปีซึ่งเป็นบุตรชายของ นายวิชัย
โดยคดีนี้ได้ยืดเยื้อยาวนาน เนื่องจากทางกรงสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ทำสำนวนเสนออัยการสั่งฟ้อง แต่ก็เคยถูกตีกลับสำนวน มาหลายครั้ง จนมีการตั้งกรรมการร่วมพิจารณาสำนวนจนในที่สุดก็มีการส่งฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561
จนในที่สุดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิพากษาให้ยกฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า นายพานทองแท้ จำเลยได้รู้ที่มาของเงินจำนวน 10 ล้านบาท ที่ นายวิชัย กฤษดาธานนท์ โอนเข้าบัญชีว่า นายวิชัย ได้มาจากการกระทำผิดทุจริตการปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย โดยขณะที่รับโอนนั้นจำเลยมีอายุเพียง 26 ปี และขณะนั้นมีเงินรายได้จากหุ้นในบริษัทอยู่แล้วถึง 4 พันล้านบาทเมื่อเทียบกับเงิน 10 ล้านบาทแล้วคิดเป็น 0.0025 เปอร์เซ็นต์จากยอดเงินดังกล่าว
ขณะที่โจทก์นำสืบได้เพียงว่าขณะที่รับโอนหุ้น นายพานทองแท้ เป็นบุตรชายของ นายทักษิณ ชินวัตร และมีความสนิทสนมกับครอบครัวของ นายวิชัย เพียงเท่านั้น
สรุปก็คือ “หลักฐานไม่เพียงพอ ยกประโยชน์ให้จำเลย” ประมาณนั้น ซึ่งคนละความหมายกับคำว่า “ไม่มีความผิด”
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันตามขั้นตอนแล้ว การพิจารณาในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางดังกล่าวเปรียบเสมือน “ศาลชั้นต้น” ยังไม่ถึงที่สุด แม้ว่าในระบบของศาล “พิเศษ” นี้จะมีสองระดับคือถึงระดับ “ศาลอุทธรณ์” หรืออาจมีถึงขั้นศาลฎีกาได้ หากที่ประชุมศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นชอบ
แต่ล่าสุด ทางสำนักงานอัยการสูงสุด โดยรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายประยุทธ เพชรคุณ แถลงว่า ทางอัยการสำนักงานคดีพิเศษมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาสำนวนคำพิพากษาของศาลอย่างละเอียดแล้วพิจารณาเห็นว่า “ชอบแล้วที่ยกฟ้อง” จึงเห็นด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าวและเสนอเห็นควรไม่อุทธรณ์ไปที่สำนักงานอัยการคดีศาลสูง และก็มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาสำนวนเช่นกัน จากนั้นก็มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นด้วยกับคำพิพากษายกฟ้องจำเลย
แม้ว่าหากพิจารณาตามแนวโน้มแล้วสำหรับในทางอัยการสูงสุดแล้ว น่าจะจบแค่นี้ แต่ตามขั้นตอนแล้วยังต้องมาลุ้นกันที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ที่เป็นต้นเรื่องของคดีนี้ จะมีความเห็นอย่างไรหลังจากได้รับหนังสือจากอัยการฯว่าไม่อุทธรณ์ หากเห็นด้วยก็คงจบ แต่หากเห็นแย้ง เรื่องก็ต้อง “ยาว”
ขณะเดียวกัน คดีนี้สำหรับ “อัยการ” กำลังถูกตั้งคำถามแบบพรั่งพรูออกมาในทำนองว่าในฐานะ “ทนายแผ่นดิน” ทำไมถึงไม่ไปให้สุดทาง “หมอบ” เอาง่ายๆ แบบนี้ เพราะในเมื่อนี่เป็นเพียงศาลชั้นต้น ยังสามารถอุทธรณ์คดีได้ เหมือนกับอีกหลายคดีที่อัยการเดินหน้าเต็มกำลัง จนบางครั้งก็ถูกตั้งข้อสังเกตไม่น้อยเหมือนกันว่าบางคดีหากไม่อุทธรณ์ก็น่าจะเหมาะสมกว่าด้วยซ้ำไป แต่เมื่อมาเปรียบกับคดีของ “พานทองแท้” กลับดำเนินการในทางตรงกันข้าม
แม้ว่าในทางอำนาจหน้าที่ย่อมสามารถดำเนินการตามขั้นตอน และเป็นสิทธิ์ตามกฎหมาย แต่ขณะเดียวกันสังคมก็ย่อมมีสิทธิ์ในการตั้งคำถามด้วยความแปลกใจได้เหมือนกันว่า “มันเป็นแบบนี้ได้อย่างไร”
แต่ถึงอย่างไรยังเชื่อว่า “มันยังไม่จบง่ายๆ ครับนาย” แน่นอน !!