ศาลอาญาลงโทษกล่าวตักเตือน “เพนกวิน” ในคดีละเมิดอำนาจศาล กรณีนำม็อบหนุน"อานนท์-ไมค์"หน้าศาลขณะถูกนำตัวฝากขังเมื่อ 8 ส.ค. หลังเจ้าตัวแถลงขอโทษ ยอมรับปราศรัยบริเวณศาลจริง แต่กระทำไปโดยอารมณ์ชั่ววูบ ไม่มีเจตนารบกวนกระบวนการศาล และไม่กระทำผิดซ้ำอีก
วันนี้ (28 ต.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลหมายเลขดำ ลศ. 9/2563 ที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา กล่าวหา นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ แกนนำกลุ่มประชาชนปลดแอก ผู้ถูกกล่าวหาเรื่องละเมิดอำนาจศาล จากกรณีเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 ส.ค.2563 ขณะที่พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ นำตัวนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ 2 ผู้ต้องหา คดีปราศรัยปลุกปั่นยุยง ฯ มายื่นคำร้องฝากขังต่อศาลอาญา ได้เกิดการรวมตัวของบุคคลผู้สนับสนุน บริเวณหน้ามุกบันไดทางขึ้นศาลอาญา ซึ่งระหว่างนั้น นายพริษฐ์ ได้ยืนขึ้นตะโกนส่งเสียงดัง และใช้กล้องถ่ายภาพลงโฆษณา เพื่อชักชวนให้บุคลอื่น ๆ เดินทางมาชุมนุมในบริเวณศาล เพื่อขัดขวางการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล รวมทั้งการถ่ายทอดสด(ไลฟ์สด) ภาพและเสียงเหตุการณ์การชุมนุมในบริเวณศาล ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อต่าง ๆ โดยการกระทำของนายพริษฐ์ ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในบริเวณศาล ทั้งยังไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดศาลอาญา ถือว่า เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
โดยในวันนี้ ศาลได้เบิกตัวนายพริษฐ์ จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งขณะถูกควบคุมตัวอยู่ภายในรถของกรมราชทัณฑ์ นายพริษฐ์ ได้ชู 3 นิ้ว ผ่านกระจก ระหว่างที่รถเคลื่อนผ่านด้านหน้าศาลเพื่อทักทายสื่อมวลชนก่อนเข้าไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล
เมื่อถึงเวลานัด ศาลได้ไต่สวนผู้แทนผู้อำนวยการประจำศาลอาญาแล้ว แถลงยืนยันว่าภายในเขตอำนาจศาลอาญาได้มีการออกประกาศข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ใดประพฤติตนในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือก่อให้เกิดความรำคาญหรือกระทำการในลักษณะที่เป็นการส่งเสริมยั่วยุสนับสนุนใด ๆ ในการกระทำดังกล่าวในบริเวณศาลห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องขยายเสียงส่งเสียงดังอันเป็นการรบกวนการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลโดยได้ปิดประกาศข้อกำหนดดังกล่าวไว้หน้าศาลอาญาแล้วผู้ที่เข้ามาภายในศาลอาญาย่อมทราบถึงข้อกำหนดโดยทั่วกัน ศาลได้สอบถามนายพริษฐ์ ผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาแถลงว่าขณะนี้มีอายุ 22 ปีกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้ถูกกล่าวหายอมรับว่าได้พูดถ้อยคำตามที่ปรากฏในคำร้องและหลักฐานแผ่นซีดีจริง แต่ถ้อยคำที่กล่าวไปนั้นไม่ทันคิดไตร่ตรอง อย่างไรก็ตามผู้ถูกกล่าวหามิได้มีเจตนาขัดขวางหรือก้าวล่วงการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล จึงขอโอกาสศาลเพื่อบรรเทาผลร้ายจากการกระทำดังกล่าว โดยจะแถลงขอโทษแสดงความรู้สึกเสียใจต่อการกระทำดังกล่าวของตน
หลังจากนั้นผู้กล่าวหาได้แถลงว่าหากผู้ถูกกล่าวสำนึกผิดในการกระทำครั้งนี้แล้วไม่ติดใจดำเนินคดีนี้กับผู้ถูกกล่าวหาอีก ทั้งนี้ขอให้ผู้ถูกกล่าวหาอย่ากระทำในลักษณะเดียวกันกับการกระทำในครั้งนี้อีกและขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณา
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายพริษฐ์ ผู้ถูกกล่าวหา มีอายุเพียง 22 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวข้อความไปโดยสำคัญผิดคิดว่ามีสิทธิที่จะกระทำได้ทั้งเป็นการกล่าวถ้อยคำด้วยอารมชั่ววูบ มิได้ไตร่ตรองถึงความถูกต้องและเหมาะสมในการกระทำของตนแม้ผู้ถูกกล่าวหาจะมิได้หยุดกล่าวถ้อยคำในทันทีที่เจ้าหน้าที่ห้ามปราม แต่เมื่อภายหลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้นมีเวลานึกคิดอย่างรอบคอบก็ทราบได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและจะไม่กระทำในลักษณะเดียวกันอีก พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหารู้สำนึกถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสมของตน ทั้งผู้ถูกกล่าวหาได้แถลงต่อศาลยอมรับว่าได้กล่าวถ้อยคำตามคำร้องจริงและยืนยันว่าจะไม่กระทำการเช่นว่านั้นอีก เพื่อแก้ไขบรรเทาผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้ได้รับฟังถ้อยคำในวันนั้น ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังในเหตุการณ์หรือรับฟังผ่านสื่อทางใดทางหนึ่ง ผู้ถูกกล่าวหาได้ทำคำแถลงขอโทษเพื่อให้เผยแพร่ข่าวว่าถ้อยคำที่ผู้ถูกกล่าวหาพูดในวันนั้นเป็นการกล่าวโดยอารมณ์ชั่ววูบ มิได้ไตร่ตรองและเข้าใจกระบวนพิจารณาของศาลที่กำลังดำเนินอยู่ในคดีของนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก ให้รอบครอบ จนนำมาสู่การกล่าวข้อความที่คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงเมื่อผู้ถูกกล่าวหารู้สำนึกในการกระทำความผิด ตลอดจนพยายามแก้ไขบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นและผู้กล่าวหาไม่ติดใจดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา
กรณีจึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะดำเนินคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลกับผู้ถูกกล่าวหาอีกต่อไป แต่เพื่อธำรงไว้ซึ่งหน้าที่ประการสำคัญของศาลยุติธรรมในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย สามารถใช้สิทธิทางศาลผ่านกระบวนพิจารณาภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันจึงต้องรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณศาล มิให้ผู้ที่มีความเห็นแตกต่างเกิดความเกรงกลัวต่อภยันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อตนจนถึงขนาดเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิทางศาลจึงเห็นควรว่ากล่าวตักเตือนนายพริษฐ์ ผู้ถูกกล่าวหาและให้ผู้ถูกกล่าวหากล่าวคำปฏิญาณต่อศาล ว่าจะไม่กระทำการในลักษณะเช่นเดียวกันนี้อีกแล้วให้ปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาไปในคดีนี้ และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวนายพริษฐ์กลับเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องจากยังต้องถูกคุมขังในคดีอื่น