เมืองไทย 360 องศา
แม้ว่าจะเปิดสภาสมัยวิสามัญเป็นเวลาสองวัน คือ วันที่ 26-27 ตุลาคม อ้างว่า เพื่อหาทางออกประเทศก็ตาม แต่เชื่อเถอะว่าตลอดเวลาคงมีแต่การกล่าวหากันไปมา และใช้เวทีสภาเป็น “เกมหาเสียง” หาคะแนนนิยมให้กับฝ่ายตัวเอง แต่ถึงอย่างไร การเปิดสภาสมัยวิสามัญดังกล่าว หากมองในแง่บวก ก็ถือว่าเป็นการลดดีกรีความร้อนแรงลงมาบ้าง อย่างน้อยก็ทำให้เห็นภาพของการใช้เวทีสภาช่วยกันหาทางออก เป็นภาพของ “ประชาธิปไตย” ก็ไม่ควรไปขัดคอ
อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงเรื่องประชาธิปไตย มันก็ย่อมเกี่ยวข้องกับเรื่อง “เสียงข้างมาก” และเสียงข้างน้อย แม้ว่าจะต้องเอาตามมติของเสียงส่วนมาก แต่ก็ต้องให้เกียรติ และรับฟังเสียงส่วนน้อยด้วยถึงจะเรียกว่าเป็น “อารยะ” แต่ทุกขั้นตอนต้องแสดงให้เกิดการยอมรับกันว่ามี “ความยุติธรรม” กันเสียก่อน
แน่นอนว่า ในเวลานี้ เป็นที่รับรู้กันว่าเกิดการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกว่า “กลุ่มปลดแอก” หรือกลุ่ม “ราษฎร” หรืออีกหลายชื่อที่ชักชวนกันมา แต่ก็ถือว่าเป็นพวกเดียวกัน และเชื่อกันว่ามีคน “ชักใย” อยู่ข้างหลัง เพียงแต่ว่าบรรดาผู้ชุมนุมเหล่านี้มีความเชื่อมั่น ศรัทธาในบุคคลที่ชักใยดังกล่าว ถึงได้ออกมาชุมนุมประท้วงกันเป็นรายวันมานานนับเดือนแล้ว
และคนที่เชื่อว่ามีอิทธิพลสนับสนุนบรรดาผู้ชุมนุมที่ว่านี้ ก็มีชื่อของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นายปวิน ชัชวาลย์พงศ์พันธุ์ ซึ่งทั้งคู่หลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่มาตั้งกลุ่มก้าวหน้า หลังจากถูกศาลสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีเงินกู้ และแม้ว่าจะมีรายละเอียดตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะในกลุ่มคนพวกนี้ ซึ่งต่างก็มีความไม่ลงรอยกันเอง ระหว่างสองคนแรก กับสองคนหลัง
แต่เมื่อพิจารณาถึงทัศนคติ และเป้าหมายเดียวกัน ก็คือ พวกเขามีทัศนคติที่เป็นลบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และที่ผ่านมา ก็มีการป้อนชุดข้อมูลทางโซเชียลฯ เป็นหลักเข้าหาเยาวชน นักเรียนนักศึกษา ตามสถาบันการศึกษาต่างๆมายาวนาน
ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่ได้เห็นการเคลื่อนไหวของเยาวชนบางกลุ่มที่มีการแสดงออกในทางเชิดชูคนพวกนี้อย่างออกนอกหน้า ในแบบ “ไอดอล” ในการสื่อสารยุคใหม่
แม้ว่าที่ผ่านมาในช่วงก่อนหน้านี้ ประมาณสักสองสามสัปดาห์ การชุมนุมของพวกเขาจะสามารถสร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มากไม่น้อย โดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้ลาออก และยุติการสืบทอดอำนาจเผด็จการ เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ การปิดสวิตช์ ส.ว. เนื่องจากเห็นว่าเป็นผลิตผลของเผด็จการสืบทอดอำนาจ
