xs
xsm
sm
md
lg

จะปฏิรูปหรือว่าทำลาย

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ความจริงแล้วข้อเสนอของม็อบหยุดอยู่ที่แค่การเสนอให้ “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” หรือไม่นั้น เห็นได้อยู่แล้วในเนื้อหาที่แสดงออกและการพูดที่ปรากฏออกมาทั้งในโซเชียลมีเดีย ในที่ชุมนุมหรือบนเวที

ส่วนตัวผมคิดว่า ก้าวล้ำการปฏิรูปสถาบันไปมาก เพียงแต่การยกหัวข้อการปฏิรูปสถาบันขึ้นมานั้นฟังดูกลางๆ เป็นที่ยอมรับได้ เพราะผมเองก็คิดเช่นกันว่า สถาบันควรจะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะของยุคสมัยให้สอดคล้องกับสภาวะของสังคมเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ในสถานะสถาบันอันเป็นที่เคารพรักและเทิดทูนต่อไปได้

แต่ความจริงแล้ว เราเห็นได้ชัดว่า ข้อเรียกร้องและการแสดงออกนั้นไม่ได้อยู่บนความเคารพและให้เกียรติแก่กัน และก้าวล่วงรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ในฐานะที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงบังคับใช้อยู่ อันเห็นได้จากคำพูดที่ก้าวร้าวหยาบคายกระทั่งคนอย่าง ส.ศิวรักษ์ซึ่งมักจะเห็นอกเห็นใจคนที่ออกมาพูดเรื่องแบบนี้ยังออกมาทักท้วง

เราได้ยินการเอาคำพูดของในหลวงมาล้อเลียนกันอย่างสนุกปาก อาจเป็นเพราะพวกเขาเชื่อว่านี่เป็นเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยที่มีอยู่เต็มเปี่ยม จนผมเองต้องพยายามเข้าใจว่า นับแต่นี้การเคารพต่อผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นจารีตของสังคมไทยนั้นคงหมดสิ้นไปแล้ว

และแม้จะพูดเสมอว่าการเคารพศรัทธาต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นเป็นเรื่องของบุคคล หามีใครบังคับได้ไม่ แต่การหมิ่นแคลนศรัทธาของบุคคลอื่นก็เป็นเรื่องที่ควรจะต้องใช้ความระมัดระวังด้วย

หากใครติดตามการเคลื่อนไหวไปที่สถานทูตเยอรมนีของผู้ชุมนุม จะเห็นว่า ผู้ชุมนุมได้ใช้ถ้อยคำที่เรียกว่า จาบจ้วงหยาบคายหมิ่นเหม่เกินกว่าที่จะเอามาเผยแพร่ได้ และเกินเลยสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยไปมาก แม้แต่อธึกกิต แสวงสุข ซึ่งเป็นผู้ยุยงส่งเสริมผู้ชุมนุมคนสำคัญ ก็ยังโพสต์เฟซบุ๊กว่า แม้แต่ตัวเขายังไม่กล้าออกอากาศทางช่องวอยซ์ทีวีเพราะกลัวความผิด

ถ้าเราติดตามในเพจของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ข้ออ้าง 4 ข้อที่บอกว่าทำไมพวกเขาต้องไปที่สถานทูตเยอรมนีนั้นก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากจะยอมรับได้ การกล่าวถึงการมีส่วนซ้อมทรมาน อุ้มหาย ประชาชนที่เห็นต่างทางการเมืองนั้น อย่าว่าแต่เป็นการกล่าวหาต่อพระมหากษัตริย์เลยแม้แต่บุคคลธรรมดา ถ้าคิดว่าทุกคนมีศักดิ์ศรีที่เท่ากันแล้ว ก็ไม่สมควรเช่นกันเพราะเป็นการหมิ่นประมาทและใส่ร้ายอย่างชัดแจ้ง การกล่าวหาต่อผู้อื่นเช่นนี้นั้นจะต้องมีหลักฐานที่อย่างน้อยต้องพอเชื่อได้ว่ามีพฤติกรรมเช่นนั้นจริง

การกล่าวเช่นนั้นอย่าว่า แต่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ที่ในหลวงทรงให้งดใช้เลย แม้แต่กฎหมายอาญามาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ก็ยังเข้าข่ายความผิดเลย และยังเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสารด้วยซ้ำไป

จะเห็นได้ว่า การแสดงออกของผู้ชุมนุมที่เรียกร้องความเป็นคนเท่ากันนั้น ไม่ได้แสดงถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่นเลย

แม้กระทั่งคำข่มขู่ว่า จะ “ปฏิรูป” หรือ “ล่มสลาย” ของคณะราษฎร หรือคำพูดว่าจะ “ปฏิรูป” หรือ “ปฏิวัติ” ของปิยบุตร แสงกนกกุล ก็ชัดเจนว่า มันเหมือนข้อเสนอเชิงข่มขู่ว่าจะ “อยู่” หรือจะ “ไป” ที่ขีดให้เลือกเดิน ทั้งที่การดำรงอยู่หรือจะสูญสลายไปนั้นไม่ได้อยู่ที่ความเห็นหรือข้อเรียกร้องของคนเพียงบางกลุ่มบางพวก แต่ต้องอยู่ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศ

ผมเข้าใจว่า อาจจะมีคนเข้าใจผิดว่า คนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และในฐานะที่เคยมีส่วนกับการจัดการชุมนุมมาก่อนจนยังมีคดีความติดตัว ก็เข้าใจสภาวะของอาการหลงมวลชนได้ดี เพราะเวลาเราอยู่ในที่ชุมนุมเรามักจะคิดว่าเราเป็นคนส่วนใหญ่และข้อเรียกร้องของเราจะต้องได้รับการตอบสนอง

ในการไปที่สถานทูตเยอรมนีวันนั้นสื่อต่างชาติทุกค่ายต่างๆ ใช้ว่าผู้ชุมนุมหลายพันคน แต่แกนนำก็เชื่อว่าวันนั้นมีผู้ชุมนุมเข้าร่วมนับแสนคน

แน่นอนว่า ทุกสถาบันจะดำรงอยู่ได้ด้วยแรงเกื้อหนุนและศรัทธาของประชาชน แต่วันนี้มีใครคิดบ้างว่าคนที่มีความคิดแบบม็อบนั้นคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ และประเทศนี้จะต้องเดินไปตามที่พวกเขาชี้นิ้วให้เดิน

มีคนจำนวนมากเลยที่เคารพและศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เขาต้องอดทนอดกลั้นต่อการแสดงออกของผู้ชุมนุมเพราะรู้ว่า หากกระทำอะไรลงไปผู้ชุมนุมก็ใช้ความเป็นคนหนุ่มสาวเป็นเกราะกำบังนั่นเอง

แต่ความนิ่งเฉยอดทนอดกลั้นของคนส่วนใหญ่นี่เอง ที่ทำให้ผู้ชุมนุมมีการแสดงออกอย่างเหิมเกริมขึ้นทุกวัน แม้พวกเขาเหล่านั้นจะมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะไม่เคารพศรัทธาหรือกระทั่งการให้เกียรติเฉกเช่นความเป็นคนที่กระทำต่อผู้อื่น แต่คนที่เขาเคารพและศรัทธาก็อาจจะมีวันที่หมดความอดทนได้เช่นกัน และแน่นอนว่า สิ่งที่จะตามมาแม้เราไม่อยากให้เกิดขึ้นก็คือความรุนแรงนั่นเอง

ผมไม่คิดหรอกครับว่า เด็กรุ่นใหม่นั้นไม่ได้รับรู้สิ่งที่พระมหากษัตริย์โดยเฉพาะราชวงศ์จักรีได้นำพาประเทศให้รอดพ้นมาจนถึงทุกวันนี้นั้นด้วยพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์แต่ละองค์อย่างไร พวกเขาน่าจะรู้ว่าในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้นได้ทรงเสียสละบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ ต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างไร แต่พวกเขาเชื่อในการชวนเชื่อของคนอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลที่เต็มไปด้วยความอาฆาตแค้นมากกว่า

เด็กพวกนี้หลงเชื่อการปลุกปั่นให้เห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นในระบอบประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องเคารพและเทิดทูนเหนือบุคคลอื่น ทั้งที่เราจะเห็นว่า พระมหากษัตริย์นั้นอยู่ในฐานะประมุขของประเทศ และเมื่อเรามีวิกฤตในบ้านเมือง พระมหากษัตริย์จะทรงเป็นคนกลางที่เข้ามาดับวิกฤตการณ์ทางการเมือง และความขัดแย้งของคนในชาติหลายครั้ง

ลองเปรียบเทียบดูว่า ถ้าเรามีประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดีที่มาจากนักการเมืองอย่างที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องระบอบสาธารณรัฐ กับการที่เรามีประมุขของประเทศเป็นพระมหากษัตริย์อย่างไหนจะมีคุณค่า และมีความหมายที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมไทยมากกว่ากัน และถ้าเรามีประธานาธิบดีมาตั้งแต่ 2475 วันนี้บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เราจะเห็นพระราชกรณียกิจนานัปการที่พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งทำให้กับชาติบ้านเมืองหรือไม่

อย่างที่กล่าวไว้ว่าการแสดงออกของกลุ่มผู้ชุมนุมโดยเฉพาะบรรดาแกนนำบางคนนั้น ได้ก้าวล่วงสิ่งที่เคยกล่าวว่า ต้องการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อให้สถาบันดำรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างยั่งยืนไปแล้ว เพราะคำพูดคำจาผ่านการแสดงออกที่หยาบคายนั้นมันเกินเลยสิ่งเหล่านี้ไปมาก แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องยึดมั่นวันนี้ก็คือความอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุด

แน่นอนสุดท้ายประเทศจะเดินไปทางไหนก็สุดแท้แต่เสียงเรียกร้อง และความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่มีใครฝืนอำนาจของประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริงได้

น่าสนใจว่าพลังของคนในสังคมส่วนใหญ่นั้น จะนิ่งเฉยและอดทนต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้ไปได้อีกนานไหม

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น