แต่ฉับพลันที่การชุมนุมของคนกลุ่มนี้เพิ่มข้อเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” มันก็ทำให้เกิดความตึงเครียดในสังคมทันที เพราะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากคนที่รัก และเทิดทูนสถาบันฯ เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่อง “เกินเลย” และรับไม่ได้ อีกทั้งยังมั่นใจว่าเป้าหมายของม็อบกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่ “ปฏิรูป” แต่ต้องไปไกลกว่านั้น เนื่องจากได้เห็นจากข้อความ และคำพูดของแกนนำที่มีการสื่อออกมาให้เห็น ล้วนมีความหยาบคาย ก้าวร้าว กับสถาบันฯ หรือแม้แต่พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ ในแบบที่ไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน
เมื่อท่าทีและข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมยังยืนยันแบบนี้ ทำให้สร้างความไม่พอใจเกิดขึ้นกับสังคม และเกิดการเคลื่อนไหวในลักษณะแสดงพลังของอีกฝ่ายขึ้นมาทันที ขณะเดียวกัน ก็ได้เห็นกระแสฝ่ายผู้ชุมนุมที่มองว่ามีเจตนา “ล้มเจ้า” ก็เริ่ม “ลดกระแส” ลงมามาก อย่างน้อยก็ไม่อาจรุกคืบจนสร้างแรงกดดันเหมือนกับก่อนหน้านี้ ในช่วงวันที่ 14 ตุลาคม ต่อเนื่องถึงวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน เมื่อฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยอมถอยโดยยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ และสนับสนุนให้เปิดสภาสมัยวิสามัญ เพื่อร่วมกันหาทางออกทำให้เงื่อนไขลดลง และทำให้พลังกดดันของผู้ชุมนุมลดลงดังกล่าว
อย่างไรก็ดี แม้ว่ากำลังจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงสมัยประชุมสามัญในวันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นไป ตามความเห็นของหลายฝ่าย แต่ก็ยังไม่ตกผลึกนัก เพราะยังแยกออกสองสามฝ่ายหลักๆ คือ ให้แก้ไขรายมาตรา ให้แก้ไข มาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างใหม่ โดยไม่แตะหมวด 1 และ 2 เกี่ยวกับระบอบการปกครอง และสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่ยังมีบางกลุ่มก็ยืนยันว่า จะต้องแก้ไขได้ทุกมาตรา ทุกหมวด ซึ่งทำให้มองเห็นแนวโน้มแล้วว่า จะเกิดความขัดแย้งไม่สิ้นสุด ไม่ว่าจะออกมาทางใดทางหนึ่ง
ดังนั้น จึงมีคนเสนอให้ทำประชามติเสียก่อน ฟังความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ว่าจะเอาแบบไหน โดยเสนอให้ทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ สอบถามประชาชนว่า จะให้แก้ไขแบบไหน ให้เลือกเอามาจากความเห็นที่ยังขัดแย้งกัน เช่น ประเด็นส.ว.โหวตเลือกนายกฯ จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่มีปัญหาไม่เป็นประชาธิปไตย ให้แก้ทั้งฉบับโดยตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมา โดยไม่แตะหมวดที่ 1 และ 2 หรือให้แก้ไขทั้งฉบับ ทุกมาตรา โดยตั้ง ส.ส.ร. จากนั้นเอามติเสียงส่วนใหญ่จากประเด็นที่ว่า ให้สภาไปดำเนินการแก้ไขตามนั้น เพื่อยุติความขัดแย้ง แทนที่จะดำเนินการแก้ไขแล้วมาลงประชามติภายหลัง ซึ่งอาจจะไม่ยุติความขัดแย้ง หรือหากลงมติแล้วประชาชนไม่เอาด้วยกับที่แก้ไขมาก็ถือว่าต้องมานับหนึ่งใหม่
ดังนั้น ทางออกในเรื่องการทำประชามติก่อนการแก้ไขในประเด็นขัดแย้ง น่าจะเป็นทางออกที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย ซึ่งก็ถือว่าน่าสนใจเหมือนกัน !!